คนเยอรมันไม่เรียก “รถเบนซ์” ว่า “เบนซ์” เพราะสตรีที่ชื่อ เมอร์เซเดส เยลลิเน็ค

คนเยอรมันไม่เรียก “รถเบนซ์” ว่า “เบนซ์” เพราะสตรีที่ชื่อ เมอร์เซเดส เยลลิเน็ค

คนเยอรมันไม่เรียก “รถเบนซ์” ว่า “เบนซ์” เพราะสตรีที่ชื่อ เมอร์เซเดส เยลลิเน็ค

รถเบนซ์ เป็นผลผลิตของ คาร์ล เบนซ์ วิศวกรเยอรมัน หนึ่งในผู้ประดิษฐ์รถยนต์เครื่องยนต์เบนซินขึ้นเป็นครั้งแรกอย่างไม่ต้องสงสัย แต่เคยได้ยินหรือไม่ว่า ที่ประเทศเยอรมนี ต้นกำเนิดรถยนต์ดาวสามแฉกนี้ กลับไม่เรียก “รถเบนซ์” ว่า “รถเบนซ์” สาเหตุมาจากสาวสวยคนหนึ่งที่ชื่อว่า “เมอร์เซเดส เยลลิเน็ค” เมอร์เซเดส เยลลิเน็ค (Mercédès Jellinek) เป็นสาวออสเตรียโดยกำเนิด ลืมตาดูโลกที่กรุงเวียนนา เมื่อวันที่ 16 กันยายน 1889 เธอมีชื่อเต็มว่า เมอร์เซเดส เอเดรียน ราโมนา มานูเอลลา เยลลิเน็ค (Mercédès Adrienne Ramona Manuela Jellinek) โดย “เมอร์เซเดส” เป็นชื่อในภาษาสเปน แปลว่า เมตตาการุณย์ สาเหตุที่ชื่อ “เมอร์เซเดส” ของเธอกลายมาเป็นชื่อรถ เพราะพ่อของเธอ เอมิล เยลลิเน็ค (Emil Jellinek) นักการทูตผู้รักความเร็ว จนผันตัวเองมาเป็นนักแข่งรถ และตัวแทนจำหน่ายรถให้กับ บริษัท เดมเลอร์ มอเตอร์เรน เกเซลชาฟท์ (Daimler Motoren Gesellschaft-DMG) ได้ขอให้ วิลเฮล์ม มายบัค (Wilhelm Maybach) จ้าวแห่งการออกแบบ คีย์แมนผู้อยู่เบื้องหลังความยิ่งใหญ่ของ บริษัท เดมเลอร์ สร้างยนตรกรรมในฝันให้ “ถ้าคุณรังสรรค์สุดยอดรถยนต์สุดเจ๋งได้ ผมยอมจ่าย 550,000 โกลด์มาร์คทันทีเพื่อแลกกับกองทัพรถ 3 โหล” แน่นอนว่า มายบัค ตอบสนองคำท้าทายของ เยลลิเน็ค ด้วยการผ่าคลอดเครื่องจักรสุดล้ำ ที่ต่อมาได้ปฏิวัติวงการรถยนต์ไปตลอดกาล ฐานล้อที่กว้าง ความสูงที่ลดลง กระจังหน้าขนาดใหญ่แบบรวงผึ้ง เครื่องยนต์ใหม่เอี่ยมที่อัดแน่นด้วยอาชาคะนองกว่า 35 ตัว ที่รอการระเบิดกำลังพาเครื่องจักรน้ำหนักตัวกว่า 1.2 ตัน ทะยานไปด้วยความเร็วกว่า 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง นี่คือนิยามของ เมอร์เซเดส 35 แรงม้า (Mercedes 35 hp) รถต้นแบบที่ตั้งตามชื่อลูกสาววัย 11 ปี ของเอมิล 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อาจดูเชื่องช้าสำหรับถนนเมืองไทยในปัจจุบัน แต่สำหรับปี 1900 หรือเมื่อ 100 ปีก่อน ความเร็วแค่นี้เพียงพอแล้วที่ทำให้เครื่องจักรปีศาจจากสตุ๊ทการ์ทเฆี่ยนรถคันอื่นจนคว้าถ้วยไปนับไม่ถ้วน ความสำเร็จนี้ทำให้ เอมิล เยลลิเน็ค ภูมิใจกับชื่อ “เมอร์เซเดส” มากมาย ขนาดนำไปตั้งเป็นชื่อรีสอร์ทส่วนตัวสุดหรูที่เมืองนีซ ในเฟรนช์ ริเวียร่า เปลี่ยนนามสกุลเป็น “เมอร์เซเดส- เยลลิเน็ค” และแน่นอนชื่อรถรุ่นนี้ถูกนำไปสร้างตำนานต่อในนาม “เมอร์เซเดส” “ผมน่าจะเป็นพ่อคนแรกในโลกเลยก็เป็นได้ ที่เปลี่ยนชื่อตัวเองตามลูกสาว” เอมิล เยลลิเน็ค พูดติดตลกในการให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่ง ชื่อเสียงและความนิยมของเมอร์เซเดส กระจายไปอย่างรวดเร็วทั่วยุโรป ทำให้อีกสองปีต่อมา ในวันที่ 23 มิถุนายนปี 1902 บริษัท เดมเลอร์ มอเตอร์เรน เกเซลชาฟท์ ได้จดเครื่องหมายการค้าในชื่อ “เมอร์เซเดส” พร้อมกับขยายบริษัท แล้วเพิ่มจำนวนพนักงานขึ้นอย่างรวดเร็ว แล้วคำว่า “เบนซ์” มาต่อท้ายคำว่า “เมอร์เซเดส” ตั้งแต่ตอนไหน จุดเริ่มต้น คือในปี 1926 ช่วงเศรษฐกิจตกต่ำหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ทำให้ บริษัท เดมเลอร์ฯ ที่ก่อตั้งโดย “กอตต์ลีบ เดมเลอร์” (Gottlieb Daimler) ต้องหันมาจับมือกับ บริษัท เบนซ์ แอนด์ ซี (Benz & Cie) ของ คาร์ล เบนซ์ ภายใต้ชื่อ บริษัท เดมเลอร์-เบนซ์ เอจี (Daimler-Benz AG) แล้วผนวกโลโก้รูปดาวสามแฉกของ เดมเลอร์ เข้ากับ วงกลมล้อมด้วยใบชัยพฤกษ์ของเบนซ์ พร้อมกับคำว่า เมอร์เซเดส ที่ต่อมาใช้เรียกรถยนต์รุ่นที่ผลิตออกมาจากโรงงานนี้ว่า “เมอร์เซเดส-เบนซ์” หรือ รถเบนซ์ ที่คนไทยนิยมเรียก นวัตกรรมและเทคโนโลยีของทั้งสองบริษัท ทำให้ เดมเลอร์-เบนซ์ เอจี สร้างยนตรกรรมใหม่ๆ สุดล้ำได้อย่างต่อเนื่อง จนกลายมาเป็นบริษัทรถยนต์ชั้นนำของโลกในปัจจุบัน แต่ชีวิตของ “เมอร์เซเดส เยลลิเน็ค” หญิงนัยน์ตาสีเขียวสดและผมสีน้ำตาลเข้ม ที่เป็นที่มาของชื่อบริษัทรถยนต์อันดับต้น ๆ ของโลกไม่ได้รุ่งโรจน์เหมือนกับชื่อของเธอ เมอร์เซเดส เยลลิเน็ค แต่งงานกับ บารอน ฟ็อน ชโลสเซอร์ (Baron von Schlosser) ที่ชายหาดในเฟรนช์ ริเวียร่า เมื่อปี 1909 แต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้ทำลายชีวิตของเธอจนพลิกผันจากหน้ามือไปหลังเท้า ในปี 1918 เมอร์เซเดสตกต่ำขนาดถึงต้องไปขอปันส่วนอาหารตามท้องถนน ต่อมาไม่นานเธอได้ทิ้งสามีและลูกน้อยสองคนของเธอเพื่อแต่งงานใหม่กับ บารอน รูดอล์ฟ ฟ็อน ไวเกิล (Baron Rudolf von Weigl) ช่างแกะสลักมากฝีมือแต่ยากจน ซึ่งแม้เธอจะมีพรสวรรค์ด้านการร้องโซปราโนและเล่นดนตรี แต่นั่นก็ไม่ช่วยให้ชีวิตเธอดีขึ้นในยามลำบากช่วงสงคราม เธอได้จากโลกนี้ไปในปี 1929 ด้วยอายุเพียง 39 ปี ด้วยโรคมะเร็งกระดูก ร่างของเธอถูกฝังไว้ที่สุสานของครอบครัวในกรุงเวียนนา ใกล้ ๆ กับปู่ของเธอ นอกจากชื่อ “เมอร์เซเดส” ที่ทั่วทั้งโลกต่างใช้เรียกรถยนต์หรูที่ประดับตราดาวสามแฉกแล้ว เค้าโครงหน้าอันสะสวยของเธอยังถูกใช้เป็นต้นแบบของรูปแกะสลักที่บ่อน้ำพุ อันดีน ในสวนบาเดน ใกล้กับกรุงเวียนนาอีกด้วย แม้ว่าเธออาจขับรถไม่เป็นและไม่มีรถยนต์ที่แปะชื่อ “เมอร์เซเดส” เป็นของตัวเองเลยก็ตาม แต่ชื่อของเธอได้กลายเป็นหนึ่งในชื่อที่คนทั่วโลกรู้จัก เพราะส่วนใหญ่นิยมเรียกชื่อแบรนด์จากชื่อต้น ส่วนเหตุผลที่คนไทยเรียกรถ “เมอร์เซเดส-เบนซ์” ว่า “เบนซ์” นั้น สันนิษฐานว่าชื่อเต็มนั้นออกเสียงยากและมีความยาวเกินไป อาจเหมือนกรณีเรียกรถ “บีเอ็มดับเบิลยู” แค่ “บีเอ็ม” ก็เป็นได้   ที่มา : https://www.mercedes-benz.co.th https://www.mercedes-benz.com.eg https://media.daimler.com http://www.artbangkok.com