read
culture
29 พ.ค. 2563 | 18:56 น.
พิกเล็ต: ตัวแทนของเพื่อนแท้ที่จะอยู่เคียงข้างกันเสมอ
Play
Loading...
ท่ามกลางความเงียบไร้บทสนทนา มีเพียงเสียงย่ำเท้าซ้ำ ๆ ของพูห์กับพิกเล็ตบนถนนที่หิมะทับถม ความเงียบเริ่มปกคลุมทั้งสองมากเกินไปจนทำให้หมูตัวจิ๋วต้องเรียกชื่อพูห์ หมีตัวเหลืองเกิดความฉงนว่าเพื่อนเรียกเขาทำไม พิกเล็ตจึงจับมือเพื่อนข้างกายและตอบกลับว่า
“แค่อยากมั่นใจว่าเรายังอยู่ด้วยกันเท่านั้นเอง”
ความเรียบง่ายแสนอบอุ่นจากบทสนทนาระหว่าง
หมีพูห์
(Winnie the Pooh) และ
พิกเล็ต
(Piglet) ในนิทานเรื่องวินนี่ เดอะ พูห์ (Winnie-the-Pooh) ได้กลายเป็นบทสนทนาสุดอมตะชวนอบอุ่นหัวใจ ที่ไม่ว่าจะผ่านไปนานกี่ยุคกี่สมัยผู้คนก็ยังคงพูดถึงอยู่เสมอ
วินนี่ เดอะ พูห์ สร้างสรรค์ผ่านจินตนาการของ เอ.เอ. มิลน์ (A.A. Milne) โดยตีพิมพ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ. 1926 เล่าถึงสัตว์หลายชนิดที่อาศัยอยู่ในป่าร้อยเอเคอร์กับเด็กชายคริสโตเฟอร์ โรบิน เนื้อเรื่องส่วนใหญ่มักเล่าถึงหมีพูห์สีเหลืองบุคลิกใสซื่อ มองโลกแง่ดี แม้เขาจะไม่ใช่หมีหัวไวหลักแหลม แต่พูห์ก็เป็นมิตร มีความเป็นผู้นำสูง และชอบไปไหนมาไหนกับพิกเล็ต หมูตัวเล็กสีชมพูผู้มีอารมณ์อ่อนไหว
เรื่องราวชีวิตของคริสโตเฟอร์ โรบิน กับสิงสาราสัตว์ ณ ป่าร้อยเอเคอร์ อาจดู ‘เบาสมอง’ หรือ ‘เด็กเกินไป’ ในสายตาใครหลายคนที่มักมองว่าการ์ตูนต้องอยู่คู่กับเยาวชน เมื่อเติบโตขึ้นก็หลงลืมไม่ยอมหวนกลับไปอ่านอีก อย่างไรก็ตาม ยังมีผู้ใหญ่อีกมากชื่นชอบวินนี่ เดอะ พูห์ จนมองเห็นบางใจความสำคัญบางอย่างที่ เอ.เอ. มิลน์ ซ่อนเอาไว้ในตัวการ์ตูนหน้าตาน่ารัก อาทิ ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างหมีพูห์กับพิกเล็ต เพื่อนแท้ที่ผู้ใหญ่บางคนในชีวิตจริงยังไม่สามารถมีได้ด้วยซ้ำ เล่าถึงมิตรภาพของเพื่อนผู้ยอมไปไหนไปกันและรับได้ทุกอย่างที่เราเป็น รวมถึงการตั้งคำถามเกี่ยวกับบุคลิกของตัวละครว่าคล้ายคลึงกับผู้ป่วยที่รับความเจ็บจากโรคทางระบบประสาท
เกิดการตั้งสมมติฐานอยู่บ่อยครั้งเกี่ยวกับคาแรคเตอร์ของตัวละครเรื่องวินนี่ เดอะ พูห์ สมาคมจิตแพทย์อเมริกันและสมาคมการแพทย์แคนาดา ต่างเกิดข้อสังเกตว่าสมาชิกในป่าร้อยเอเคอร์มีบุคลิกเด่นชัดคล้ายกับผู้ป่วยในโลกแห่งความจริง พิกเล็ตคือตัวแทนของผู้ป่วยโรควิตกกังวล (Generalised Anxiety Disorder: GAD) อ้างอิงด้วยนิสัยคิดมาก ขี้อาย กังวลกับทุกเรื่องไม่ว่าเรื่องเหล่านั้นจะเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม
