09 มิ.ย. 2563 | 20:05 น.
วลีข้างต้นคือคำพูดของ ซีเรียส แบล็ก พูดกับ แฮร์รี่ รอน และเฮอร์ไมโอนี่ ในหนังสือ ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคถ้วยอัคนี’ เมื่อเฮอร์ไมโอนี่พูดถึงการกระทำของชายคนหนึ่งที่ทำงานในกระทรวงเวทมนตร์ เขาไล่เอลฟ์ประจำบ้านของตัวเองออกอย่างไม่ไยดี ปล่อยให้เอลฟ์รับความผิดในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้เป็นคนทำ เฮอร์ไมโอนี่ เกรนเจอร์ (Hermione Granger) คือตัวละครจากวรรณกรรมเยาวชนเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์ เด็กสาวจากครอบครัวมักเกิ้ลผู้ไม่มีความสามารถด้านเวทมนตร์ ทว่ากลับเป็นเด็กสาวที่ฉลาดสุดในชั้น เสกคาถายาก ๆ สูงกว่าระดับที่ตัวเองเรียนอยู่เสมอ เธอสามารถปรุงน้ำยาสรรพรสได้ยอดเยี่ยมในปีสอง และเป็นนักเรียกร้องสิทธิตัวยง ก้าวแรกของการเรียกร้องสิทธิของเฮอร์ไมโอนี่ไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง หรือกลุ่มมักเกิ้ลที่มีโอกาสก้าวเท้าสู่โลกผู้วิเศษ หากเป็นการเรียกร้องเพื่อพวกเอลฟ์ประจำบ้าน (House-elf) สิ่งมีชีวิตวิเศษที่ถูกสร้างโดยผู้วิเศษ เอลฟ์ประจำบ้านถูกสร้างมาเพื่อเป็นสมบัติของมนุษย์ คอยรับใช้ครอบครัวผู้เป็นนาย พวกเขาสามารถใช้เวทมนตร์โดยไม่ต้องพึ่งไม้กายสิทธิ์ ผูกพันด้วยพันธะเวทมนตร์ของตระกูลจากรุ่นสู่รุ่น เอลฟ์ประจำบ้านมีกฎสูงสุดยึดถือมานานว่าคำสั่งของนายถือเป็นเด็ดขาด แม้ถูกดูแคลน ถูกทำร้ายร่างกาย พวกเขาก็ต้องซื่อสัตย์ทำหน้าที่รับใช้สืบไป ต้องเก็บความลับของบ้าน ห้ามวิจารณ์เจ้านาย เพราะเมื่อไหร่ที่ขัดคำสั่งของเจ้านายพวกเขาต้องลงโทษตัวเองด้วยวิธีใดก็ตามที่คิดว่าสาสม เอาสิ่งของใกล้ตัวตีหัวตัวเองหรือเอาเตารีดร้อน ๆ นาบมือ แต่ทว่าหลักการ ‘คำสั่งของนายถือเป็นคำขาด’ ก็เคยถูกแหกมาแล้วหลายครั้งในหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ การแหกคำสั่งของเอลฟ์ที่ทั้งนักอ่านและผู้ชมภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์ ต้องเคยเห็น ปรากฏขึ้นครั้งแรกในภาคห้องแห่งความลับ เมื่อ ด๊อบบี้ เอลฟ์ประจำบ้านของตระกูลมัลฟอยฝ่าฝืนคำสั่งของบ้าน นำความลับมาบอกกับแฮร์รี่ ห้ามให้เขากลับไปยังฮอกวอตส์เพราะปีที่สองของการเรียนจะเกิดเหตุร้ายขึ้น หรือกรณีของ ครีเชอร์ เอลฟ์ประจำบ้านของครอบครัวแบล็ก เขาเกลียดเจ้านายตัวเองจนนำเรื่องราวของซีเรียส แบล็ก ผู้เป็นนายไปบอกกับกลุ่มผู้เสพความตาย ญาติทางสายเลือดของซีเรียส เพียงเพราะซีเรียสพูดกับตนว่า “ออกไป” ในโลกผู้วิเศษมีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่าเกิดการทารุณเอลฟ์ประจำอย่างไร้เมตตามานานหลายศตวรรษ ตัวอย่างที่เด่นชัดคือธรรมเนียมการตัดหัวเอลฟ์ประจำบ้านที่แก่ชรามาประดับผนังของตระกูลแบล็ก ใช้ให้ทำเรื่องแย่ ๆ ทำงานจนหมดเรี่ยวแรง เลวร้ายสุดคือใช้ให้พวกเขาไปก่ออาชญากรรม หรือรับความเจ็บปวดแทนตัวเอง ลอร์ดโวลเดอมอร์เคยใช้ครีเชอร์เป็นตัวทดลองว่าที่ซ่อนเสี้ยววิญญาณของตัวเองปลอดภัยมากพอหรือไม่ด้วยการสั่งให้เอลฟ์กรีดมือ ดื่มยาพิษทำให้เจ็บปวดจนเสียสติไปชั่วครู่ ส่วนจอมมารยืนดูเอลฟ์ทุรนทุรายพลางหัวเราะด้วยความสมเพช การทารุณนี้ก็อยู่ในสังคมผู้วิเศษมายาวนาน และไม่ค่อยถูกพ่อมดแม่มดคนไหนใส่ใจความรู้สึกที่พวกเอลฟ์เท่าไหร่นัก ถึงพวกเขาเป็นเพียงสิ่งที่ผู้วิเศษสร้างขึ้นแต่ก็มีชีวิตจิตใจ รู้สึกรักหรือเกลียดชังไม่ต่างจากมนุษย์ เฮอร์ไมโอนี่เป็นเด็กสาวที่ไม่เคยรู้จักหรืออยู่ร่วมกับเอลฟ์ประจำบ้านมาก่อน เธอรู้สึกรับไม่ได้กับการที่สิ่งมีชีวิตนึกคิดได้ไม่ต่างจากมนุษย์รู้สึกยินดีกับการเป็นทาส เธอคิดว่าหากบอกให้พวกเขารับรู้ถึงสิทธิพึงได้รับ มอบเสื้อผ้าปลดเปลื้องพันธนาการจากการเป็นทาส อาจทำให้เอลฟ์พบกับความสุขแท้จริง เฮอร์ไมโอนี่มองว่าการทำงานหนักโดยไม่ได้อะไรตอบแทนไม่ต่างจากแรงงานทาส อาหารเลิศรสของฮอกวอตส์เกิดขึ้นจากการปรุงของเอลฟ์หลายชีวิตทำงานหามรุ่งหามค่ำอยู่ในครัว เธอเคยพูดกับเพื่อน ๆ ว่า “อาหารค่ำมื้อนี้คือแรงงานทาส” เคยอดอาหารประท้วงอยู่พักหนึ่ง แต่สุดท้ายต้องยอมแพ้หาวิธีอื่นแทน เพราะเสียงของนักเรียนเพียงเสียงเดียวไม่สามารถเปลี่ยนระบบได้ [caption id="attachment_23815" align="aligncenter" width="640"] เฮอร์ไมโอนี่กับป้ายแคมเปญ ส.ร.ร.ส.อ[/caption] สิ่งที่เฮอร์ไมโอนี่คิดอาจถูกต้องหรือไม่ถูกต้องอยู่ที่ว่าใครเป็นคนมอง พวกพ่อมดที่โตมากับสังคมผู้วิเศษอย่างรอน วิสลีย์ แสดงความไม่เห็นด้วยเมื่อเพื่อนสาวเริ่มตั้ง “สมาคมเรียกร้องสิทธิเอลฟ์ประจำบ้าน” หรือ “ส.ร.ร.ส.อ.” เมื่อตอนเรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 เธอต้องการเรียกร้องให้โลกผู้วิเศษเลิกทารุณสัตว์วิเศษ รณรงค์เรียกร้องสิทธิเท่าเทียมเพื่อค่าจ้างเหมาะสมเป็นธรรมให้พวกเอลฟ์ แต่รอนคิดว่าเป็นเรื่องไร้สาระเพราะเอลฟ์มีความสุขที่ได้เป็นคนใช้ จะเรียกร้องเพื่ออะไรหากเอลฟ์ยังรู้สึกมีความสุขกับหน้าที่ที่ตัวเองได้ทำหากต้องการรู้ว่าเนื้อแท้ของแต่ละคนเป็นอย่างไร ให้ดูสิ่งที่เขาปฏิบัติต่อผู้ที่ด้อยกว่า
“เอลฟ์ชอบแบบนี้ มันชอบเป็นทาส!”
