นิโคไล เชาเชสกู: ผู้นำเผด็จการโรมาเนียที่ถูกสั่งประหารโดยประชาชน

นิโคไล เชาเชสกู: ผู้นำเผด็จการโรมาเนียที่ถูกสั่งประหารโดยประชาชน

“พวกเราจะนำประชาธิปไตย เสรีภาพ และศักดิ์ศรีของประชาชนกลับคืนมา ตอนนี้อำนาจของตระกูลเชาเชสกูถูกล้มล้างจนหมดสิ้นแล้ว”

การลุกขึ้นต่อสู้กับอำนาจไร้ความยุติธรรมเกิดขึ้นหลายแห่งทั่วทุกมุมโลก เกิดจากความรู้สึกหมดความอดทนกับการปกครองไร้ประสิทธิภาพ ความลำบากและอัดอั้นก่อให้เกิดพลังที่ทำให้ประชาชนไร้อาวุธตัดสินใจลุกขึ้นสู้ รวมถึงประเทศในยุโรปตะวันออกเฉียงใต้อย่าง โรมาเนีย พวกเขาได้ทำการปฏิวัติครั้งใหญ่ที่แลกมาด้วยหยดเลือดหยาดน้ำตา แต่นำมาสู่เสรีภาพและประชาธิปไตย ย้อนกลับไปยังช่วงสงครามเย็นแห่งความตึงเครียด โรมาเนียรับอิทธิพลคอมมิวนิสต์จากสหภาพโซเวียต ประธานาธิบดี นิโคไล เชาเชสกู (Nicolae Ceausescu) กล่าวสัญญากับประชาชนว่าจะพาความมั่งคั่งมาสู่เมือง เขาจะทำให้ประเทศกลายเป็นสังคมอุตสาหกรรมที่ยิ่งใหญ่ในชื่อของสาธารณรัฐสังคมนิยมโรมาเนีย แม้สัญญาไว้ดิบดีแต่ความจริงสวนทางกับสิ่งที่ประธานาธิบดีเชาเชสกูเอ่ยไว้ โรมาเนียเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ที่ยากจนอันดับต้น ๆ ของโลก ชาวบ้านส่วนใหญ่ตกงาน คนที่ยังมีงานทำก็ได้ค่าแรงน้อยนิด แทนที่ชนชั้นนำของประเทศจะเร่งแก้ปัญหาปากท้องกลับสูบเลือดสูบเนื้อเอาทรัพยากรของประเทศสร้างกำไรเข้ากระเป๋าตัวเอง การปกครองที่ไร้ผู้คานอำนาจทำให้นักการเมืองชั่วสามารถกดขี่ประชาชนได้ง่าย ๆ ชาวบ้านต้องคอยการปันส่วนอาหารจากรัฐบาล ผู้ชายถูกใช้แรงงานแลกกับเศษเงินที่คนรวยโยนให้ ผู้หญิงถูกบังคับให้มีลูกหลายคนเพื่อสร้างประเทศคอมมิวนิสต์ในฝัน โดยไม่สนใจว่าครอบครัวชนชั้นแรงงานที่มีลูกเยอะจะมีปัญญาเลี้ยงปากท้องของคนในบ้านหรือไม่ ความอดอยากกระจายไปทั่วทุกเมือง เด็กหลายคนหนีออกจากบ้านเพื่อไปตายเอาดาบหน้าเพราะพ่อแม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกทุกคนได้ ขณะที่ชาวเมืองทำงานหนักและรอการปันส่วน เผชิญกับโรคขาดสารอาหาร และมีอัตราการเสียชีวิตของเด็กแรกเกิดสูงสุดในยุโรปช่วงทศวรรษ 1980 แต่รัฐบาลกลับสร้างวังขนาดมหึมามีชื่อว่า ‘พระราชวังของประชาชน’ (Palace of the Parliament) มอบให้ประธานาธิบดีเชาเชสกูกับเครือญาติรวมถึงคนที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน คนกลุ่มนี้อยู่บนหอคอยงาช้างอย่างมีความสุขโดยไม่ฟังเสียงคร่ำครวญของแรงงาน