พิกเล็ตชอบธรรมชาติ รักดอกไม้ พอใจเมื่อเห็นของในบ้านเป็นระเบียบเรียบร้อย แต่มักแสดงความประหม่าออกมาทุกครั้งเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คุ้นเคยหรือย่างกรายไปยังดินแดนที่ไม่รู้จัก เมื่อเกิดปัญหากวนใจเขามักหลบไปอยู่ในมุมส่วนตัว ซ่อนอยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ ที่สร้างความรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย ซึ่งบุคลิกและมุมมองของพิกเล็ตมีลักษณะคล้ายกับผู้ป่วยโรควิตกกังวล
จิตแพทย์จำนวนไม่น้อยมองว่าหมีพูห์เพื่อนซี้ตัวติดกันกับพิกเล็ตอาจสื่อถึงผู้ป่วยโรคกินไม่หยุด (Binge Eating Disorder: BED) จากอาการรู้สึกหิวตลอดเวลา จะเกิดหงุดหงิดหากไม่สามารถกินได้ตามต้องการ แถมยังพ่วงด้วยโรคสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disoder: ADHD) นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตเกี่ยวกับตัวละครอื่น ๆ เช่น อียอร์ (Eeyore) ลาผู้หม่นหมองอาจเป็นตัวแทนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเรื้อรัง หรือ ทิกเกอร์ (Tigger) เสือผู้ร่าเริงคือตัวแทนของผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นเหมือนกับหมีพูห์ เพราะเขามักสับสน ขี้ลืม และไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นานเกินไป
พิกเล็ตถือเป็นตัวละครที่โดดเด่นไม่แพ้หมีพูห์ ครั้งหนึ่งเพื่อน ๆ ในป่าร้อยเอเคอร์ตกลงไปในหลุมลึกเหลือเพียงแค่หมูสีชมพู แร็บบิทพยายามบอกให้หมูจิ๋วหาอะไรยาว ๆ มาพาดให้ตนกับเพื่อนปีนขึ้นไป กลายเป็นว่าพิกเล็ตใสซื่อเกินเข้าใจได้ ครั้งแรกเขาวิ่งไปหยิบดอกไม้ เมื่อใช้ไม่ได้ก็ไปหยิบหนังสือ (หนังสือยาวเพราะอ่านแล้วง่วงนอน อ่านเท่าไหร่ก็ไม่จบเสียที) หยิบของที่ไม่สามารถช่วยอะไรได้จนแร็บบิทอารมณ์เสียใส่พิกเล็ต แต่หมีพูห์ที่อยู่ในหลุมกลับคอยให้กำลังใจเพื่อน หาข้อดีของสิ่งของที่พิกเล็ตหยิบมา โดยไม่ต่อว่าเพื่อนรักสักครั้งเดียว
หลายครั้งคนดูอาจรู้สึกว่าทั้งสองมองโลกในแง่ดีเกินไป แต่ในความไร้เดียงสาไม่ยี่หระกับปัญหาตรงหน้าก็สะท้อนให้เห็นว่าทั้งสองไม่มองข้อเสียของอีกฝ่ายว่าเป็นเรื่องคอขาดบาดตายจนต้องโกรธเคือง แต่กลับใส่ใจในความสัมพันธ์กับมิตรภาพมากกว่า และรู้สึกว่าปัญหาเล็ก ๆ เหล่านี้หากค่อย ๆ คิดก็สามารถหาทางออกได้โดยไม่ต้องทะเลาะกัน
แม้ทุกตัวละครจะเต็มไปด้วยข้อผิดพลาดไม่สมบูรณ์แบบ พิกเล็ตรู้ดีว่าหมีพูห์มีข้อเสียเรื่องความหิวกับการละเลยรายละเอียดเล็ก ๆ แต่ก็ยังรักเพื่อนคนนี้ไม่เปลี่ยน ส่วนเวลาที่พิกเล็ตทำอะไรไม่ได้ดั่งใจจนหลายคนเรียกว่า “โลกสวยจนไร้เดียงสา” หมีพูห์ก็ยังอยู่เคียงข้าง ไม่ติเตียนเพื่อนด้วยความรุนแรง พวกเขาทั้งคู่ยอมรับความไม่สมบูรณ์แบบ เคียงข้างกันไปจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
