read
business
27 ก.ค. 2563 | 12:00 น.
กษิภณ อภิมุขคุณานนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท Atos IT Solutions and Services ผู้ที่ฝันอยากทำให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยี
Play
Loading...
แม้ว่าความฝันในวัยเด็กของ ดช.กษิภณ คือการเป็นหมอ เพราะอยากจะช่วยเหลือผู้คนให้หายจากโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่ห่างไกลตามภูเขาสูง และตะเข็บชายแดนสุดขอบประเทศ ที่เข้าถึงระบบสาธารณสุขและแพทย์พยาบาลได้อย่างยากลำบาก
แต่เมื่อโตขึ้นแทนได้สวมเสื้อกาวน์สีขาว เขากลับต้องใส่เสื้อช็อปเพื่อเป็นวิศวกรตามคำแนะนำของพี่ชายที่ประสบความสำเร็จในการเป็นวิศวกรมาก่อนแล้ว
แม้ว่าเส้นทางที่เดินจะไม่ใช่สิ่งที่ฝันเอาไว้ แต่สิ่งหนึ่งที่เขาไม่เคยเปลี่ยนนั่นก็คือ การได้ช่วยเหลือผู้อื่น มารู้จักตัวตนของ
ดร. กษิภณ อภิมุขคุณานนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท Atos IT Solutions and Services
ผู้ที่ฝันอยากทำให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยี ว่าอะไรเป็นเคล็ดลับให้เขาประสบความสำเร็จในทุกวันนี้ทั้งที่ไม่ได้เดินตามเส้นทางที่เคยฝันในวันเด็ก
กษิภณ:
จริง ๆ ความฝันคือเป็นหมอครับ เป็นคนที่ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ก็จะบอกเสมอว่าเราจะต้องเรียนแพทย์ แต่ด้วยความที่พี่ชายจบวิศวกรรม คุณพ่อคุณแม่ก็เลยไม่ได้มีความคิดว่าการเป็นหมอจะดีอย่างไร เขาก็ต้องเชื่อฟังพี่ชาย พี่ชายบอกว่าเรียนวิศวกรรมดีที่สุด ยังจำได้ว่าไม่ยอมตอนนั้นก็ต่อต้านมาก เพราะอยากจะเป็นหมอ เพราะว่ามันเป็นความฝันแต่เด็กแล้วว่าจะต้องช่วยสังคม การที่เราอยากเป็นหมอเพราะคิดว่าเราจะได้เป็นหมอที่ไปอยู่บนภูเขาตามชายแดนที่มันได้ช่วยสังคม เป็นความฝันตั้งแต่เด็ก แต่พอพี่ชายแนะนำให้เรียนวิศวกรรมแล้วทุกคนก็เห็นด้วยว่าจะต้องเรียนวิศวกรรม เราก็เลยต้องมาเรียน ซึ่งพอเราเรียนอะไรแล้วเราก็ต้องทำดีที่สุด เลยมองว่าพอมาเรียนวิศวะ เราก็จะต้องทำให้มันดีที่สุด
วันนี้ถามว่าเรามาถึงจุดนี้แล้วเรายังรู้สึกไหม ก็รู้สึกว่าอยากเป็นหมออยู่นะครับ (หัวเราะ) ก็รู้สึกว่าเรายังไม่ได้ทำในสิ่งที่เราอยากจะทำ เราไม่ได้ไปอยู่ชายแดน ไม่ได้ไปช่วยเหลือคนยากจนที่เขาเจ็บป่วย เราก็คิดเหมือนกันนะ แต่ก็มีหลายคนบอกว่าก็เอาเงินไปบริจาคก็ช่วยได้เหมือนกัน แต่วันนี้สิ่งที่เราทำได้ดีที่สุด เราก็ภูมิใจเพราะได้ช่วยเหลือสังคมเหมือนกัน แต่อาจจะเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง ความฝันวัยเด็กอยากเป็นแพทย์ แต่สุดท้ายแล้วพอเราได้มาเรียนวิศวะ มาเรียนบริหารธุรกิจ แล้วมาเป็นผู้บริหารก็ทำให้ดีที่สุด
จนได้มาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท Atos It Solutions And Services (ประเทศไทย) ดูแลประเทศในแถบอินโดจีน เช่นกัมพูชา เวียดนาม และลาว เริ่มตั้งแต่จบปริญญาโทที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ แล้วก็กลับมาประเทศไทยมาทำงานเป็นที่ปรึกษาทางด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจ บริษัท Accenture ประเทศไทย ทำอยู่ประมาณ 9 ปี แล้วก็ได้ย้ายไปเป็นผู้จัดการฝ่าย Consulting บริษัท QAD ของอเมริกาได้ประมาณ 2 ปี แล้วก็ย้ายไปทำงานทางด้าน Consulting ที่บริษัท Microsoft ประเทศไทย ทำด้าน engagement manager ต่อมาก็ดูแล solution sale ของ Microsoft ประเทศไทย รวมแล้วประมาณ 9 ปี ก่อนจะมาเริ่มต้นชีวิตการทำงานที่บริษัท Atos ประเทศไทย โดยเริ่มต้นจากการเป็นผู้อำนวยการฝ่ายขายก่อน เป็นได้ประมาณ 8 เดือน แล้วก็ได้เลื่อนขั้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท วันนี้ก็เป็นเวลา 7 ปีแล้วที่อยู่ที่บริษัท Atos ประเทศไทย
The People: Atos เป็นบริษัทเกี่ยวกับอะไร
กษิภณ:
Atos เป็นบริษัทที่ปรึกษาระดับโลก ซึ่งเรามีสำนักงานใหญ่ที่ประเทศฝรั่งเศส เรามีทั้งหมด
75
สาขาทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยก็เป็น 1 ใน 10 ประเทศสาขาในเอเชียแปซิฟิก ซึ่ง Atos เป็นบริษัทที่ปรึกษาที่ดูแลครบวงจร ตั้งแต่งานด้านกลยุทธ์ทางธุรกิจ ที่ วันนี้สิ่งที่เราทำเป็นหลักก็คือ digital transformation strategy แล้วก็มาทำ business process improvement คือการรีดีไซน์ business process ของบริษัทลูกค้า แล้วทำ configuration ระบบ SAP เป็นหลัก ซึ่งเราทำก็ครบทุกโมดูล ตั้งแต่ FiCOM จนถึง warehouse management และ business intelligent ด้วย รวมไปถึง CRM ในฝั่งที่เป็น infrastructure แล้วก็บริการทางด้าน cloud sevices เราดูแล IT outsourcing กับบริษัทประเทศไทยด้วย หลาย ๆ ที่เป็น manage service ดูแลโน้ตบุ๊ก ดูแลเวลาที่ระบบ data center มีปัญหาเราก็เป็นคนดูแล เพื่อทำให้มั่นใจว่าระบบ data center ของลูกค้าจะไม่มีวันล่ม และทำให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เป็นบริการครบวงจรเลยหรือ end-to-end consulting services
ระบบที่เป็น SAP ในฝั่งที่เป็นค้าปลีก SAP จะมีทั้งเป็น ERP จะเป็น back office จนถึงที่เป็น industry solution ยกตัวอย่างถ้าอยู่ในมินิมาร์ทเราจะมีการวางระบบหลังบ้านแล้วก็หน้าบ้านรวมกับ point of sale มินิมาร์ทจะสามารถคาดการณ์ได้ว่าของที่ขายมีอะไรบ้างที่ใกล้จะหมด เราควรจะมีสต๊อกประมาณเท่าไหร่ เราสามารถคำนวณสต๊อกได้ว่า อะไรที่ขายดีหรือขายได้ในเดือนนั้นประมาณกี่ไอเท็ม แล้วช่วยให้เราสั่งสินค้ามาไว้ในคลังสินค้าเพียงพอกับที่ลูกค้าจะมาซื้อในอนาคต ซึ่งระบบ SAP สามารถทำพยากรณ์ความต้องการสินค้า แล้วสั่งซื้อสินค้าเข้ามาไว้ในสต๊อกอัตโนมัติได้เลย เพื่อที่ไม่เสียโอกาสในการขายและไม่ต้องสต๊อกสินค้าไว้เยอะเกินไป
