read
social
13 มิ.ย. 2563 | 12:36 น.
ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง: ความศรัทธา ประวัติศาสตร์ ไม่อาจต้านความเปลี่ยนแปลง
Play
Loading...
สามย่านเป็นทำเลที่มีความต้องการเพื่อใช้เป็นที่พักอาศัยเป็นอย่างสูง จากที่เคยเห็นเป็นตึกแถวที่พักและร้านค้า ก็ถูกรื้อถอนเพื่อสร้างคอนโดมิเนียม การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในแนวตั้งที่จะสามารถหาลูกค้าจำนวนมากกว่าการให้เช่าตึกแถวหลายเท่า (และแม้จะเป็นคอนโดฯ แต่ผู้พัฒนาย่านนี้ก็ไม่คิดจะขายขาด)
ตอนนี้พื้นที่บริเวณระหว่าง อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับกับตลาดสามย่านก็ถูกรื้อถอนจนโล่งเตียนไปหมด เพื่อรองรับการก่อสร้างคอนโดมิเนียมแห่งใหม่ของสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ติดแต่ว่า ใจกลางของพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งของ ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง ศาลเจ้าที่มีประวัติเก่าแก่ตั้งแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นอย่างน้อย
และผู้ดูแลศาลก็ยังยืนยันที่จะไม่ย้าย แม้จะได้รับคำขาดให้ย้ายออกภายในวันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน 2563 ก็ตาม
“เขาบอกว่าเขาเตรียมแล้วนะ เดี๋ยว 15 (มิถุนายน) นี้ เดี๋ยวเขาจะเอาแทรกเตอร์มา อะไรมา เราก็บอกว่า ก็แล้วแต่ ท่านจะทำอะไรก็ทำ เพราะเราเห็นว่ามันยังไม่ถูกต้องทุกวันนี้ก็ยังรอเขาว่าจะตัดสินใจกับเราอย่างไร”
โพธิ์ พลอยสีสวย ทายาท ของ ประจวบ และ เช้า พลอยสีสวย สามีภรรยาผู้ดูแลศาลรุ่นที่ 3 กล่าวกับ The People
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ศาลเจ้าแม่ทับทิมถูกขอคืนพื้นที่ ย้อนไปในปี พ.ศ. 2500 ชาวบ้านและศาลเจ้าแม่ทับทิมก็ถูกขอคืนพื้นที่มาก่อน ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อเปลี่ยนพื้นที่ชุมชนแออัดให้เป็นตึกรามบ้านช่องที่ทันสมัย แต่ชาวบ้านก็ยื้อไม่ยอมย้ายออกง่าย ๆ เพราะการหาที่อยู่และที่ทำกินใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย จนกระทั่งปี 2503 ก็เกิดเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ตั้งแต่หลังสนามกีฬาศุภชลาศัยมาจนถึงตรอกพุฒ จนเป็นที่ร่ำลือกันว่า จะเป็นการเผาไล่ที่หรือไม่?