เอาเงินที่ควรไปพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบ้านมาสร้างตึกโชว์ความยิ่งใหญ่เพื่ออวดบารมี อวดประเทศอื่นว่าระบอบคอมมิวนิสต์ของตัวเองยิ่งใหญ่นำมาสู่ความมั่งคั่ง แต่ประชาชนที่เป็นชื่อของพระราชวังกลับไม่มีวันได้เหยียบเข้าไปในพื้นที่สุดหรู นิโคไล เชาเชสกู: ผู้นำเผด็จการโรมาเนียที่ถูกสั่งประหารโดยประชาชน ประธานาธิบดีเชาเชสกูปกครองโรมาเนียมานาน 2 ทศวรรษ เกิดการคอร์รัปชันทั่วทุกหนแห่ง นักการเมืองโกงกันซึ่ง ๆ หน้า โดยไร้ลูกเล่นทางการเมืองเพราะไม่มีใครสามารถคัดค้านหรือตั้งคำถาม อำนาจเงินของผู้นำสามารถสร้างหน่วยสอดแนมที่แข็งแกร่งคอยดูความเคลื่อนไหวของประชาชน ก่อให้เกิดความหวาดกลัวไปทุกที่ ชาวโรมาเนียจำนวนมากอยากลุกขึ้นต่อสู้กับความไร้สามัญสำนึกของรัฐบาล อย่างไรก็ตามเผด็จการมีปืน ประชาชนไม่มีแม้แต่เงินซื้อข้าว พวกเขาทำได้เพียงก้มหน้ายอมรับชะตาชีวิตที่ไม่ได้เป็นคนเลือก ไม่ว่าจะประชุมสภาคอมมิวนิสต์กี่ครั้ง ผลที่ออกมาเหมือนเดิมเสมอ ประธานาธิบดีเชาเชสกูได้ดำรงตำแหน่งผู้นำเป็นสมัยที่ 6 มีคนชนชั้นกลางจำนวนไม่น้อยที่เป็นกระบอกเสียงของคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะ บาทหลวงลาซโล โตเกส (Lazlo Tokes) เขาเป็นคนที่ออกมาโจมตีรัฐบาลเผด็จการ กล่าวต่อว่าการบริหารไร้ประสิทธิภาพอย่างรุนแรง จนบาทหลวงถูกสั่งย้ายแบบสายฟ้าแลบ หายหน้าหายตาจากชุมชน และประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่ารัฐบาลขู่ให้ท่านเก็บตัวเงียบ ๆ พยายามปิดปากคนต่อต้านทุกวิถีทาง แค่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลโดยไม่ใช้ความรุนแรงแต่รัฐบาลทนรับฟังไม่ได้ กรณีของบาทหลวงลาซโซทำให้คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าไม่อยากทนอยู่ภายใต้การกดขี่แบบนี้อีกต่อไป   การลุกฮือครั้งแรกของประชาชนเกิดขึ้นที่เมืองตีมีชวารา พวกเขาลงถนนตะโกนกู้ก้องไม่เอารัฐบาล ช่วงนั้นประธานาธิบดีเชาเชสกูติดพันอยู่กับการไปเยือนประเทศอิหร่าน เขาเริ่มโชว์แสนยานุภาพในมือด้วยการสั่งหน่วยเซกูรีตาเต (Securitate) กองกำลังตำรวจลับที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปตะวันออก ลงพื้นที่ปราบปรามประชาชนในวันที่ 17 ธันวาคม 1989 ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก พร้อมปิดข่าวไม่ให้เมืองอื่นรับรู้ถึงการสังหารหมู่ สื่อโรมาเนียหลายสำนักไม่สามารถทนเห็นชาวเมืองตีมีชวาราตายแต่ถูกกลบข่าวจนเงียบ พยายามส่งข่าวไปยังสถานีวิทยุต่างประเทศ และสื่ออิสระต่าง ๆ ที่อำนาจของรัฐบาลเชาเชสกูไปไม่ถึง ข่าวการสังหารหมู่ที่ตีมีชวาราเริ่มเกิดการถกเถียงไปทั่วโลก ลุกลามไปถึงประเทศแม่อย่างสหภาพโซเวียตที่ต้องกดดันให้ประธานาธิบดีโรมาเนียลาออก ประธานาธิบดีเมินสายตาชาวโลกและการกดดันของสหภาพโซเวียต เมื่อกลับมายังโรมาเนียเขาพยายามแสดงจุดยืนทางการเมือง สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้นิยมชมชอบอันน้อยนิด ออกปาฐกถากลางเมืองบูคาเรสต์เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 1989 สุนทรพจน์ส่วนใหญ่ของเขาคือการชื่นชมผลงานตัวเอง บอกประชาชนว่ารัฐบาลสังคมนิยมโรมาเนียจะยิ่งใหญ่ได้ด้วยการนำของเขา สัญญาจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เน้นย้ำให้ประชาชนมีความสามัคคี โดยลืมดูไปว่าตอนนี้โรมาเนียติดเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ยากจนอันดับต้น ๆ ของโลก ระหว่างผู้นำกล่าวสุนทรพจน์ ประชาชนก็ตะโกนไล่ประธานาธิบดี ไม่มีใครสนใจฟังวาทะโป้ปดอีกต่อไป ทุกคนรู้อยู่แก่ใจว่าคำพูดของเขาคือการให้ความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ที่ไม่มีวันพาความเจริญมาสู่ประเทศ มีคนตะโกนว่า “ตีมีชวารา!” “ตีมีชวารา!” ดังขึ้นเรื่อย ๆ แสดงให้ว่าประชาชนรับรู้เหตุการณ์สังหารหมู่ จู่ ๆ เสียงปืนก็ดังขึ้น ทุกอย่างเข้าสู่ช่วงชุลมุนเมื่อมีใครสักคนยิงใส่ประชาชนที่ฟังปาฐกถาของประธานาธิบดี ฝูงชนแตกฮือ ประชาชนโกรธแค้นมากกว่าทุกครา วันที่ 22 ธันวาคม 1989 ประธานาธิบดีเชาเชสกูประกาศใช้กฎอัยการศึก ห้ามประชาชนรวมตัวกันเกิน 5 คน ส่งเจ้าหน้าที่ติดอาวุธครบมือเฝ้าตรวจตราทั่วเมือง พวกเขาเป็นกองกำลังพิเศษเพื่อควบคุมเหตุการณ์บานปลายแทนทหารที่ดำเนินงานอยู่ก่อนหน้านี้ การปรากฏตัวของกองกำลังพิเศษช่วยยืนยันข่าวลือความขัดแย้งระหว่างประธานาธิบดีกับกองทัพทหาร หลังจากประธานาธิบดีเชาเชสกูเพิ่งแต่งตั้งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมคนใหม่แทน วาซิลี มิเลีย (Vasile Milea) ที่เสียชีวิตกะทันหันด้วยการถูกยิง จากการมีข่าวลือว่ารัฐมนตรีคนก่อนปฏิเสธคำสั่งกราดยิงประชาชน เมืองหลวงบูคาเรสต์เต็มไปด้วยประชาชนถือป้ายขับไล่ผู้นำ ประธานาธิบดีเชาเชสกูส่งกองกำลังพิเศษปราบปรามชาวเมือง หวังให้ประเทศกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เขาออกมาปราศรัยอีกครั้งว่า “ความสามัคคีคือสิ่งสำคัญที่สุด ณ ตอนนี้” แต่ไม่มีใครรับฟัง