ในเมืองไทย Atos ดูแลครบทุกอุตสาหกรรม ตั้งแต่ราชการ รัฐวิสาหกิจ ค้าปลีก มีทั้ง healthcare และโรงพยาบาลอย่างโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ ที่เราพัฒนาระบบ SAP หน้าบ้าน เช่น การช่วยให้คุณหมอสามารถนัดคนไข้ได้ ทำระบบจองห้องผ่าตัด ระบบจ่ายยา และเชื่อมต่อกับระบบบัญชี ส่วนลูกค้า AOT หรือสนามบินสุวรรณภูมิ เราก็พัฒนาระบบให้กับสนามบินทั้ง 6 แห่งที่เป็นสนามบินนานาชาติ ที่ผ่านมาเราได้พัฒนาระบบ SAP ให้กับ ground service และ catering ของการบินไทยที่เป็น ลูกค้าราชการเราพัฒนาออกแบบกระบวนการการผลิตให้กับองค์การเภสัชกรรม ตั้งแต่การสั่งซื้อ การผลิต การบำรุงรักษา รวมถึงการปิดบัญชี และการเชื่อมต่อกับระบบ point of sale ที่หน้าร้านยา นอกจากนี้เรายังมีลูกค้าอย่างเบทาโกร ซึ่งเราพัฒนาระบบทั้งหมด 24 โมดูล SAP ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 ปีครบทุกโมดูล 24 โมดูล ตั้งแต่กระบวนการผลิตไปจนถึงร้านเบทาโกรช็อป
The People: solution นี้ช่วยให้ลูกค้า transform ตัวเองได้อย่างไร
กษิภณ:
วันนี้ผมมองว่าอนาคตแนวโน้ม transform business เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนทุกบริษัท ทุกองค์กร ต้องตระหนักว่าเราจะสามารถ transform ไปสู่ยุคดิจิทัลได้อย่างไร ซึ่งในประเทศไทยยังมีความล่าช้าในการเตรียมความพร้อมเพื่อ transform ถ้าเทียบกับประเทศในแถบอเมริกากับยุโรปที่ค่อนข้างไปไกลแล้ว solution ของเราในวันนี้ก็คือเรามี business consultant ที่ปรึกษาที่สามารถจะพัฒนากลยุทธ์ในการเปลี่ยนแปลงองค์กรในประเทศไทยให้กลายเป็นองค์กรในยุคดิจิทัล ซึ่งเราได้ทำ digital transformation strategy ที่ให้กับลูกค้าหลาย ๆ แห่งหนึ่ง เพื่อช่วยให้ลูกค้าเปลี่ยนแปลงตัวเองตามแนวโน้มเกิดขึ้นในอนาคตได้
ตัวอย่างแนวโน้มที่เราเห็นวันนี้คือ เรื่อง mobility เราจะทำอย่างไรให้องค์กรของลูกค้าสามารถจะทำงานผ่าน device หรืออุปกรณ์ที่เคลื่อนที่ได้ เช่น มือถือ แท็บเล็ต ได้ วันนี้ solution ทุกอย่างที่เป็นตัวช่วยในการดำเนินธุรกิจของลูกค้า ต้องสามารถทำงานผ่านมือถือได้ เช่น การอนุมัติต่าง ๆ การแก้ไขเอกสาร การรับอีเมล นั่นเป็นความต้องการของผู้ใช้งานทุกที่ว่าต้องเป็น mobility
เรื่องที่สอง คื่อเรื่องของ social network ในสมัยก่อนเวลาทำการตลาดเราจะต้องสามารถไปทำการตลาด ทำอีเวนต์ที่โรงแรม จะได้กลุ่มเป้าหมาย 100 คน 200 คนเป็นอย่างมาก ผลการตอบรับก็ค่อนข้างน้อย เวลาทำการตลาดเราพูดเสมอว่า return on investment เท่าไหร่ ซึ่งบางครั้งมันก็ไม่คุ้ม ปัจจุบันนี้ถ้าเราพูดถึงมาร์เก็ตติ้ง การทำการตลาดจะเป็นยุคของ social network เราสามารถจะทำ digital marketing ได้ผ่าน social network ไม่ว่าจะเป็นการทำ digital marketing ผ่าน Facebook, YouTube หรือ social network อื่น ๆ ที่ได้รับความนิยม เราต้องทำให้ลูกค้ารู้ว่าวิธีการทำ digital marketing ที่ประสบความสำเร็จทำอย่างไร ซึ่งผลตอบรับจากการทำ digital marketing จะคุ้มค่ามาก เพราะลงทุนไม่เยอะ แต่สามารถไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากมายมหาศาล
เรื่องที่สาม ที่ลูกค้ามีความสนใจคือเรื่อง cloud services ในอดีตลูกค้าต้องซื้อ server มี data center เป็นของตัวเอง ต้องใช้พนักงานหลายคนในการดูแลบำรุงรักษา data center ซึ่งเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูง บางครั้งซื้อ server ในปริมาณที่มากเกินการใช้งาน ทำให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจสูงกว่าที่ควรจะเป็น พอมาถึงยุค cloud services เราสามารถใช้บริการจาก cloud services ที่ SAP มีให้ซึ่งจ่ายเท่าที่ใช้ เราไม่จำเป็นจะต้องจ่ายเงินซื้อ server เยอะแยะ ไม่จำเป็นต้องมี data center ของตัวเอง เราสามารถซื้อบริการจาก SAP แล้วเก็บเงินตามปริมาณที่ใช้งาน ทำให้ต้นทุน server และ infrastructure ต่ำลง
ในส่วนสุดท้ายที่สำคัญในยุคอนาคต แต่เมืองไทยยังไม่สามารถนำมาใช้งานได้คือ เรื่องของ big data เราพูดถึง big data กันเยอะมาก แต่ปัญหาคือจะเก็บข้อมูลจำนวนมหาศาลมาได้อย่างไร เพราะเมืองไทยยังมีปัญหาในการเก็บข้อมูล วันนี้เราเลยมีข้อมูลน้อยมาก เราจะมีเฉพาะข้อมูลที่เป็นข้อมูลองค์กร แต่ไม่มีข้อมูลที่อยู่ใน social network ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากมายมหาศาล เราไม่สามารถดึงข้อมูลนี้มาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลในองค์กร แล้วเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคได้อย่างชัดเจน เพราะโลกอนาคตคือการ personalization คือต้องดูแลผู้บริโภครายบุคคล จากความต้องการผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคดิจิทัล ที่ต้องการให้ตอบสนองสิ่งที่เขาต้องการรายบุคคล เราต้องรู้พฤติกรรม ต้องเข้าใจไปถึงครอบครัว รายได้เท่าไหร่ แล้วชอบซื้อสินค้าประเภทไหน เราสามารถทำนายได้เลยว่าวันนี้หรือเดือนนี้เขาต้องการจะซื้ออะไรบ้าง ซึ่งสามารถจะยิงโปรโมชันส่วนตัวไปในมือถือเขาได้เลย พอเขาเห็นโปรโมชันตอบสนองความต้องการของเขาทันที แล้วทำให้เกิดการตัดสินใจการสั่งซื้อค่อนข้างรวดเร็ว เพราะว่าเราต้องเข้าใจผู้บริโภคอย่างลึกซึ้งในทุกมุมมอง 360 องศาเลย นี้เป็นสิ่งที่ทาง Atos สามารถช่วยพัฒนากลยุทธ์และแนวทางให้กับลูกค้า เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองไปสู่ยุคดิจิทัลที่สามารถจะซัพพอร์ตลูกค้าได้ทั้ง 4 ปัจจัยที่กล่าวถึงได้
