read
interview
09 มิ.ย. 2563 | 14:19 น.
สุกัญญา เจริญวีรกุล อุบาสิกาผู้จบบาลีศึกษา 9 ประโยค ใน 10 ปี 3 เดือน
Play
Loading...
การศึกษา
“บาลี”
ในประเทศไทยผูกพันกับศาสนาพุทธอย่างลึกซึ้งเพราะเป็นภาษาที่ใช้ในการบันทึกพระคัมภีร์ทางเถรวาท ซึ่งหลังมีการปฏิรูปการศึกษาแยกโรงเรียนออกจากวัดแล้ว พระภิกษุ สามเณรก็เป็นกลุ่มหลักที่ศึกษาภาษาบาลี
แม้ว่าการศึกษาบาลีของฆราวาสจะลดถอยลงเมื่อวุฒิทางบาลีไม่อาจใช้แสวงหาความก้าวหน้าในทางโลกได้เช่นในอดีต (ครั้งหนึ่ง จบเปรียญ 3 เปรียญ 6 แล้วสอบเป็นผู้พิพากษาได้ - ปัจจุบันทำไม่ได้ แต่จบเปรียญ 9 ก็ได้วุฒิเทียบเท่าชั้นปริญญาตรี) สำนักเรียนในวัดต่าง ๆ ก็ยังคงเปิดกว้างให้ฆราวาสสามารถเข้าศึกษาร่วมกับพระภิกษุ สามเณรได้
สุกัญญา เจริญวีรกุล เป็นอุบาสิกาผู้ศึกษาภาษาที่ใช้บันทึกคัมภีร์พระพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก ๆ ทั้งบาลี สันสกฤต และทิเบต และมีโอกาสได้เล่าเรียนในสำนักเรียนของวัดต่าง ๆ หลายแห่ง จนสามารถเรียนจบบาลีศึกษา 9 ประโยคเป็นผลสำเร็จได้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2563) ขณะมีอายุได้ 25 ปี รวมเวลาเรียนแผนกบาลีทั้งหมด 10 ปี 3 เดือน
ด้วยความที่เธอเป็นทั้งฆราวาสและเป็นผู้หญิง การศึกษาบาลีในสำนักเรียนของวัดต่าง ๆ จึงเป็นที่สนใจของคนไม่น้อย บ้างก็เข้าใจถูกบ้างก็เข้าใจผิด The People จึงชวนสุกัญญามาคุยถึงความมุ่งหมายในการศึกษาภาษาบาลี (ซึ่งไม่ใช่ภาษาเดียวที่เธอสนใจ) และเส้นทางก่อนที่เธอจะถึงจุดสูงสุดของการศึกษาภาษาบาลีในระบบการศึกษาของประเทศไทย
The People: ช่วยแนะนำตัวเบื้องต้น
สุกัญญา:
ชื่อ สุกัญญา เจริญวีรกุล เรียนจบ
ปริญญาตรี อักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาบาลีและสันสกฤต เกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บาลีศึกษา 9 ประโยค สำนักเรียนวัดสามพระยา ปีนี้ (2563)
การศึกษาภาคฤดูร้อน วิชาภาษาทิเบตคลาสสิกระดับ advanced ที่ Rangjung YesheInstitute, Centre for Buddhist studies, Kathmandu University ประเทศเนปาล
ปัจจุบันเมื่อเรียนจบปริญญาตรีแล้ว เรียนต่อปริญญาเอก สาขาวิชาภาษาบาลี สันสกฤตและพุทธศาสน์ศึกษา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ กำลังทำวิทยานิพนธ์ ศึกษาเปรียบเทียบพระสูตรภาษาทิเบตที่สันนิษฐานว่าน่าจะแปลจากพระปริตรบาลี ทำงานแปลคัมภีร์พระพุทธศาสนาภาษาทิเบต บาลี สันสกฤต และแปลล่ามพระธรรมเทศนาจากภาษาทิเบตเป็นภาษาไทย
The People: เริ่มสนใจศึกษาบาลีตั้งแต่เมื่อไร จุดเริ่มต้นมาจากอะไร
สุกัญญา:
ชอบอ่านหนังสือและชอบคัมภีร์พระพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะหนังสือบทสวดมนต์ภาษาบาลีและพระสูตรหมวดปรัชญาปารมิตา เพราะมีหนังสือเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจ จึงมีฉันทะและความตั้งใจจะเรียนภาษาพระปริยัติธรรม โดยเฉพาะภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาทิเบต และต้องการจะเป็นนักแปลคัมภีร์พระพุทธศาสนา
The People: เริ่มต้นศึกษาอย่างไร ที่ไหนบ้าง
