“ฉันเป็นผู้หญิงที่มาจากไร่ฝ้ายทางใต้ ก่อนจะเลื่อนตำแหน่งมาทำงานซักรีด ฉันเลื่อนตำแหน่งอีกครั้งมาเป็นคนครัว ก่อนจะเริ่มสร้างธุรกิจของตัวเอง ฉันสร้างโรงงานนั่นด้วยตัวของฉันเองค่ะ” ซาราห์ บรีดเลิฟ (Sarah Breedlove) กล่าวในงานชุมนุมนักธุรกิจผิวสี ที่สหภาพธุรกิจแห่งชาตินิโกร (National Negro Business League)
การเป็นคนผิวดำในอเมริกานั้นยากแค่ไหน ย้อนกลับไปเกือบ 200 ปีก่อน อาจต้องคูณเข้าไปอีกหลายเท่า เรื่องราวของ มาดาม ซี.เจ.วอล์คเกอร์ (Madam C.J. Walker) เศรษฐินีผิวสีคนแรกของอเมริกา อาจไม่ได้ต่างจากเส้นทางแห่งความสำเร็จของนักธุรกิจที่สร้างตัวเองในปัจจุบันนัก แต่เมื่อลองพิจารณาจากบริบทเวลาและสังคมอเมริกาในตอนนั้น ก็จะพบว่าเส้นทางของเธอยากลำบากกว่าที่เห็นมากทีเดียว
เหมือนนิยายที่เล่าถึงเด็กยากจน ที่เกิดมาโดยมีพ่อแม่เป็นทาส ปี 1867 ที่เมืองเดลต้า รัฐลุยเซียนา ซาราห์ บรีดเลิฟเกิดมาในครอบครัวที่มีพี่น้องถึง 6 คน เพราะเป็นน้องสาวคนสุดท้องที่เกิดหลังจากที่อเมริกาเพิ่งมีการประกาศเลิกทาส เธอจึงถือเป็นสมาชิกครอบครัวคนแรกที่เกิดมาพร้อมกับสถานะอิสระ
แต่แม้จะมีสถานะอิสระ ก็ไม่ได้หมายถึงความเป็นอยู่ที่ดี ครอบครัวบรีดเลิฟมีฐานะยากจน พวกเขามีชีวิตอยู่ด้วยการเป็นทาสมาตลอดหลายปี หลังจากได้รับการปลดปล่อยก็หาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างทำไร่ฝ้าย แบ่งปันผลประโยชน์กับเจ้าของที่ดินซึ่งเคยเป็นเจ้านายของพวกเขาต่อ โชคร้ายที่ทำอยู่ได้ไม่กี่ปี ทั้งสองก็เสียชีวิตตามกันไปเพราะอหิวาตกโรค ซาราห์จึงกลายเป็นเด็กกำพร้าตั้งแต่อายุ 7 ขวบ
เพราะไม่มีใครดูแล พี่สาวคนโตซึ่งแต่งงานออกไปจึงรับซาราห์ไปอยู่ด้วยที่เมืองวิกส์เบิร์ก รัฐมิสซิสซิปปี แต่ฐานะครอบครัวของเธอเองก็ไม่ได้ดี ซาราห์จึงจำเป็นต้องเริ่มทำงานหาเลี้ยงตัวเองมาตั้งแต่ตอนนั้น เธอเริ่มต้นรับจ้างทำความสะอาด และซักรีดเสื้อผ้าให้ครอบครัวคนผิวขาว ก่อนจะแต่งงานครั้งแรกตอนอายุ 14 เมื่อลูกสาวคนแรกและคนเดียวของเธอเกิดมาตอนซาราห์อายุ 17 ปี สามีคนแรกของเธอก็เสียชีวิต
ซาราห์ตัดสินใจหอบลูกไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่เมืองเซนต์หลุยส์ รัฐมิสซูรี ซึ่งมีเหล่าพี่ชายของเธออาศัยอยู่ เธอแต่งงานใหม่กับผู้ชายอีกคนที่นี่อาจเพราะเวลานั้นเมืองเซนต์หลุยส์มีคนผิวสีอยู่เป็นจำนวนมาก การเหยียดสีผิวจึงถือว่าเบาบางกว่าที่อื่น ที่เมืองนี้คนผิวดำสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจได้ ซาราห์เริ่มต้นเข้าไปทำงานเป็นพนักงานสระผมในร้านพี่ชาย และพบว่าลูกค้าหลายคนมีปัญหาหนังศีรษะที่คล้าย ๆ กันอยู่
