ธาราวี มหานครชุมชนแออัดแห่งอินเดีย: 124 ปีฝ่าวิกฤตโรคระบาด จากห่าลงสู่โควิด

ธาราวี มหานครชุมชนแออัดแห่งอินเดีย: 124 ปีฝ่าวิกฤตโรคระบาด จากห่าลงสู่โควิด
มุมไบ ประเทศอินเดีย คือที่ตั้งของ ธาราวี (Dharavi) ชุมชนแออัดที่ใหญ่สุดแห่งหนึ่งของเอเชียและของโลก ซึ่งถ้าใครเคยดูหนัง Slumdog Millionaire (2008) ก็อาจคุ้นกับธาราวีที่เป็นฉากหลังของเรื่องราวกันเป็นอย่างดี ที่นี่เป็น ‘เมืองในเมือง’ เพราะแม้จะมีพื้นที่เพียง 2.1 ตารางกิโลเมตร แต่กลับอัดแน่นด้วยประชากรราว 850,000 ถึง 1 ล้านคน เมื่อโควิด-19 แพร่ระบาด ธาราวีจึงกลายเป็นจุดเสี่ยงสำคัญที่สุดของมุมไบ เมืองหลวงของรัฐมหาราษฏระ ซึ่งเป็นรัฐที่มีอัตราผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงสุดในประเทศ นับถึงวันที่ 13 พฤษภาคม ปี 2020 รัฐมหาราษฏระมีผู้ติดเชื้อแล้ว 25,922 คน เสียชีวิต 975 คน จำนวนนี้มีผู้ติดเชื้อในธาราวีรวมอยู่ด้วย 1,028 คน เสียชีวิต 40 คน แต่ก่อนจะเกิดการระบาดหนักของโควิด-19 ในธาราวี ชุมชนแออัดแห่งนี้เคยเผชิญหน้ากับโรคระบาดครั้งใหญ่มาแล้วเมื่อ ค.ศ. 1896 นั่นคือ ‘โรคระบาดบอมเบย์’ หรือ 'กาฬโรคบอมเบย์' (Bombay Plague) ที่ทำเอาประชากรในบอมเบย์ (ชื่อเดิมของมุมไบขณะนั้น) หายไปราว 40,000 คน ชุมชนแออัดธาราวีตั้งขึ้นเมื่อราวปี 1884 ช่วงที่อินเดียยังอยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิอังกฤษ เมื่อบอมเบย์เป็นเมืองท่าและเป็นเมืองเศรษฐกิจ ชาวอินเดียจากรัฐต่าง ๆ จึงมุ่งหน้ามาหางานทำ และมาอาศัยอยู่ในธาราวีจนชุมชนขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับเมืองใหญ่หลายเมืองของโลก ที่แม้เศรษฐกิจจะเติบโต แต่สุขอนามัยของผู้คนกลับตกต่ำ โรงงานอุตสาหกรรมในบอมเบย์ปล่อยของเสียลงถนนและในน้ำ บ้านเรือนแออัด พื้นที่สาธารณะเต็มไปด้วยขยะ เมื่อหมักหมมมากเข้าก็กลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค กระทั่งเกิดโรคระบาดบอมเบย์หรือกาฬโรค ที่นายแพทย์อกาซิโอ กาเบรียล เวียกาส พบการระบาดครั้งแรกในเดือนกันยายน ปี 1896 ที่เมืองมันดวี รัฐคุชราฏ ก่อนจะระบาดอย่างรวดเร็วไปที่บอมเบย์ “โรคระบาดแพร่ไปทั่วบอมเบย์ เพราะตอนนั้นเมืองเต็มไปด้วยผู้คน อาจคล้ายสิ่งที่เราเห็นกันตอนนี้ (โควิด) แต่ในระดับความรุนแรงและเงื่อนไขเวลาที่ต่างกัน มีการขอให้ชาวเมืองอยู่แต่ในบ้าน มีการทำความสะอาดครั้งใหญ่ แต่นั่นก็ 120 กว่าปีมาแล้ว” ราฟีก บักห์ดาดี นักประวัติศาสตร์ซึ่งอาศัยอยู่ในมุมไบ บอก [caption id="attachment_23068" align="aligncenter" width="1199"] ธาราวี มหานครชุมชนแออัดแห่งอินเดีย: 124 ปีฝ่าวิกฤตโรคระบาด จากห่าลงสู่โควิด ชาวฮินดูเผาศพตามพิธีกรรมในช่วงกาฬโรคระบาดปี 1896 หรือรู้จักกันในชื่อ 'โรคระบาดบอมเบย์' (ภาพจาก https://wellcomecollection.org/)[/caption] กาฬโรคหรือโรคห่าโจมตีผู้คนอย่างรวดเร็ว มีบันทึกไว้ว่ากาฬโรคคร่าชีวิตชาวเมืองมากถึง 1,900 คนในแต่ละสัปดาห์ จนข้าหลวงแห่งบอมเบย์ต้องเชิญ เซอร์ วัลเดอมาร์ ฮัฟฟ์กิน นักแบคทีเรียวิทยาชาวรัสเซีย ซึ่งขณะนั้นทำงานให้ Pasteur Institute ในฝรั่งเศส มาร่วมด้วยช่วยกันอีกแรงกับหมอเวียกาส ในการพัฒนาวัคซีนกาฬโรค ซึ่งในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน