“ทำไมคุณถึงเกลียดราชินีนัก ?”
โรบิน เดย์ พิธีกรชื่อดังของอังกฤษถามลอร์ดอัลทรินก์แฮมในรายการโทรทัศน์ เนื่องจากเขาเคยวิพากษ์วิจารณ์การกล่าวสุนทรพจน์ของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ไว้ว่า 'เป็นการพูดที่น่ารำคาญมาก'
“ผมไม่ได้เกลียดพระองค์ กษัตริย์แตกต่างจากนักการเมืองหิวโหยที่เข้ามากอบโกยผลประโยชน์แล้วจากไป สมเด็จพระราชินีและข้าราชบริพารควรระลึกได้ว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อังกฤษได้เปลี่ยนไปแล้ว”
บทสนทนาข้างต้นคือส่วนหนึ่งของทีวีซีรีส์เรื่อง The Crown ของ Netflix เล่าเรื่องราวในรั้ววังอังกฤษของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 การปรากฏตัวของ ลอร์ดอัลทรินก์แฮม (Lord Altrincham) ที่ทำให้เราสงสัยใคร่รู้อย่างจริงจังเกี่ยวกับมุมมอง แนวคิดของคนที่เขียนบทความโจมตีสมเด็จพระราชินีอย่างรุนแรง แต่ขณะเดียวกันกลับเป็นคนที่มีส่วนช่วยสถาบันกษัตริย์อังกฤษปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย
ลอร์ดอัลทรินก์แฮมเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริง ก่อนจะได้คำนำหน้าชื่อ เขาเป็นเด็กชายจากครอบครัวที่ใกล้ชิดกับการเมืองอังกฤษ บิดาของเขาเป็นนักข่าวของหนังสือพิมพ์รายวัน เดอะ ไทมส์ (The Times) จากนั้นทำงานร่วมกับคณะรัฐมนตรีของ วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) นายกรัฐมนตรีอังกฤษผู้โด่งดังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จนได้ตำแหน่งบารอน และถูกเรียกว่าลอร์ดอัลทรินก์แฮม
เด็กหนุ่มจากครอบครัวชนชั้นกลางค่อนไปทางชนชั้นสูงจบการศึกษาจากโรงเรียนอีตัน เข้าร่วมรบต่อต้านกองทัพเยอรมนีที่ฝรั่งเศสและเบลเยียม เมื่อสงครามจบเขาเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด มุ่งเน้นความสนใจไปยังประวัติศาสตร์สมัยใหม่ จบการศึกษาด้วยการคว้าเกียรตินิยมอันดับสอง จากนั้นเริ่มทำงานด้านสิ่งพิมพ์ในสำนักพิมพ์ National Review ที่บิดาเขาเป็นเจ้าของ
ปี 1955 ลอร์ดอัลทรินก์แฮมผู้พ่อเสียชีวิต ลูกชายรับมรดกชื่อเป็นลอร์ดอัลทรินก์แฮมเหมือนกับบิดา เขามีแนวคิดเสรีนิยม สนับสนุนขบวนการต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว เริ่มเขียนบทความวิจารณ์รัฐบาลอังกฤษในปี 1956 กล่าวต่อว่ารัฐบาลอนุรักษนิยมของนายกรัฐมนตรีแอนโทนี่ อีเดน (Anthony Edan) ที่จัดการกับวิกฤตการณ์คลองสุเอซสุดย่ำแย่ พร้อมแนะนำรัฐสภาว่า หากยังไม่พร้อมไล่คนหัวเก่าที่เดินไม่ทันยุคสมัยออกไปก็ควรเริ่มปฏิรูปสภาทีละน้อยได้แล้ว
การเมืองของอังกฤษดูจะร้อนแรงขึ้นเมื่อมีคำวิจารณ์ของลอร์ดอัลทรินก์แฮม นอกเหนือจากการเมืองเขายังเขียนบทความเกี่ยวกับศาสนา สนับสนุนนักบวชหญิงในโบสถ์อังกฤษ จนกระทั่งเดือนสิงหาคม 1957 เขาวิพากษ์วิจารณ์สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 อย่างตรงไปตรงมาในบทความ “The Monarchy Today” หรือ “ราชาธิปไตยในวันนี้” เนื้อหาของบทความเขียนโจมตีว่าราชินีมองแต่คนชนชั้นสูงและไม่ใส่ใจคนชั้นแรงงาน กล่าวถึงสุนทรพจน์ของสมเด็จพระราชินีว่า เป็นการพูดที่ “a pain in the neck” ที่แปลว่า “น่ารำคาญมาก ๆ”