ตอนนั้นคุณภาพสุขอนามัยของคนดำค่อนข้างจะต่ำ ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่หนาว ชาวบ้านที่อาศัยในชนบทจึงไม่ค่อยได้ ‘อาบน้ำ’ กันนัก การสระผมยิ่งไม่ต้องพูดถึง มันจึงเป็นสาเหตุที่ผู้คนส่วนใหญ่มีปัญหารังแคและผมร่วง ซาราห์เองก็เป็นหนึ่งในนั้น เธอผมร่วงจนต้องสวมผ้าคลุมเอาไว้ตลอด ความสัมพันธ์กับสามีใหม่ก็ดูเหมือนจะไปไม่รอดเพราะเหตุนี้ ด้วยความอับอาย ซาราห์จึงพยายามสรรหาวิธีรักษาโรคผมร่วงไปทั่ว
ตอนนั้นมีครีมบำรุงผมยี่ห้อ Annie Turnbo Malone ขายอยู่ในท้องตลาด แต่ซาราห์ลองซื้อมาใช้และพบว่ามันไม่ได้ช่วยเธอได้มากนัก เธอจึงตัดสินใจปรับปรุงส่วนผสมของครีมด้วยตัวเอง หลังจากทดลองหลาย ๆ ครั้ง เธอก็พบกับส่วนผสมลับที่ช่วยรักษาอาการผมร่วงของเธอได้ ซาราห์คิดว่าถ้ามันช่วยเธอได้ มันก็มีคุณภาพมากพอจะทำขายต่อ (ส่วนผสมดังกล่าวมีทั้ง กรดซัลเฟอร์ และคำแนะนำที่ว่า ควรสระผมให้บ่อยขึ้น)
[caption id="attachment_23782" align="aligncenter" width="640"]
ซาราห์ บรีดเลิฟ[/caption]
เธอแต่งงานใหม่กับชายที่ชื่อ ชาร์ล โจเซฟ วอล์คเกอร์ (Charles Joseph Walker) ซาราห์จึงตัดสินใจตั้งชื่อแบรนด์เป็น Mrs.C.J. Walker (มิสซิสซี.เจ. วอล์คเกอร์) ลงไปตามชื่อสามี เพราะคิดว่ามันดูน่าเชื่อถือกว่าชื่อของตัวเธอเองซึ่งเป็นผู้หญิง แต่ ณ เวลานั้น ถ้าเป็นเรื่องของเครื่องสำอาง ใคร ๆ ต่างก็ไว้ใจผลิตภัณฑ์จากฝรั่งเศส ภายหลังซาราห์จึงเปลี่ยนชื่อแบรนด์เป็น Madam C.J. Walker (มาดาม ซี.เจ. วอล์คเกอร์) หรือชื่อเต็มหลังเปิดธุรกิจขายสินค้าทางไปรษณีย์ Madam C.J. Walker Manufacturing Company เพื่อให้ฟังดูเป็นแบรนด์ฝรั่งเศส เธอเริ่มขายผลิตภัณฑ์ตัวแรกในชื่อ “Madam C.J. Walker’s Wonderful Hair Grower”
เพราะซาราห์ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ประสานงานในโบสถ์ เธอจึงมีโอกาสกระจายข้อมูลของสินค้าไปได้เป็นวงกว้าง ตอนนั้นทั้งตัวเธอเองและสามีก็ยังตระเวนไปเคาะประตูขายผลิตภัณฑ์ตามบ้าน เพื่อบรรยายสรรพคุณและแสดงตัวอย่างความสำเร็จบนศีรษะของตัวเอง
ธุรกิจของซาราห์ไปได้สวยขึ้นเรื่อย ๆ สวนทางกับความสัมพันธ์กับสามีที่ดิ่งลงเหว ช่วงเวลาที่เธอกำลังยุ่งอยู่กับการทำงาน สามีของซาราห์หันไปมีผู้หญิงอื่น ซาราห์ตัดสินใจฟ้องหย่าในปี 1912 และคิดจะดำเนินธุรกิจต่อด้วยตัวเอง แต่เพราะชื่อเสียงของแบรนด์เริ่มไปไกลจนใครก็เริ่มจะหามาลองแล้ว เธอจึงตัดสินใจใช้ชื่อเดิมเพื่อทำธุรกิจต่อ (มาดาม ซี.เจ.วอล์คเกอร์ กลายเป็นชื่อที่ผู้คนใช้เรียกเธอมาตั้งแต่ตอนนั้น)
เพราะเริ่มต้นสร้างจากความเข้าใจในปัญหาหนังศีรษะของคนผิวสี คุณภาพผลิตภัณฑ์ของเธอจึงได้รับการบอกต่อในแง่ดีและยิ่งเป็นที่นิยมในวงกว้าง ซาราห์ก้าวไปอีกขั้นด้วยการสร้างสัมพันธไมตรีกับ บรู้กเกอร์ ที. วอชิงตัน ผู้นำคนผิวสีที่มีชื่อเสียงที่สุด เมื่อเขาทราบเรื่องราวของเธอ ก็ยิ่งให้การสนับสนุนเธออย่างเต็มที่ เพื่อให้เธอเป็นตัวอย่างที่ดีกับคนผิวดำที่กำลังต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคเพื่อความสำเร็จ
