ฆวน ปูโยล การ์เซีย จากสายลับฟรีแลนซ์ สู่สายลับเบอร์ 1 ของ MI5
"เขาไม่ใช่ เจมส์ บอนด์ (สายลับ 007 ในนิยายชื่อดังของ เอียน เฟลมมิง) หัวก็ล้าน หน้าตาก็จืดแห้ง ตัวเล็ก ๆ แต่เขาทำให้พวกเยอรมันหลงเชื่อได้อย่างสนิทใจ คิดว่าข้อมูลที่เขาส่งให้มีความแม่นยำสูงมาก"
อัมยาส ก็อดฟรีย์ (Amyas Godfrey) เจ้าหน้าที่ประจำ Royal United Services สถาบันวิจัยด้านการทหารและความมั่นคงของอังกฤษ กล่าวถึง ฆวน ปูโยล การ์เซีย (Juan Pujol Garcia) สายลับ MI5 ชาวสเปน ที่มีส่วนสำคัญในการช่วยให้แผนการยกพลขึ้นบกของฝ่ายสัมพันธมิตรที่นอร์มังดี (D-Day) ประสบความสำเร็จ (BBC)
"เอเจนต์การ์โบ" (Agent GARBO - ชื่อรหัสลับของปูโยลใน MI5) เล่าถึงปูมหลังของตนเองใน Operation GARBO (หนังสือที่ปูโยลเขียนร่วมกับ ไนเจล เวสต์ [Nigel West] นักเขียนที่เชี่ยวชาญงานสายลับและเป็นผู้สืบหาปูโยลจนเจอ) ว่า เขาเกิดเมื่อปี 1912 ที่บาร์เซโลนา มีพ่อที่ไม่ฝักใฝ่การเมืองฝ่ายใด เป็นกลางที่มีหัวไปทางเสรีนิยม ต่อต้านเผด็จการและสงคราม และเป็นผู้ที่สั่งสอนเขาว่า
"จงเคารพในความเป็นมนุษย์ของมนุษย์ทุกคน มองเห็นความทุกข์เข็ญของผู้อื่น ไม่ว่าคนผู้นั้นจะรวยหรือจน จะผิวดำหรือผิวขาว"
ปูโยลไม่ได้ใฝ่เรียนเท่าใดนัก เมื่ออายุได้ 15 ปี ก็ขออนุญาตพ่อเลิกเรียนต่อ พ่อเขาอนุญาตแต่ให้เงื่อนไขว่าต้องหางานทำ เขาก็เลยไปทำงานในร้านขายของ ทำไปสักพักก็เลิก ตั้งใจว่าจะไปเรียนต่อด้านศิลปะโดยเริ่มจากการอ่านหนังสือในห้องสมุดของพ่อ แต่ก็ล้มเลิกอีกหลังไส้ติ่งแตก พอหายดีแล้วก็ไปเรียนทำฟาร์มไก่แทน
พอเรียนจบปูโยลก็ถึงเวลาต้องเข้ากรมเกณฑ์ทหารพอดี สมัยนั้นมีโครงการที่ทหารเกณฑ์สามารถจ่ายค่าธรรมเนียมพิเศษเพื่อปลดประจำการใน 6 เดือน ปูโยลรีบสมัครด้วยใจที่ไม่ใฝ่การสู้รบ และนับว่าโชคดีที่เขาไม่ถูกส่งไปปราบปรามการจลาจลที่เกิดขึ้นหลายครั้งในภาวะที่สเปนใกล้เข้าสู่สงครามกลางเมือง (ระหว่างที่เขายังเข้าประจำการตรงกับปี 1933)
ตอนที่สเปนตกอยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง (1936-1939 เป็นการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลสาธารณรัฐ และคณะรัฐประหารชาตินิยม) ปูโยลอ้างว่าเขาลังเลที่จะเลือกข้างจึงมีส่วนเกี่ยวพันกับทั้งสองฝ่าย แต่ก็ไม่เคยใช้ปืนยิงเพื่อนร่วมชาติไม่ว่าจะตอนอยู่ร่วมกับฝ่ายใด