ฮัฟฟ์กินได้สร้างห้องแล็บเพื่อทำการทดลองและรับมือกับโรคระบาดบอมเบย์ขึ้นที่ Grant Medical College ในบอมเบย์ รู้จักกันในชื่อ ‘ห้องหมายเลข 000’ (Room No.000) การสำรวจประชากรในปี 1891 พบว่าบอมเบย์มีประชากร 820,000 คน เมื่อเกิดโรคระบาดขึ้น ชาวเมืองที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามรัฐต่างก็หนีเอาชีวิตรอดกลับบ้านเกิด และการสำรวจประชากรในปี 1901 ก็พบว่าบอมเบย์มีประชากรลดเหลือ 780,000 คน นักวิชาการยุคปัจจุบันวิเคราะห์ว่า บอมเบย์เปลี่ยนไปมากหลังเกิดโรคระบาด เพราะแม้จะเป็นเมืองเศรษฐกิจ แต่ชาวอินเดียก็ยังหวาดกลัวที่จะเข้ามาทำงาน เพราะอัตราการเสียชีวิตจากโรคระบาดบอมเบย์อยู่ที่ 22% ต่อประชากร 1,000 คน ขณะที่เมื่อเทียบประชากรในสัดส่วนเดียวกัน อหิวาตกโรคมีอัตราการตาย 14% และวัณโรคมีอัตราการตาย 12% โรคระบาดบอมเบย์ นำสู่การออกกฎหมาย Epidemic Diseases Act, 1897 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ให้อำนาจรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นในการควบคุมโรค เช่น สามารถออกกฎระเบียบต่าง ๆ การตรวจสอบเรือที่เข้าออกอินเดีย ให้อำนาจกักตัวใครก็ตามที่จะเดินทางออกนอกประเทศทางเรือ ซี่งใครที่ฝ่าฝืนกฎบ้อบังคับของรัฐจะต้องถูกลงโทษ ธาราวียุคนั้นเป็นชุมชนที่มีคนอาศัยหนาตา มีรายงานว่ากว่าธาราวีจะฟื้นตัวจากโรคระบาดบอมเบย์ ผู้คนสามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติ ก็กินเวลาร่วมสิบปีเลยทีเดียว [caption id="attachment_23069" align="aligncenter" width="1200"] ธาราวี มหานครชุมชนแออัดแห่งอินเดีย: 124 ปีฝ่าวิกฤตโรคระบาด จากห่าลงสู่โควิด บ้านเรือนที่หนาแน่นในธาราวี[/caption] ธาราวีในศตวรรษที่ 21 ยังคงเป็นที่อยู่อาศัยของผู้คนหลากหลายอาชีพ ที่เพิ่มคือจำนวนคนมหาศาล เป็น ‘มหานครชุมชนแออัด’ ที่มีอุตสาหกรรมโรงงานทอผ้า โรงงานเครื่องปั้นดินเผา โรงงานฟอกหนัง โรงงานรีไซเคิล ฯลฯ ตั้งอยู่ในนั้น ผลิตขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ มีการประเมินว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้สร้างรายได้เฉลี่ยต่อปีกว่า 650 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 2.1 หมื่นล้านบาท ขณะที่โลกภายนอกของธาราวีมีมูลค่าที่ดินแพงระยับ แต่ค่าเช่าในชุมชนแออัดแห่งนี้ต่ำสุดที่จะจ่ายได้คือ 2.5 เหรียญสหรัฐ หรือราว 80 บาทต่อเดือน แต่ก็ใช่ว่าจะสะดวกสบาย เพราะต้องแลกมาด้วยพื้นที่คับแคบ พลิกตัวไปมาไม่กี่ทีอาจชนผนังอีกด้าน รัฐบาลเคยวางแผนจะพัฒนาธาราวี เปลี่ยนให้เป็นชุมชนทันสมัย มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม มีศูนย์การค้า โรงพยาบาล และโรงเรียน แต่ต้องใช้เงินลงทุนถึง 2.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 6.74 หมื่นล้านบาท เลยยังเป็นแผนที่รอการพัฒนามาเรื่อย ๆ เมื่อโควิด-19 รุกคืบเข้าอินเดียที่มีประชากรกว่า 1.3 พันล้านคน หน่วยงานด้านสาธารณสุขหลายฝ่ายเป็นห่วงว่า แม้ นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย จะประกาศล็อกดาวน์ประเทศ เน้นการรักษาระยะห่างทางสังคม ควบคู่กับการดูแลสุขอนามัย เพื่อป้องกันการระบาดของโควิด-19 แต่หลายพื้นที่ก็ไม่น่าจะดำเนินการได้ด้วยปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะ ธาราวี ที่มีความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก มีผู้อาศัยเฉลี่ย 10-12 คนในแต่ละครัวเรือน ทั้งยังมีปัญหาเรื่องความสะอาดในชุมชน แม้เทศบาลท้องถิ่นจะตรวจหาเชื้อโควิด-19 ในธาราวีไปแล้วตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน แต่จำนวนผู้ติดเชื้อก็ยังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนน่าเป็นห่วง อมิตาฟ คุนดู นักวิชาการจาก Research and Information System for Developing Countries ในนิวเดลี กล่าวว่า การล็อกดาวน์ประสบความสำเร็จอย่างมากในพื้นที่เมือง โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นกลางและชนชั้นที่มีฐานะ เพราะถูกจับตามองว่าจะปฏิบัติตัวตามมาตรการนี้หรือไม่ แต่เรื่องเดียวกันนี้ใช้ไม่ได้กับผู้อาศัยในชุมชนแออัด หรือกับกลุ่มที่มีรายได้น้อย “จากการสำรวจในปี 2011 25% ของคนที่อาศัยในชุมชนแออัดต้องออกจากบ้านไปเข้าห้องน้ำ และหาน้ำสะอาดมาดื่ม สำหรับพวกเขา การล็อกดาวน์หมายถึงการยืนต่อคิวยาว ๆ ซึ่งการเว้นระยะห่างทางสังคมคือเรื่องเป็นไปไม่ได้เลย” คุนดู ให้ความเห็น สอดคล้องกับหญิงวัยกลางคนรายหนึ่งในธาราวีที่บอกว่า เธอใช้เวลาต่อคิวเข้าห้องน้ำแต่ละครั้งกว่า 30 นาที ยิ่งคนเยอะเท่าไหร่ ก็ยิ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคมากเท่านั้น ในธาราวีมีห้องน้ำสาธารณะหรือห้องน้ำชุมชนราว 225 แห่ง รวมแล้วประมาณ 8,000 ห้อง หากอาศัยอยู่ในบล็อคที่ห้องน้ำตั้งอยู่ก็ไม่ต้องจ่ายค่าใช้บริการ แต่หากไม่ใช่ก็ต้องจ่ายค่าเข้า ผู้หญิง 2 รูปี หรือ 0.85 บาท ส่วนผู้ชาย 3 รูปี หรือราว 1.3 บาท ปัญหาคือชาวธาราวีจำนวนไม่น้อยคือลูกจ้างที่ได้รับค่าแรงน้อยนิด พอรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ ลูกจ้างเหล่านี้ก็ไม่มีงานทำ ไม่ต้องพูดถึงเงินเก็บ เพราะลำพังใช้วันต่อวันก็ยังลำบาก การเข้าห้องน้ำสาธารณะจึงอาจกลายเป็นสิ่งเกินจำเป็น เพราะปากท้องย่อมมาก่อน แต่หลายหน่วยงานก็ช่วยบรรเทาปัญหานี้ด้วยการแจกอาหารหรือถุงยังชีพให้ชาวธาราวีได้อิ่มท้อง พร้อมหาทางแก้ปัญหาเรื่องสุขอนามัยในชุมชนแออัดแห่งนี้ไปด้วย หวังว่าธาราวีจะสามารถฝ่าวิกฤตโควิด-19 ไปได้ เช่นเดียวกับที่เคยผ่านโรคระบาดบอมเบย์มาแล้วเมื่อ 124 ปีก่อน   ที่มา http://news.bbc.co.uk/2/shared/spl/hi/world/06/dharavi_slum/html/dharavi_slum_intro.stm https://mumbaimirror.indiatimes.com/coronavirus/news/mumbai-dharavi-reports-66-new-coronavirus-positive-cases-today-total-cases-cross-1000-mark/articleshow/75719342.cms https://www.hindustantimes.com/india-news/43-covid-19-cases-4-deaths-how-coronavirus-spread-in-dharavi-has-kept-authorities-on-toes/story-EpYz64OPD8yUdzEXotpDBI.html https://www.deccanherald.com/national/west/covid-19-epidemic-law-has-links-to-bombay-plague-814503.html https://www.washingtonpost.com/world/asia_pacific/dharavi-coronavirus-india-slums-mumbai/2020/05/11/beb2a4fe-8e1b-11ea-9322-a29e75effc93_story.html https://corporate.cyrilamarchandblogs.com/2020/03/epidemic-diseases-act-1897-dusting-an-old-cloak/ https://www.youtube.com/watch?v=KldVt6UO_Wk