The People: โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิด New normal เร็วขึ้นไหม
กษิภณ:
New normal จะมาเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน คือเราไม่จำเป็นจะต้องทำงานที่ออฟฟิศ การ work from home เป็นสิ่งที่ใช้กันอยู่แล้วที่อเมริกา อย่างบริษัท Atos ที่อเมริกาเองมีพนักงาน 3,000 คน ก็ work from home กันหมด เราไม่จำเป็นต้องมีสำนักงานเลย ทุกคนทำงานที่บ้าน แต่ work from home ในเมืองไทยยังไม่เป็นที่นิยมด้วยเหตุผลว่า บริษัทเมืองไทยส่วนมากจะลงทุนในระบบที่เป็นแอปพลิเคชัน แต่ยังไม่ค่อยลงทุนในระบบที่เป็น infrastructure ช่วยให้อยู่บ้านแต่สามารถทำงานได้รวดเร็วเหมือนอยู่ออฟฟิศ อยู่ออฟฟิศเราก็จะมี leased line เราก็จะมี network ที่มันค่อนข้างรวดเร็ว แต่พอเวลาอยู่ที่บ้าน เราต้องมี solution ที่ทำให้ความเร็วในการทำงานเร็วเหมือนอยู่ที่ทำงาน
ทุกวันนี้ solution นี้ยังไม่เป็นที่นิยมในการซื้อมาพัฒนา เวลานี้หลายองค์กรที่ยังล้าสมัยอยู่ ยังใช้วิธีการหมุนโทรศัพท์เข้ามา VPN ซึ่งทำให้การทำงานมันช้ามาก แต่มันมี solution หลายตัวที่เป็น direct access คือการที่ network สามารถจะต่อตรงเข้ามาเลยเหมือนเรานั่งที่ออฟฟิศ เรื่องนี้สำคัญเป็นอันดับหนึ่งเพราะว่า productivity สำคัญมาก ถ้า network เรา หรือโน้ตบุ๊กเราทำงานช้ามันก็จะเกิด productivity ที่ค่อนข้างต่ำ
อันที่สองคือในแง่ของความปลอดภัย ในยุคดิจิทัลความปลอดภัยที่เรียกว่า cyber security สำคัญมาก แต่ solution ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยเป็น solution หนึ่งที่บริษัทในประเทศไทยยังไม่นิยมในการลงทุนพัฒนา แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าคนที่เข้ามาใช้ network ในออฟฟิศเป็นคนดี หรือเป็นแฮกเกอร์ที่เข้ามาแฮกแล้วเอาข้อมูลสำคัญที่เป็นความลับของบริษัท
เรื่องที่ 3 คือ data เพราะว่าบริษัทในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังเก็บข้อมูลในโน้ตบุ๊กหรือคอมพิวเตอร์ส่วนตัวอยู่ ยังไม่ได้เก็บในส่วนกลาง solution ที่สำคัญที่มาช่วยคือ Enterprise content management ที่สามารถจะเก็บข้อมูลต่าง ๆ ไว้ได้ใน database ซึ่งพนักงานทุกคนไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน สามารถเห็นเอกสารหรือข้อมูลเดียวกันได้ จะไม่มีเอกสารหรือข้อมูลที่เกี่ยวกับการทำงานเก็บไว้ในโน้ตบุ๊กส่วนตัว แต่จะมีการเก็บไว้ในส่วนกลางและมีความปลอดภัยด้วย
3 สิ่งนี้จะทำให้เกิด new normal ได้ในเมืองไทย วันนี้พอเกิดโรคโควิด-19 เข้ามา ทุกคนเริ่มทำงานจากบ้าน ดังนั้นทุกคนยังไม่มี solution ทำให้สามารถนั่งทำงานที่ออฟฟิศ วันนี้ก็ยังใช้ซอฟต์แวร์หลาย ๆ ตัวที่ไม่ได้มีความปลอดภัยสามารถประชุม video conference call กันสามารถทำงานร่วมกันเหมือนมาเจอหน้ากัน แล้วสิ่งที่สำคัญคือวัฒนธรรม ในเมืองไทยวัฒนธรรมการประชุมยังอยากเจอหน้ากันอยู่ ก็จะต้องเปลี่ยนวิถีการทำงาน ให้รู้สึกว่าการทำงานผ่าน video conference ไม่ได้ต่างจากการประชุมในออฟฟิศ ผมเลยมองว่าสิ่งที่เป็นอุปสรรคสำหรับ new normal ในวันนี้คือ software solution ในฝั่ง infrastructure ที่ยังไม่เป็นที่นิยมในการลงทุน ซึ่งพอเกิดเรื่องโควิด-19 ขึ้นมา ผมมองว่าเริ่มจะมีบริษัทต่าง ๆ ตระหนักแล้วว่าสำคัญนะ จำเป็นจะต้องลงทุนใน solution ที่เป็น solution เกี่ยวกับ infrastructure network แล้วก็ solution ที่เกี่ยวกับ security จะทำอย่างไรให้เกิดความปลอดภัย นั่นคือการทำงานแบบ new normal
เมื่อไหร่ที่การทำงานแบบ new normal ประสบความสำเร็จ เราจะลดต้นทุนได้เยอะ ไม่ว่าต้นทุนในการเดินทางมาประชุม ต้นทุนในการเช่าสำนักงาน ก็จะทำให้ต้นทุนหลาย ๆ อย่างลดลงได้เหมือนกัน นั่นเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของ security หรือ infrastructure ที่ต้องมาช่วยในการทำงานที่ไหนก็ได้ผ่านเครื่องมืออุปกรณ์อะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเข้ามาที่ออฟฟิศเสมอไป
The People: ช่วงโควิด-19 ลูกค้าให้ช่วยทำ solution แบบไหน
กษิภณ:
ช่วงหลังนี้พอเกิดโควิด-19 ขึ้นมา ลูกค้าจริง ๆ แล้วเขาก็จะมีส่วนที่ต้องทำทันที เขาจะใช้ solution ที่เป็น solution free แต่เขาก็ตระหนักเห็นแล้วว่าอนาคตข้างหน้าจะทำอย่างไรดี จะมีลูกค้าเข้ามาปรึกษาว่าช่วยทำ business process improvement ให้หน่อย ซึ่งคือการรีดีไซน์กระบวนการทำงานแบบใหม่ให้เป็น new normal แล้วจะทำอย่างไรพัฒนากลยุทธ์ทางธุรกิจโดยการออกแบบ business process ใหม่ เพื่อให้เขาสามารถทำงานในยุค new normal ได้ แน่นอนอันแรกเลยคือการทำงานที่ไหนก็ได้ผ่านอุปกรณ์อะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นการอนุมัติใบสั่งซื้อ หรือการอนุมัติใบลา สมัยก่อนเราต้องเข้าออฟฟิศ แต่เดี๋ยวนี้สามารถจะทำผ่านมือถือได้ เขาก็อยากจะให้เราออกแบบ business process ใหม่ ที่สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ผ่านอุปกรณ์อะไรก็ได้ตลอดเวลา
อันที่สอง เขามองว่าทำอย่างไรทำให้เห็น process การทำงานทุกจุด และสามารถทำเป็น automation ได้ จะต้องไม่ใช้แรงงานคน process หรือกระบวนการทำงานที่เป็นกระบวนการซ้ำและเป็นอย่างเดิมไปตลอด เราสามารถจะใช้ซอฟต์แวร์ของ SAP สามารถมาทำเป็น automation ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สองที่เขาอยากจะให้เราออกแบบ