“ตอนนั้นคนร่ำลือมากว่าเป็นการเผาไล่ที่เป็นการวางเพลิง จนถึงกระทั่งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยนั้นต้องออกมาดูงานที่นี่ด้วยตัวเอง แล้วยุคนั้นก็เป็นยุคที่ทำให้เกิดมาตรา 17 คือประหารชีวิต เพราะช่วงนั้นกำลังปราบนักเลง อันธพาล โจร เลยรวมคดีวางเพลิงเอาไว้ด้วย ใครวางเพลิงต่อไปนี้ประหารชีวิตหมด นี่คือจุดกำเนิดของมาตรา 17”
โพธิ์ กล่าว
ทั้งนี้ มาตรา 17 ที่ถูกอ้างถึงคือ มาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ซึ่งออกใช้ก่อนเกิดเหตุเพลิงไหม้ที่บริเวณศาลเจ้าแม่ทับทิม โดยได้ให้อำนาจกับนายกรัฐมนตรีอย่างกว้างขวางไร้ขอบเขต ทำให้นายกรัฐมนตรีสามารถสั่งประหารชีวิตใครก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบแม้ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยนอกจากจะใช้ในคดีวางเพลิงแล้ว สฤษดิ์ยังใช้กับนักโทษการเมืองเป็นสำคัญ
“ชาวบ้านที่ไฟไหม้แล้ว คนที่พอจะหาที่ได้ทางแล้วก็ย้ายกันออกไป สุดท้ายก็เหลืออาม่าที่เดียว ก็เหมือนอย่างนี้โล่งหมดแล้วเหลืออาม่าอยู่ที่เดียว”
หลังเหตุเพลิงไหม้สงบลง พื้นที่บริเวณนี้ก็ถูกเปลี่ยนเป็นตึกแถว ชาวเยาวราชที่ทำเซียงกงก็หันมาจับจองพื้นที่บริเวณนี้ทำเซียงกงขายชิ้นส่วนเครื่องยนต์เก่าเป็นส่วนใหญ่ ต่อมาชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธานำโดย บริษัทสวนหลวงก่อสร้าง (ลิ้มคุงโหมว) ได้ติดต่อกับทางจุฬาฯ ขอพื้นที่เพื่อสร้างศาลหลังใหม่จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2513 และเป็นศาลหลังปัจจุบันซึ่งนับอายุก็ครบ 50 ปี แล้ว และในปี พ.ศ. 2563 จุฬาฯ ก็ประกาศขอพื้นที่นี้คืนอีกครั้ง
ศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลืองนับเป็นศาลที่เคยได้รับความสำคัญมากศาลหนึ่ง โดยมีหลักฐานเป็นกระถางธูปพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า รัชกาลที่ 6
โพธิ์เล่าว่า ในช่วงต้นรัชกาลที่ 5 พี่ชายของทวด (ไม่ทราบชื่อ) ได้เดินทางเข้ามายังสยามก่อน เริ่มต้นไปอยู่ที่เยาวราช แต่ตอนนั้นเยาวราชเนื้อที่ตอนนั้นคนจีนอยู่เต็มพื้นที่หมดแล้ว พี่ชายทวดเลยผันตัวเองไปอยู่บางรัก ส่วนทวดของเขาเองนั้น (จู๋ แซ่ตั้ง) มาตั้งหลักอยู่แถบสะพานเหลืองซึ่งตอนนั้นเป็นทุ่งโล่งเหมาะสำหรับการเลี้ยงเป็ด อาชีพถนัด และกลายเป็นผู้ค้าเป็ดที่ชาวจีนรู้จักกว้างขวาง
“วันหนึ่งพี่ชายทวดก็เดินไปทำงาน เดินผ่านคลองบางรักไป ก็เหลือบไปเห็นอะไรไม่รู้ลอยอยู่ในน้ำ ตรงนั้นเป็นน้ำวนแล้วมีวัตถุวัตถุหนึ่งลอยอยู่ในนั้น เห็นทุกวันก็สงสัย พี่ชายทวดก็ลงไปเก็บขึ้นมา ก็เห็นเป็นองค์อาม่า ก็เอาไปเก็บไว้ที่บ้าน แล้ววันหนึ่งพี่ชายของทวดที่อยู่บางรักเห็นทวดมีที่มีทางดีก็ยกอาม่ามาให้ทวดตรงนี้ ตรงที่เลี้ยงเป็ดตรงนี้ ทวดก็คิดว่าน่าจะทำอะไรทำเป็นศาลให้เป็นที่สักการะบูชา ทวดก็เลยสร้างศาลเล็ก ๆ ขึ้นมาศาลหนึ่ง
“ต่อมาชาวบ้านชาวจีนอพยพมาอยู่ที่นี่เรื่อย ๆ จนเต็มพื้นที่จากสนามศุภฯ (ศุภชลาศัย) จนถึงพระราม 4 คนจีนทั้งนั้นก็มากราบไหว้บูชากัน ได้รับความสำเร็จอะไร ก็นับถือกันมา ก็เลยสร้างเป็นศาลใหญ่ขึ้นมา”
โพธิ์กล่าว
ด้วยความเป็นผู้มีหน้ามีตา เป็นผู้ดูแลศาลเจ้าซึ่งเป็นที่เคารพ ทวดของโพธิ์จึงกลายเป็นผู้ดูแลชาวจีนในย่านนี้ และศาลแห่งนี้ครั้งหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้ารัชกาลที่ 5 ก็เคยเสด็จฯ มาเงียบ ๆ ไม่มีใครรู้ว่าท่านมาไหว้ ท่านไปไหนท่านก็เสด็จฯ เงียบ ๆ ไม่เคยมีพิธีการอะไร (จากคำบอกเล่าของโพธิ์)
และเมื่อรัชกาลที่ 5 สวรรคต (พ.ศ. 2453 หรือ ร.ศ. 129) ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลืองก็ได้รับพระราชทานกระถางธูปประทับพระปรมาภิไธยย่อ “จปร.” หนึ่งในเครื่องสังเค็ดที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในพระราชพิธีพระบรมศพของรัชกาลที่ 5 ด้วย
จากข้อมูลของ สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พื้นที่บริเวณรอบศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง เรียกว่า
โครงการพัฒนา BLOCK 33
ทางสำนักงานฯ ตั้งใจที่จะพัฒนา
“เพื่อสร้างย่านที่พักอาศัยที่เสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืนใจกลางกรุงเทพ อีกทั้งด้วยทำเลที่ตั้งซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของย่านสามย่าน จึงสามารถเชื่อมโยงพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขตชุมชน เขตพาณิชย์ และอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ
“จึงเป็นเสมือนการเชื่อมต่อในด้านประวัติศาสตร์อันเปี่ยมด้วยเสน่ห์ที่ยาวนาน ควบคู่ไปกับการพัฒนาความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมสมัยใหม่”
อย่างไรก็ดี แม้ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลืองจะมีประวัติศาสตร์อยู่คู่กับพื้นที่บริเวณนี้มานาน แต่คุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมก็ยังมีน้ำหนักน้อยเกินกว่าที่จะเก็บรักษาไว้ การขอคืนพื้นที่เพื่อพัฒนาโครงการข้างต้น จึงเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ถึงตอนนี้ ชาวบ้านที่เคยเช่าห้องแถวต่างล่าถอยกันไปหมด เหลือเพียงศาลเจ้าแม่ทับทิมที่ยังตั้งเด่นกลางพื้นที่โล่ง ที่ตอนนี้ถูกใช้เป็นลานจอดรถก่อนที่จะมีการปรับพื้นที่เพื่อการก่อสร้างต่อไป
ทางสำนักงานฯ ชี้แจงว่า ศาลหลังใหม่ในอุทยาน 100 ปีจุฬาฯ จะยังคงรักษาสถาปัตยกรรมเดิมเพิ่มเติมเรื่องของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้ดีขึ้น ในเรื่องลม และเรื่องแสง การย้ายก็มีการดูหลักฮวงจุ้ย ขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมจึงให้ใช้โคมประทีปไฟฟ้าไร้ควัน ลานประกอบพิธีและเตาเผากระดาษเงินกระดาษทองก็จะเป็นแบบที่ป้องกันมลพิษได้ด้วย (
ไทยโพสต์
)