ขณะเดียวกัน ผลของสงครามคราวนั้นทำให้เขารู้สึกรังเกียจระบอบอำนาจนิยมโดยเฉพาะลัทธินาซี เมื่อโลกเดินหน้าเข้าสู่ภาวะสงครามในปี 1939 ปูโยลจึงตัดสินใจที่จะเข้าช่วยฝ่ายสัมพันธมิตรด้วยตนเอง (สเปนภายใต้การปกครองของฟรังโกประกาศวางตัวเป็นกลาง)
"[ที่ผมทำแบบนี้] คำตอบอยู่ที่ความเชื่อของผม อันเป็นความเชื่อเดียวกันกับที่คุณพ่อได้ปลูกฝังเมื่อครั้งที่ผมยังเด็ก ความเชื่อที่ผลักดันให้ผมต้องต่อสู้กับเผด็จการและการกดขี่ทุกรูปแบบ" ปูโยลกล่าว
"เมื่อตอนที่ผมยังเป็นเด็ก ผมเคยคิดว่า สงครามคือการลงทัณฑ์ที่ไม่อาจเลี่ยง เป็นโทษอันโหดร้ายทารุณที่ยมทูตส่งมาเพื่อเป็นการชำระบาปของเรา แต่มันยากที่จะคิดเช่นนั้นต่อไปหลังจากที่ผมได้มาเห็นวิบากกรรมจากสงครามกลางเมืองของเรา เมื่อบางคนอ้างความคิดเรื่องแผ่นดินเกิดและเสรีภาพแล้วเอามายัดเยียดให้เราถือตาม เราถูกบังคับให้ต้องจำนนต่อศีลธรรมอันชั่วร้ายของผู้ก่อการ ซึ่งล้วนเป็นสัตว์นรกอสูรกายที่สามารถพาโลกไปยังจุดจบได้
"ตอนนี้ผมเริ่มได้ยินคำว่า 'อารยัน' 'เชื้อชาติ' และ 'สายพันธุ์ที่เหนือกว่า' ในวิทยุ และได้เห็นคำเหล่านี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และนิตยสาร คำเหล่านี้ไม่เคยมีความหมายอะไรสำหรับผมจนถึงตอนนี้ แต่ไม่นานผมก็ได้เรียนรู้ว่า ภายใต้ฉากหน้าว่าด้วยแนวคิดเหล่านี้ ประชาชนคนธรรมดาในเยอรมนีต่างถูกคุกคาม พลเรือนที่มีความผิดเพียงเพราะพวกเขาไม่ได้เป็นอารยัน หรือสืบเชื้อสายนั้น ๆ มา หรือไม่ยอมสมาทานความเชื่อลัทธิสายพันธุ์ที่เหนือกว่า"
เมื่อไม่อาจทนเห็นความเลวร้ายทางมนุษยธรรมได้อีกต่อไป ในปี 1941 ปูโยลจึงพยายามหาทางโค่นล้มนาซีด้วยการเข้าร่วมกับอังกฤษ ผู้นำสัมพันธมิตรในยุโรป โดยได้เดินทางไปยังสถานทูตอังกฤษในกรุงมาดริดขอพบเจ้าหน้าที่ทูตระดับสูงเพื่อขอทำงานด้านข่าวกรอง ด้วยเชื่อว่าเขาจะสามารถแสวงหาข้อมูลที่จำเป็นทั้งด้านการเมืองและการทหารที่จะเป็นประโยชน์กับฝ่ายสัมพันธมิตรได้ แต่คนของสถานทูตอังกฤษไม่เอาด้วย
ถึงจะถูกปฏิเสธ แต่ปูโยลก็ไม่ถอดใจ เขาตัดสินใจเดินหน้าเข้าหาฝ่ายนาซีทำทีเป็นผู้ฝักใฝ่ลัทธินาซีหลอกให้ฝ่ายนาซียอมรับเป็นสายลับ ซึ่งเขาประสบความสำเร็จง่ายดายกว่าที่คิด ฝ่ายนาซียอมรับเขาเข้าเป็นสายลับโดยได้ชื่อรหัสลับว่า “อราเบล” (ARABEL) ก่อนมอบเงินทุนในการสืบหาข้อมูล และน้ำหมึกล่องหนเพื่อใช้ปกปิดการสื่อสารข้อมูลลับ