ส่วนที่สาม เขาอยากให้เราออกแบบว่าจะเก็บข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลในองค์กรได้อย่างไร เป็นข้อมูลจากข้างนอกเพื่อให้เขามีข้อมูลจำนวนมหาศาลแล้วก็เป็น big data สามารถเอามาวิเคราะห์ลูกค้าได้อย่างเชิงลึกรายบุคคล ซึ่ง 3 อย่างนี้ที่ทางลูกค้ามาขอให้เราช่วยออกแบบกระบวนการการทำงานใหม่ ตั้งแต่จัดซื้อ จนถึงการออกแบบการวางแผนการผลิต การผลิต การทำ quality control หรือการเก็บของไว้ในคลังสินค้า รวมไปถึงการปิดบัญชี ให้กระบวนการทั้งหมดสามารถสนับสนุน new normal ได้ นี่คือสิ่งที่ลูกค้าเริ่มเข้ามาขอให้เราทำกลยุทธ์แบบ process ใหม่สามารถให้เขาทำงานในยุค new normal ได้
The People: Atos เองต้องปรับตัวด้วยไหม
กษิภณ:
ต้องปรับตัวครับ เราต้องยอมรับว่าในเมืองไทย ทักษะความชำนาญงานในเชิงดิจิทัลอาจจะน้อยกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อเมริกาหรือยุโรป พอโครงการที่เกี่ยวกับดิจิทัลค่อนข้างน้อยก็ขาดการปฏิบัติ บริษัทที่ปรึกษาอย่างเราจำเป็นต้องเป็นบริษัทแรกที่มีองค์ความรู้นี้ การจะมีองค์ความรู้มาจาก 2 อย่าง อย่างแรกคือการเรียนรู้ การเรียนรู้ด้วยตัวเอง หรือได้รับความรู้จากสาขาที่อยู่ในยุโรปหรืออเมริกาที่เขาค่อนข้างมี solution หรือออกแบบพัฒนา solution มานานแล้ว เราก็ conference call ขอถ่ายทอดความรู้ หรือเวลาทำ proposal นำเสนอ ก็ให้เขาบินมาที่ประเทศไทยเพื่อเแชร์ความรู้
นั่นคือการเรียนรู้ แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการปฏิบัติ เราเริ่มมีโครงการในเชิงดิจิทัลจากการทำกลยุทธ์ในเชิง digital แล้วการพัฒนาระบบ digital solution แต่ยังน้อยอยู่ทำให้เราขาดการปฏิบัติ สิ่งที่ Atos จะต้องพยายามปรับตัวก็คือ เราก็มีโครงการแลกเปลี่ยนที่ปรึกษากับสาขาของ Atos ในประเทศยุโรป ยกตัวอย่างเช่น โครงการในยุโรปหรือโครงการในอเมริกาที่เป็นโครงการเกี่ยวกับ digital solution เราจะทำอย่างไรให้ที่ปรึกษาของเราสามารถบินไปทำงานที่นั้น เพื่อเอาความรู้จากการปฏิบัติจริง แล้วกลับมาทำ solution ให้กับลูกค้าในเมืองไทยจริง ๆ ผมมองว่าอีก 1-2 ปี จะเกิดขึ้นค่อนข้างมาก การเตรียมความพร้อมคือ เราจะแลกเปลี่ยนพนักงานเราให้ได้มีโอกาสไปทำงานที่สาขาเฮดควอเตอร์ หรือสาขาในประเทศยุโรปอย่างไร เพื่อให้เราเรียนรู้การออกแบบและพัฒนา digital solution จริง ๆ แล้วสามารถนำกลับมาทำงานได้จริง
ในแง่ทฤษฎีเราเรียนรู้ได้อยู่แล้ว เรามีองค์ความรู้ที่เป็นระบบที่แชร์ใน knowledge management อยู่แล้ว สามารถติดต่อหรือทำ VDO conference กับชาวต่างชาติที่เป็นพนักงาน Atos ในยุโรปที่มีความรู้เรื่องนี้เยอะ เพราะเรามีพนักงานเยอะมากที่ทำเกี่ยวกับ digital strategy กับ digital execution แต่สิ่งที่สำคัญคือการปฏิบัติจริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ Atos พยายามมองว่าจะทำอย่างไรให้สามารถปฏิบัติจริงได้
ส่วนที่สองที่สำคัญ สำหรับยุคดิจิทัลคือเรื่องของ cloud service ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ ที่ผ่านมา Atos มีแหล่งรายได้มาจากการขาย software license การขาย hardware ที่เป็น data center หรือ server การพัฒนาระบบ SAP แต่ถ้าเราย้ายไปอยู่ในยุคของ cloud เราจำเป็นจะต้องให้ลูกค้าใช้บริการ cloud service เราไม่สามารถขาย hardware หรือ server ได้แล้ว แหล่งรายได้จะเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่การขาย software license แล้ว เพราะถ้าเจ้าของ software solution สามารถขาย software as a service คือลูกค้าสามารถใช้บริการจ่ายรายเดือนและสามารถใช้ license หรือมี server ได้เลย แหล่งรายได้นี้จะเริ่มหายไปจากบริษัทที่ปรึกษา
ดังนั้น Atos จำเป็นต้องเปลี่ยน business model คิดถึงแหล่งรายได้ใหม่ที่เป็น source of revenue จาก digital era หรือ digital platform เราจะต้องเปลี่ยนแปลงตรงนั้นด้วยเหมือนกัน จะมีอยู่ 2 อย่างที่ Atos ต้องปรับตัว สิ่งแรกคือ skill set หรือทักษะความชำนาญของพนักงานเอง อันที่สองก็คือเราจะต้องเปลี่ยน business model ให้เราสามารถข้ามผ่านยุคดิจิทัลนี้ไปได้ 2 อย่างนี้ที่เรากำลังมองว่าจะปรับตัวอย่างไร
The People: Solution ของ Atos จะช่วยเปลี่ยนโลกนี้ในอนาคตอย่างไร
กษิภณ: ผมว่าเราจะช่วยให้บริษัทที่เป็นลูกค้าของเราสามารถทำงานได้เร็วขึ้น เพราะว่าการที่เราออกแบบกระบวนการการทำงานที่ดี ยกตัวอย่างเรื่อง automation หรือในแง่ของ big data analytic จะมี software solution หรือจะเรียกว่า robot ก็ได้ ที่ช่วยในการวิเคราะห์ตัดสินใจ จากสมัยก่อนเราต้องมาทำงานคิดคำนวณตัวเลขกันเอง ทำให้ใช้เวลาค่อนข้างมากกับ admin work ถ้าเราสามารถใช้ซอฟต์แวร์ robot ในการช่วยเหลือ ก็จะช่วยให้ลูกค้าหรือพนักงานมีเวลามากขึ้น ไปใช้เวลาในการตัดสินใจข้อมูลที่ได้มาจากการวิเคราะห์โดยใช้ software solution หรือการใช้แชทบอทที่ทุกวันนี้เราก็ไม่จำเป็นจะต้องมีพนักงานต้อนรับสายแล้ว เพราะเราสามารถใช้แชทบอทที่เข้าใจสิ่งที่ลูกค้าพูด หรือส่งข้อความมาบ่นหรือไม่พอใจอะไรก็ตาม แชทบอทสามารถตอบคำถามได้
หรือว่าในการขายของ วันนี้มีแชทบอทที่เป็นซอฟต์แวร์ SAP เราให้ลูกค้าเข้าไปที่ออนไลน์ แล้วคีย์เลยว่าอยากเห็นรูปสินค้านี้ราคาเท่าไหร่ แล้วแชทบอทจะให้ดูรูปสินค้านั้นผ่านทางคอมพิวเตอร์พร้อมราคาด้วย ไม่จำเป็นจะต้องมีเซลส์แล้ว สามารถใช้แชทบอทตอบสนองได้เลย ดังนั้นความต้องการลูกค้าในยุคดิจิทัลจะมีความหลากหลายมาก ๆ ในอดีตลูกค้าจะมีกลุ่มความต้องการไม่กี่แบบ วันนี้ยุคดิจิทัลมีคน 70 ล้านคน ก็จะมีความต้องการ 70 ล้านแบบ เพราะเขามองว่าเทคโนโลยีสามารถสนับสนุนได้ เขามองว่าไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าใจพฤติกรรมของเขา ความคาดหวังเขาก็จะสูงขึ้น
