01 มิ.ย. 2563 | 16:49 น.
แม้มีหลายคนแสดงจุดยืนด้วยการคุกเข่าเมื่อเพลงชาติดังขึ้น แต่คนที่รับผลจากการกระทำหนักสุดคงหนีไม่พ้นโคลิน เดิมทีการยืนตรงเมื่อเพลงชาติดังขึ้นในศึกอเมริกันฟุตบอลคือธรรมเนียมที่ทำกันมายาวนาน แล้วอยู่ ๆ มีคนไม่ยืนตรงแถมลงไปคุกเข่า จึงทำเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการกระทำของเขาเป็นเรื่องที่ยอมรับได้หรือว่าไม่เหมาะสมกันแน่ ? หลังเหตุการณ์ดังกล่าว NFL ออกกฎชัดเจนว่าก่อนลงสนามแข่ง ผู้เล่นทุกคนต้องยืนตรงเมื่อมีการเปิดเพลงชาติ โคลินได้เล่นกับทีมซานฟรานซิสโก โฟร์ตี้ไนท์เนอร์ส จนจบฤดูกาลปี 2016 และทางทีมตัดสินใจไม่ต่อสัญญา เขาต้องเผชิญกับช่วงเวลาแห่งความโดดเดี่ยวหลังออกจากทีมเดิม เพราะไม่มีทีมอเมริกันฟุตบอลไหนอยากเซ็นสัญญากับเขา นักกีฬาดาวรุ่งกลายเป็นนักกีฬาว่างงานไร้สังกัด หากจะบอกว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องการคุกเข่าก็คงยากจะมีใครเชื่อ เพราะเจ้าตัวก็เคยพูดไว้ว่า “คงไม่มีทีมไหนอยากมีปัญหาทางการเมือง” ตั้งแต่ปี 2016 โคลินกลายเป็นคนว่างงานในสายอาชีพที่เขารัก แต่นิตยสารจีคิว (GQ) กลับไม่มองว่าเขาเป็นคนไร้ค่า สนับสนุนการกระทำของเขาด้วยการเลือกโคลินเป็นพลเมืองแห่งปี 2017 ยกย่องความเข้มแข็งต่อการแสดงจุดยืนอันแน่วแน่ของตัวเอง แม้จะกลายเป็นนักกีฬาไร้สังกัด แต่การแสดงเจตจำนงต่อหน้าสาธารณชนของชายคนนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อสังคมอเมริกัน ถึงจะมีชื่อเสียง แต่การหาทีมสังกัดไม่ได้เป็นเรื่องที่เจ็บปวดของนักกีฬาอาชีพ พาลคิดว่าคงหมดหวังกับการเล่นอเมริกันฟุตบอล อย่างไรก็ตาม โคลินได้รับโอกาสใหญ่ครั้งสำคัญ เมื่อแบรนด์เครื่องกีฬาชื่อดัง ไนกี้ (Nike) เลือกเขาเป็นพรีเซนเตอร์คนใหม่ของแบรนด์ในปี 2018 เริ่มทำการโปรโมตหน้าเขาแบบภาพขาว-ดำ ไปทั่วโลก พร้อมกับคำว่า “Just Do It” คำขวัญครบรอบ 30 ปี ของแบรนด์ รวมถึงประโยค “Believe in something, even if it means sacrificing everything”การคุกเข่าคือการแสดงออกทางสัญลักษณ์ ผมอยากให้ผู้คนตระหนักว่ายังมีการกีดกันคนออกจากสิทธิ เสรีภาพ และความยุติธรรมด้วยสีผิว” - โคลิน เคเปอร์นิก
“จงเชื่อในบางสิ่ง แม้จะต้องแลกกับทุกสิ่งก็ตาม”
