ศาลทหาร มีไว้ทำไม?

ศาลทหาร มีไว้ทำไม?
“ผมพร้อมแล้วครับท่าน ผบ.ทบ. รอหมายจับจากศาลทหารอยู่ ผมจะไปมอบตัวต่อสู้คดี จะได้ไม่ยืดเยื้อ ให้จบๆไปสักที ผมเองก็เป็นผู้เสียหายจากการถูกบังคับกดขี่ข่มเหง และละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยการเอาชื่อผมไปร่วมทุจริตด้วยเป็นเวลาหลายปีทั้งที่ผมไม่ได้ยินยอม หากไม่ยอมก็มีการกลั่นแกล้งทางวินัยตลอดมา ส่วนยศฐาบรรดาศักดิ์นั้นหากท่านอยากถอดยศผมมาก ผมคืนให้ท่านได้ครับ แล้วท่านคืนความยุติธรรมให้ผมได้หรือไม่...วันนี้ผมหนีทหารไม่มีเงินเดือนไม่มีงานไม่มีที่อยู่ แถมโดนดำเนินคดี ส่วนคนที่ทุจริตยังได้สวมใส่เครื่องแบบข้าราชการรับเงินเดือนจากภาษีประชาชน ได้เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่ง #นี่หรือการปฏิรูป #คุ้มครองพยาน”  ส.อ.ณรงค์ชัย อินทรกวี ทหารที่ร้องเรียนว่าถูกผู้บังคับบัญชาคุกคามเอาชีวิตหลังออกมาเปิดเผยปัญหาทุจริตในกรมสรรพวุธทหารบก กล่าวในเฟซบุ๊กส่วนตัว หลังทราบข่าวว่าจะถูกดำเนินคดีฐานหนีทหาร ซึ่งทำให้เขาจำเป็นต้องขึ้น “ศาลทหาร”  หากไปเปิดรัฐธรรมนูญไทยฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2560) เพื่อหาข้อยืนยันสิทธิเสรีภาพของประชาชนในกระบวนการยุติธรรมจะพบหลักการสำคัญคือ  "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ย่อมได้รับความคุ้มครอง” และ “ปวงชนชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญเสมอกัน" (มาตรา 4 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง) "บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน" (มาตรา 27 วรรคหนึ่ง) ขณะเดียวกัน การที่คนจะได้รับความคุ้มครองเสมอกันตามกฎหมายได้ตามหลักการข้างต้น คนทุกคนควรอยู่ใต้กติกาเดียวกัน มีผู้ตัดสินที่อาศัยหลักการเดียวกันในการตัดสินคดี การพิจารณาคดีเป็นไปอย่างเปิดเผย โปร่งใส และมีความเป็นอิสระ ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับคู่พิพาทในคดี ด้วยเหตุนี้ในรัฐธรรมนูญจึงได้มีการบัญญัติเอาไว้ว่า "ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง"  และให้แต่ละศาล "มีหน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการที่มีความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดําเนินการอื่น" เพื่อให้มั่นใจว่า ตุลาการแต่ละคนจะตัดสินคดีโดยไม่ต้องกังวลว่า คำตัดสินนั้น ๆ จะมีผลต่อความก้าวหน้ามั่นคงในหน้าที่การงานของตนหรือไม่ หากแต่หลักการนี้กลับไม่ถูกนำมาใช้ในสังคม "ทหาร" และบางกรณีก็เป็น “พลเรือน” ที่ถูกบังคับให้ต้องขึ้น “ศาลทหาร” ด้วย (เช่น เมื่อตอนที่ไทยอยู่ใต้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งออกประกาศกำหนดให้บางความผิดต้องขึ้นศาลทหารแม้บุคคลนั้นจะเป็นพลเรือน)  พลเรือเอก ปรีชาญ จามเจริญ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญได้เคยกล่าวถึงความจำเป็นของการมีศาลทหารเอาไว้ว่า "การจัดตั้งศาลทหารมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทหารซึ่งถูกเป็นผู้ถืออาวุธ ถูกฝึกฝนให้ปฏิบัติการรบ การสงคราม มีความประพฤติที่อยู่ในแบบธรรมเนียมทหารหรือวินัยทหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่สําคัญที่สุดของทหาร