เดือนกรกฎาคมปีเดียวกัน เมื่อได้กลายเป็นสายลับนาซีแล้ว ปูโยลเชื่อว่า การที่เขาสามารถแฝงตัวเข้าไปอยู่ในดงศัตรูได้ น่าจะทำให้ฝ่ายอังกฤษเห็นประโยชน์ของเขาและรับเขาเข้าเป็นสายลับอย่างแน่นอน เพื่อความปลอดภัยจากสายลับนาซีที่อาจแฝงอยู่ในมาดริด เขาเลือกที่จะติดต่อกับอังกฤษผ่านสถานทูตอังกฤษในกรุงลิสบอนของโปรตุเกส เพื่อแสดงหลักฐานว่าเขาเป็นสายลับนาซีให้กับเจ้าหน้าที่สถานทูตอังกฤษที่นี่ดู แต่เขาก็ยังถูกปฏิเสธอีกครั้ง
"ผมไม่เข้าใจเลยว่า ทำไมทางอังกฤษถึงเข้าถึงได้ยากนัก ขณะที่ฝั่งเยอรมันช่างเข้าใจให้ความร่วมมือดีเหลือเกิน ผมได้แต่ถามตัวเองว่าทำไมศัตรูถึงให้ความช่วยเหลือดี ขณะที่คนที่ผมอยากจะเป็นมิตรด้วยกลับไม่ยอมโอนอ่อนเข้าหาบ้าง ไม่ว่าอย่างไร ผมเป็นพวกหัวดื้ออยู่แล้ว ผมมุ่งมั่นทำหน้าที่สายลับนอกขนบแบบของตัวเองต่อไป ด้วยหวังว่าวันหนึ่งมันจะช่วยเปลี่ยนอะไรให้ดีขึ้นได้"
ปูโยลหลอกนาซีว่าสามารถแทรกซึมเข้าไปอยู่ในอังกฤษได้สำเร็จทั้ง ๆ ที่ยังอยู่โปรตุเกส โดยอ้างว่าเขาได้รับความช่วยเหลือจากนักบินรายหนึ่งที่เห็นใจเขา เนื่องจากเขาอ้างว่าตัวเองเป็นคาตาลันลี้ภัยการเมืองมาอยู่อังกฤษ และนักบินรายนี้ก็เป็นธุระจัดการช่วยขนจดหมายจากอังกฤษมายังโปรตุเกส ซึ่งเป็นการช่วยให้จดหมายของเขาไม่ถูกทางการอังกฤษดักอ่านก่อนถึงมือนาซี และฝ่ายนาซีก็เชื่อเขาสนิท ทั้งที่ความจริงแล้วปูโยลเองนั่นแหละที่เป็นคนส่งจดหมายไปถึงสถานทูตเยอรมนีในโปรตุเกส
แล้วจุดเปลี่ยนที่ทำให้ปูโยลได้รับความสนใจจากฝ่ายอังกฤษก็มาถึง (โดยที่ปูโยลเองก็ไม่รู้ตัว) เมื่อจดหมายฉบับที่ 3 ที่เขานั่งเทียนเขียนส่งไปให้กับฝ่ายนาซีว่าจะมีการเคลื่อนย้ายกองเรือจาก 5 ลำ จากลิเวอร์พูลไปยังมอลตา ทำให้ฝ่ายนาซีส่งเครื่องบินออกลาดตระเวนในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งบังเอิญใกล้เคียงกับแผนการของฝ่ายอังกฤษพอดี แม้ว่าวันเวลาและจำนวนเรือจะไม่ตรง แต่นั่นก็ทำให้ฝ่ายอังกฤษตกใจว่ามีสายลับของนาซีแฝงอยู่ในฝั่งตนเองเป็นแน่ และเป็นจุดเริ่มต้นที่สายลับอังกฤษเป็นฝ่ายที่ต้องควานหาตัวปูโยลเอง (ซึ่ง ณ ขณะนั้น ปูโยลยังไม่เคยเดินทางไปอังกฤษแม้แต่ครั้งเดียว)
และทางฝั่งอังกฤษเองก็คาดเดาว่า สายลับฟรีแลนซ์ในโปรตุเกสที่พยายามขอร่วมงานกับฝ่ายอังกฤษเองหรือเปล่าที่เป็นคนปล่อยข่าวนี้ให้นาซีเยอรมัน เขาจึงได้รับการติดต่อจากฝ่ายอังกฤษ และ MI6 (หน่วยงานสายลับของอังกฤษที่ขึ้นกับกระทรวงการต่างประเทศ) ก็ช่วยพาตัวเขามาส่งถึงกรุงลอนดอน