สุกัญญา:
เมื่ออายุ 9 ขวบ เดินทางไปท่าพระจันทร์แล้วเดินผ่านร้านมหาจุฬาบรรณาคาร บอกคุณแม่ว่าอยากได้หนังสือภาษาบาลี คุณแม่จึงพาไปซื้อ หนังสือภาษาบาลีเล่มแรกที่มี คือ
“คู่มือเรียนภาษาบาลีด้วยตนเอง”
ของ
“ประดิษฐ์ บุณยภักดี”
ต่อมาเริ่มเรียนบาลีจริงจังในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2552 สมัยเป็นนักเรียนชั้น ม.4 เทอม 2 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ขณะนั้นขึ้นรถเมล์ไปซื้อหนังสือบาลีและเดินหาสำนักเรียนบาลีในกรุงเทพฯ เองโดยไม่รู้จักใครและไม่ได้เรียนให้คุณพ่อคุณแม่ทราบ ขณะนั้นยังไม่ทราบว่า “สำนักเรียนบาลีไม่ใช่สิ่งที่มีทุกวัด” และยังเป็นยุคสมัยที่ “บาลีศึกษา” มิได้แพร่หลายดังปัจจุบันนี้ มีเพียงไม่กี่วัดเท่านั้นที่มีคฤหัสถ์เรียนบาลี
เคยไปผิดที่ เคยไปถึงวัดวัดหนึ่ง เมื่อแรกไม่รู้ว่าไม่มีสอนบาลี พอเข้าไปถามถึงบาลี เขาก็ชี้ทางไปที่กุฏิของพระอาจารย์รูปหนึ่งที่เป็นพระมหา แต่พอไปถึงปรากฏว่ากลายเป็นกุฏิที่ญาติโยมไปรอให้ท่านรดน้ำมนต์กันอยู่ เป็นอันว่าต้องเดินหาต่อไป
ในที่สุดก็พบอาจารย์ที่เมตตาสอนตามวัดต่าง ๆ สมัยเริ่มต้นเรียนชั้นประโยค 1-2 และบ.ศ.3 เรียนกับอาจารย์ ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ วัดปทุมวนาราม วัดหัวลำโพง วัดระฆังโฆสิตาราม และวัดสามพระยา
สอบประโยค 1-2 ถึง บ.ศ.5 ในนามสำนักเรียนวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ในยุคสมัยที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นผู้จัดสอบ
เมื่อเรียนชั้น บ.ศ.6 มีการโอนการจัดการเรียนการสอนบาลีศึกษาจากมหามกุฏฯ มาอยู่ในความรับผิดชอบของสนามหลวงแผนกบาลี จึงสอบประโยค บ.ศ.6 ถึง บ.ศ.9 ได้ในสนามหลวงและสอบได้ในนามสำนักเรียนวัดสามพระยา
ช่วงที่เรียน บ.ศ.8 และบ.ศ.9 เรียนที่วัดสามพระยา วัดสร้อยทอง ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาบ้านกัลยธรรม ของพันเอก ดร.ชรินทร์ จุลคประดิษฐ์ และวัดโมลีโลกยาราม สอบได้บาลีศึกษา 9 ประโยค เมื่อวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2563 รวมเวลา เรียนแผนกบาลีทั้งหมด 10 ปี 3 เดือน
The People: ทางบ้านให้ความสนับสนุนหรือไม่
สุกัญญา:
ที่บ้านเห็นความสำคัญเรื่องการศึกษามาก พ่อกับแม่จมักจะซื้อหนังสือเรียนมาให้โดยเฉพาะวิชาภาษาอังกฤษ แต่เมื่อเริ่มต้นเรียนบาลีตอนอยู่ชั้น ม.4 ไม่ได้เรียนให้คุณพ่อคุณแม่ทราบ เพราะไม่รู้ว่าท่านคิดอย่างไร แล้วกลัวว่าถ้าท่านไม่เห็นด้วยขึ้นมาก็จะไม่ได้เรียน ตอนนั้นซื้อหนังสือบาลีไปซ่อนไว้ใต้โต๊ะในห้องเรียน พอปิดเทอมก็นำกลับมาซ่อนในลิ้นชักที่บ้านแล้วใส่กุญแจไว้ จะได้อ่านภาษาบาลีตอนที่พ่อกับแม่ไม่อยู่
The People: ตอนพ่อแม่รู้ว่าเราตั้งใจศึกษาภาษาบาลีท่านว่าอย่างไร
สุกัญญา:
ตอนที่พ่อแม่ทราบว่าเรียนบาลี แล้วก็ตั้งใจว่า 1. จะสอบบาลีศึกษา 2. ตั้งใจว่าจะสอบเข้าคณะอักษรฯ จุฬาฯ โดยใช้ภาษาบาลี ตอนนั้นคุณพ่อกับคุณแม่ก็ไม่ค่อยมั่นใจ ในสมัยนั้นคนที่จะสอบข้ามสายยังไม่ค่อยมีเท่าไร ตอนเรียนที่เตรียมอุดมฯ เราเรียนศิลป์ ฝรั่งเศส เพื่อน ๆ ก็เลือกสอบภาษาฝรั่งเศสกัน จึงเป็นคนเดียวในโรงเรียนที่เลือกสอบบาลีในปีนั้น