หลังจากซาราห์ออกเดินสายเปิดสัมมนาแนะนำความงามให้กับคนอเมริกันผิวดำทั่วประเทศ ในปี 1910 เธอก็หันมาเปิดโรงเรียนเสริมความงามและมีตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ ตอนนั้นเพราะไม่มีการศึกษา นอกจากการทำงานบ้านแล้ว ผู้หญิงผิวสีในอเมริกาจึงไม่สามารถทำงานอย่างอื่นได้ ซาราห์ถือเป็นอีกหนึ่งบุคคลที่ทำให้เหล่าผู้หญิงผิวสีในอเมริกามีรายได้และมีอาชีพอื่นทำ นอกจากงานแม่บ้านหรือแม่ครัว
“ฉันแทบจะไม่เคยได้รับโอกาสอะไรเลยในชีวิต ฉันจึงต้องสร้างชีวิต และโอกาสของตัวเอง” ซาราห์กล่าวในบทสัมภาษณ์ของเอลิเลีย บันเดิลส์ (A'Lelia Bundles) นักข่าวผู้มีศักดิ์เป็นหลานสาวของเธอเอง “ในเมื่อฉันทำได้ ผู้หญิงนิโกรทุกคนก็ต้องทำได้ อย่าเอาแต่นั่งเฉย ๆ แล้วรอให้โอกาสมันเดินมาหา เธอต้องลุกขึ้นมาสร้างมันด้วยตัวเอง”
ซาราห์เริ่มขยายธุรกิจออกไปยังต่างประเทศแถบทะเลแคริบเบียน อย่างเฮติ จาเมกา คอสตาริกา และคิวบา จนรายได้พุ่งสูงขึ้นไปแตะหลักล้านเหรียญสหรัฐ ผู้คนในอเมริกาจึงรู้จักเธอในฐานะ มาดาม ซี.เจ.วอล์คเกอร์ ผู้บุกเบิกธุรกิจความงามสำหรับคนดำ และเธอก็ยิ่งตอกย้ำแนวคิดนั้น ด้วยการขายผลิตภัณฑ์ที่มีภาพ ‘ใบหน้า’ ของตัวเองแปะอยู่บนฝาตลับ
หลานของซาราห์บอกว่า มันเหมือนเป็นสัญลักษณ์เพื่อแสดงออกว่านี่จะเป็นความงามในแบบที่เธอเชิดชู ในช่วงเวลาที่สื่อทุกแขนงของอเมริกายังมี ‘ความงามของคนขาว’ ปกครองอยู่ทั่วประเทศ
ซาราห์และลูกสาวยังให้การสนับสนุนองค์กรการกุศลเพื่อคนดำหลายแห่งของอินเดียนา โดยมากจะเป็นองค์กรเกี่ยวกับศาสนาที่สนับสนุนด้านการศึกษาแก่เด็ก ๆ พวกเธอยังบริจาคเงินจำนวนมากเพื่อสนับสนุนเหล่านักดนตรี นักร้องโอเปรา รวมถึงศิลปินผิวสีคนอื่น ๆ
ซาราห์ บรีดเลิฟ วัย 51 ปี เสียชีวิตด้วยโรคความดันโลหิตสูงในปี 1919 ตอนนั้นเธอมีพนักงานขายอยู่ในองค์กรราว 20,000 คน และมีอสังหาริมทรัพย์มากมายในรัฐต่าง ๆ นับเป็นเศรษฐินีผิวสีที่มีความมั่งคั่งสูงที่สุดคนหนึ่งในประเทศ แต่ก่อนสิ้นชีวิต ซาราห์ยังอุทิศทรัพย์สิน 2 ใน 3 ของเธอบริจาคให้องค์กรการกุศลและชุมชนผิวสีหลายแห่ง เพื่อมอบโอกาสให้คนที่ประสบกับความยากลำบากอย่างที่เธอเคยเป็น
ที่มา
https://www.biography.com/inventor/madam-cj-walker
https://www.bbc.com/news/business-52130592
https://www.oprahmag.com/entertainment/tv-movies/a31484263/madam-cj-walker-facts/
https://indianahistory.org/education/educator-resources/famous-hoosiers/madam-c-j-walker/
https://www.pbs.org/wnet/african-americans-many-rivers-to-cross/history/100-amazing-facts/madam-walker-the-first-black-american-woman-to-be-a-self-made-millionaire/
https://www.archbridgeinstitute.org/2017/10/31/madam-c-j-walker-the-ultimate-self-made-woman/