นอกจากความสัมพันธ์แน่นแฟ้นของเพื่อน มิติของตัวละครหมูสีชมพูที่คอยให้กำลังใจเพื่อนก็เคยถูกสร้างเป็นแอนิเมชันในปี 2003 กับ
พิกเล็ต หมูจิ๋ว ฮีโร่ผู้ยิ่งใหญ่
(Piglet’s big movie) เมื่อชาวแก๊งต้องรวมตัวกันเก็บน้ำผึ้ง พิกเล็ตไม่สามารถเก็บน้ำผึ้งได้เลยเพราะตัวเล็กเกินไป เก็บความกังวลไว้คนเดียวจนกระทั่งเพื่อน ๆ ต้องการของบางสิ่ง พิกเล็ตจึงตามหาของสิ่งนั้นทันทีเพราะอยากทำประโยชน์ด้วยการช่วยเหลือคนอื่น แนวคิดของเขาสะท้อนให้เห็นความใส่ใจคนรอบตัว มีเมตตา แม้จะมีความวิตกกังวลและไม่มั่นใจอยู่บ้าง แต่ก็ทำเรื่องยิ่งใหญ่ให้สังคมได้โดยไม่สนว่าตัวเองจะเป็นหมูสีชมพูตัวจิ๋วที่ใคร ๆ มองว่ามีสมรรถภาพด้อยกว่าคนอื่น แต่หัวใจของเขานั้นยิ่งใหญ่ไม่แพ้ใคร
ตัวละครพิกเล็ตมอบกำลังใจแก่ผู้ชม เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการไม่ยอมแพ้และใส่ใจผู้อื่นไปพร้อมกัน แม้เขาจะตัวเล็ก ไม่ค่อยมั่นใจในตัวเองแถมยังขี้กลัวจนเกินไป มีคุณสมบัติที่โลกตะวันตกมองว่าอ่อนแอไว้เกือบครบ แต่หลายครั้งเมื่อถึงเวลาก็สามารถทำสิ่งที่คนอื่นไม่คาดคิด และเป็นตัวละครที่มีพัฒนาการชัดเจนกว่าคนอื่น ๆ ในเรื่อง
พิกเล็ตมีนิสัยไม่ต่างจากมนุษย์ทั่วไป ต้องเคยผ่านช่วงเวลาไม่มั่นใจในตัวเอง ตื่นกลัวกับสถานการณ์ไม่คุ้นเคยอยู่บ่อย ๆ แต่ท้ายที่สุดพิกเล็ตสามารถรวบรวมความกล้า เผชิญกับอุปสรรคตรงหน้าจนก้าวผ่านไปได้ทุกครั้ง และปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่าเราทุกคนต่างอยากมีความกล้าแบบพิกเล็ต และอยากมีเพื่อนที่อยู่เคียงข้างกันทุกช่วงเวลาอย่างที่พิกเล็ตมอบความรักให้กับหมีพูห์เสมอมา
ที่มา
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC80580/
https://courses.lumenlearning.com/abnormalpsychology/chapter/generalized-anxiety-disorder-2/
https://www.shared.com/pooh-bear-mental-illness/
https://www.indiatoday.in/lifestyle/culture/story/each-winnie-the-pooh-character-suffers-from-a-disorder-tigger-a-a-milne-cma-canadian-medical-association-319011-2016-04-20
https://courses.lumenlearning.com/abnormalpsychology/chapter/generalized-anxiety-disorder-2/
https://www.nytimes.com/2003/03/21/movies/film-in-review-piglet-s-big-movie.html
เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3556
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6975
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
871
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Culture
The People
Winnie the Pooh
Piglet
วินนี่ เดอะ พูห์
พิกเล็ต