พระยาภิรมย์ภักดี ตำนานแชมป์ว่าวไร้พ่ายเมืองไทย

พระยาภิรมย์ภักดี ตำนานแชมป์ว่าวไร้พ่ายเมืองไทย

พระยาภิรมย์ภักดี ตำนานแชมป์ว่าวไร้พ่ายเมืองไทย

หากได้ยินชื่อของ "พระยาภิรมย์ภักดี" (บุญรอด เศรษฐบุตร, พ.ศ. 2415-2493) แล้ว ในปัจจุบันเราคงนึกถึงท่านในฐานะต้นตระกูล "ภิรมย์ภักดี" เจ้าของธุรกิจเบียร์รายใหญ่ของเมืองไทย แต่ท่านเจ้าคุณรายนี้มิได้เก่งกาจแต่เรื่องเบียร์เท่านั้น ยังมีความรอบรู้และเชี่ยวชาญในหลายด้าน หนึ่งในนั้นก็คือเรื่องของ "ว่าว" ถึงขั้นที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพยังทรงชื่นชมเมื่อครั้งที่พระยาภิรมย์ภักดีจะเขียนหนังสือเรื่องว่าว โดยทรงกล่าวว่าเรื่องนี้ "ผู้ซึ่งจะแต่งนั้น ก็ไม่มีใครจะสมควรยิ่งกว่าพระภิรมย์ฯ (บรรดาศักดิ์ในขณะนั้น) ไป ด้วยเป็นผู้ชำนาญการเล่นว่าวพนันไม่มีตัวสู้อยู่ในเวลานี้" พร้อมกันนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงฯ ยังทรงขอให้พระยาภิรมย์ภักดีเล่าตามจริงอย่างไม่ต้องถ่อมตัว ดังความในคำนำหนังสือ "ตำนานว่าวพนัน ตำราผูกว่าว" ที่พระองค์ทรงเขียนให้พระยาภิรมย์ภักดีว่า "เหมือนพระภิรมย์จะรู้สึกลำบากใจอยู่ข้อหนึ่ง ในตอนกล่าวถึงตำนานการเล่นว่าวพนัน ที่ต้องเล่าประหนึ่งอวดฝีมือตนเองว่าไม่มีผู้ใดสู้ แต่ความข้อนั้นเป็นความจริง ตัวข้าพเจ้าก็อยู่ในผู้หนึ่งซึ่งชอบดูว่าวพนันมาแต่ก่อน ที่จะได้รู้จักพระภิรมย์ (ชม) ผู้บิดา และพระภิรมย์ (บุญรอด) ผู้บุตร ก็เพราะไปดูว่าวพนัน ได้เคยเห็นฝีมือและได้ยินคำคนยกย่องโดยมาก จึงได้ขออย่าให้พระภิรมย์ฯ ตัดความซึ่งกล่าวถึงฝีมือบิดาหรือฝีมือตนเองออกเสียให้ความบกพร่องไป หวังใจว่าท่านผู้อ่านจะไม่ติเตียนในความที่กล่าวนั้น" ฝ่ายพระยาภิรมย์ภักดีก็ออกตัวก่อนว่า ในการเขียนหนังสือนี้นั้นท่านเองมิได้หวังจะอวดตัวเอง แต่ด้วยความที่ "ตำนาน" บางเรื่องเกี่ยวกับท่านและบิดาโดยตรง โดยเฉพาะเรื่องการเล่นว่าวพนันที่สนามหลวงจึงทำให้ท่านดูเป็นพระเอกไปเสีย ดังที่ท่านเล่าเอาไว้ตอนหนึ่งว่า "เมื่อครั้งเล่นว่าวกันที่ท้องสนามหลวงในรัชกาลที่ 5 พระภิรมย์ภักดี (ชม เศรษฐบุตร) บิดาข้าพเจ้าๆ เป็นผู้ช่วยล่อปักเป้าชนะว่าวจุฬาวันละหลายเที่ยวเสมอ จนมีผู้กล่าวว่า ถ้าเล่นว่าวพนันกันได้ดังนี้ตลอดปี พระภิรมย์ไม่ต้องทำอะไรกินก็ได้ ครั้นบิดาข้าพเจ้าชราเล่นเองไม่ไหวจึงให้ข้าพเจ้าเล่นแทนตัว ต่อมาจนพวกว่าวจุฬาขึ้นคานเสียไม่ยอมคว้าว่าวปักเป้าของข้าพเจ้า ทั้งร้องขออย่าให้ข้าพเจ้าชักว่าวให้ผู้ใดในสนามด้วย ข้าพเจ้าก็ต้องกลายเป็นผู้ดูผู้อื่นเขาเล่นว่าวกัน