แต่พ่อกับแม่ก็อุตส่าห์สนับสนุนด้วยการส่งให้เรียนพิเศษวิชาบาลีไวยากรณ์ กับรุ่นพี่ที่จุฬาฯ แล้วพ่อกับแม่เริ่มจะเห็นความพยายามเห็นว่าเรามีความรักตั้งใจจริงก็ตอนที่จบมัธยม 6 ตอนนั้นสอบวิชาแพท 7.6 ความถนัดทางภาษาบาลี รอบธันวาคม พ.ศ. 2554 ได้คะแนนสูงสุด ที่ 1 ของประเทศ (297 จาก 300 คะแนน) สอบผ่านการคัดเลือกเข้าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และสอบได้บาลีศึกษา 3 ประโยค
คุณพ่อคุณแม่ก็เห็นว่า เราตัดสินใจไม่ผิด ท่านก็สนับสนุนมาตลอด แล้วก็เรียนมหาวิทยาลัยมาพร้อมกับเรียนบาลีศึกษามาเรื่อย ๆ บางครั้งท่านก็ไปรับส่งและนั่งรอที่วัดสมัยที่เริ่มเรียนใหม่ ๆ เป็นสมัยที่มีนักเรียนบาลีศึกษารวมกันทั้งประเทศจำนวนไม่มาก และการเรียนบาลีศึกษายังไม่เป็นที่รู้จัก แต่สมัยนี้มีผู้นิยมเข้าสอบจำนวนมากขึ้นเพราะมีการกระจายสนามสอบชั้นประโยค 1-2 ถึง บ.ศ.4 จากสนามเดี่ยวในประเทศเป็นสนามสอบตามจังหวัดต่าง ๆ หลังจากโอนบาลีศึกษาเข้ามาสู่กองบาลีสนามหลวง และโลกอินเทอร์เน็ตทำให้มีคนรู้จักการเรียนแผนกบาลีศึกษามากขึ้น
The People: การศึกษาบาลีในวัดมีข้อจำกัดอย่างไรหรือไม่สำหรับคฤหัสถ์ โดยเฉพาะผู้ศึกษาที่เป็นผู้หญิง
สุกัญญา:
การศึกษาบาลีศึกษากับเปรียญธรรมใช้หลักสูตรเดียวกัน เดิมทีเมื่อมหามกุฏฯ เป็นผู้จัดสอบ ใช้ข้อสอบต่างชุดกัน แต่เมื่อโอนเข้ามาที่กองบาลีสนามหลวง ใช้ข้อสอบชุดเดียวกัน เพียงแต่เปลี่ยนหัวข้อสอบจากคำว่า “ป.ธ.” เป็น “บ.ศ.” เท่านั้น การศึกษาไม่ใช่เรื่องที่มีข้อจำกัด คณะสงฆ์ไทยเมตตาต่อแม่ชีและอุบาสิกาผู้ศึกษาพระปริยัติธรรมเสมอมา สำนักเรียนวัดสามพระยาเป็นวัดที่ปฏิบัติต่ออุบาสิกาอย่างเมตตามาก อนุญาตให้นั่งเรียนในชั้นเรียนเดียวกันกับพระภิกษุสามเณรได้
เมื่อเราสอบผ่าน สำนักเรียนวัดสามพระยาก็มอบหนังสือเรียนชั้นต่อไปให้ในวันปฐมนิเทศสำนักเรียน และมอบทุนการศึกษาให้ในวันฉลองเปรียญธรรมของสำนักเรียน พระเดชพระคุณพระพรหมดิลก (หลวงพ่อเอื้อน หาสธัมมมหาเถระ) ใส่ใจอนุเคราะห์ดูแลนักเรียนบาลีทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์เป็นอย่างดีเสมือนบุตรธิดาแท้ ๆ สิ่งที่เป็นข้อจำกัดเมื่อเรียนรู้ร่วมชั้นกับพระภิกษุสามเณรคือเรื่องกริยามารยาทและความเหมาะสม ไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดอันเป็นความมัวหมองทั้งในมุมมองของพระศาสนาและวัฒนธรรม
The People: ช่วยอธิบายความหมายของ บาลีศึกษา 9 ประโยค ให้คนที่ไม่รู้จักระบบการเรียนภาษาบาลีเข้าใจ
สุกัญญา:
“บาลีศึกษา” เป็นการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีภาคสมทบ ใช้หลักสูตรเดียวกันกับเปรียญธรรม มี 8 ชั้น เริ่มต้นที่ชั้นประโยค 1-2 และจบที่ชั้น บ.ศ.9 แต่นักเรียนมีสถานภาพต่างกัน ทำให้วุฒิต่างกัน
“เปรียญธรรม” (อักษรย่อ ป.ธ.) เป็นวุฒิสำหรับพระภิกษุสามเณร ส่วน “บาลีศึกษา” (บ.ศ.) เป็นวุฒิสำหรับแม่ชีและประชาชนทั่วไป เมื่อจะสอบเปรียญธรรมและบาลีศึกษาต้องใช้วุฒิการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรมประกอบด้วย
