เจมส์ ไดสัน: คิดค้นเครื่องดูดฝุ่นในตำนาน จากความพยายาม 5,127 ครั้ง
ถ้าได้ลองทำอะไรบางอย่างแล้วล้มเหลว คุณจะลุกขึ้นมาลองใหม่อีกกี่ครั้ง สิบครั้งร้อยครั้งอาจเรียกว่าความพยายาม แต่ถ้ามากกว่าพันครั้ง เราเรียกมันว่าความดื้อรั้นได้หรือเปล่า?
หลายคนรู้จัก เจมส์ ไดสัน (James Dyson) ในฐานะนักประดิษฐ์และนักออกแบบนวัตกรรม ที่คิดค้นเครื่องดูดฝุ่นพลังไซโคลนเครื่องแรกของโลก ไดสันได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘อัจฉริยะนักออกแบบ’ ที่หลายคนชื่นชม เพราะผลงานพัดลม และไดร์เป่าผมไร้ใบพัด คือเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ถูกยกย่องให้เป็นงานออกแบบแถวหน้า แต่ใครจะรู้ว่าก่อนหน้านั้นชีวิตของไดสันเคยถูกโกง ล้มเหลว ดิ่งลงเหวถึงขีดสุด
ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น ชีวิตของเจมส์ ไดสัน ไม่ได้สวยหรูงดงามอะไรนัก เขาเป็นแค่เด็กหนุ่มชาวอังกฤษธรรมดา ๆ ที่โตมากับทิวทัศน์ของทะเลในแถบนอร์ฟอล์ก เมืองทางตะวันออกของอังกฤษ ชีวิตวัยเด็กไม่ได้มีอะไรพิเศษ หลังจากพ่อเสียชีวิตเขาก็โตมาในโรงเรียนประจำ และทำเรื่องที่เด็ก ๆ ทั่วไปต้องทำคือเรียน เรียน และเรียนเพื่ออนาคต
เพราะตอนเด็กเขาชอบเรียนวิชาศิลปะ ไดสันจึงตัดสินใจย้ายไปเรียนที่โรงเรียนศิลปะ บายอัม ชอว์ (Byam Shaw School of Art) ในกรุงลอนดอน ก่อนจะค้นพบตัวเองว่าชื่นชอบการออกแบบเชิงนวัตกรรม มากกว่าการเรียนศิลปะทั่วไป เขาเรียนต่อระดับมหาวิทยาลัยที่ Royal College of Art สาขาการออกแบบอุตสาหกรรม ทำให้ค้นพบความหลงใหลในการออกแบบเชิง functional design คือเน้นประโยชน์ใช้สอยเป็นหลัก
ตอนนี้เองที่เขามีโอกาสออกแบบ Rotork Sea Truck เรือบรรทุกความเร็วสูงที่สามารถเดินทางได้ 50 ไมล์ต่อชั่วโมง แถมสามารถทอดสมอจอดได้โดยไม่ต้องมีท่าเรือ แม้ตอนนั้นไดสันยังทำหน้าที่แค่ออกแบบ ไม่ได้มีส่วนร่วมกับกระบวนการก่อสร้างมากนัก แต่เพราะผลงานชิ้นนั้นถูกนำไปใช้จริงในอุตสาหกรรมน้ำมัน และการก่อสร้าง รวมถึงใช้ในกองทหารของอังกฤษ ไดสันจึงเริ่มต้นอาชีพนักออกแบบของเขาต่อจากนั้น
เส้นทางนักประดิษฐ์ของไดสัน เริ่มต้นจากการที่เขามีโอกาสคิดวิธีแก้ปัญหาของรถเข็น ที่มักจะเกิดสนิมและจมไปกับดินอ่อน เขาออกแบบ Ballbarrow รถเข็นพลาสติกที่มีล้อเป็นลูกบอลแทนล้อปกติ ทำให้แก้ปัญหานั้นได้ชะงัด น่าเสียดายที่ความสำเร็จนี้อยู่ไม่ได้นานเพราะความผิดพลาดด้านการจดสิทธิบัตร ไดสันถูกบีบให้ต้องขายไอเดียนี้แก่นักลงทุน ผลงานเครื่องดูดฝุ่นที่เกิดขึ้นภายหลัง จึงต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะออกมาเป็นรูปเป็นร่าง
แม้คนส่วนใหญ่จะมองว่าเครื่องดูดฝุ่นที่มีมันดีอยู่แล้ว แต่ไดสันมองว่า โลกต้องการของที่ดีกว่านี้
มองในแง่ความเป็นมา โฉมหน้าของเครื่องดูดฝุ่นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ตั้งแต่ปี 1901 มันทำงานโดยใช้ปั๊มลมสุญญากาศดูดสิ่งสกปรกเข้าไปเก็บไว้ในถุงผ้าภายในตัวเครื่อง ไดสันค้นพบว่ากลไกนี้มีปัญหา เพราะหลังจากดูดฝุ่นไปได้ไม่นาน เขาก็ต้องรำคาญกับการคอยนำถุงผ้าไปทำความสะอาด เพราะมีฝุ่นอุดตันจนใช้งานต่อไม่ได้