หลังจากเลือกโคลินเป็นพรีเซนเตอร์ ราคาหุ้นของไนกี้ลดลง 3.2% จากเดิมอยู่ที่ 82 ดอลลาร์ ร่วงลงมาแตะ 79.66 ดอลลาร์ เกิดเสียงเรียกร้องทั่วโซเชียลมีเดียให้คว่ำบาตรสินค้าของไนกี้ผ่านแฮชแท็ก #NikeBoycott #Boycottnike และ #Justburnnike ชาวอเมริกันผู้มีหัวคิดแบบอนุรักษนิยมหลายคนนำสินค้าไนกี้ออกมาเผาแล้วถ่ายลงโซเชียล แสดงความไม่พอใจกับการเลือกนายแบบครั้งนี้ รวมถึงทรัมป์ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “ไนกี้จะถูกทำลายเพราะความเกลียดชัง” เบน ซาห์น (Ben Zahn) นายกเทศมนตรีเมืองเคนเนอร์ รัฐหลุยเซียนา ออกคำสั่งไม่ให้นักกีฬาหรือคนในชุมชนใช้อุปกรณ์ใด ๆ ของแบรนด์ไนกี้บริเวณสวนสาธารณะ สนามกีฬา อุทยาน และพื้นที่สันทนาการของเมือง แสดงให้เห็นว่าเขามีแนวคิดเดียวกับประธานาธิบดีสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนนายกเทศมนตรีจะลืมไปว่าเขาไม่สามารถสั่งห้ามประชาชนไม่ให้ทำโน่นทำนี่เหมือนรัฐเผด็จการได้ ชาวบ้านจึงพากันออกมาประท้วงขอสั่งห้ามบ้าง พวกเขาชูป้ายสั่งห้ามไม่ให้นายกเทศมนตรีแสดงท่าทางโง่เง่าหรือออกความคิดเห็นซื่อบื้ออีกต่อไป และจากการโดนโจมตีอย่างหนักทำให้เมืองเคนเนอร์ยอมยกเลิกข้อห้ามการใช้ของแบรนด์ไนกี้ที่ไม่ควรมีตั้งแต่แรก ไม่กี่วันหลังจากหุ้นร่วง ไนกี้กลับมียอดสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้น 31% ส่งให้หุ้นดีดตัวขึ้นมา 2.2% (ภายหลังทะยานไปถึง 5%) อาจเป็นเพราะคนทั่วโลกจำนวนมากอยากสนับสนุนความกล้าของไนกี้กับโคลิน บางคนชื่นชมการตลาดอันสุ่มเสี่ยง และรู้สึกประทับใจที่เหล่าผู้บริหารของแบรนด์ยอมเลือกโคลินเป็นพรีเซนเตอร์ กลายเป็นว่าแคมเปญครบรอบ 30 ปี ได้พื้นที่สื่อทั่วโลกไปแบบเต็ม ๆ เหล่าคนดังจากหลายแวดวงพากันโพสต์ภาพแคมเปญที่มีโคลิน ยอดวิวโฆษณาในยูทูบสูงถึง 25 ล้านวิว โดยใช้เวลาเพียง 6 วัน ยิ่งมีคนประกาศจะแบนไนกี้มากเท่าไหร่ ยอดขายกับความสนใจของคนทั่วโลกก็พุ่งสูงขึ้นเป็นทวีคูณ จนตอนนี้ไนกี้กลายเป็นแบรนด์ที่มีภาพลักษณ์ใส่ใจสิทธิมนุษยชน สนับสนุนความเท่าเทียมกันในสังคม แม้ก่อนหน้านี้จะเคยโดนโจมตีเรื่องการกดขี่แรงงานต่างด้าวกับการใช้แรงงานเด็กก็ตาม โดยแบรนด์เครื่องกีฬาออกมาย้ำเสมอว่าอดีตเปลี่ยนไม่ได้ แต่เวลานี้ไนกี้ไม่ได้เป็นแบบเดิมอีกต่อไปแล้ว ปี 2018 แอมเนสตี้ (Amnesty) มอบรางวัลทูตแห่งมโนธรรมสำนึก (Ambassador of Conscience Award) เป็นรางวัลเกียรติยศสูงสุดเพื่อยกย่องบุคคลที่มีความกล้าหาญ ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน ลงมือทำสิ่งที่เหมาะสมตามมโนธรรมของตัวเอง และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่น ๆ ในปีเดียวกัน อดีตนักร้องชื่อดัง รีแอนนา (Rihanna) ก็ปฏิเสธชัดเจนที่จะแสดงในช่วงพักครึ่งของการแข่งขันอเมริกันรอบชิงชนะเลิศ (ซูเปอร์โบว์ล) ครั้งที่ 