ข้อสอบบาลีศึกษาเป็นข้อสอบอัตนัยหรือข้อสอบเขียนทั้งหมด ใช้ข้อสอบชุดเดียวกันและเกณฑ์การตรวจอย่างเดียวกันกับเปรียญธรรม เพียงแต่แยกวุฒิตามสถานภาพของนักเรียนเท่านั้น
The People: การศึกษาบาลีในวัดต่างหรือไม่ อย่างไร เมื่อเทียบกับการศึกษาในคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สุกัญญา:
หลายท่านมักจะถามว่า “เรียนบาลีศึกษาอยู่แล้ว เหตุใดจึงต้องเรียนเอกบาลีสันสกฤตที่คณะอักษรศาสตร์อีก” หรือ “เรียนเอกบาลีสันสกฤตที่คณะอักษรศาสตร์อยู่แล้ว เหตุใดจึงต้องเรียนบาลีศึกษาอีก” เพราะไม่เข้าใจว่าทั้งสองหลักสูตรนี้แตกต่างกัน
การศึกษาบาลีในวัดมีหลายอย่าง เช่น บาลีสนามหลวง (หลักสูตรเปรียญธรรมและบาลีศึกษา), บาลีใหญ่, บาลีในชั้นเรียนต่าง ๆ นอกแผนกบาลี ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะความแตกต่างของหลักสูตรบาลีสนามหลวงและการเรียนเอกบาลีสันสกฤตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ โดยสังเขป
การเรียนบาลีสนามหลวงเป็นการเรียนที่เน้นด้านพระปริยัติธรรม เรียนคัมภีร์พระพุทธศาสนา เรียนวิธีใช้คัมภีร์อธิบายชั้นต่าง ๆ เช่นเรียนวิธีใช้อรรถกถาเพื่อศึกษาพุทธพจน์ วิธีใช้ฎีกาเพื่อศึกษาอรรถกถา เป็นต้น เรียนวิธีแปลมคธเป็นไทย แปลไทยเป็นมคธ วิธีแต่งฉันท์ วิธีแต่งไทยภาษามคธ ฯลฯ ทุกรายวิชาในหลักสูตรล้วนแต่เน้นที่พระปริยัติธรรมทั้งสิ้น
การเรียนเอกบาลีสันสกฤตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ โดยเฉพาะปริญญาตรี ต้องเรียนวิชาพื้นฐานอักษรศาสตร์ วิชาเลือกในสาขา วิชาเลือกนอกสาขา ต้องเรียนทั้งภาษาบาลีและภาษาสันสกฤต ใช้ความรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงเสียงในเชิงภาษาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคม และศาสตร์อื่น ๆ ที่เชื่อมโยงกับอักษรศาสตร์ในการเรียนภาษาบาลีและสันสกฤต บางครั้งการเรียนทั้งสองแผนกมีวิธีวิเคราะห์ต่างกัน เช่น
คำว่า “ยาวเทว” ตัดบทสนธิเป็น“ยาว-เอว” ผู้เรียนเอกบาลีสันสกฤตที่คณะอักษรศาสตร์อธิบายว่า
คำว่า “ยาวตฺ” ในภาษาสันสกฤตอันเป็นภาษาในตระกูลอินโดอารยันยุคเก่า เมื่อเข้าสนธิ “ยาวตฺ-เอว” ตฺ ต้องเปลี่ยนเป็น ทฺ เพื่อให้มีคุณสมบัติเป็นพยัญชนะโฆษะ (เสียงก้อง) เช่นเดียวกับ อ (ใน คำว่า“เอว”) จึงเป็น “ยาวทฺ-เอว” และสนธิเป็น “ยาวเทว” เมื่ออยู่ในภาษาบาลีอันเป็นภาษาในตระกูลอินโดอารยันยุคกลาง แม้เสียง ตฺ จะหายไป เป็นคำว่า “ยาว” แต่เมื่อเข้าสนธิเสียงที่หายไปกลับปรากฏ จึงเป็น “ยาวเทว”
ผู้เรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีอธิบายตามตำราของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ว่า ยาว-เอว สนธิเป็น “ยาวเทว” เพราะลง ท อาคม (“อาคม”หมายถึงการลงตัวอักษรใหม่) จัดเป็นอาคมพยัญชนสนธิ
หรือหากให้วิเคราะห์คำสักคำหนึ่ง ผู้เรียนทางอักษรศาสตร์จะวิเคราะห์โดยใช้ความรู้ทางภาษาศาสตร์ บริบททางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ศาสนา ฯลฯ ที่เกี่ยวข้อง แต่ผู้เรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีจะวิเคราะห์ตามตำราและคัมภีร์ในฝ่ายพระปริยัติธรรมดังนั้นการเรียนทั้งสองแผนก จึงเป็นการเรียนจากมุมมองต่างกัน มีวัตถุประสงค์ต่างกันหากต้องการความรู้ทั้งสองทางก็ต้องเรียนทั้งสองทาง