คงจะจริงอย่างรอนว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เอลฟ์ได้บริการพ่อมดแม่มด ถึงเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่พวกเขามีความสุขเหลือล้น โค้งต่ำจนหัวแทบติดพื้นเมื่อรับคำสั่งหรือคำชม ยินดีอย่างยิ่งเมื่ออำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ มองว่าการเป็นอิสระมีสิทธิทำตามใจตัวเองเป็นเรื่องร้ายแรง เอลฟ์เพศหญิงนามว่า วิงกี้ เธอเป็นนักดื่มตัวยง ดื่มบัตเตอร์เบียร์วันละหกขวด เมาหัวราน้ำตรอมใจเพราะถูกเจ้านายให้เสื้อผ้า เธอไม่เคยอยากเป็นอิสระ เธอชอบเป็นทาสและภูมิใจที่ได้รับใช้ เอลฟ์ที่ถูกไล่ออกจากบ้านหางานยาก ด๊อบบี้พยายามหางานทำทั่วเกาะอังกฤษนานกว่าสองปี แต่ไม่มีใครจ้างเพราะต้องการค่าจ้าง แนวคิดของเขาไม่ถูกยอมรับจากเอลฟ์และผู้วิเศษ เอลฟ์รู้สึกอับอายที่เห็นด๊อบบี้มีความคิดอยากได้ค่าตอบแทนแลกแรงงาน มองว่าการกระทำของด๊อบบี้เป็นเรื่องน่าละอาย ตกต่ำ น่าอัปยศ และรู้สึกแย่ยิ่งขึ้นเมื่อด๊อบบี้บอกกับเฮอร์ไมโอนี่ว่าเขาชื่นชอบความเป็นไท สังคมส่วนใหญ่ไม่ยอมรับเอลฟ์ประจำบ้านที่ต้องการค่าแรง แต่ก็ไม่ใช่กับทุกคนเพราะยังมีพ่อมดที่ยินยอมมอบค่าจ้างให้เอลฟ์หากเขาต้องการ ศาสตราจารย์ อัลบัส ดัมเบิลดอร์ เคยเสนอค่าจ้างอาทิตย์ละสิบเกลเลียนกับวันหยุดสุดสัปดาห์ให้ด๊อบบี้ ยืนยันแก่เอลฟ์ผู้เป็นไทว่าวิจารณ์หรือเรียกเขาว่า “ตาแก่สติเฟื่อง” ได้ ทั้งที่การเป็นทาสของเอลฟ์จะต้องไม่พูดจาแย่ ๆ ถึงเจ้านาย ข้อตกลงที่ดูยุติธรรมของดัมเบิลดอร์สร้างศรัทธาให้ด๊อบบี้ อย่างไรก็ตาม เขาขอค่าตอบแทนน้อยลงเป็นหนึ่งเกลเลียนกับวันหยุดหนึ่งวันต่อเดือน เพราะการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตแบบฉับพลันก็สร้างความไม่สบายใจให้กับด๊อบบี้ แสดงให้เห็นว่าการปรับตัวกับค่านิยมใหม่ต้องใช้เวลา เฮอร์ไมโอนี่เคยพูดกับเอลฟ์ประจำบ้านเกือบร้อยชีวิตในห้องครัวของโรงเรียน บอกให้พวกเขาฟังว่าเอลฟ์มีสิทธิแสดงความรู้สึกเหมือนพ่อมดแม่มด มีสิทธิได้ค่าจ้าง วันหยุด และเสื้อผ้า โดยไม่ต้องทำทุกอย่างตามมนุษย์สั่ง กลับกลายเป็นว่าเหล่าเอลฟ์มองว่าเธอเป็นตัวอันตราย จนไม่อยากเห็นเฮอร์ไมโอนี่อีกต่อไป แม้โดนเอลฟ์มองว่าเป็นผู้หญิงน่าขนลุก แต่เฮอร์ไมโอนี่ไม่เคยยอมแพ้กับการเรียกร้องสิทธิเพื่อเอลฟ์ประจำบ้าน เธอพยายามปลดปล่อยทาสด้วยวิธีต่าง ๆ ทั้งทำแผ่นพับรณรงค์ (แต่ไม่ค่อยมีใครให้ความสนใจกับเรื่องนี้) นั่งถักหมวกไหมพรมหามรุ่งหามค่ำซ่อนไว้ทั่วหอกริฟฟินดอร์ พวกเอลฟ์กลับมองว่าการกระทำของเฮอร์ไมโอนี่หยามเกียรติและศักดิ์ศรีพวกเขา การเอาเสื้อผ้าไปซ่อนตามที่ต่าง ๆ รอให้เอลฟ์มาทำความสะอาดแล้วเจอเครื่องแต่งกายคือการดูหมิ่น ถึงอย่างนั้นเธอก็ไม่เคยโกรธเอลฟ์ประจำบ้าน เด็กสาวจากครอบครัวมักเกิ้ลมองว่าหลายร้อยปีที่ผ่านมาพวกเอลฟ์โดนกลืนกับค่านิยมผิด ๆ โดนปลูกฝังเรื่องการเป็นทาสจนเคยชิน ถ้าเราเริ่มทำสิ่งใหม่ สักวันหนึ่งเอลฟ์จะรู้ว่าการเป็นทาสไม่ใช่เรื่องที่ดี การเรียกร้องสิทธิแก่เอลฟ์ของเฮอร์ไมโอนี่ ประกอบกับอุปนิสัยการเป็นทาสด้วยความเต็มใจของเอลฟ์ ก่อให้เกิดประเด็นถกเถียงอยู่บ่อยครั้ง นักอ่านหลายคนเห็นด้วยกับเฮอร์ไมโอนี่และยินดีที่ด๊อบบี้เป็นอิสระ แต่นักอ่านอีกส่วนก็มองว่าเอลฟ์คือสัตว์ที่เกิดจากผู้วิเศษ พวกเขาถูกสร้างมาเพื่อรับใช้ปกป้องพ่อมดแม่มดผู้เป็นเจ้าของ หากมองเอลฟ์ในโลกแห่งความจริง พวกเขาก็คงไม่ต่างอะไรจากมนุษย์ที่เป็นทาสในสมัยก่อน ถูกปลูกฝังว่าต้องรับใช้นาย อยู่เป็นทาสไปจนตาย และมีนายเป็นเหนือหัว“เอลฟ์ประจำบ้านไม่มีสิทธิทุกข์ใจในเวลาทำงาน”
ประเด็นละเอียดอ่อนในวรรณกรรมเยาวชน กลายเป็นสิ่งที่ทำให้สังคมเริ่มเกิดการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องทาสมากขึ้น เกิดการตั้งคำถามลามไปถึงผู้แต่งอย่าง เจ.เค. โรว์ลิง ว่าทำไมเขียนให้เอลฟ์มีคติความเชื่อแบบทาสผิวดำหรือระบบทาสที่ทั่วโลกเคยมีมาในหน้าประวัติศาสตร์ ซ้ำยังเขียนให้เฮอร์ไมโอนี่ถูกเพื่อน ๆ หัวเราะเยาะกับการเรียกร้องสิทธิของเอลฟ์ประจำบ้าน แต่การเขียนให้เอลฟ์ยอมรับการเป็นทาสด้วยความเต็มใจ การก้าวออกมามีสิทธิมีเสียงของเฮอร์ไมโอนี่ สามารถทำให้เด็ก ๆ ที่อ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์ เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดีกว่ามองข้ามไม่ใส่ประเด็นนี้ไว้ในหนังสือ เจ.เค. โรว์ลิงเคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CBC ว่า เธอเห็นความไม่เท่าเทียมในสังคมอังกฤษ เห็นจนชินตาและอยากใส่เรื่องราวที่พบเจอลงในผลงานของตัวเอง สาเหตุที่เขียนให้เฮอร์ไมโอนี่ได้รับเสียงหัวเราะเยาะจากเพื่อน ๆ ผู้วิเศษเมื่อไหร่ก็ตามที่พูดเรื่องสิทธิของเอลฟ์ เป็นเพราะต้องการให้ผู้อ่านรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงไม่สามารถสำเร็จในชั่วข้ามคืน แต่ต้องใช้ความพยายามกับพลังใจอย่างมากเพื่อเปลี่ยนแปลงค่านิยมเก่า เฮอร์ไมโอนี่เป็นเด็กสาวที่เต็มไปด้วยอุดมการณ์ วาดฝันว่าสามารถเปลี่ยนแปลงสังคม อยากทำให้เอลฟ์มีชีวิตดีขึ้น เธอจะเรียนรู้ว่าความเป็นจริงไม่ง่ายดั่งใจ และต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจไม่น้อยเพื่อเปลี่ยนแปลงค่านิยมไม่เข้าท่าในสังคม หลังเฮอร์ไมโอนี่ต้องออกจากการเรียนกลางคันเพื่อตามหาฮอครักซ์กับแฮร์รี่และรอน พอสงครามจบลงเธอตัดสินใจกลับเข้าเรียนต่อ ในขณะที่เพื่อนอีกสองคนเริ่มทำงานเป็นมือปราบมาร เธอเรียนจบครบ 7 ปี สอบเข้าทำงานในกระทรวงเวทมนตร์ แผนกกองออกระเบียบและควบคุมสัตว์วิเศษ พยายามทำให้สมาคมเรียกร้องสิทธิเอลฟ์ประจำบ้านไม่ใช่แค่อุดมการณ์จับต้องไม่ได้อีกต่อไป จากนั้นขยับตำแหน่งขึ้นเป็นรองหัวหน้ากองบังคับควบคุมกฎหมายเวทมนตร์ และลงสมัครท้าชิงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงเวทมนตร์แห่งอังกฤษ สมัยเรียนเฮอร์ไมโอนี่เคยถูกแฮร์รี่ถามว่าอยากทำงานอะไร เธอตอบว่าอยากทำงานที่สามารถทำอะไรได้หลายอย่าง การลงสมัครตำแหน่งรัฐมนตรีอาจทำให้เธอได้สานต่ออุดมการณ์ในวัยเรียน เฮอร์ไมโอนี่เป็นเด็กสาวที่ขยันอ่านหนังสือ ได้ผลการเรียนอันดับหนึ่งมาตลอด รวมถึงประสบการณ์การต่อสู้กับศาสตร์มืด มีแนวคิดต่อต้านการกดขี่ ทั้งหมดทำให้คุณสมบัติของเธอดึงดูดคะแนนเสียงจำนวนมาก เฮอร์ไมโอนี่เป็นเด็กจากครอบครัวมักเกิ้ลที่มักถูกผู้วิเศษบางกลุ่มเรียกว่า “พวกเลือดสีโคลน” แต่ความสามารถของเธอส่งให้การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งอาจไม่ใช่เรื่องไกลตัว และจริงอย่างหลายคนคาดไว้ เฮอร์ไมโอนี่ เกรนเจอร์ นักเรียกร้องสิทธิและนักเรียนดีเด่น ชนะการเลือกตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงเวทมนตร์ในที่สุด จุดเริ่มต้นทางการเมืองของเธอเกิดจากความรู้สึกไม่พอใจเมื่อเห็นสิ่งมีชีวิตนึกคิดได้กลายเป็นทาส เริ่มมองโลกเวทมนตร์ว่าไม่ได้สวยงามเหมือนตอนได้รับจดหมายเข้าเรียนฮอกวอตส์ครั้งแรก เธอเห็นการแบ่งแยกชนชั้นจากตัวเองที่เป็นมักเกิ้ลและเอลฟ์ประจำบ้านที่ถูกพ่อมดหลายคนทารุณ พยายามต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ของตัวเองแม้ถูกเยาะเย้ย ในที่สุดเธอก็สามารถทำสิ่งที่ตั้งใจให้เป็นจริงได้ด้วยการเข้าทำงานในกระทรวง ปรับโครงสร้างทางสังคมใหม่ พยายามลดค่านิยมที่กดขี่คนอื่นลง และเรื่องราวการต่อสู้เพื่อเอลฟ์ประจำบ้านของเธอจะไม่ถูกหัวเราะเยาะอีกต่อไป ที่มา เว็บไซต์ https://www.wizardingworld.com/features/heroic-house-elves-of-the-wizarding-world https://medium.com/@alinautrata/all-the-things-that-are-fucked-up-about-harry-potter-58267e1bf3ee http://www.accio-quote.org/articles/2000/0700-hottype-solomon.htm หนังสือ เจ.เค. โรว์ลิง. 2544. แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับ ถ้วยอัคนี. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์ เจ.เค. โรว์ลิง. 2546. แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับ ภาคีนกฟีนิกซ์. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์ เจ.เค. โรว์ลิง. 2550. แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับ เครื่องรางยมทูต พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์ เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์