ไม่กระทําความผิดอาญาต่อประชาชนทั่วไปหรือทหารด้วยกันเอง อันจะทําให้การปกครองบังคับบัญชาทหารมีประสิทธิภาพ ดังนั้น การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหารจะต้องดําเนินไปด้วยความรวดเร็ว ลงโทษผู้กระทําความผิดอย่างเฉียบขาด เหมาะสมกับสภาพการณ์ต่าง ๆ ทั้งในยามปกติและไม่ปกติ" (ศาลรัฐธรรมนูญ) อย่างไรก็ดี หลายประเทศไม่เห็นความจำเป็นต้องมีศาลทหารในเวลาปกติ (เช่น ฝรั่งเศส ใช้ศาลทหารเฉพาะมีสงคราม และใช้ในเวลาปกติเฉพาะกรณีทหารไปปฏิบัติภารกิจในต่างแดนเท่านั้น) ต่างจากประเทศไทย ที่มีศาลทหารทั้งในเวลาปกติ และเวลาไม่ปกติ (ซึ่งจะมีอำนาจมากขึ้นไปอีก) และมีวิธีการตัดสินคดีที่ผิดไปจากศาลพลเรือน แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ระบุยกเว้นให้เป็นการเฉพาะ เพื่อมิให้ผู้ที่ตกอยู่ใต้อำนาจศาลทหารอ้างได้ว่า การที่ตนได้รับการปฏิบัติต่ำกว่ามาตรฐานทั่วไปและเป็นวิธีการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ   เมื่อพิจารณาข้อแตกต่างของศาลทหารกับศาลพลเรือน หากไปดูโครงสร้างของศาลทหารตามพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหารจะเห็นว่า ศาลทหารอยู่ใต้อำนาจกระทรวงกลาโหม โดยผู้บังคับบัญชาทหาร และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนตุลาการศาลทหารได้ ตุลาการศาลทหารจึงขาดความเป็นอิสระ เนื่องจากหน้าที่การงานของตนอยู่ใต้เงื้อมมือของผู้บังคับบัญชา  (หากจำเลยที่แสดงท่าทีท้าทาย ผบ.ทบ. ก็น่าสงสัยว่าจะได้รับความเป็นธรรมจากการตัดสินเพียงใด?) คนที่จะมานั่งเป็นตุลาการตัดสินคดีในศาลทหารก็ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้รู้กฎหมาย เนื่องจากธรรมนูญศาลทหารให้ความสำคัญกับการมีตัวแทนของทหารระดับสูงนั่งเป็นองค์คณะมากกว่าการใช้งานตุลาการพระธรรมนูญ ในบางคดี ศาลทหารยังมักจะพิจารณาคดีโดยไม่เปิดเผยต่อสาธารณะโดยอ้างเรื่องความมั่นคง ซึ่งขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) หรือ ICCPR ที่ไทยเข้าเป็นภาคีและมีผลบังคับตั้งแต่ 30 มกราคม พ.ศ. 2540 และมีความพยายามจะให้หลักการนั้นมีผลในเชิงปฏิบัติ โดยมีการยืนยันหลักการนี้ในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 ความว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิในกระบวนการยุติธรรมดังต่อไปนี้ สิทธิพื้นฐานในกระบวนพิจารณา ซึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักประกันพื้นฐานเรื่องการได้รับการพิจารณาโดยเปิดเผย การได้รับข้อเท็จจริงและตรวจเอกสารอย่างเพียงพอ การเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง และพยานหลักฐานของตน การคัดค้านผู้พิพากษาหรือตุลาการ การได้รับการพิจารณาโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการที่นั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะ และการได้รับทราบเหตุผลประกอบคำพิพากษา คำวินิจฉัย หรือคำสั่ง” แต่เมื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหารในปี พ.