“ดูเหมือนว่าสมเด็จพระราชินีจะไม่สามารถร้อยเรียงประโยคให้เข้ากันได้ พระองค์ไม่ได้เป็นคนเขียนมันขึ้นมาเอง เป็นเรื่องน่าเศร้าอย่างยิ่งเมื่อเห็นท่าทีของประชาชนที่เมินเฉย เมื่อได้ฟังสุนทรพจน์ของสมเด็จพระราชินี”
ทันทีที่มีการตีพิมพ์บทความของลอร์ดอัลทรินก์แฮมก็เกิดแรงกระเพื่อมทั่วเกาะอังกฤษ ประชาชนส่วนใหญ่ที่เห็นบทความ “ราชาธิปไตยในวันนี้” รู้สึกโกรธแค้นที่เขาต่อว่าสมเด็จพระราชินีอย่างร้ายแรง ทั้งที่พระองค์ไม่ได้ทำเรื่องเลวร้ายจนต้องโดนต่อว่า
ชนชั้นสูงจำนวนมากต่อต้านบทความของลอร์ดอัลทรินก์แฮม บารอนบีเวอร์บรู๊ค (Baron Beaverbrook) เขียนโต้ตอบบทความวิจารณ์สมเด็จพระราชินีว่า “เป็นงานเขียนที่หยาบคายและโหดร้ายมาก” เรื่องราวใหญ่โตขึ้นเรื่อย ๆ ขนาดที่ว่า เจฟฟรีย์ ฟิชเชอร์ อาร์คบิชอปแห่งแคนเทอเบอรี่ (Geoffrey Fisher: The Archbishop of Canterbury) กับนายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย โรเบิร์ต เมนซีส์ (Robert Manzies) ต่างรู้สึกไม่พอใจกับงานเขียนของลอร์ดอัลทรินก์แฮม แถมนายกฯ เมนซีส์ยังโต้ตอบออกสื่ออีกด้วย
ลอร์ดอัลทรินก์แฮมรับคลื่นความเกลียดชังทั้งอังกฤษและต่างประเทศ กระนั้นเขาก็ยังยึดมั่นแนวคิดของตัวเอง โต้ตอบการแสดงทัศนคติโอนเอียงของนายกฯ ออสเตรเลียว่า“นายเมนซีส์เป็นแบบอย่างเลวร้ายที่สุดต่อระบอบกษัตริย์ เขาบูชาพระราชาหรือพระราชินีเพียงเพราะเขาหรือเธอนั่งอยู่บนบัลลังก์ เป็นอคติไร้เหตุผล ทำให้ราชวงศ์ดูแย่กว่าเดิม”
นอกจากวิจารณ์ประมุขของชาติ เขายังวิจารณ์กลุ่มคนที่รักและปกป้องราชวงศ์อย่างรุนแรงว่าคนพวกนี้อยู่ในภาวะ “น่าเป็นห่วง” กล่าวว่ากลุ่มคนคลั่งไคล้เจ้าแบบสุดโต่งจะพาภาพลักษณ์ของราชวงศ์อังกฤษให้เป็นแบบลัทธิชินโตของประเทศญี่ปุ่นที่กษัตริย์หรือราชินีถูกผูกไว้กับศาสนามากเกินไป
ลอร์ดอัลทรินก์แฮมยังคงยืนยันว่าการวิพากษ์วิจารณ์สมเด็จพระราชินีเต็มไปด้วยความหวังดี เขาไม่ได้เกลียดชังประมุขของประเทศ และเชื่อมั่นรัฐธรรมนูญของสหราชอาณาจักร รู้สึกว่าสถาบันกษัตริย์เป็นสิ่งมีค่าเกินที่จะถูกทอดทิ้ง สิ่งที่เขาพยายามทำคือการเตือนให้คนในรั้ววังรับรู้ข้อบกพร่องของตัวเอง ไม่อย่างนั้นราชวงศ์จะวิ่งตามกระแสที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วไม่ทัน
ลอร์ดอัลทรินก์แฮมยังคงวิจารณ์สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 อย่างสม่ำเสมอ แนะนำว่าพระองค์ควรแสดงความรู้สึกต่อประชาชนอย่างตรงไปตรงมา ไม่จำเป็นต้องแกล้งทำตัวเป็นราชินีแบบโบราณผู้หยิ่งผยอง แต่เป็นราชินีสมัยใหม่ดั่งมนุษย์ธรรมดาแต่พิเศษกว่าที่รักใคร่ประชาชน ทำให้ทุกคนรู้สึกว่าพระองค์เข้าถึงง่าย เห็นอกเห็นใจชาวอังกฤษทุกชนชั้น