เมื่อมาถึงเมืองหลวงของอังกฤษในต้นปี 1942 MI5 (หน่วยสายลับของกระทรวงมหาดไทยอังกฤษ) ก็ทำการรับช่วงต่อ ปูโยลได้รับหน้าที่เป็นสายลับสองหน้าให้กับอังกฤษในชื่อรหัสลับ “การ์โบ” (GARBO) ตามชื่อของนักแสดงหญิงที่ได้รับการยกย่องว่ายอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล “เกรตา การ์โบ” (Greta Garbo) โดยอยู่ภายใต้การดูแลของโตมาส (ทอมมี) แฮร์ริส (Tomás [Tommy] Harris) ทั้งคู่ร่วมกันสร้างเครือข่ายสายลับกำมะลอที่มีสายรวม 27 คน ขึ้นมา โดยแต่งเรื่องราวของแต่ละคนขึ้นมาให้น่าเชื่อถือ มีทั้งชาวเวนาซุเอลาในกลาสโกว์ จ่าทหารสหรัฐฯ ปากไว ผู้นำชาวเวลส์ชาตินิยมฟาสซิสต์ในสวอนซี
ปูโยลสร้างความน่าเชื่อถือให้ตนเองด้วยการใช้ข้อมูลทางการทหารที่ถูกต้อง แต่ไม่มีประโยชน์ในเชิงปฏิบัติ เช่น การเคลื่อนทัพของฝ่ายพันธมิตรในแอฟริกาคราวหนึ่ง (Operation TORCH) เขาส่งข้อมูลที่แม่นยำของฝ่ายสัมพันธมิตรให้กับนาซี แต่ทำทีว่าข้อมูลนั้นล่าช้าไปด้วยเหตุไม่คาดคิด (ที่จริงคือตั้งใจให้ถึง ณ เวลานั้น แต่ลงวันที่ย้อนหลังให้ดูเหมือนส่งมานานแล้ว) ซึ่งทำให้ฝ่ายนาซีเชื่อถือข้อมูลของปูโยลเป็นอย่างมาก
แต่ที่เรียกได้ว่าเป็นวีรกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และนับเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถตั้งหลักได้ในยุโรป ก็คือ Operation FORTITUDE ที่ปูโยลรับบทนำ
ตอนนั้นเป็นช่วงต้นปี 1944 ทางฝ่ายนาซีเริ่มรู้ข่าวระแคะระคายว่า ฝ่ายสัมพันธมิตรกำลังวางแผนรุกยุโรป และมอบหมายให้อราเบลสายลับอันดับหนึ่งของพวกเขาในเกาะอังกฤษเป็นผู้สืบข่าว
สิ่งที่นาซีคาดการณ์ไว้ไม่ผิด ฝ่ายสัมพันธมิตรเตรียมการที่จะรุกยุโรปในเดือนมิถุนายน ระหว่างนั้น ปูโยลกับ MI5 ก็ได้วางแผนลวงให้นาซีไขว้เขวเมื่อใกล้ถึงวันยกพลขึ้นบกจริงในแผ่นดินฝรั่งเศส โดยเบี่ยงเบนความสนใจของฝ่ายนาซีไปจากจุดยกพลขึ้นบกจริงที่นอร์มังดีในวัน D-Day