The People: ในฐานะผู้รู้บาลีทั้งในเชิงภาษาและประวัติศาสตร์ มีความเห็นอย่างไรที่มีนักวิชาการบอกว่าพระพุทธเจ้าไม่ได้พูดภาษาบาลี
สุกัญญา:
ขอตอบเป็นข้อ ๆ ดังนี้
เมื่อมีคำถามลักษณะนี้ คนส่วนมากมักจะต้องการคำตอบว่า
“ใช่”
หรือ
“ไม่ใช่”
แทนที่จะต้องการทราบเหตุผลและหลักฐานของแต่ละคำตอบ
การแบ่งพรรคแบ่งพวกและความยึดติดในตัวบุคคลคืออุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางการใช้เหตุผล เช่น -
บางคนมองข้อความนั้นว่า “ผิด” เพราะผู้เริ่มประเด็นนี้เป็นฝรั่ง และคิดดูถูกว่าคงไม่ได้ใกล้ชิดพระพุทธศาสนาเท่าชาติตนเอง
-
บางคนมองข้อความนั้นว่า “ถูก” เพราะทราบว่า ผู้กล่าวเป็นนักวิชาการด้านพระพุทธศาสนาชั้นแนวหน้าในระดับนานาชาติ มีความชำนาญเรื่องภาษาพระปริยัติธรรมหลายภาษา
- การมองว่า “ผู้กล่าวเป็นใคร” แทนที่จะพิจารณาว่า “เขากล่าวอะไร มีเหตุผลและหลักฐานอย่างไร” ทำให้การโต้แย้งนั้นหลงจากประเด็นกลายเป็นเรื่องตัวบุคคลไป
ความเชื่อทางศาสนาและความศรัทธาเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ผู้นับถือศาสนาบางคนอาจถือว่า ความเชื่อทางศาสนาเป็นความจริงสูงสุด แต่คนที่มองจากมุมมองภายนอกอาจถือว่าความเชื่อทางศาสนาเป็นทฤษฎีหนึ่งในบรรดาทฤษฎีทั้งหลาย
หากเราเข้าใจว่าคนทั้งโลกนี้แต่ละคนมีความแตกต่างกัน มีมุมมองที่แตกต่างกัน เข้าใจเรื่องการศึกษาศาสนาในมุมมองต่าง ๆ กัน เราก็จะเข้าใจเหตุผลของแต่ละฝ่าย สามารถยอมรับความแตกต่างทางความคิดและโต้แย้งกันอย่างอารยชนได้ไม่ยึดติดกับตัวบุคคล พรรคพวก เรื่องแพ้-ชนะ อัตตา และเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้อง
การแสดงความคิดเห็นด่ากันไปมาไม่ทำให้เกิดประโยชน์อันใด ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะตรัสสอนเป็นภาษาใด พระองค์ก็ไม่ได้สอนให้เราคิดร้าย ทำร้าย พูดร้ายต่อกันแน่นอน
ประเด็นเช่นนี้ควรเป็นเรื่องที่จุดประกายให้คนศึกษาเหตุผลและหลักฐานของทั้งสองทาง ไม่ใช่เพียงแต่คัดลอกคำพูดของผู้อื่นมาวางเท่านั้น แต่ยังต้องตรวจสอบให้ถึงต้นฉบับที่อ้างอิงด้วยศึกษาให้เต็มที่ทั้งสองทาง พิจารณาเหตุผลและหลักฐานของทั้งสองฝ่าย
The People: มีอุปสรรคอะไรบ้างในการศึกษาภาษาบาลี
สุกัญญา:
อุปสรรคแรกที่พบคือเรื่องเวลา เนื่องจากเราเรียนทั้งแผนกสามัญและแผนกบาลีควบคู่กันมาตั้งแต่ชั้นมัธยมปลาย ดังนั้นเราจึงต้องใช้เวลาทั้งหมดที่มีเพื่อเรียนทั้งสองทาง มิให้ทางใดทางหนึ่งเสียหาย
อุปสรรคประการต่อมาคือการเดินทาง ต้องเดินทางมาก โดยเฉพาะสมัยที่เรียนปริญญาตรีคณะอักษรศาสตร์พร้อมกับบาลีศึกษา ต้องเดินทาง “บ้าน-มหาวิทยาลัย-วัด-บ้าน” หรือ“บ้าน-วัด-มหาวิทยาลัย-บ้าน” หรือ“บ้าน-วัด-มหาวิทยาลัย-วัด-บ้าน” จนเป็นเรื่องปกติ เดินทางทุกรุปแบบ บางครั้งเดินทางจากวัดสามพระยากลับบ้านตอนค่ำด้วยขนส่งสาธารณะถึง 5 ต่อ!