แม้จะมีคนมากมายเกือบทั้งประเทศไม่เห็นด้วยกับลอร์ดอัลทรินก์แฮม แต่ก็มีคนอยากคุยกับเขามากมาย โปรดิวเซอร์รายการสถานีโทรทัศน์อินดิเพนเดนท์ เทเลวิชัน (Independent Television) หรือไอทีวี (ITV) โทรเชิญให้ลอร์ดอัลทรินก์แฮมมาออกรายการ Impact ร่วมกับโรบิน เดย์ (Robin Day) หลังจากเสร็จสิ้นการอัดรายการ ขณะกำลังออกจากสถานี ITV เขาถูก ฟิลิปส์ เบอบริดจ์ (Philip Burbidge) สมาชิกกลุ่ม League of Empire Loyalists: LEL ที่ต่อต้านการสลายตัวของเครือจักรภพ ดักรออยู่แล้วปรี่เข้ามาตบที่ใบหน้า พูดจาเหยียดหยามและถ่มน้ำลายใส่ท่ามกลางพยานหลายสิบคน ผลสุดท้ายชายคลั่งถูกจับกุมพร้อมโดนศาลสั่งปรับเงินเป็นจำนวน 1 ปอนด์
หลังพยายามอยู่นาน ดูเหมือนเสียงเล็ก ๆ จะส่งไปถึงเบื้องบน ลอร์ดอัลทรินก์แฮมมีโอกาสพูดคุยกับ มาร์ติน ชาร์เตอร์ลิส (Martin Charteris) ผู้ช่วยเลขานุการส่วนตัวของสมเด็จพระราชินี ทั้งสองฝ่ายปรับความเข้าใจใหม่ว่าลอร์ดอัลทรินก์แฮมไม่ได้ต้องการเห็นความล่มจมของราชวงศ์ เขาเพียงแค่อยากช่วยเหลือราชวงศ์ด้วยการบอก ‘สิ่งที่ควรทำ’ กับ ‘สิ่งที่ควรเลิกทำ’ ให้ทางสำนักพระราชวังร่วมพิจารณา
ลอร์ดอัลทรินก์แฮมแนะนำว่า สุนทรพจน์ของสมเด็จพระราชินีจะต้องจริงใจ ทีมงานควรรับฟังความคิดเห็นของขุนนางรุ่นใหม่ ปัจจุบันแนวคิดแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์กลายเป็นสิ่งที่ถูกลบทิ้งในหลายประเทศ (ปัจจุบันที่ลอร์ดอัลทรินก์แฮมหมายถึงคือ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง) แม้อังกฤษยังห่างไกลกับคำว่าระบอบกษัตริย์ใกล้ล่มสลาย ดินแดนของเราสามารถร้อยเรียงระบอบประชาธิปไตยกับสถาบันกษัตริย์ได้ลงตัว แต่ถ้าวังยังคงความล้าสมัย ไม่รับฟังความคิดคนหนุ่มสาว ยืนยันจะกล่าวสุนทรพจน์แสนเย็นชาแบบเดิมต่อไป ราชวงศ์อังกฤษที่มีมานานหลายร้อยปีอาจเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนเร็วกว่าที่คิด
ทางสำนักพระราชวังรับฟังคำแนะนำบางข้อ ความเปลี่ยนแปลงแรกที่เห็นได้ชัดเกิดขึ้นในวันคริสต์มาสปี 1957 สมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 กล่าวสุนทรพจน์ผ่านโทรทัศน์ เป็นครั้งแรกที่พระมหากษัตริย์ออกมากล่าวสุนทรพจน์วันคริสต์มาสผ่านทีวีส่งไปยังประชาชน
[gallery columns="2" size="full" link="none" type="slideshow" ids="23352,23353"]
“สุขสันต์วันคริสต์มาส ข้าพเจ้าหวังอย่างยิ่งว่าโทรทัศน์จะนำข้อความส่งไปถึงทุกคนอย่างตรงไปตรงมา ความรู้สึกห่างไกลระหว่างข้าพเจ้ากับประชาชนเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะข้าพเจ้าเป็นผู้สืบราชสมบัติจากพระราชาและพระราชินี พวกท่านอาจจะคุ้นเคยใบหน้าของข้าพเจ้าในหน้าหนังสือพิมพ์หรือภาพยนตร์ แต่ไม่เคยได้แตะต้องชีวิตส่วนตัว ทว่าตอนนี้ข้าพเจ้ายินดีต้อนรับทุกท่านสู่ความสงบในบ้านของข้าพเจ้า”
