ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ตำนานขุนพลบ้านพิษณุโลก-ส.ว. เลือกตั้งสาย NGO

ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ตำนานขุนพลบ้านพิษณุโลก-ส.ว. เลือกตั้งสาย NGO

ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ตำนานขุนพลบ้านพิษณุโลก-ส.ว. เลือกตั้งสาย NGO

ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ หรือ "อาจารย์โต้ง" อาจเป็นคนในครอบครัวชุณหะวัณที่มีเส้นทางการเมืองแตกต่างจากบรรพบุรุษอย่างสิ้นเชิง เพราะถ้ามาย้อนสาแหรกของตระกูลนี้ขึ้นไปจะพบว่าล้วนแล้วแต่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม "ขุนศึกการเมือง" แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ ที่มีศักดิ์เป็นปู่นั้นเป็นผู้ก่อร่างสร้างตำนานซอยราชครู หรือ ผู้เป็นบิดาอย่าง พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้สร้างวาทะเด็ดอันเป็นตำนานมาถึงทุกวันนี้ อย่าง "เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า" แต่สำหรับไกรศักดิ์ การเล่นการเมืองในลักษณะของการได้มาซึ่งอำนาจรัฐนั้นไม่ใช่แนวทางที่ปรารถนามากนัก โดยจะเน้นการทำงานกับมวลชนเป็นสำคัญ บนพื้นฐานที่เชื่อว่าหากต้องเปิดพื้นที่การเมืองภาคประชาชนให้มีอำนาจต่อรองและสร้างกระบวนการของการมีส่วนร่วม กระนั้นแล้วในฐานะนักวิชาการฝ่ายซ้ายที่ไม่สุดโต่ง ก็ได้เข้ามามีบทบาทต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะและเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลเมื่อครั้ง พล.อ.ชาติชาย เป็นนายกรัฐมนตรี ในนาม "ทีมบ้านพิษณุโลก" เมื่อปี 2531 การเข้ามาเป็นหนึ่งในทีมบ้านพิษณุโลก ทำให้ไกรศักดิ์ใช้พลังทางวิชาการตามแบบฉบับคนหนุ่มไฟแรงได้อย่างเต็มที่ เช่น การเข้าร่วมเจรจาสันติภาพกับประเทศเพื่อนบ้าน การแก้ไขมาตรการกีดกันทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา เป็นต้น แต่บทบาทของทีมบ้านพิษณุโลกต้องหยุดลง ภายหลัง พล.อ.สุจินดา คราประยูร ได้ทำการรัฐประหารล้มรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ต่อมาปี 2543 ภายหลังประเทศไทยได้ทำการปฏิรูปการเมืองและมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ซึ่งบัญญัติให้มีวุฒิสภาที่มี ส.ว.จากการเลือกตั้งทั้งหมด จังหวัดนครราชสีมาเป็นหนึ่งในจังหวัดที่มีการชิงชัยในตำแหน่ง ส.ว. เข้มข้น เพราะบรรดาพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้พยายามสนับสนุนคนของตัวเองอย่างลับ ๆ ปรากฏว่าไกรศักดิ์ยังสามารถฝ่ากระแสการเมืองในพื้นที่เข้ามานั่งในวุฒิสภาได้เป็นผลสำเร็จ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 'ไกรศักดิ์' ได้เป็นที่รู้จักกันดีของคนในแวดวงนิติบัญญัติว่า "ส.ว. สายเอ็นจีโอ" หรือ "ส.ว. ฝ่ายค้าน" การเป็น ส.ว.สายเอ็นจีโอและฝ่ายค้านนี่เอง ทำให้ไกรศักดิ์ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา ถูกจัดให้เป็น "ขาประจำ" ของรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ในขณะนั้น เพราะไกรศักดิ์และคณะต่างได้ร่วมกันเข้ามาตรวจสอบการดำเนินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลพรรคไทยรักไทยอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะการพยายามของรัฐบาลในการจะเปิดเสรีทางการค้ากับสหรัฐอเมริกา ซึ่งคณะกรรมาธิการต่างประเทศยืนกรานมาตลอดว่าไทยจะได้ไม่คุ้มเสีย รวมไปถึงปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เพียงแต่จะเคลื่อนไหวการเมืองในสภาเท่านั้น เพราะในห้วงเวลาที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกมาขับไล่รัฐบาลทักษิณ ไกรศักดิ์ได้ร่วมเคลื่อนไหวด้วยแม้จะไม่ได้มีบทบาทเป็นแกนนำก็ตาม ภายหลังการรัฐประหารปี 2549 ที่ได้มีการยุบวุฒิสภาทันที