ขณะที่ฝ่ายผู้ดูแลมองว่าเงื่อนไขของจุฬาฯ พวกเขายังยอมรับไม่ได้ นอกจากจะไม่อนุญาตให้ผู้ดูแลซึ่งทำหน้าที่คอยเปิดปิด ให้บริการกับผู้มีจิตศรัทธา ได้พักอาศัยในบริเวณศาลแล้ว การใช้เทคโนโลยีใหม่ทดแทนธรรมเนียมเดิมก็ดูจะไม่สอดคล้องกับประเพณี
“เขาบอกจะสร้างให้ใหม่ในรูปแบบเดิม โดยให้ไปอยู่ในสวนสมเด็จพระเทพฯ 100 ปี ตรงนี้ สะพานอ่อน สร้างให้แต่ศาลที่ที่จะให้แสดงมหรสพอะไรมันไม่มี นี่คือข้อแม้หนึ่ง ข้อแม้ที่สองเขาบอกว่าในศาลห้ามจุดธูปจุดเทียนอะไรต่าง ๆ เผากระดาษ ซึ่งเรื่องนี้มันเป็นไปไม่ได้ คนเฒ่าคนแก่เขาไม่ยอม เราก็เลยยังไม่ได้ตกลงกับจุฬาฯ ว่าจะเอาอย่างไร ซึ่งตอนนี้เขาก็วัดที่วัดอะไรเตรียมลงเสาเข็มเตรียมปลูกแล้ว”
โพธิ์กล่าว
ด้าน
ผศ. ดร. อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ให้ข้อมูลกับทาง The People ว่า การก่อตั้งศาลเจ้าแต่เดิมไม่มีการควบคุม ต่อมาทางการกลัวเรื่องอั้งยี่ก็จะมีการบังคับให้ขึ้นทะเบียนกับเจ้าหน้าที่ปกครอง แต่บางศาลก็ไม่ได้ขึ้นทะเบียน
กรณีของศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง อยู่ในความดูแลของคนในตระกูลที่ต้องจ่ายค่าเช่า ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับทั้งทางกรุงเทพฯ หรือกระทรวงมหาดไทย ส่วนการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของศาลเจ้านั้นมีน้อยมาก เท่าที่ทราบมีเพียง 2 แห่งเท่านั้น และศาลเจ้าแม่ทับทิมสะพานเหลือง ก็มิได้เป็น 1 ใน 2 ศาลเจ้าที่ได้ขึ้นทะเบียน
ขณะที่ฝ่ายผู้ดูแลเองยอมรับว่า พวกเขาไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย จึงไม่รู้ว่ามีกฎหมายที่อาจจะช่วยคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมที่พวกเขารับสืบทอดมาได้ และกล่าวว่าพวกเขาพร้อมจะย้ายศาลไปตั้งในอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ตามข้อเสนอของจุฬาฯ แต่เงื่อนไขบางข้อเป็นสิ่งที่พวกเขายังยอมรับไม่ได้ เช่น อนุญาตให้ตั้งศาลในอุทยาน แต่ห้ามผู้ดูแลศาลอยู่เฝ้าศาล ห้ามจุดธูปเทียนบูชาอาม่า ห้ามสร้างห้องน้ำไว้อำนวยความสะดวกให้กับผู้ศรัทธา ไม่มีพื้นที่ให้สำหรับการจัดแสดงมหรสพ ห้องที่ใช้เก็บองค์อาม่าเป็นห้องชั้นล่าง ขณะที่ชั้นบนมีคนเดินข้ามไปมา ทำให้พวกเขาเห็นว่าไม่เหมาะกับการประดิษฐาน
“ก็คงต้องอยู่อย่างนี้ไม่รู้จะทำอย่างไรเพราะว่ายังตกลงกันไม่ได้เขายืนยันจะรื้อก็ให้เขารื้อ ให้เขามาเขาบอกว่าจะเอาแทรกเตอร์มาก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ถึงเวลาก็คงมีทางออกเองมั้ง เดี๋ยวก็ต้องคุยกันมั้ง ถ้าเขาทำได้เหมาะสม สมฐานะให้กับอาม่าก็ไม่มีใครว่าอะไร เก็บในที่ดีหน่อย อะไรหน่อย มันก็น่าจะดีกว่า”
โพธิ์กล่าว
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3487
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6940
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
818
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ThePeople
Social
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศาลเจ้าแม่ทับทิม