เวลานี้ทั่วทั้งเมืองเต็มไปด้วยแก๊สน้ำตา เสียงปืน เสียงกรีดร้อง ผู้คนโกรธแค้นวิ่งฝ่าควันไฟพุ่งเข้าใส่ห่ากระสุน พวกเขาพยายามบุกเข้าสภา พยายามฝ่ารถถังของกองกำลังพิเศษที่ยันฝูงชนไว้ด้านหน้าทางเข้า ประชาชนใกล้เพลี่ยงพล้ำ แต่อยู่ ๆ สถานการณ์ก็พลิกผันเมื่อนายทหารชั้นนายพลต่างสั่งการให้ทหารชั้นผู้น้อยห้ามยิงใส่ประชาชนโดยเด็ดขาด นิโคไล เชาเชสกู: ผู้นำเผด็จการโรมาเนียที่ถูกสั่งประหารโดยประชาชน แม้ทหารจะมีคำสั่งห้ามยิงประชาชน แต่เหตุการณ์ชุลมุนก็ยังไม่มีท่าทีจบสิ้นง่าย ๆ นายทหารหลายคนถูกยิงโดยประชาชนที่เชื่อมั่นในประธานาธิบดีเชาเชสกู เกิดการโต้ตอบไม่รู้ฝ่ายไหนเป็นฝ่ายไหน ลูกกระสุนสไนเปอร์ของตำรวจลับยิงเข้าศีรษะประชาชนฝ่ายต่อต้าน สุดท้ายกองกำลังพิเศษไม่สามารถต้านฝูงชนไหวเพราะทหารส่วนใหญ่ที่ถูกส่งไปปราบม็อบหันกระบอกปืนใส่ฝ่ายประธานาธิบดี เมื่อประธานาธิบดีเห็นทหารเข้าร่วมกับประชาชนจึงตัดสินใจพาภรรยา เอเลน่า เชาเชสกู (Elena Ceausescu) ขึ้นเฮลิคอปเตอร์หนีออกนอกเมือง ท่ามกลางเสียงเฮของผู้ประท้วงเมื่อเห็นผู้นำหนีหัวซุกหัวซุน ประชาชนส่วนหนึ่งสามารถฝ่ารั้วลวดหนามเข้าสู่อาคารคณะกรรมการกลาง นำภาพเหมือนของประธานาธิบดีเชาเชสกูออกมาเผา ทำลายเฟอร์นิเจอร์ราคาแพงที่ได้จากการโกงกินบ้านเมืองเพื่อระบายความโกรธแค้น ประชาชนอีกกลุ่มแยกไปยังสถานีโทรทัศน์เพื่อขอเจรจากับผู้อำนวยการ พวกเขาทำสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนอย่างการออกอากาศสด กลุ่มแนวหน้ากอบกู้แห่งชาติ (Council of the National Salvation Front: CFSN) มีแกนนำเด่น ๆ อย่าง อีออน อิไลเอสคู (Ion Iliescu) ประกาศชัยชนะการโค่นล้มอำนาจเผด็จการของประธานาธิบดีเชาเชสกู แถลงการณ์ต่อชาวโรมาเนียทุกคนว่าผู้ก่อการปฏิวัติกำลังเตรียมจัดตั้งรัฐบาลชั่วคราว ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โรมาเนียที่ประชาชนทำการปฏิวัติรัฐบาลแล้วถ่ายทอดสด อย่างไรก็ตาม ภาพที่ออกมาค่อนข้างยุ่งเหยิงเพราะทุกคนอยากเป็นส่วนหนึ่งของการออกอากาศครั้งสำคัญ ประธานาธิบดีและภรรยาสามารถหนีออกจากเมืองหลวงได้ แต่พวกเขาถูกจับที่เมืองทาร์โกวิสเต เมื่อกลุ่ม CFSN ทราบข่าวว่าได้ตัวผู้นำจึงร้องขอให้ทุกฝ่ายหยุดยิง วันที่ 24 ธันวาคม 1989 เกิดการประชุมสภาทหารสูงสุด มีมติเอกฉันท์ว่าควรเร่งไต่สวนคดีความของตระกูลเชาเชสกูให้เร็วที่สุด CFSN ตั้งคณะกรรมาธิการสอบสวนอดีตประธานาธิบดีและภรรยา ทั้งสองคนถูกตัดสินยึดทรัพย์และประหารชีวิตด้วย 