ไกรศักดิ์ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นและเรียกร้องให้รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ตรวจสอบนโยบายสงครามปราบปรามยาเสพติดสมัยรัฐบาลทักษิณ เนื่องจากมีการเสียชีวิตถึง 2,500 ศพ ในที่สุดรัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบ ศึกษาและวิเคราะห์การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษและการนำนโยบายไปปฏิบัติจนเกิดความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียงและทรัพย์สินของประชาชน (คตน.) ที่มี คณิต ณ นคร เป็นประธาน และไกรศักดิ์เข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย ขณะเดียวกัน ยังได้เดินสายไปร่วมเวทีเสวนาวิชาการในต่างประเทศเพื่อแสดงความคิดเห็นที่การรัฐประหาร 2549 ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน โดยเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ได้รายงานเมื่อวันที่ 8 ต.ค.2549 ว่าเมื่อเดือน ต.ค. อดีต ส.ว. นครราชสีมา ได้รับเชิญจากวิทยาลัยบูรพศึกษาและแอฟริกาศึกษา มหาวิทยาลัยลอนดอน หรือ The School of Oriental and African Studies (SOAS) ได้เข้าร่วมเวทีอภิปรายในหัวข้อ Thailand under CEO Thaksin ไกรศักดิ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า สาเหตุที่การทำรัฐประหารครั้งได้รับการตอบรับอย่างดีจากประชาชนชาวไทย ก็เนื่องมาจากการลุกขึ้นต่อต้าน ‘พ.ต.ท.ทักษิณ’ ของชาวไทยนั้นมีมาเป็นเวลานานแล้ว จากการที่คนเหล่านั้นทนไม่ได้กับรัฐบาล “ด้วยเหตุนี้จึงไม่เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่คนอย่างคุณสนธิ เอ็นจีโอ ผู้นำแรงงาน ชาวนา ชนชั้นกลาง ต่างออกมาขับไล่คุณทักษิณ และให้ดอกไม้กับทหารที่ทำการรัฐประหารแทนที่จะขว้างก้อนอิฐใส่เหล่าทหาร “เห็นได้ชัดว่าผู้ที่เข้าร่วมกับการขับไล่คุณทักษิณไม่ได้เป็นเพียงชนชั้นกลางที่เสียประโยชน์อย่างที่สื่อตะวันตก และชาวตะวันตกมักจะวิพากษ์วิจารณ์ แต่การเคลื่อนไหวขับไล่ทักษิณนั้นแพร่กระจายไปทั่วประเทศไทย ถ้าการเคลื่อนไหวไม่กระจายไปทั่วประเทศ ก็คงไม่เกิดการบอยคอตการเลือกตั้งในเดือนเมษายนโดยประชาชนมากกว่าสิบล้านคนแน่นอน" เว็บไซต์ผู้จัดการรายงานโดยอ้างอิงคำพูดของไกรศักดิ์ เวลาต่อมา ไกรศักดิ์ได้เบนเข็มการเมืองภาคประชาชนมาเป็นการเมืองในแบบพรรคการเมืองเต็มตัว ภายใต้ร่มเงาของพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี 2550 พรรคประชาธิปัตย์ได้เชิญให้มาดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคดูแลพื้นที่การเมืองในภาคอีสาน ภายใต้ความมั่นใจว่าของพรรคประชาธิปัตย์เครือข่ายภาคประชาชนที่ไกรศักดิ์ได้สร้างเอาไว้ ประกอบกับนโยบายของพรรค จะพอทำให้พรรคประชาธิปัตย์สามารถเจาะฐานเสียงในภาคอีสานที่เป็นของพรรคไทยรักไทยได้บ้างไม่มากก็น้อย แต่ไม่สำเร็จเพราะพรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ให้กับพรรคพลังประชาชน ชีวิตของไกรศักดิ์ไม่ได้มีแต่เรื่องการเมืองเครียด ๆ เท่านั้น เพราะอีกด้านหนึ่งมีความเป็นศิลปินอยู่ในตัวด้วย โดยคนที่ใกล้ชิดจะทราบดีว่า ‘อาจารย์โต้ง’ หลงใหลในเสียงกีตาร์เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ Gibson semi hollow 100 anniversary ที่มักจะหยิบขึ้นมาบรรเลงในยามสังสรรค์กับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่บ้านซอยราชครูหลายครั้ง และยังมีผลงานการจัดนิทรรศการ ‘ฝันถึงท้องฟ้า’ Imagine the Sky & Other Visions of Kraisak Choonhavan เมื่อปี 2562 ในวาระครบรอบ 72 ปี ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ที่ผ่านมา ในวัย 72 ปี ซึ่งด้วยผลงานและการทำงานที่ผ่านมา ทำให้หลายคนนึกถึงไกรศักดิ์ในฐานะปัญญาชนหัวก้าวหน้าคนหนึ่งของยุคสมัย   เรื่อง: ธารนรินทร์ ภาพ: Facebook ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