ปูโยลสร้างเรื่องว่า กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรในชื่อ First US Army Group (FUSAG) ประกอบด้วยทหารนับแสนนายภายใต้การบัญชาของนายพลจอร์จ เอส. แพตตัน (George S. Patton) หนึ่งในนายพลรถถังที่เก่งกาจที่สุดของฝ่ายสัมพันธมิตรได้รวมกำลังเตรียมความพร้อมอยู่ที่เคนต์ และเอสเซ็กซ์ ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะอังกฤษ โดยมีเป้าหมายที่จะยกพลขึ้นบกที่ Pas-de-Calais ฝั่งตรงข้ามของช่องแคบโดเวอร์ซึ่งอยู่ห่างจากนอร์มังดีไปกว่า 300 กิโลเมตร และอ้างว่า การยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดีเป็นเพียงแผนการที่จะตบตานาซีเท่านั้น
ขณะเดียวกันฝ่ายสัมพันธมิตรก็จัดตั้งฐานทัพปลอมในพื้นที่ที่ปูโยลกล่าวอ้าง มีการใช้รถถังปลอม สร้างท่าเรือปลอมไว้ตบตาหน่วยลาดตระเวนของนาซีด้วย
ในวันที่ 5 มิถุนายน ปีเดียวกัน ซึ่งเป็นวันที่ฝ่ายสัมพันธมิตรวางแผนที่จะยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี แต่ต้องเลื่อนไป 24 ชั่วโมงเนื่องจากปัญหาสภาพอากาศ ปูโยลได้ส่งข้อความวิทยุไปถึงฝ่ายนาซีว่า ให้เตรียมรับข่าวฉุกเฉินในเวลาตี 3 ของเช้าวันถัดไป แต่ด้วยความที่ปูโยลส่งข้อความที่ทั้งยาวและยากแก่การตีความ และเจ้าหน้าที่วิทยุผู้รับสารก็เกิดข้อขัดข้องไม่ได้ส่งต่อข้อความของเขาสู่เจ้าหน้าที่ระดับสูง เมื่อฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มยกพลขึ้นบกในนอร์มังดีเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน ฝ่ายนาซีแม้จะตั้งตัวไม่ติด แต่ปูโยลก็ยิ่งได้รับความเชื่อถือ เพราะเขาอ้างว่าได้แจ้งเตือนก่อนล่วงหน้าแล้ว
ในวันที่ 9 มิถุนายน หลัง D-Day ผ่านไป 3 วัน ปูโยลยังส่งข้อความไปยังฝ่ายนาซียืนยันว่า การยกพลขึ้นบกในนอร์มังดีเป็นเพียงแค่การล่อลวง และให้ระวังการรุกรานจริงด้วยกองกำลังที่มากมายมหาศาลยิ่งกว่าที่ Pas-de-Calais
ฝ่ายผู้บังคับบัญชาระดับสูงของนาซีให้ความเชื่อมั่นกับข่าวกรองที่ได้รับจากปูโยล (ประกอบกับการโจมตีทางอากาศที่เบี่ยงเบนความสนใจนาซีจากนอร์มังดี) เช่น นายพลแอร์วีน ร็อมเมิล ( Erwin Rommel) แม่ทัพรถถังชื่อดังก็เชื่อว่า การโจมตีระลอกที่ 2 น่าจะเกิดขึ้นในบริเวณช่องแคบบริเวณ Cap Gris Nez หรือไม่ก็พื้นที่ระหว่าง Somme กับ Le Havre' ซึ่งจากข้อความที่เขาส่งไปถึงจอมพลแกร์ท ฟ็อน รุนท์ชเต็ท (Gerd von Rundstedt) แสดงให้เห็นว่า เขาเชื่อในเรื่องนี้อย่างน้อย 11 สัปดาห์ หลังวัน D-Day