ศ. 2557 ข้อความที่ยืนยันสิทธิดังกล่าวของประชาชนก็หายสาบสูญไป เปิดทางให้การพิจารณาคดีลับเกิดขึ้นได้โดยง่ายไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ (ขณะที่ศาลพลเรือนมีกฎหมายยืนยันหลักการเรื่องพิจารณาโดยเปิดเผยอยู่ แต่ก็มีข้อยกเว้นได้บางกรณี)   นอกจากนี้ ใน “เวลาไม่ปกติ” คือในภาวะสงครามหรือมีการประกาศกฎอัยการศึก ธรรมนูญศาลทหารยังระบุมิให้อุทธรณ์หรือฎีกาใด ๆ อีกด้วย ทำให้การตัดสินเป็นตายของศาลขาดการตรวจสอบทบทวนในกรณีที่อาจเกิดความผิดพลาดหรือบกพร่องที่อาจเกิดขึ้นได้  ศาลทหารจึงประกอบด้วย “ช่องโหว่” ในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดยข้ออ้างว่า ทหารเป็นประชาชนกลุ่มพิเศษ เนื่องจาก “ถืออาวุธ” และยึดเรื่อง “วินัยทหาร” เป็นสำคัญ (ซึ่งหมายถึงการปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นโดยไม่มีข้อโต้แย้ง) จึงจำเป็นต้องได้รับการปฏิบัติต่างจากคนทั่วไปเพื่อให้การปกครองบังคับบัญชาทหารมีประสิทธิภาพ” ทำให้การ “อำนวยความยุติธรรม” ให้กับผู้ที่อยู่ใต้อำนาจกลายเป็นเรื่องรองลงไป จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ถ้าหากผู้ใต้บังคับบัญชาต่อต้านอำนาจผู้บังคับบัญชา เนื่องจากมีเหตุอันสมควรแล้ว ผู้ใต้บังคับบัญชาจะได้รับความ “ยุติธรรม” หรือถูกอำนาจกดทับเพื่อ “ให้การปกครองบังคับบัญชาทหารมีประสิทธิภาพ” กันแน่? นอกจากนี้ ในข้อที่ว่า การให้ทหารปกครองกันเองเพื่อการรักษาวินัยนั้น พ.ต.ท.นิมิตร นูโพนทอง เจ้าของวิทยานิพนธ์เรื่อง “ศาลทหารไทยกับมาตรฐานระหว่างประเทศ” (พ.ศ. 2557) ยังชี้ว่า “การให้เหตุผลนี้เป็นการให้เหตุผลเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ต้องถูกพิจารณาคดีพลเรือนและถือว่าเป็นการส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมไม่ต้องรับผิดของฝ่ายทหารอันมีผลกระทำต่อผู้เสียหายหรือเหยื่อซึ่งไม่ได้รับความเยียวยาจากการกระทำของฝ่ายทหาร” โดยยกตัวอย่างกรณีของ “ผู้พันตึ๋ง” หรือ พันตรี เฉลิมชัย มัจฉากล่ำ ที่ร่วมกันฆ่า ปรีณะ ลีพัฒนะพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร ณ โรงแรมรอแยลแปซีฟิค และคดีของพลโท มนัส คงแป้น อดีตผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 42 ที่ถูกจับกุมเนื่องจากถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์โรฮีนจา ซึ่งถูกดำเนินคดีในศาลยุติธรรมเนื่องจากจำเลยร่วมเป็นพลเรือน ต่างก็มีความพยายามที่จะขอให้โอนคดีไปอยู่ใต้การพิจารณาของศาลทหาร ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ “เครือข่ายทหาร” ด้วยกัน และมีความหวังว่าจะได้รับการพิจารณาที่เป็นคุณกับตัวเองมากกว่าศาลยุติธรรม “จากตัวอย่างทั้งสองคดีนี้ แสดงให้เห็นว่า ‘วัฒนธรรมไม่ต้องรับผิดได้ในหมู่ทหาร’ นั้นเป็นเรื่องที่ ‘ทหารบางส่วนมีความเชื่อว่ามีอยู่จริง’ เพราะหากทหารกระทำผิดกฎหมายอาญาแล้วถูกนำตัวมาพิจารณาคดีในศาลทหาร ถ้าศาลทหารพิพากษาว่าไม่มีความผิด ทหารเหล่านั้นก็จะพร้อมที่จะทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อไปอีกเพราะมั่นใจว่าหากตนถูกฟ้องเป็นจำเลยในศาลทหารก็อาจได้รับการตัดสินคดีที่เป็นคุณแก่ตนเอง กรณีดังกล่าวนั้นย่อมส่งผลถึงผู้เสียหายหรือเหยื่อที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงย่อมไม่มีโอกาสได้รับการเยียวยาชดเชย” นิมิตร กล่าว