– ตอนหนึ่งของสุนทรพจน์วันคริสต์มาสปี 1957 ของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2
ยาวนานเกือบปีหลังการไปเยือนวังเพื่อพูดคุยถึงทางออกของลอร์ดอัลทรินก์แฮม สำนักพระราชวังเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเยี่ยมเยียนพระราชวังบักกิงแฮม จากเมื่อก่อนจะมีแค่ชนชั้นสูงเท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ร่วมปาร์ตี้น้ำชาในสวนของบักกิงแฮม แต่ตอนนี้เกิดการขยายวงสังคมให้กว้างขึ้น เจ้าของร้านอาหาร ชาวอินเดียที่ตั้งรกรากมาหลายรุ่น หรือนายหน้าค้ารถยนต์สามารถก้าวเท้าเข้าวังเพื่อพบกับสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2
เรื่องราวของลอร์ดอัลทรินก์แฮมถูกพูดถึงในซีรีส์ The Crown ซีซัน 2 ตอนที่ 5 ‘Marionettes’ เล่าเส้นเรื่องเกือบตรงกับความเป็นจริง ติดอยู่แค่เรื่องเดียวคือการพบกันระหว่างสมเด็จพระราชินีกับชายช่างติเตียน ปัจจุบันยังไม่มีใครสามารถยืนยันแน่ชัดว่าสมเด็จพระราชินีได้พูดคุยกับลอร์ดอัลทรินก์แฮมจริงหรือไม่ แม้ว่าซีรีส์ค่อนข้างนำเสนอให้ผู้ชมเชื่อว่าทั้งคู่เกิดการพบปะกันจริงก็ตาม
ปี 1963 ลอร์ดอัลทรินก์แฮมตัดสินใจละทิ้งฐานะแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น จอห์น กริกก์ (John Grigg) ใช้ชีวิตตามตัวเองต้องการ หมกตัวเขียนหนังสือชีวประวัติของอดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษเดวิด ลอยด์ จอร์จ (David Lloyd George) จนกระทั่งปี 2001 กริกก์วัย 77 ปี จากไปอย่างสงบด้วยโรคมะเร็ง เรื่องราวของเขาถูกนักประวัติศาสตร์ยกย่องถึงแนวคิดหัวก้าวหน้า ในยุคสมัยที่คนส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมจะรับฟังความคิดเห็นของทุกคน
ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มออกมาพูดเรื่องสิทธิเสรีภาพและการแสดงออกกันมากขึ้น คนรุ่นใหม่ทั่วโลกถกเถียงเรื่องระบบการปกครองต่าง ๆ อย่างจริงจัง กลายเป็นว่าจอห์น กริกก์ กลับมองเห็นสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่ปี 1956 ยืนหยัดยึดมั่นในอุดมการณ์ของตัวเองจนทำให้อังกฤษเกิดการเปลี่ยนแปลง และเป็นเรื่องน่ายินดีที่ประมุขแห่งสหราชอาณาจักรรับฟังเสียงของชายคนนี้
ที่มา
https://www.townandcountrymag.com/society/tradition/a14273687/lord-altrincham-john-grigg-role-british-history/
https://home.bt.com/news/uk-news/the-crown-who-was-lord-altrincham-the-man-who-dared-challenge-the-royals-11364237175504
https://www.express.co.uk/news/royal/923020/The-Queen-Lord-Altrincham-John-Grigg-royal-news-the-crown
https://www.vulture.com/2017/12/the-crown-lord-altrincham-john-grigg.html
เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์
#ThePeople #Politics # #ลอร์ดอัลทรินก์แฮม #ราชวงศ์อังกฤษ #สถาบันกษัตริย์ #TheCrown #เดอะคลาวด์ #Netflix #เน็ตฟลิกซ์ #ควีนเอลิซาเบธ