ช่วงเวลานั้นมีนวัตกรรมใหม่เป็นถุงกระดาษแบบใช้แล้วทิ้ง ซึ่งทำมาเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว แต่ไดสันก็มองว่าเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ แถมยังทำให้ผู้คนต้องเสียเงินซื้อถุงกระดาษใหม่ไปเรื่อย ๆ ขณะที่กำลังทำงานอยู่ในโรงเลื่อย เขาก็บังเอิญได้ไอเดียออกแบบไส้กรองแบบใหม่จากพัดลมดูดอากาศพลังสูง ที่สามารถดูดขี้เลื่อยเข้าไปเก็บได้โดยไม่ต้องมีไส้กรอง แถมยังไม่ติดขัด ไดสันคิดว่าน่าจะมีวิธีย่อส่วนกลไกนี้ลงไปในเครื่องดูดฝุ่นเพื่อกำจัดปัญหาไส้กรองตันได้
แต่ไอเดียอย่างเดียวใช่จะสร้างได้ง่าย ๆ เพราะไดสันเป็นเพียงนักออกแบบ ไม่ใช่วิศวกร ตอนนั้นเขาไม่ได้เก่งหรือเชี่ยวชาญด้านการออกแบบกลไกต่าง ๆ ได้อย่างใจนึก เขาเริ่มศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์พร้อม ๆ กับการคิดค้นเครื่องดูดฝุ่น ค่อย ๆ ลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง เริ่มจากการวาดทุกอย่างลงในกระดาษ ค่อย ๆ ออกแบบอะไหล่ไปทีละชิ้น จนสามารถประกอบเป็นโมเดลต้นแบบที่เขาใช้เวลาทดลองและพัฒนางานอยู่นานกว่า 5 ปี
“ผมเคยคิดจะยอมแพ้อยู่ทุกวัน เพราะมันต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการต่อสู้กับความล้มเหลว ผมทดลองตัวต้นแบบมาแล้วถึง 5,126 ครั้ง แต่ละครั้งก็พยายามแก้ปัญหาจากความผิดพลาดที่มีมาเรื่อย ๆ จนสำเร็จในครั้งที่ 5,127”
ช่วงเวลาที่พัฒนาต้นแบบอยู่ ไดสันแทบจะกลายเป็นบุคคลล้มละลาย เพราะเขาไม่มีรายได้มาจ่ายเงินกู้ค่าอุปกรณ์ที่ซื้อมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่โลกไม่เคยรู้จัก ไดสันเล่าว่า เขาเคยอยู่ได้ด้วยการปลูกผัก และใช้เงินเดือนของภรรยาที่เป็นครูสอนศิลปะ เพื่อประทังชีวิต
แม้ในปี 1978 ไดสันจะได้ต้นแบบที่พอใจมาแล้ว แต่ก็ใช่ว่าอะไร ๆ จะง่ายขึ้น เพราะพอพยายามขายไอเดียเครื่องดูดฝุ่นให้บริษัทในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ก็ดูเหมือนว่าจะได้คำตอบไม่ดีเท่าไหร่ เพราะตอนนั้นธุรกิจถุงกระดาษทำกำไรให้บริษัทเหล่านี้อย่างมหาศาล ไดสันตัดสินใจเปลี่ยนมาขายไอเดียให้ Apex Inc. บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นแทน G-Force เครื่องดูดฝุ่นพลังไซโคลนเครื่องแรกจึงเริ่มวางขายในญี่ปุ่น ซึ่งเครื่องดูดฝุ่นรุ่นนี้ได้กระแสตอบรับดี แถมยังได้รับรางวัลนวัตกรรมดีเยี่ยม จากการประกวดงานมหกรรมออกแบบนานาชาติ ปี 1991 ด้วย
หลังเห็นความเป็นไปได้จากตลาดญี่ปุ่น ไดสันพยายามขายสิทธิ์การผลิตให้บริษัทในอเมริกาบ้าง ต้องบอกว่ามันเกือบนำ ‘หายนะ’ มาให้เขา เพราะบริษัทนั้นพยายามผลิตเครื่องดูดฝุ่น ‘เลียนแบบ’ แทนที่จะซื้อสิทธิ์ไปผลิตตามกฎหมาย ไดสันกลายเป็นคนหวาดระแวงว่าจะโดนขโมยไอเดีย เพราะบทเรียนราคาแพงเก่า ๆ เขาตัดสินใจว่า ต่อจากนี้ถ้าจะล้มก็ขอล้มเอง จึงนำบ้านไปจำนอง และใช้เงินทั้งหมดเปิดบริษัท Dyson ขึ้นในปี 1993 ซึ่งนับ ๆ แล้วใช้เวลาถึง 15 ปี กว่าเขาจะมีแบรนด์ของตัวเอง