ในมุมของการช่วยเหลือบริษัทลูกค้าเราเช่นเดียวกัน เราจะได้ข้อมูลเหล่านี้มาจากการวิเคราะห์โดยใช้ software solution แล้วใช้ automation ในการยิงโปรโมชันไปยังกลุ่มลูกค้าคนนั้นเลย ไม่จำเป็นจะต้องมาคิดว่าโปรโมชันเองแล้ว เพราะว่า robot หรือ automation ทำให้อัตโนมัติ ผมเลยมั่นใจว่าพนักงานบริษัทที่เป็นลูกค้าเราจะมีเวลามากขึ้นเพราะว่าเขามี robot ช่วยในการวิเคราะห์ตัดสินใจ ทำให้เขาได้ใช้เวลาในการทำเรื่องกลยุทธ์มากขึ้น แทนมาทำงานที่เป็นแอดมิน สิ่งนี้ผมว่าสำคัญ
แล้วสิ่งที่สองคือว่า เมื่อความต้องการมีมากขึ้นในมุมดิจิทัลแล้วทุกคนมองว่าเทคโนโลยีค่อนข้างทันสมัย ต้องเข้าใจว่าตัวเขาอยากได้อะไร ตรงนี้แหละจะทำให้เราสามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าที่ซับซ้อนมากขึ้นในยุคอนาคตได้ ช่วยทำให้ยอดขายของบริษัทลูกค้าเรามากขึ้นตามไปด้วย ผมมองว่า solution ของ Atos สามารถช่วยตอบสนองได้แน่นอนในยุคเกิดขึ้นในอนาคต
The People: ทำไมเลือกเป็น intrepreneur แทนเป็น entrepreneur
กษิภณ:
จริง ๆ แล้วตอนเรียนปริญญาโท เรียนทางด้านบริหารธุรกิจ อาจารย์ก็จะมีความคาดหวังเสมอว่าเราต้องเป็น entrepreneur ทุกวันนี้ผมสอนเด็กปริญญาโทในมหาวิทยาลัยหลายที่ผมก็บอกเด็กเหมือนกันว่าคุณต้องเป็น entrepreneur แต่ผมมองว่าในชีวิตจริง การที่เป็น intrepreneur หรือการทำงานให้กับบริษัท ก็ไม่ได้ต่างจากการเป็น entrepreneur เพราะวันนี้เราทำให้บริษัทต่างชาติ เราเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ มันไม่ต่างจากการที่เราทำบริษัทตัวเองเลย ผมไม่ได้รู้สึกว่าไม่ใช่เป็นบริษัทของผม เพราะในแง่ของความรู้สึกและความรับผิดชอบ เราจะคิดเสมอว่านี่คือบริษัทของเรา เราต้องรับผิดชอบ แล้วทำไมเราไม่อยากเป็น entrepreneur เพราะเรารู้สึกว่าการที่เราได้ทำงานบริษัทนานาชาติมันทำให้เราสามารถได้ความรู้ที่ถ่ายทอดมาจากสาขาในประเทศที่พัฒนาแล้ว มากหรือเร็วกว่าในการที่เราจะไปเปิดธุรกิจเองเล็ก ๆ แล้วเป็นบริษัทประเทศไทย เพราะวันนี้ยุคนี้เป็นยุค globalization มันเป็นยุคที่ความรู้มันมีมากมายมหาศาล และเวลาทำงานบริษัทที่เป็นบริษัทต่างชาติต้องยอมรับว่าความรู้ที่เราได้ค่อนข้างทางสมัยและรวดเร็วกว่า
อีกสิ่งที่ผมมี passion คือการที่ต้องไปสอนหนังสือ เพราะว่ามีความตั้งใจตั้งแต่ได้ทุนไปเรียนต่อที่ต่างประเทศแล้วว่า จบมาแล้วจะทำอะไรให้กับประเทศไทย การที่เราจะทำอะไรให้กับประเทศไทยคือ การที่เราจะสร้างคน สำคัญที่สุดคือการสร้างคน หลาย ๆ ครั้งที่เรารู้สึกว่าเรามีโอกาสไปเรียนที่ต่างประเทศ เรามองว่าคนไทย นักศึกษาไทยเก่ง ต้องยอมรับว่าเก่งมากไม่แพ้ต่างชาติ ไปเรียนที่นู่นก็อยู่อันดับต้น ๆ แต่สิ่งที่เราอาจจะเสียเปรียบคือว่า เราจะทำอย่างไรให้อาจารย์หรือคนที่สอนสามารถถ่ายทอดความรู้ที่ทันสมัยได้ การมีความรู้ทันสมัยได้ต้องเคยปฏิบัติจริง จะต้องอยู่ในสายเลือด ดังนั้นการมาทํางานบริษัทต่างประเทศ ผมได้ความรู้ตรงนี้ ต้องยอมรับว่าได้มามากและทันสมัย ดังนั้นการที่เราได้ความรู้ที่มากและทันสมัยจากการทำงานในบริษัทต่างชาติอย่างนี้ เราสามารถเอาความรู้นั้นไปถ่ายทอดให้กับนักศึกษาปริญญาโททางด้านบริหารธุรกิจที่เขาอยากจะจบมาแล้วอยากจะเป็น entrepreneur หรือบางคนอาจจะอยากจะเป็นเหมือนผม เป็นผู้บริหารในบริษัทใหญ่ ๆ ผมมองว่าผมได้ความรู้นี้มาจากการที่ทำงานให้กับบริษัทต่างชาติ แล้วเอาความรู้นี้ไปถ่ายทอดให้กับนักศึกษาอีกทีหนึ่ง
ดังนั้นมันก็เลยกลายเป็น passion ที่มันไม่ได้เกิดจากการมีบริษัทของตัวเองขึ้นมา แต่ passion ที่เกิดจากว่าเราจะทำอย่างไรที่เราจะสามารถได้ความรู้ที่มันทันสมัยและรวดเร็วกว่าคนอื่น และเอาความรู้เหล่านั้นที่ได้ขึ้นมาไปช่วยเหลือลูกค้าเราด้วย ในแง่ของการนำเสนอสิ่งดี ๆ ให้ลูกค้า ทำอย่างไรให้ลูกค้าดำเนินธุรกิจได้เจริญก้าวหน้าเติบโตเร็วขึ้น และสุดท้ายแล้วคือการสร้างคน สร้างคนไทยให้มีความรู้ไม่แพ้ต่างชาติ แล้วก็สามารถจบไปเป็นบุคลากรที่เป็นประโยชน์และเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้ประเทศไทยเราเจริญขึ้น นั่นคือสิ่งที่ผมคิด เลยมองว่าการมาทำงานบริษัท หรือเป็น intrepreneur เป็นสิ่งที่ผมน่าจะเหมาะสม และน่าจะช่วยเหลือประเทศไทยได้มากกว่า
The People: เป็นเหตุผลที่ใช้เวลาว่างที่มีมาเป็นอาจารย์?
กษิภณ:
ใช่ครับ นี่คือเหตุผลหลัก เพราะตั้งใจไว้แล้วว่าเราทำอย่างไรเพื่อคืนความรู้สู่สังคม ก็เลยใช้วันเสาร์ อาทิตย์เป็นอาจารย์ เลือกสอนมหาวิทยาลัยที่ไม่ได้อยู่ในกรุงเทพฯ เป็นหลัก เพราะมองว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่อาจจะขาดโอกาสมากกว่า ได้อาจารย์ที่มีประสบการณ์จริงในการสอน ตอนนี้ที่ไปสอนหลัก ๆ มี 2 ที่ ที่แรกคือ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงที่เชียงราย แล้วก็มีมหาวิทยาลัยบูรพา ที่อยู่ที่บางแสนใช้เวลาเสาร์ อาทิตย์ไปสอนมหาวิทยาลัย ปริญญาโททางด้านบริหารธุรกิจ MBA ก็ทำมา 7 ปีแล้วถึงวันนี้
ทำให้ไม่ค่อยมีเวลาว่างเลย แต่จะมีช่วงปิดเทอมซึ่งก็น้อยมาก ถ้าเกิดว่างช่วงปิดเทอมจะไปเขียนงานวิจัยตีพิมพ์ เพราะว่าการเป็นอาจารย์ปริญญาโทต้องมี article ตีพิมพ์ ต้องทำวิจัยแล้วก็เขียนบทความวิชาการ ซึ่งวิชาที่สอนเป็นวิชาด้าน digital transformation strategy ก็เป็นกลยุทธ์ในเชิงดิจิทัลก็เลยจะต้องเขียนบทความด้านวิชาการเรื่องนี้ ทำวิจัยแล้วก็เขียนบทความตีพิมพ์ article ตีพิมพ์แมกกาซีนต่าง ๆ ก็จะใช้เวลาในวันเสาร์ อาทิตย์ที่เป็นช่วงปิดเทอม แต่ช่วงเปิดเทอมก็ต้องสอนหนังสือวันเสาร์-อาทิตย์
