ไอ้หนุ่มรถถัง (Tank Man) ภาพสัญลักษณ์ประชาชนมือเปล่าผู้ท้าทายอำนาจรัฐ
ไอ้หนุ่มรถถัง (Tank Man) ถือเป็นภาพสัญลักษณ์สำคัญของเหตุการณ์สังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1989 มันเป็นภาพของชายหนุ่มที่ยืนขวางการเคลื่อนขบวนรถถังที่กองทัพปลดปล่อยประชาชน (People's Liberation Army) นำมาใช้ปราบปรามประชาชนที่เรียกร้องเสรีภาพทางการเมืองจากรัฐบาลคอมมิวนิสต์
ท่าทางที่ยืนหยัดท้าทายสะท้อนถึงความกล้าหาญ มั่นคง ไม่หวั่นไหวต่อพลังอำนาจที่เหนือกว่า ของประชาชนที่ถือมีเพียงมือเปล่า (หมายถึง ไม่ถืออาวุธ แม้ในมือจะถือกระเป๋าเอกสารและเสื้อแจ็กเก็ตเหมือนคนเพิ่งกลับจากที่ทำงานมากกว่ามาเดินม็อบก็ตาม)
เหตุการณ์นี้เกิดจากความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่คึกคักมากขึ้นจากการที่เศรษฐกิจจีนขยายตัวอย่างมากหลังการเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติตั้งแต่ปี 1979 ขณะเดียวกันประชาชนก็ได้รับรู้ถึงโลกภายนอกมากขึ้น รวมถึงแนวคิดด้านสิทธิ เสรีภาพ และมาตรฐานการดำรงชีวิต จึงเริ่มเกิดการเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชน
รัฐบาลคอมมิวนิสต์ตอบโต้ด้วยการบีบให้แกนนำทางความคิดของฝ่ายหัวก้าวหน้าอย่าง หู เย่าปัง ผู้เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ออกจากตำแหน่งในปี 1987 และเมื่อหูเสียชีวิตลงในวันที่ 15 เมษายน 1989 ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การชุมนุมของประชาชนเรียกร้องการปฏิรูปการปกครองไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยทั่วประเทศจีน โดยเฉพาะที่จัตุรัสเทียนอันเหมินซึ่งประเมินกันว่า ณ จุดสูงสุดน่าจะมีประชาชนกว่าล้านคน
รัฐบาลคอมมิวนิสต์ยกระดับการใช้ไม้แข็งขึ้นตามลำดับ ก่อนตัดสินใจเคลื่อนกองทัพเข้าปราบปรามประชาชนในวันที่ 3 และ 4 มิถุนายน ทำให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิตจำนวนมาก (ข้อมูลจากตะวันตกอ้างว่าน่าจะมีเป็นหลักหมื่นราย - BBC) และถูกสื่อต่างประเทศเรียกเหตุการณ์นี้ว่า "การสังหารหมู่แห่งเทียนอันเหมิน"
วันที่ 5 มิถุนายน กองทัพสามารถควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ไว้ได้อย่างสมบูรณ์ ผู้ชุมนุมยังคงหลงเหลืออยู่ไม่มากนัก หนึ่งในนั้นคือ "ไอ้หนุ่มรถถัง" ที่แม้จะได้เป็นประจักษ์พยานการสังหารหมู่ที่เกิดขึ้นกับประชาชนผู้ร่วมอุดมการณ์ต่อหน้าต่อตา เขาก็ยังไม่ยอมถอย กลับเผชิญหน้าขวางทางการเคลื่อนขบวนรถถัง ก่อนปีนขึ้นรถถังขอคุยกับทหารผู้ควบคุมรถ
ชาร์ลี โคล (Charlie Cole) ช่างภาพข่าวจาก Newsweek ผู้เฝ้าสังเกตการณ์จากระเบียงของ Beijing Hotel ณ วันที่ 5 มิถุนายน 1989 หนึ่งในช่างภาพที่ถ่ายภาพของไอ้หนุ่มรถถังเอาไว้ได้ กล่าวว่า
"ขณะที่ขบวนรถถังเคลื่อนเข้าใกล้ Beijing Hotel ชายหนุ่มรายหนึ่งก็ลงเดินบนถนนโบกมือที่ถือเสื้อแจ็กเก็ตและถุงช็อปปิ้งให้ขบวนรถถังหยุด ผมถ่ายภาพอย่างต่อเนื่องด้วยความความรู้สึกว่านี่อาจจะเป็นวาระสุดท้ายของชายหนุ่มผู้นี้ แต่แล้วผมก็ต้องประหลาดใจ รถถังคันหน้าหยุดรถ และพยายามจะขับอ้อมเขา แต่ชายหนุ่มก็เข้าขวางอีก สุดท้าย PSB (หน่ายความมั่นคงสาธารณะ) ก็จับตัวพาเขาวิ่งออกไป ผมกับสจ๊วต (เพื่อนร่วมงาน) มองหน้ากันด้วยความรู้สึกไม่อยากเชื่อในสิ่งที่ตัวเองเห็นและถ่ายภาพมา" (The New York Times)