5 ข้อหาหนัก การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ผู้บริสุทธิ์กว่า 60,000 คน การใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ ทำลายเศรษฐกิจของชาติ การทำลายทรัพย์สินสาธารณะด้วยการวางระเบิดสถานที่ต่าง ๆ และข้อหายักยอกเงินแผ่นดิน อดีตประธานาธิบดีไม่ยอมรับคำตัดสินของศาล เขากล่าวว่าการตัดสินครั้งนี้เต็มไปด้วยความลำเอียงลวงโลก ไม่เป็นธรรมเพราะมีแต่คนที่เขาทำให้เสียผลประโยชน์ ส่วนนางเชาเชสกูอยู่ในสภาวะตื่นตระหนก ผู้พิพากษากล่าวโต้ตอบว่า “การลวงโลกที่แท้จริงคือสิ่งที่อดีตประธานาธิบดีเชาเชสกูทำมาเกือบ 25 ปี อย่างการโกหกหน้าตายและพาประเทศไปสู่ขอบเหว” ดังนั้นคำตัดสินคือโทษประหารชีวิตด้วยการยิงเป้าในวันที่ 25 ธันวาคม 1989 วันรุ่งขึ้นทั้งสองถูกมัดมือไพล่หลังนำตัวไปยังลานประหาร อดีตประธานาธิบดีดูสับสน มีทหารนายหนึ่งยืนยันว่าได้ยินเขาฮัมเพลงชาติ ขณะที่คุณนายเชาเชสกูร้องไห้ด้วยความหวาดกลัว (ชาวโรมาเนียบางส่วนมองว่าเธอโกรธมากกว่ากลัว) การประหารชีวิตครั้งนี้ถูกถ่ายทอดสดไปทั่ว ให้ประชาชนที่ได้รับผลจากการกระทำของตระกูลเชาเชสกูนานร่วม 2 ทศวรรษ ได้รับชมวาระสุดท้ายของคนที่ปล้นทุกอย่างไปจากชีวิต [caption id="attachment_23466" align="aligncenter" width="1200"] นิโคไล เชาเชสกู: ผู้นำเผด็จการโรมาเนียที่ถูกสั่งประหารโดยประชาชน ประธานาธิบดีนิโคไลและคุณนายเชาเชสกู[/caption] จากเหตุการณ์ปฏิวัติมีประชาชนเสียชีวิตราว 1,142 ราย บาดเจ็บกว่า 3,138 คน มีเยาวชนจำนวนมากที่กลายเป็นเด็กกำพร้าเพราะพ่อแม่ลงถนนต่อสู้เพื่อทวงคืนเสรีภาพให้ตัวเองและลูกหลาน เป็นเวลากว่า 42 ปี ที่ประเทศโรมาเนียปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ จนมาถึงยุคสมัยอันยาวนานของนิโคไล เชาเชสกู ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ได้เห็นภาพการล่มสลายของคอมมิวนิสต์ในโรมาเนีย เหตุการณ์วุ่นวายจบลงในวันคริสต์มาสปี 1989 ความสงบสุขทำท่าจะมาเยือนโรมาเนียอีกครั้ง เกิดการเลือกตั้งในเดือนเมษายน 1990 ผลคือ อีออน อิไลเอสคู ชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย ในตอนนั้นคงไม่มีใครรู้ว่าชาวโรมาเนียได้ผู้นำแบบเดียวกับเชาเชสกูมาบริหารประเทศอีกครั้ง การเรืองอำนาจของประธานาธิบดีอิไลเอสคูแทบไม่ทำให้ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลง ทรัพย์สินจำนวนมากที่ยึดมาจากตระกูลเชาเชสกูหายเขากระเป๋าของนักการเมืองชุดใหม่ นักการเมืองไร้ประสบการณ์บริหารประเทศ ชาวโรมาเนียบางคนรู้สึกเหมือนตัวเองถูกหลอกใช้ พวกเขาออกมาประท้วงอีกครั้งแต่ก็ต้องสลายการชุมนุมอย่างรวดเร็วเพราะประธานาธิบดีอิไลเอสคูใช้แรงงานสู้กับแรงงาน มีสมมุติฐานน่าสนใจเกี่ยวกับ อีออน อิไลเอสคู หลายคนปักใจเชื่อว่าเขาเป็นคนของคณะกรรมการความมั่นคงแห่งรัฐของสหภาพโซเวียต (Komitet Gosudarstvennoy Bezopasnosti: KGB) เป็นผู้อยู่เบื้องหลังทุกอย่าง โซเวียตเองก็ไม่ได้ต้องการเชาเชสกู เลยกระตุ้นให้ประชาชนลุกฮือจนเกิดการปฏิวัติ ทั้งหมดทำเพราะสร้างความชอบธรรมให้การทำรัฐประหาร แผนการรัดกุมถูกวางไว้ล่วงหน้าเพื่อให้ชายคนนี้รับช่วงต่ออำนาจเผด็จการ เพราะในสมัยของอิไลเอสคูมีนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามถูกสังหารเป็นจำนวนมาก รวมถึงโฆษณาชวนเชื่อที่มีประสิทธิภาพทำให้เขาชนะการเลือกตั้งหลายสมัย อย่างไรก็ตาม ยุคสมัยของนักการเมืองขี้โกงครั้งนี้อายุสั้นกว่ายุคของเชาเชสกู ในที่สุดชาวโรมาเนียได้ผู้นำประชาธิปไตยแท้จริงจากการเลือกตั้งปี 1996 ประธานาธิบดีอิไลเอสคูแพ้การเลือกตั้งให้กับ เอมิล คอนสแตนติเนสคู (Emil Constantinescu) และในปี 2016 อิออน อิไลเอสคู ถูกสั่งฟ้องข้อหาสังหารหมู่จากการสั่งปราบปรามชุมนุมปี 1990 ทำให้เขาต้องมาขึ้นศาลตอนอายุ 89 ปี และปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ปัจจุบันโรมาเนียถือเป็นประเทศประชาธิปไตย กว่าจะได้เสรีภาพต้องแลกมากด้วยการถูกหลอกซ้ำแล้วซ้ำอีก แม้จะยังเป็นประเทศยากจนอันดับต้น ๆ ของทวีปยุโรป แต่การฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ถูกรัฐบาลเผด็จการทำพังมานานต้องดำเนินต่อไป เวลานี้พวกเขามีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สามารถตั้งคำถามเกี่ยวกับนักการเมืองคอร์รัปชัน ติเตียนรัฐบาลได้โดยไม่โดนฆ่า สามารถสร้างรายได้จากการทำงานของตัวเอง ไม่ต้องพยายามมีลูกเยอะจนเลี้ยงไม่ไหว และไม่ต้องไปต่อแถวยาวเหยียดรอการปันส่วนอาหารจากรัฐอีกต่อไป   ที่มา https://www.bbc.com/news/world-europe-50821546 https://www.communications-unlimited.nl/the-romanian-revolution-of-1989/ https://www.rferl.org/a/romania-revolution-then-and-now/29660285.html https://www.biography.com/political-figure/nicolae-ceausescu https://www.bbc.com/news/world-europe-47858664   เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์