ผมมองว่าคำว่า work life balance ไม่ใช่ว่าเราต้องมีเวลาว่าง ๆ แต่ผมมองว่าเรามีเวลาทำในสิ่งที่เรามีความสุข แต่ถามว่าบริหารเวลาเราทำได้ดีที่สุดไหม ต้องยอมรับว่าทำได้ไม่ดีที่สุด เพราะว่าทำงานหนัก (หัวเราะ) ส่วนมากโน้ตบุ๊กจะไม่ได้ปิดเลย ก็อยู่ข้าง ๆ ตัวเอง อย่างเมื่อก่อนนี้ยังทำงานตี 3 ตี 4 ตอนนี้ก็พยายามจำกัดตัวเองเป็นเที่ยงคืนแล้วเพราะว่าเราทำงานถึงตี 4 ตี 5 มาตั้งแต่อายุ 26 (หัวเราะ) แล้วช่วงนี้ก็รู้สึกว่าพอเราอายุมากขึ้นมันเริ่มจะไม่เหมือนเดิมแล้วความแข็งแรง เราก็พยายามนอนให้ได้เที่ยงคืนแล้วก็ตื่น 6 โมงเช้า
การบริหารจัดการเวลายังทำได้ไม่ค่อยดี เพราะงานเยอะ แล้วก็มีเตรียมสอนอีก เพราะทุก ๆ ปีเราก็ต้องเปลี่ยนแปลง material การสอนให้มันทันสมัยขึ้นเรื่อย ๆ แล้วก็ต้องมีการทำเอกสารใหม่ หรือมีการเตรียมสอน ซ้อมสอนอะไรอย่างนี้ แล้วก็ช่วงนี้ยิ่งเป็นช่วงที่เป็นโควิด-19 เขาสอนออนไลน์กันเทอมนี้ ก็ต้องสอนแบบออนไลน์ สอนแบบออนไลน์ก็จะหนักกว่าสอนตัวต่อตัวนะ เพราะว่าสอนออนไลน์เวลาเราพูดมันไม่สามารถจะเกิดกิจกรรมกลุ่มได้ เวลาเราสอน MBA เราต้องมีกิจกรรมกลุ่มที่ให้คิดร่วมกันว่า จะทำธุรกิจอย่างไร จะมีแพลตฟอร์มในยุคดิจิทัลอย่างไร แต่พอเราสอนออนไลน์มันทำกิจกรรมกลุ่มไม่ได้แล้ว ดังนั้นมันก็จะรู้สึกว่าหนักกว่าเดิม เพราะต้องพูดตลอดเวลา (หัวเราะ) พูดวันหนึ่ง 9 ชั่วโมง พูดต่อเนื่องเลย ก็รู้สึกว่าสอนแบบ new normal จะรู้สึกหนักกว่าการได้ไปสอนจริง นั่นคือการบริหารจัดการเวลา ผมมองว่าถ้าทำในสิ่งที่มีความสุขมันก็คือไม่เป็นไร
The People: มาเป็นอาจารย์ได้อย่างไร
กษิภณ:
ผมต้องขอบคุณเพื่อนที่เรียนปริญญาเอกมาด้วยกัน ตอนที่เราเรียนปริญญาเอก เราก็มีความมุ่งมั่นและเราก็มีความตั้งใจมาก เป็นคนที่เวลาได้ assignment จากอาจารย์จะเป็นคนตั้งใจทำมาก ทำออกมาแล้วต้องคุณภาพดี เป็นคนที่รู้สึกว่าต้องทุ่มเทกับมัน สิ่งเหล่านี้แหละที่ทำให้นักศึกษาปริญญาเอกที่เป็นเพื่อนร่วมห้อง ที่เป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เขาเห็นตรงนั้น เขาก็รู้สึกว่าถ้าเราได้มาช่วยสังคมได้มาช่วยสอนที่มหาวิทยาลัยที่เขาเป็นอาจารย์ประจำอยู่คงจะดี เพราะว่าเขาก็อยากจะได้อาจารย์ที่ไม่ใช่มีแค่วิชาการแต่มีประสบการณ์จริงด้วย ทำให้เพื่อนที่เรียนปริญญาเอกด้วยกันที่เป็นอาจารย์อยู่แล้ว ชวนเชิญไปเป็นอาจารย์ ช่วงแรก ๆ ก็ไปเป็นอาจารย์พิเศษ สร้างแรงบันดาลใจก่อน ช่วงแรกก็ให้ขึ้นเวทีสร้างแรงบันดาลใจกับนักศึกษาปริญญาโทที่เข้ามาใหม่ให้เกิดแรงบันดาลใจว่าต้องเรียนให้จบและประโยชน์ของมันคืออะไร หลังจากนั้นแล้วเขาก็ให้ไปเป็นอาจารย์พิเศษแต่สอนประจำวิชาเลย เริ่มที 1 วิชา ตอนนี้ก็จะมี 2-3 วิชา ก็ต้องขอบคุณเพื่อนที่เป็นอาจารย์ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่เห็นความสามารถ แล้วก็อยากจะให้เราไปเป็นอาจารย์แล้วก็ช่วยสอนนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยของเขา นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราไปสอน
พอหลังจากนั้นเราก็จะเริ่มเป็นที่รู้จัก พอเป็นที่รู้จักแล้วเราก็จะไปเป็นอาจารย์พิเศษให้กับผู้บริหารตามบริษัทหรือโรงงานต่าง ๆ แถวชลบุรี ผมก็จะไปสอนเกี่ยวกับการบริหารจัดการนวัตกรรมใหม่ การคิดสินค้าใหม่ ๆ หรือกระบวนการทำงานใหม่ ๆ ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ก็จะได้สอนพิเศษด้วย สอนผู้บริหารระดับกลางถึงระดับสูงให้กับหลาย ๆ องค์กรที่เป็นบริษัทเอกชน
The People: เรื่องที่เป็นความภาคภูมิใจของการเป็นอาจารย์
กษิภณ:
ผมเป็นคนที่มี passion เยอะ ก็เลยเกิดความคาดหวังสูง พอเวลาเราไปสอนแล้วก็จะคาดหวังกับนักศึกษาสูงกว่าปกติ โดยที่เราเห็นศักยภาพคนไทยโดยเฉพาะผู้บริหารที่มาเรียน MBA ดี แต่สิ่งที่เราขาดคือว่าคนไทยไม่ค่อยพูด ก็จะทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องการจะเปลี่ยน ก็จะมองเสมอว่าใครจบคลาสผมจะต้องเปลี่ยนเป็นคนที่คิดแบบมีตรรกะ แล้วก็พูดแบบมีเหตุผล โชว์ศักยภาพ ความสามารถ ความฉลาด แล้วก็ความเข้าใจในเนื้อหาที่พูดสำคัญมาก ดังนั้นสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เรามีความคาดหวังสูงกับนักศึกษา ดังนั้นก็ประสบความสำเร็จบ้างสำหรับนักศึกษาบางท่านที่เปลี่ยนแปลง แต่ส่วนใหญ่ก็ยังเงียบอยู่ แต่เราก็ใช้วิธีการให้คะแนน เช่นว่าถ้า 100 คะแนน 20 คะแนนจะให้กับคนที่ participate ออกไอเดียแล้วก็ระดมความคิด แล้วก็พูดแบบมีตรรกะ อันนี้เราพยายามจะผลักดันให้เกิดสิ่งนี้ทำให้นักศึกษาอยากจะพูด เพราะว่า 20 คะแนนมันถือว่าจาก C มาเป็น A ได้เลย ก็พยายามเปลี่ยนจากพฤติกรรมนักศึกษาให้เป็นอย่างนั้น แล้วก็สำเร็จบ้างกับบางนักศึกษา บางกลุ่มที่เขาเกิดความกดดัน เขาก็พยายามพูด เพราะว่าเราผ่านชีวิตนี้มาตอนเราไปเรียนปริญญาโทที่ต่างประเทศแล้ว แล้วก็จบวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่ประเทศไทย ปกติเป็นคนไม่พูด ไม่ชอบพูดเลย คุยกับคอมพิวเตอร์ ไม่ชอบคุยกับใคร พอเราไปอยู่ต่างประเทศแล้ว เราเจอความกดดัน เพราะว่ามหาวิทยาลัยที่นั้นเขาบอกว่าถ้าไม่พูดคะแนนจะหายไปประมาณ 60% เลยทีเดียว เขากดดันให้พูด กว่าจะใช้เวลาประมาณเทอมหนึ่ง 4 เดือน เปลี่ยนจากคนที่ไม่พูดเลยกลายเป็นคนตอนนี้พูดได้ (หัวเราะ) พูดเยอะ ก็เพราะว่าเราถูกกดดันให้เราเปลี่ยนตัวเอง