อุปสรรคประการต่อมาคือเรื่องสุขภาพ เคยป่วยหนักในช่วงอบรมบาลีและช่วงสอบบาลีหลายครั้ง ส่วนอุปสรรคอื่น ๆ เช่น พบคนเข้าใจผิด ฯลฯ เป็นเรื่องปกติที่ต้องพบเจออยู่แล้วไม่ว่าจะศึกษาภาษาบาลีหรือไม่ก็ตาม
อุปสรรคทุกประการที่ประสบ นอกจากจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้ชำระล้างกรรมเก่าแล้ว ยังเป็นสิ่งทดสอบปณิธานของตนเองอีกด้วย หากเราคิดจะเรียนหนังสือเพื่อชื่อเสียง ลาภยศ เมื่อประสบกับอุปสรรค เช่น การถูกคนเข้าใจผิดอย่างรุนแรง หรือถูกคนทำลายชื่อเสียง เราก็คงจะล้มเลิกเสีย แต่หากเราตั้งปณิธานไว้มั่นคง ไม่ว่าจะประสบอุปสรรคสักเท่าไร เราก็จะไม่ล้มเลิก เพราะเรายินดีจะเสียสละชื่อเสียง ทรัพย์สิน ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ในชีวิตเพื่อทำปณิธานให้สำเร็จ
มีคำ 2 คำ ที่ทำให้เราสามารถผ่านอุปสรรคมาได้ทุกประการคือคำว่า
“བསྟན་འགྲོ་”
(เต็นโดร) คำว่า “བསྟན།” (เต็น) หมายถึง
พระศาสนา
คำว่า “འགྲོ” (โดร) หมายถึง
สรรพชีวิต
ถ้าเราตั้งปณิธานว่าจะทำเพื่อ
“พระศาสนาของพระพุทธเจ้าและสรรพชีวิตทุกภพภูมิ”
ไม่ว่าจะต้องพบอุปสรรคมากเพียงไรหรือจะต้องเสียสละอะไรในชีวิตเราก็ยินดีทั้งนั้น
The People: เล่าว่ามีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวเองในอินเทอร์เน็ตเยอะทีเดียว พอจะเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหม
สุกัญญา:
เหตุการณ์ที่ถูกเข้าใจผิดในอินเทอร์เน็ตหลายครั้ง โดยเฉพาะที่คนไม่ทราบข้อมูลจริง ๆ แต่มาเขียนตามจินตนาการแล้วคนแชร์ออกไปเป็นจำนวนมาก เช่น
พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา หลังจากได้รับพัดบาลีศึกษา 3 ประโยค ปรากฏว่ามีคนนำภาพถือพัดไปตั้งกระทู้ให้คนรุมต่อว่าในอินเทอร์เน็ต พร้อมทั้งแสดงความไม่เห็นด้วยที่เราเรียนบาลี บอกว่า ไม่ใช่หน้าที่ของคฤหัสถ์
(ทั้งนี้ ชั้นที่ได้รับพัดเปรียญ คือ ชั้น ป.ธ.3 ป.ธ.6 และ ป.ธ.9 ส่วนชั้นที่ได้รับพัดบาลีศึกษา คือ ชั้น บ.ศ.3 บ.ศ.6 และ บ.ศ.9)
พ.ศ. 2558 ตอนนั้นได้รับพัดบาลีศึกษา 6 ประโยค มีคนสร้างข้อความเท็จส่งต่อในไลน์ว่า ได้รับพัดจากบุคคลสำคัญของชาติที่วัดพระแก้ว เป็นข้อความที่
“กระทบกระเทือน”
และทำให้เจ้าหน้าที่สำนักพุทธต้องช่วยแก้ข่าวให้
พ.ศ. 2559 มีคนสร้างเพจปลอม
พ.ศ. 2561 เป็นเรื่องที่เยอะที่สุด เป็นตอนที่กำลังสอบบาลีศึกษา 9 เป็นปีแรก แล้วมีคนสร้างข่าวเท็จว่าสอบได้บาลีศึกษา 9 ประโยค ทั้งที่ผลสอบยังไม่ประกาศ และสอบตก คนแชร์กันโดยที่ไม่ได้ตรวจสอบด้วยเจตนาดีแต่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำให้เราต้องแก้ข่าวมาตลอด 2 ปี ถึงแม้จะเขียนแปะไว้หน้าเฟซบุ๊กว่า
“สอบตก บ.ศ.9”
แล้วก็ยังต้องคอยแก้ข่าวกับผู้คนที่พบเจออยู่ร่ำไป
ข้อมูลส่วนตัวที่ปรากฏในข่าวตามอินเทอร์เน็ตส่วนหนึ่งไม่เป็นความจริง เพราะผู้เขียนเขียนด้วยจินตนาการไม่ได้ถามก่อน เช่น เขียนข่าวว่า เราเป็นนิสิตปริญญาโท ทั้งที่เราไม่เคยเรียนปริญญาโท เพราะเราจบปริญญาตรีแล้ว ก็เอาวุฒิปริญญาตรีต่อปริญญาเอก (การเรียนภาษาบาลีสันสกฤตและพุทธศาสตร์ศึกษาของสาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หากได้เกียรตินิยมในชั้นปริญญาตรี สามารถใช้วุฒิปริญญาตรีต่อปริญญาเอกได้เลย) ยังล้อกันกับเพื่อน ๆ ว่า อยู่ดี ๆ ก็ได้ปริญญาโทมาอีกใบโดยที่ไม่ต้องเรียน