ความเสียดายที่เคยสนุกสนานในการเล่นว่าวพนัน เป็นเหตุอันหนึ่งให้ข้าพเจ้าคิดแต่งหนังสือนี้ขึ้น" เมื่อพูดถึงตำนานว่าวก็ต้องเล่าถึงที่มาในข้อที่ว่าคนไทยเริ่มเล่นว่าวแต่เมื่อใด? จากการค้นคว้าของพระยาภิรมย์ภักดีพบหลักฐานที่ปรากฏในตำราโบราณมีเช่นในพงศาวดารเหนือ ที่กล่าวว่าพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัยนั้นโปรดทรงว่าว หรือในจดหมายเหตุลาลูแบร์ ทูตฝรั่งเศสสมัยพระนารายณ์สมัยกรุงศรีอยุธยามีเล่าไว้ว่าคนไทยนิยมเล่นว่าวมาก แต่ไม่ทราบว่าว่าวจะเป็นส่วนหนึ่งในพิธีทางศาสนาหรือไม่ และในช่วงฤดูหนาว พระเจ้ากรุงสยามยังโปรดให้เอาว่าวขึ้นตลอดทุกคืนเป็นเวลาสองเดือน ในคำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัดยังเล่าถึงการใช้ว่าวในการศึกเมื่อครั้งพระเพทราชาปราบดาภิเษกแล้วเมืองนครราชสีมาเป็นกบฏ เมื่อทัพอยุธยายกทัพไปปราบคราวแรกปี พ.ศ. 2232 ไม่สำเร็จ ปีต่อมาจึงมีการใช้อุบายเผาเมืองด้วยการเอาหม้อดินดำผูกสายป่านว่าวจุฬาลากชนวนชักข้ามกำแพงเมืองเข้าไป แล้วจุดชนวนไหม้ไปถึงหม้อดินดำจนชาวเมืองปั่นป่วน และตีเมืองได้เป็นอันสำเร็จ ส่วนการเล่น "ว่าวพนัน" จุฬา-ปักเป้า ของไทยนั้น พระยาภิรมย์ภักดีถือว่าเป็นวิธีการเล่นที่พิเศษกว่าการเล่นว่าวในวัฒนธรรมอื่นๆ ดังที่ท่านอธิบายว่า "ว่าวของประเทศใดในโลกนี้ จะเอาขึ้นเล่นต่อสู้ถึงทำสงครามกันในอากาศ เอาแพ้ชนะกันได้เหมือนว่าวของเราไม่มีเลย ต้องนับว่าว่าวพนันของเราเล่นได้แปลกประหลาดเลิศกว่าว่าวทั้งหลายของต่างประเทศ จริงอยู่ทุกประเทศเขาทำว่าวเล่นกันมาแต่ดึกดำบรรพ์ และยังซ้ำมีเล่นมาก่อนไทยเราเสียด้วยอีก แต่เขาเอาขึ้นไปลอยอยู่บนอากาศเฉยๆ ผู้เล่นหาสามารถจะบังคับให้มันไปซ้ายมาขวาขึ้นลงคว้ากันจนเป็นเกมไม่"    เป็นที่น่าเสียดายว่าปัจจุบันการเล่นว่าวในบ้านเราได้ซบเซาลงไปมาก ซึ่งจริงๆ พระยาภิรมย์ภักดีก็บอกว่าสมัยของท่านก็เริ่มเสื่อมความนิยมแล้ว แต่ด้วยเหตุผลที่ต่างกัน สมัยนั้นความวุ่นวายไม่มีน้ำใจนักกีฬาของนักพนันคือเหตุผลสำคัญ ส่วนทุกวันนี้ปัจจัยหนึ่งคงเป็นเรื่องของสถานที่ ด้วยสถานที่เล่นว่าวนั้นหาไม่ง่ายต้องมีพื้นที่กว้างขว้างและโล่งพอให้มีลมพาว่าวขึ้นฟ้าได้ แต่ปัจจุบันเมืองและตึกสูงได้ขยายตัวออกไปเรื่อยๆ จนจะหาสถานที่เช่นนั้นในบริเวณใกล้ๆ กับชุมชนเป็นเรื่องยากลำบากเกินไป เด็กรุ่นใหม่ๆ จึงอาจไม่เคยสัมผัสว่าวปักเป้า หรือว่าวจุฬาเลย และเลือกที่จะสนุกกับกิจกรรมอื่นมากกว่า "ตำนานว่าวพนัน ตำราผูกว่าว" ของพระยาภิรมย์ภักดีจึงเป็นหลักฐานสำคัญของประเพณีการละเล่นที่ค่อยๆ เลือนหายไปจากสังคมไทย