ก็จะบอกนักศึกษาเสมอว่าคนเกิดมา 2 แบบ คนแรกคือมีพรสวรรค์ แต่คนกลุ่มที่ 2 คือมีพรแสวง ทุก ๆ คนไม่ต้องกังวลว่าเกิดมาเป็นคนพูดไม่เก่ง แต่ชีวิตจริงแล้วถ้าเรามีพรแสวงเราตั้งใจ เราซ้อมมากกว่าคนอื่น เราพัฒนาเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ นั่นคือสิ่งที่พยายามจะเปลี่ยน เวลาเรียนก็จะให้ข้อสอบค่อนข้างยาก พยายามให้นักศึกษามีทดสอบย่อยทุกอาทิตย์ ก็หนักสำหรับนักศึกษา แต่เรามองว่าคนไทยขาดการเขียนด้วย เราต้องยอมรับว่าเราไม่ชอบอ่านแล้วก็ไม่ชอบเขียน ดังนั้นอยากจะเปลี่ยนพฤติกรรมนี้ เราจะให้นักศึกษาสอบทุกอาทิตย์ จะได้เห็นว่าแต่ละคนเขียนเก่งไหม มีตรรกะหรือทักษะการเขียนโครง การสร้างโครงเรื่องราวเขียนถูกต้องไหม แล้วจะได้สอนเขาตัวต่อตัว ผมจะให้นักศึกษาส่งงาน แล้วผมก็จะคอมเมนต์หรือฟีดแบ็กตัวต่อตัวเลย ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลง หลังจากที่สอนจบแล้วเทอมหนึ่งคนที่เขียนไม่เป็นเลยกลายเป็นเขียนอย่างมีตรรกะและมีโครงสร้าง ซึ่งก็ทำให้เราภูมิใจ ผมว่าสิ่งที่สำคัญคนที่เป็นอาจารย์คือความภูมิใจในความสำเร็จของลูกศิษย์
ลูกศิษย์จะมีหลายแบบนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยบูรพา ส่วนมากจะเป็นคนทำงาน เป็นผู้บริหารของบริษัทในแถบชลบุรี แต่ถ้าเป็นนักศึกษาแม่ฟ้าหลวง ส่วนมากจะเป็นลูกของเจ้าของกิจการ ส่วนนักศึกษาปริญญาโทของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงส่วนมากแล้วจะจบมาเป็นเจ้าของกิจการ ดังนั้นความคาดหวังของ 2 มหาวิทยาลัยไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เราพยายามจะสอนว่า innovation นวัตกรรมเราคิดกันอย่างไร เพราะว่าเขาจบต้องเปิดธุรกิจ ดังนั้นเวลาเขาเปิดธุรกิจ วันนี้ธุรกิจที่สำคัญที่สุดคือธุรกิจที่สามารถทำเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพราะว่าเราเข้าสู่ยุคของเทคโนโลยี breakthrough เราก็จะสอนให้เขาคิดว่าควรจะทำธุรกิจอะไร แล้วก็ควรจะมี business model อย่างไรทำให้เขาสามารถประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ
แต่ถ้าเราไปสอนมหาวิทยาลัยบูรพา จะเน้นการจบไปแล้วไปเป็นผู้บริหารในบริษัทญี่ปุ่นหรือบริษัทอเมริกันที่อยู่แถวชลบุรี เขาจะเป็นผู้บริหารที่ดีได้อย่างไร เขาจะมีกระบวนการบริหารจัดการธุรกิจแบบไหน จะเป็นคนละแบบ ดังนั้นความภาคภูมิใจก็จะเป็นคนละทาง ทางมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงคือว่า ถ้าจบมาทำธุรกิจประสบความสำเร็จเราดีใจ ก็จะมีลูกศิษย์ที่ทำไอศกรีม ลูกศิษย์ที่ทำแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ในการช่วยเกษตรกรแถวเชียงรายที่ปลูกสับปะรด จะทำอย่างไรให้สับปะรดเขามีมูลค่า มีการทำ branding อย่างไรให้เขาสามารถทำให้รายได้เพิ่มมากขึ้นได้ เป็นความภูมิใจช่วยให้นักศึกษาที่จบปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จบมาแล้วเป็น entrepreneurship ที่เป็นสไตล์ social entrepreneur คือเป็นนักธุรกิจที่ช่วยสังคม
ส่วนที่บูรพาจะเป็นลักษณะของการเป็นผู้บริหารที่ดี ก็จะเป็นคนละแบบ แล้วก็จะมีความภูมิใจ 2 แบบ ซึ่งเป็นสิ่งที่คิดว่าอาจารย์ทุกคนมีจุดมุ่งหมายอย่างนั้น เหนื่อยไม่เป็นไร แต่ถ้าเกิดทำให้นักศึกษาเราปรับปรุงตัวเองและมีพัฒนาการจะดีใจมากเลย จบคลาสจะยิ้มเลยถ้าใครที่มีแววแล้วเราส่งเข้าไปถึงจุดที่เขาเขียนได้ดีขึ้นมาก ๆ วิเคราะห์อะไรได้ เราจะรู้สึกภูมิใจ นั่นคือความภูมิใจของความเป็นอาจารย์ เหนื่อยแค่ไหนก็จะมีความสุขตลอดถ้าได้สอน (หัวเราะ)
The People: นอกจากการเป็นอาจารย์ ยังใช้ความรู้ไปช่วยสังคมอย่างไร
กษิภณ:
ส่วนมากแล้วเราช่วยครับ เพราะมันจะมีโครงการหนึ่งที่เชียงรายที่เขาเรียกว่าโครงการที่ได้งบจากรัฐบาล รัฐบาลให้งบในการสอนผู้ประกอบการในพื้นที่ เราก็เข้าไปสอน เขามั่นใจว่า digital era หรือเทคโนโลยีในเชิงดิจิทัล มันจะสามารถทำให้ธุรกิจบางธุรกิจล้มหายตายจากไป ถ้าเราจำได้ในยุคอดีตที่หลาย ๆ ธุรกิจล้มหายตายจากไป เขาก็มีงบประมาณให้กับมหาวิทยาลัย ให้เปิดสอนผู้ประกอบการรายย่อยที่เชียงราย ส่วนมากจะเป็นผู้ประกอบการที่มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการที่แปรรูปยางพารา หรือผู้ประกอบการที่แปรรูปผลไม้อบแห้ง เช่น ลำไยอบแห้ง สตรอว์เบอร์รีอบแห้ง หรือผู้ประกอบการที่มีชื่อเสียงมากในการทำไอศกรีมรสต่าง ๆ ที่ค่อนข้างเป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ เขาให้ไปสอนผู้ประกอบการเหล่านี้
ซึ่งสอนอย่างไรให้เขาสามารถตระหนักถึงดิจิทัล และเขาสามารถรู้ว่าเทคโนโลยีที่เข้ามาใหม่ จะเอามาช่วยให้การดำเนินธุรกิจในเชิงที่เป็นธุรกิจพื้นที่แข่งขันกับธุรกิจต่างชาติอย่างไร นี่คือสิ่งที่เราทำด้วย ก็ไม่ใช่แค่สอนนักศึกษาเท่านั้น เราก็จะสอนผู้ประกอบการรายย่อยที่หลาย ๆ คนก็ไม่ได้เรียนสูง แต่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ แต่พอถึงยุคดิจิทัลเขาก็จะเริ่มต้องการความรู้แล้ว เพราะในยุคดิจิทัลผู้ประกอบการทำให้ประสบความสำเร็จได้ต้องมีความรู้ด้วย แล้วความรู้ไอทีสำคัญมาก ซึ่งคนส่วนน้อยที่เป็นผู้ประกอบการในพื้นที่ในอดีตที่วันนี้เติบโตจะมีความรู้ในเชิงไอทีหรือความรู้ในเชิงดิจิทัล สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำด้วย ก็ไปสอนโดยที่เรามีงบประมาณของเขตท้องถิ่นที่เขาให้งบประมาณมา แล้วก็ไปบอกผู้ประกอบการต่าง ๆ เหล่านี้ อันนี้คือสิ่งที่ทำนอกจากการเป็นอาจารย์