53 แม้จะได้กระแส เงิน และชื่อเสียงมากมายจากการแสดงครั้งนี้ แต่รีแอนนากลับปฏิเสธเพื่อสนับสนุนจุดยืนของโคลิน เคเปอร์นิก ปี 2019 ทาง NFL เปิดโอกาสให้โคลินทดสอบฝีมือให้ทีมต่าง ๆ ได้รับชมอีกครั้งหลังจากห่างหายไปนานถึง 3 ปี ข่าวการหวนกลับสู่สนามอีกครั้งของเขาอยู่ในสายตาสื่อที่เฝ้ารอดูว่าชายคนนี้จะได้งานหรือไม่ มีทีมอเมริกันฟุตบอล 13 ทีม สนใจเข้าร่วมดูการทดสอบศักยภาพของโคลิน แต่น่าเศร้าที่ตอนนี้ก็ยังไม่มีทีมไหนแสดงท่าทีจริงจังว่าต้องการเขาไปเป็นควอเตอร์แบค สำหรับปี 2020 กระแสการเรียกร้องความเท่าเทียมกันของคนทุกสีผิวกลายเป็นประเด็นร้อนแรงในสังคมอีกครั้ง จากกรณีของ จอร์จ ฟลอยด์ (George Floyd) ถูกตำรวจผิวขาวชาวอเมริกันใช้เข่ากดคอจนเสียชีวิต ผู้คนต่างเจ็บปวด รู้สึกรับไม่ได้กับการกระทำดังกล่าว แถมเหตุการณ์ครั้งนี้ยิ่งสนับสนุนแนวคิดที่ว่า ‘ไม่เคยมีความเท่าเทียมกันจริง ๆ ระหว่างคนผิวสีกับคนผิวขาวในสังคมอเมริกัน’ ดังเช่นโคลินที่ออกมาเรียกร้องสิทธิเพื่อชาวแอฟริกัน-อเมริกัน จนตกงานนานกว่า 4 ปี โคลิน เคเปอร์นิก ถือเป็นอีกหนึ่งคนที่ใช้ชื่อเสียงในวงการกีฬาผลักดันสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมของโลกเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ทำให้สังคมเกิดการตั้งคำถามเรื่องสิทธิมากขึ้น แม้คนบางส่วนมองว่านักกีฬาไม่ควรยุ่งกับการเมือง แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มองเห็นความไม่เท่าเทียมมาตลอดชีวิต โคลินเลือกที่จะแลกหน้าที่การงานเพื่ออุดมการณ์ที่ตัวเองยึดมั่น ที่มา https://www.cbc.ca/news/canada/saskatchewan/nike-aligns-itself-with-kaepernick-free-speech-1.4810542 https://www.amnesty.org/en/latest/news/2018/04/colin-kaepernick-ambassador-of-conscience/ https://time.com/5248606/colin-kaepernick-wins-amnesty-internationals-ambassador-of-conscience-award/ https://www.forbes.com/sites/simonmainwaring/2018/09/07/what-nikes-kaepernick-ad-means-for-your-brand/?ss=leadership#685472a7bc76 https://www.cbsnews.com/news/kenner-louisiana-mayor-bans-nike-products-colin-kaepernick-ad-campaign/ https://www.cbsnews.com/news/colin-kaepernick-nike-6-billion-man/ https://www.forbes.com/sites/lisettevoytko/2019/10/09/rihanna-confirms-she-declined-super-bowl-gig-to-support-colin-kaepernick/#472d20a959ed เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์