โคลสังหรณ์ใจว่า ตัวเองน่าจะถูกเจ้าหน้าที่ความมั่งคงจีนจับตาดูอยู่เป็นแน่ จึงรีบนำม้วนฟิล์มที่มีภาพถ่ายสำคัญ รวมทั้งภาพของไอ้หนุ่มรถถังซุกซ่อนไว้ในถังชักโครก และเอาฟิล์มเปล่าบรรจุใส่กล้องทั้งสองตัวของเขาแทน และเขาก็คาดไม่ผิด เพียงหนึ่งชั่วโมงจากนั้น เจ้าหน้าที่จีนก็บุกค้นห้องพักของเขาและทำลายม้วนฟิล์มที่ถูกบรรจุอยู่ในกล้อง เมื่อเป็นที่พอใจแล้วก็สั่งให้เขาลงชื่อรับสารภาพว่าทำการถ่ายภาพฝ่าฝืนกฎอัยการศึกและยึดหนังสือเดินทางไป โดยไม่รู้ว่า หลักฐานสำคัญที่จะกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการประท้วงเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนยังคงอยู่ดี
นักข่าวต่างประเทศต่างพยายามสืบเสาะหาตัวตนของชาวจีนผู้กล้าหาญรายนี้ หลังเหตุการณ์เกิดขึ้นไม่นาน Sunday Expres สื่อแท็บลอยด์ของอังกฤษอ้างว่าชายผู้นี้คือ นักศึกษาวัย 19 ปี ชื่อว่า หวัง เหว่ยหลิน (Wang Weilin)
แต่ จอห์น กลีออนนา (John Glionna) จาก LA Times พยายามตรวจสอบความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าวสื่ออังกฤษ เมื่อเขาได้พูดคุยกับนักข่าวรายนี้ก็ให้ความเห็นว่า "มันดูจะเป็นเหตุบังเอิญเกินไป และมันน่าจะเป็นไปได้ยากที่นักข่าวที่ไม่มีประสบการณ์ในประเทศจีน และนั่งทำงานอยู่ที่ลอนดอนขณะเกิดเหตุจะสามารถระบุตัวของไอ้หนุ่มรถถังได้อย่างง่ายดาย"
สื่อหลายแห่งตั้งข้อสันนิษฐานไปต่าง ๆ นานา แต่ถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีใครทราบแน่ว่า ตัวตนของไอ้หนุ่มรถถังจะเป็นอย่างไรแน่ และจะมีชะตากรรมอย่างไรหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว
ขณะเดียวกันก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่า สื่อให้ความสำคัญกับภาพไอ้หนุ่มรถถังมากเกินไปหรือไม่? เพราะในความเป็นจริง ผู้ประท้วงที่กล้ายืนหยัดต่อสู้กับกองทัพยังมีอยู่มากมาย และเหตุการณ์ครั้งนี้ยังมีเรื่องที่ต้องสนใจอีกหลายอย่าง แต่องค์ประกอบของภาพอาจจะไม่ได้ตรึงตราเท่ากับภาพนี้
โคลผู้ถ่ายภาพของไอ้หนุ่มรถถังยังกล่าวว่า "ในความเห็นของผม มันก็น่าเศร้านะที่ภาพภาพเดียวกลายเป็น 'โคตรแม่' สัญลักษณ์โศกนาฏกรรมเทียนอันเหมิน มันมักจะไปบดบังความสำคัญของงานที่มาจากการทุ่มเทแรงใจแรงกายของช่างภาพรายอื่น ๆ ระหว่างที่เกิดการปราบปราม นักข่าวบางคนถูกฆ่าตายขณะทำข่าว และเกือบทุกคนเสี่ยงที่จะถูกยิงไม่ครั้งใดก็ครั้งหนึ่ง
"ฌัก ลองเจอแวง (Jacques Langevin) ปีเตอร์ และเดวิด เทิร์นลีย์ (Peter and David Turnley) ปีเตอร์ ชาร์ลส์เวิร์ต (Peter Charlesworth), โรบิน มอยเออร์ (Robin Moyer) เดวิด เบิร์กวิตซ์ (David Berkwitz) เรอิ โอฮารา (Rei Ohara) อาลอน เรนิงเกอร์ (Alon Reininger) เคน จาเรก (Ken Jarecke) และผู้เกี่ยวข้องอีกจำนวนมากคือผู้ที่ช่วยกันบันทึกประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นระหว่างโศกนาฏกรรมนี้ให้มีความสมบูรณ์ และเราไม่ควรที่จะติดกับความมักง่าย เห็นภาพแค่มุมเดียวในเหตุการณ์ที่แสนจะยุ่งเหยิงซับซ้อนนี้"