แล้วพอเราไปสอนเขาก็มีปรึกษาหารือเรา เราก็ให้เบอร์ติดต่อ ให้อีเมลเขาก็ติดต่อสื่อสารมาว่าจะทำอย่างไร เราก็ให้คำปรึกษาต่อไปเรื่อย ๆ นั่นคือสิ่งที่ทำ แล้วก็คิดว่านอกจากการสอนแล้วเรายังได้ไปช่วยผู้ประกอบการในพื้นที่ด้วยว่าทำอย่างไรให้เขาดำเนินธุรกิจได้อย่างดีขึ้น บางครั้งรายได้ที่ได้มาก็เอาไปบริจาคเด็กกำพร้าบ้าง ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ก็ช่วยคนนู้นคนนี้บ้าง รายได้ที่ได้มาเราก็บริจาคไปบ้างถ้าเราสามารถทำได้ ที่เราเก็บรวบรวมมาและบริจาค อันนั้นคือสิ่งที่เรากระทำเหมือนกัน คือการช่วยเหลือคนอื่น
The People: อยากให้คนรู้จักในฐานะอะไร
กษิภณ:
จริง ๆ ตั้งแต่จบมาแล้วมาทำงาน เวลาที่ทุกคนมองเราจะรู้สึกว่าเป็นนักวิชาการแล้วเป็นคนที่มีความรู้ ดังนั้นสิ่งที่เราอยากให้ทุกคนมองเราก็คือว่า เราอยากจะให้มองเราเป็นผู้เชี่ยวชาญ แล้วก็เป็นนักวิชาการในเชิงของดิจิทัลเทคโนโลยี เพราะผมมองว่าเป็นสิ่งใหม่ แล้วเป็นความต้องการของผู้ประกอบการในประเทศไทย เลยอยากจะให้เขามองเราในมุมของผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลเทคโนโลยี สามารถช่วยองค์กรต่าง ๆ ในประเทศไทยให้สามารถเพิ่มศักยภาพแข่งขันกับองค์กรนานาชาติได้ อยากจะให้มีมุมมองอย่างนี้
The People: มองชีวิตในอีก 10 ปีข้างหน้าอย่างไร
กษิภณ:
จริง ๆ แล้วเป็นคนที่รักการทำงานมาก ก็คิดว่าตอนนี้ต้องขอบคุณรัฐบาลที่ให้เกษียณตอนอายุ 60 (หัวเราะ) เราก็รู้สึกว่าอายุ 70 เราก็น่าจะทำงานได้นะ แต่ก็รู้สึกว่าน่าจะทำงานจนเกษียณอายุ 60 แล้วหลังจากนั้นจะเป็นอาจารย์เต็มตัว คิดว่าหลังจาก 60 จะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการสอนหนังสือ คิดว่าจะสอนนักศึกษาปริญญาโท MBA ก็อาจจะมีเวลามากขึ้น อยากจะสอนหลาย ๆ มหาวิทยาลัยมากขึ้น คิดว่าอาจจะใช้ชีวิตหลังจาก 10 ปีนี้ คือคงจะย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด แต่คงจะไม่ได้อยู่คงที่จังหวัดหนึ่ง เพราะว่าเทอมไหนที่สอนมหาวิทยาลัยจังหวัดไหน ก็ควรจะย้ายไปอยู่ที่ตรงนั้น ใช้เวลาได้เป็นอาจารย์เต็มตัว อันนี้เป็นสิ่งที่คิดไว้นะครับ หลังจาก 10 ปีก็จะอยากจะออกมาเป็นอาจารย์
The People: ทำอย่างไรถึงมีความสุขกับสิ่งที่เป็นในปัจจุบัน
กษิภณ:
วันนี้ถามว่ามีความสุขไหม พอดีเป็นคนที่มีความสุขกับสิ่งที่ทำ บางครั้งมีหมดแรงบ้างเหมือนกัน แต่ก็จะใช้เวลาแค่คืนเดียวในการกระตุ้นตัวเองให้มีแรงขึ้นมาใหม่ ดังนั้นก็เลยคิดว่าวันนี้ก็มีความสุขในสิ่งที่เราทำ แต่ความสุขที่มีมากกว่าคือการที่เราได้ไปสอนหนังสือนี่แหละ ถึงจะเหนื่อยแต่มันเป็น passion ที่อยากช่วยสังคมแล้วรู้สึกว่ามีความสุข ได้เห็นนักศึกษามีความรู้แล้วขอบคุณเรา หรือเติบโตไปทำธุรกิจแล้วประสบความสำเร็จจะดีใจมาก นั่นคือสิ่งที่เราเป็น การที่เราได้ไปช่วยไม่ว่าจะเป็นพัฒนาธุรกิจกลยุทธ์ธุรกิจให้กับลูกค้า หรือการพัฒนาระบบให้ลูกค้าทำงานได้ดีขึ้น เวลาลูกค้าพึงพอใจ หรือลูกค้ารู้สึกว่าทำแล้วดีเราก็มีความสุข นั่นคือสิ่งที่เราคิดว่ามันก็เป็นความสุขอีกอย่างหนึ่งที่ได้เข้ามาตรงนี้ ตอนนี้ก็ภูมิใจกับแล้วก็มีความสุขกับมัน
จริง ๆ แล้วเป็นคนที่มีความทะเยอทะยานสูง (หัวเราะ) ตั้งแต่เรียนมาต้องได้ที่ 1 ต้องยอมรับว่าในอดีตเรากดดันตัวเองมาก เพราะว่าคุณพ่อสอนมาว่าต้องได้ที่ 1 ตั้งแต่เรียนป.1 มาแล้ว ก็ทำให้เราถูกปลูกฝังมา พอไปเรียนก็ต้องเรียนหนัก พอไปทำงานเราก็ต้องทำงานหนักเพื่อให้เราทำได้ดีที่สุด ดังนั้นในอดีตต้องยอมรับว่ามีความกดดันกับความสุข เพราะว่าเคยจำได้ว่าตอนไปเรียนต่างประเทศครั้งแรก เป็นครั้งแรกในชีวิตที่ไม่ได้ที่ 1 เพราะภาษาอังกฤษตอนนั้นเราก็สู้เขาไม่ได้ น่าจะได้ที่ 10 จำได้ว่าร้องไห้เป็นอาทิตย์เลย เพราะรู้สึกว่าชีวิตตัวเองไม่เคยล้มเหลวขนาดนั้น (หัวเราะ) แต่วันนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือทำอย่างไรให้เราพอใจในสิ่งที่เรามี เราก็ยังมีความรู้สึกเหมือนเดิมว่าจะทำอะไรก็ต้องทำให้ดีที่สุด แต่เวลาที่เราผิดหวังมีบ้างที่ต้องล้มเหลว คนเราไม่สามารถสำเร็จได้ตลอดเวลา แต่เวลาที่ล้มเหลวเราจะทำอย่างไรที่จะบริหารจัดการความรู้สึกล้มเหลวได้ เราจะทำอย่างไรให้เราลืมสิ่งที่มันพลาดไปแล้วกลับมาแก้ไขให้มันดีขึ้น สิ่งนี้ผมมองว่าคนทำได้ยาก
ผมพยายามบริหารความเครียด ความเครียดจะเยอะถ้าเราล้มเหลว หลาย ๆ ครั้งที่เราไม่ได้สิ่งที่เราคิดว่าเราควรจะทำให้ได้ เราต้องบริหารความเครียดให้ได้ มาอยู่ที่ Atos ต้องยอมรับว่าเราก็อยากจะทำดีที่สุด เราอยากจะเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่ทำให้ Atos ประเทศไทยเติบโตสูงสุดในแถบนี้ ก็อยากจะขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง มันเป็นความคิดที่อยากจะทำ บางปีเราก็ทำสำเร็จ แต่ถ้าปีไหนที่รู้สึกว่าไม่ควรจะพลาดแล้วมันพลาด ก็จะขอโทษเจ้านายเสมอเลย เพราะว่าจะสัญญาเจ้านายว่าเราทำได้ แต่ทำอย่างไรเราถึงจะยอมรับสิ่งนี้ ผมว่าเราจำเป็นต้องบริหารความเครียดให้ได้ แล้วเราต้องยอมรับในสิ่งที่ล้มเหลวบ้าง แต่อย่าท้อแท้ ยอมรับได้แต่ไม่ท้อแท้ ก็ต้องให้เวลากับเรา
แต่ผมโชคดีที่มีเวลา 1 วันยอมที่จะเศร้า สิ้นหวัง แล้วก็กลับมาเป็นเหมือนเดิม จะใช้เวลาแค่ 1 วัน แล้วก็จะลืมสิ่งที่มันผิดพลาดไป แล้วก็ปรับปรุงตัวเองใหม่ สู้ใหม่ ผมว่าสำคัญที่สุด อย่าอยู่กับความทุกข์หรือความล้มเหลวนานเกินไป นั่นคือสิ่งที่ต้องบริหารจัดการความรู้สึกตัวเองให้ได้
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3556
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6975
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
871
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ThePeople
Business
ATOS
DigitalTransformation
KasiphonAphimukkhunanon
NewNormal
กษิภณอภิมุขคุณานนท์