ด้วยคำโฆษณา ‘บอกลาถุงได้แล้ว’ ทำให้เครื่องดูดฝุ่นรุ่น DC01 (Dyson Cyclone) ที่มีราคาสูงลิ่ว กลายมาเป็นเครื่องดูดฝุ่นที่ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์ ไดสันกลายเป็นผู้นำตลาดเครื่องดูดฝุ่นของอังกฤษ ด้วยส่วนแบ่งตลาดสูงถึง 38% ในปี 2002 ด้วยนวัตกรรมที่เขาพัฒนาเรื่อยมา ทำให้แบรนด์ของเขามีสินค้าไดร์เป่าผม พัดลม และเครื่องปรับอากาศ ที่นำมาซึ่งรางวัล ชื่อเสียง และการยอมรับแก่แบรนด์อย่างที่ไม่มีใครคาด
“คนมักจะมองว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ เป็นแนวคิดที่โผล่ขึ้นมาในอากาศ พวกเขามองมันเหมือนเป็นเรื่องบังเอิญที่มักเกิดขึ้นในอัจฉริยะ แต่ที่จริงมันไม่ใช่ ความคิดสร้างสรรค์เกิดจากความพยายาม มันมีลักษณะเฉพาะตัวที่ถ้าเราไม่เข้าใจว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เราก็ไม่สามารถทำให้มันดีขึ้นได้” เจมส์ ไดสัน กล่าวกับแมททิว ไซด์ (Matthew Syed) ผู้เขียนหนังสือ Black Box Thinking: Marginal Gains and the Secrets of High Performance
หลายคนอาจมองไดสันเป็นอัจฉริยะ แต่ที่จริงแล้วเขาคิดว่า เขาเป็นแค่คนช่างสังเกต ที่พอเห็นปัญหาแล้วก็พยายามออกแบบวิธีแก้ ไดสันไม่ได้หาคำตอบเจอได้ทันที เขาเสียเวลาไป 5 ปี กับความล้มเหลวอีกกว่า 5 พันครั้ง (ความจริงคือ 5,126) เขาบอกว่าความผิดพลาดทั้งหมดทำให้ความสำเร็จในครั้งที่ 5,127 มีค่ามหาศาล
ตอนนี้ไดสันกลายเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินกว่า 6 พันล้านดอลลาร์ (เกือบ 2 แสนล้านบาท) เขานำเงินจากรายได้ไปบริจาคให้มหาวิทยาลัย โรงเรียน รวมถึงเปิดสถาบันเพื่อสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาการศึกษาภาควิศวกรรม ไดสันได้รับการอวยยศ เซอร์ ‘Sir’ ในปี 2007 จากการทำสาธารณประโยชน์อย่างต่อเนื่อง
สำหรับใครที่ยังพยายามกับเรื่องบางอย่างอยู่ หวังว่าเรื่องราวของไดสันจะเป็นตัวอย่างที่ดีของความพยายามที่บรรลุผล เขาไม่สนใจคำพูดของคนที่ดูถูก ดูแคลนหรือไม่เข้าใจวิธีคิดของเขา ไดสันเพียงแค่ทดลอง ลงมือทำ และทำซ้ำ ๆ ในสิ่งที่คิดว่าดี เพื่อตอบสนองความเชื่อบางอย่างที่หล่อเลี้ยงจิตใจของเขา
เขาท้าทายภูมิปัญญาเก่า เพื่อพัฒนาเป็นนวัตกรรมที่ดียิ่งขึ้น โดยหัวใจหลักของแบรนด์และผลิตภัณฑ์ก็ยังเป็น ‘งานวิศวกรรม’ ที่กระหายการพัฒนา และไม่เคยเพียงพอหรือหยุดนิ่งกับสิ่งที่คิดค้นไปแล้ว
“เราต้องพัฒนาและขัดเกลาความคิดของเราไปเรื่อย ๆ ทดลองซ้ำแล้วซ้ำอีก ผิดพลาดมันซ้ำ ๆ เพื่อทำให้งานชิ้นต่อ ๆ ไปนั้นสมบูรณ์แบบ”
ที่มา
หนังสือ 100 Great Business Leaders โดย Jonathan Gifford
https://www.dyson.co.th/t
https://www.inc.com/gordon-tredgold/27-tips-for-when-you-feel-like-giving-up-from-billionaire-failure-expert-sir-james-dyson.html
https://www.bbc.com/news/business-46149743