The People: เป้าหมายส่วนตัวในการศึกษาบาลีคืออะไร
สุกัญญา:
ต้องการเป็นนักแปลคัมภีร์พระพุทธศาสนาและล่ามพระธรรมเทศนา ผู้เชี่ยวชาญภาษาพระปริยัติธรรม โดยเฉพาะภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต และภาษาทิเบต เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา และเพื่อเป็นปัจจัยให้สรรพชีวิตข้ามพ้นจากมหาสมุทรแห่งความทุกข์ในสังสารวัฏ
นอกจากภาษาบาลี เราเรียนภาษาทิเบตและภาษาสันสกฤตด้วย เพราะมีความสนใจในพระพุทธศาสนาหลายนิกาย ถ้าเราเข้าใจว่าคนที่เกิดมาบนโลกนี้ไม่ได้เหมือนกันทุกคน หนทางที่เหมาะสมกับคนหนึ่งอาจไม่เหมาะสมกับอีกคนหนึ่ง และเข้าใจว่าพระพุทธศาสนามีหนทางต่าง ๆ กัน ที่เหมาะสมสำหรับคนแต่ละประเภท เราก็จะรู้ว่าคำสอนในพระพุทธศาสนาแต่ละนิกายคือหนทางที่ต่างกัน ตามความเหมาะสมกับคนแต่ละประเภท แต่นำพาคนไปสู่ “จุดหมายปลายทาง” คือการบรรลุธรรมเช่นเดียวกัน
ดังนั้นไม่มีหนทางใดประเสริฐกว่าหนทางใด ไม่มีประโยชน์อันใดเลยที่จะสร้างความขัดแย้งหรือแข่งดีกัน พวกเราชาวพุทธทุกนิกายควรจะรักเมตตาสามัคคีกัน ควรเผื่อแผ่ความรักของเราไปถึงคนที่นับถือศาสนาอื่นและคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาด้วย เราเป็นปุถุชนธรรมดา ไม่อาจเป็นครูบาอาจารย์ในพระศาสนานี้ได้ สิ่งที่เราทำได้ก็มีเพียงแต่การฝึกแปลบทสวดบทปฏิบัติและเป็นล่ามแปลคำสอนของครูบาอาจารย์ที่เราได้พิจารณาอย่างรอบคอบมานานปี
The People: เรียนภาษาทิเบตมานานหรือยัง เรียนมาก่อนบาลี หรือหลังบาลี
สุกัญญา:
ภาษาทิเบตเรียนมานานแล้ว เรียนก่อนบาลี ในเมืองไทยเป็นที่ที่หาเรียนภาษาทิเบตยากมาก แต่เคยเรียนภาษาทิเบตได้อย่างเช่น เรียนมูลนิธิพันดาราคอร์สสั้น ๆ แล้วต่อมามีอาจารย์ทิเบตจากเนปาลมาสอนที่เมืองไทยก็ไปเรียนกับท่าน ต่อมาได้ทุนจาก Khyentse Foundation ให้ไปเรียนภาษาทิเบตภาคฤดูร้อนที่เนปาล เรียนที่ Rangjung Yeshe Institute, Centre for Buddhist studies, Kathmandu University
เรียนภาษาทิเบตคลาสสิกขั้นกลางไปหนึ่งฤดูร้อน เรียนภาษาทิเบตคลาสสิกขั้นสูงอีกหนึ่งฤดูร้อน นอกจากนี้ ยังเรียนพิเศษกับอาจารย์ชาวทิเบตอีกหลายท่าน ได้นำความรู้ที่ได้มาฝึกแปลคัมภีร์และเป็นล่าม
The People: ปัจจุบันได้ใช้ความรู้ทั้งภาษาบาลี และภาษาทิเบต ทำประโยชน์อะไรบ้าง
สุกัญญา:
จริง ๆ แล้วภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาทิเบต มีประโยชน์ที่ใช้ได้นอกเหนือจากการศึกษาพระพุทธศาสนา อย่างเช่น คนเรียนบาลี อาจใช้ภาษาบาลีอ่าน text ประวัติศาสตร์ที่เขียนเป็นภาษาบาลี ทั้งในศรีลังกา หรืออาณาจักรโบราณในประเทศไทย คนเรียนสันสกฤตก็อาจใช้ในการศึกษาประวัติศาสตร์ หรือว่าใช้ในเรื่องศิลปะการละคร หรือการเรียนกฎหมาย มีทางไปได้มากค่ะ