ฝ่ายนาซีจึงยังคงให้หน่วยยานเกราะ 2 กองพล และหน่วยทหารราบอีก 19 กองพล ตั้งหลักรอรับการรุกรานจากฝ่ายสัมพันธมิตรบริเวณ Pas-de-Calais ต่อไป เป็นเวลานับเดือน ทำให้กองทัพฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถตั้งหลักได้อย่างมั่นคงหลังการยกพลขึ้นบกที่นอร์มังดี ขณะที่ศูนย์สายลับนาซีในมาดริดก็ส่งข้อความแสดงความยินดีมาถึงปูโยลว่า
"ในวันนี้ผมสามารถบอกกับคุณด้วยความสุขและสมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านผู้นำสูงสุดได้มอบกางเขนเหล็ก (เหรียญเกียรติยศ) เพื่อเชิดชูเกียรติคุณอันหาที่เปรียบมิได้ของคุณ มันเป็นเหรียญตราที่มอบให้กับหน่วยรบในแนวหน้าโดยไม่มีข้อยกเว้น ด้วยเหตุนี้เราจึงขอแสดงความยินดีอย่างจริงใจและบริสุทธิ์ใจกับคุณด้วย"
แม้การโจมตีระลอก 2 โดย FUSAG จะไม่เกิดขึ้นอยากที่ปูโยลอ้าง แต่การกุเรื่องใหม่ว่า FUSAG มีการจัดองค์กรใหม่เพื่อภารกิจที่ยืดหยุ่นขึ้น จากข้อความที่ตอบกลับก็ยังแสดงให้เห็นว่า นาซีเชื่อในข้อมูลที่ได้รับจากปูโยลอยู่
ภารกิจของปูโยลเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง บนเว็บไซต์ของ MI5 กล่าวถึง "Agent GARBO" ว่า "การยกบนขึ้นบกที่นอร์มังดีในวันที่ 6 มิถุนายน 1944 คือจุดเริ่มต้นของการปลดปล่อยยุโรปตะวันตกจากการยึดครอง (ของนาซี) ความสำเร็จของ D-Day หน่วยงานความมั่นคง (MI5) ได้มีส่วนช่วยเหลืออย่างสำคัญผ่านสายลับสองหน้า ฆวน ปูโยล ชื่อรหัส GARBO ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นสายลับสองหน้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2"
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ปูโยลต้องหลบซ่อนตัวจากอดีตสมาชิกนาซีที่อาจตามล้างแค้น มีการปล่อยข่าวว่าเขาประกอบธุรกิจนำเข้าส่งออกที่แองโกลา ก่อนเสียชีวิตลงในปี 1959 ด้วยโรคมาลาเรีย แต่ ไนเจล เวสต์ พยายามสืบหาร่องรอยของเขาจนในปี 1984 ก็ได้พบว่าปูโยลยังมีชีวิตอยู่ในเวเนซุเอลา ประกอบอาชีพเป็นครูสอนภาษาให้กับพนักงานบริษัทน้ำมันแห่งหนึ่ง และขอให้ปูโยลเผยแพร่เรื่องราวที่เขาเก็บเป็นความลับเกือบ 40 ปี
ความพยายามของเวสต์ทำให้ปูโยลใจอ่อนยอมเผยตัวต่อสาธารณะ เมื่อเขาเดินทางมาถึงอังกฤษยังได้รับเกียรติให้เข้าเฝ้าเจ้าชายฟิลิป ดยุกแห่งเอดินบะระที่ต้องการพบตัวเขาเป็นอย่างมาก และเกียรติประวัติของเขาจึงได้เป็นที่รับรู้ของคนรุ่นหลัง โดย MI5 ให้การยืนยัน (ซึ่งปกติทาง MI5 จะไม่เผยชื่อสายลับขององค์กร แต่กรณีนี้ ปูโยลเป็นผู้เปิดเผยความสัมพันธ์นั้นเอง)