ส่วนภาษาทิเบตก็มีการศึกษาวัฒนธรรมทิเบตอยู่แล้ว ภาษาทิเบตนับเป็นภาษาที่ใหญ่เพราะว่ามีภาษาที่ใกล้เคียงกับภาษาทิเบตมาก คือภาษาทิเบตมีหลายสำเนียง แล้วมีภาษาถิ่นอยู่มาก ภาษาที่ใช้ในภูฏานมีภาษาที่ใกล้เคียงกับภาษาทิเบตมาก แต่จำเป็นต้องแยกเป็นคนละภาษา เหมือนกับที่เรานับภาษาไทยกับภาษาลาวเป็นคนละภาษาเพราะเหตุผลทางการเมือง แล้วยังมีชนเผ่าในเนปาล ในอินเดีย แถบเทือกเขาหิมาลัยอีกมากที่พูดภาษาในตระกูลภาษาทิเบต เมื่อเราพูดภาษาทิเบตได้เราก็จะสามารถเข้าใจภาษาของคนเหล่านี้ได้บ้าง ประโยชน์ของภาษาทิเบตในประเทศไทยก็ยังมี ที่ไม่ใช่เรื่องศาสนา ถ้าเราไปตามเขา พบชาวเขาในประเทศไทย ชาวเขาบางเผ่าที่เขามีคำโบราณคล้ายภาษาทิเบต มีการนับเลขเหมือนภาษาทิเบต มีสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าต้องมีรากเดียวกันในสมัยโบราณ
แต่สิ่งที่เราเลือก เราเลือกแต่ด้านพระพุทธศาสนา ที่เราสนใจแต่ด้านพระพุทธศาสนาเพราะเราสนใจคัมภีร์พระพุทธศาสนาเป็นพิเศษ
ส่วนเรื่องการพิสูจน์อักษร คุณนริศ จรัสจรรยาวงศ์ ติดต่อให้ช่วยพิสูจน์อักษรงานที่คุณนริศทำร่วมกันกับ ศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ มาร์ติน ซีเกอร์ ผู้ก่อตั้งวิชาไทยศึกษา มหาวิทยาลัยลีดส์ สหราชอาณาจักร มีหนังสือที่ทั้งสองท่านทำร่วมกันคือ หัดธรรม ดำรงธรรม และท่องธรรม นอกจากช่วยพิสูจน์อักษรแล้ว ยังได้ช่วยคิดชื่อบทละครธรรมะที่ทั้งสองท่านทำร่วมกัน คือ ละคร “ดำรงธรรม ดำรงเทศน์” และ “เดอะ ธัมมัสสวน์”
The People: ปัจจุบันเข้าใกล้เป้าหมายที่ตั้งไว้แค่ไหนแล้ว
สุกัญญา: การจะเป็นนักแปลคัมภีร์พระพุทธศาสนาและล่ามแปลพระธรรมเทศนาที่ดีนั้นจะอาศัยเพียงแค่ความรู้ทางภาษาและพระปริยัติธรรมไม่ได้ ต้องอาศัยความเข้าใจที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมด้วย เช่นที่คนทิเบตเรียกว่า “མཁས་གྲུབ།” (เค่-ดรุบ) หมายถึง “ผู้ที่เป็นทั้งบัณฑิตผู้รู้ธรรมและบรรลุธรรม” เป้าหมายนี้ไกลจากจุดที่อยู่ในปัจจุบันมาก แม้หากว่าเป้าหมายของเราไม่สำเร็จในชาตินี้ เราก็ต้องพยายามทำให้ดีที่สุด สิ่งที่เราสร้างไว้ในปัจจุบันนี้จะเป็นเหตุให้เราได้บรรลุเป้าหมายเป็น “สตรีนักแปลคัมภีร์พระพุทธศาสนาผู้สมบูรณ์ด้วยความรู้และความรู้แจ้ง” และสามารถทำประโยชน์เพื่อพระศาสนาและสรรพชีวิตได้ เมื่อปัจจัยทุกอย่างถึงพร้อมแล้ว ณ ชาติใดชาติหนึ่งในอนาคตข้างหน้า
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
UNGCNT-UN in Thailand เตรียมจัดงาน GCNT Forum 2024 กระตุ้นเศรษฐกิจ
20 พ.ย. 2567
4
เฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ในแบบฉบับยุโรปคลาสสิก ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ กรุงเทพฯ
20 พ.ย. 2567
15
“ดีพร้อม” ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ ส่งเสริมสินค้าแฟชั่นไทย เสริมศักยภาพผู้ประกอบการสู่ระดับสากล
20 พ.ย. 2567
6
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ThePeople
Interview
ศาสนาพุทธ
สุกัญญา เจริญวีรกุล