แคร์รี เกรซี อดีต บก.บีบีซี ต่อสู้เพื่อค่าจ้างที่เท่าเทียมทางเพศในองค์กร
"ฉันทำไปเพราะฉันเชื่อในการพูดความจริงในการทำงานกับบีบีซี มันคือส่วนหนึ่งของศีลธรรมในการทำหน้าที่นักข่าวเพื่อให้มั่นใจได้ว่า บีบีซีอยู่บนหลักการที่ตัวเองป่าวประกาศเรื่องความเป็นธรรม การพูดความจริง ความโปร่งใส และความถูกต้อง มันไม่ใช่แค่ค่านิยมของบีบีซี แต่เป็นค่านิยมของชาวบริเตน ฉันภูมิใจมาโดยตลอดกับการเป็นนักข่าวบีบีซีมากว่า 3 ทศวรรษ ฉันทำงานหนักเพื่อแสดงให้เห็นถึงค่านิยมดังกล่าวในประเทศจีน ประเทศที่ค่านิยมข้างต้นไม่ค่อยได้ถูกนำมาใช้งาน ฉันไม่พร้อมที่จะเห็นค่านิยมเหล่านี้ถูกทรยศ (โดยบีบีซี)"
แคร์รี เกรซี (Carrie Gracie) อดีตบรรณาธิการประจำประเทศจีนของบีบีซี ที่ลาออกจากตำแหน่งบรรณาธิการเพื่อประท้วงการจ่ายค่าจ้างโดยเลือกปฏิบัติทางเพศของสำนักข่าวแห่งชาติที่ดำเนินการโดยภาษีของประชาชน กล่าว (The Scotman)
ชีวิตของเกรซีต้องผ่านวิกฤตมาหลายครั้ง เธอเกิดเมื่อ ค.ศ. 1966 แม่มาเสียชีวิตด้วยมะเร็งรังไข่ ขณะที่เธออายุได้ 17 ปี เมื่อมีครอบครัวก็ต้องพบกับการหย่าร้าง ลูกสาวก็ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลูคีเมียขณะอายุได้ 2 ขวบ ส่วนตัวเธอเองเมื่ออยู่ในวัยขึ้นเลข 4 ก็ต้องเผชิญกับโรคมะเร็งเต้านมถึง 2 ครั้ง แต่ผ่านมาได้ด้วยการผ่าตัดเต้านมออกทั้ง 2 ข้างและเคมีบำบัด
"ฉันเป็นมะเร็งเต้านมและต้องผ่าตัดเต้านมออกทั้ง 2 ข้างในปี 2011 และทำเคมีบำบัดในต้นปี 2012 สิ่งที่ฉันได้เรียนรู้มาก็คือ ชีวิตคนมันสั้น มันไม่ใช่ครั้งแรกที่ฉันได้บทเรียนนี้้ เพราะฉันเสียแม่ไปตอนเธออายุ 42 ส่วนฉันอายุ 17 ลูกสาวฉันเป็นลูคีเมียตอนอายุ 2 ขวบ เรามีเวลาบนโลกนี้น้อยมาก เราต้องใช้เวลาที่มีให้ดีที่สุด"
หลังจบจากอ็อกซ์ฟอร์ด เกรซีไปสอนภาษาอังกฤษและเศรษฐศาสตร์อยู่ที่ฉงชิ่งเป็นเวลา 1 ปี เธอเริ่มต้นจากการเป็นพนักงานฝึกงานกับบีบีซีในปี 1987 ก่อนได้เป็นนักข่าวประจำกรุงปักกิ่งอยู่หลายปีจึงได้กลับเกาะอังกฤษในปี 1999 ได้ทำรายการวิทยุ และเป็นพิธีกรข่าวประจำช่อง BBC News Channel
ในปี 2013 บีบีซีเสนอตำแหน่งบรรณาธิการประจำประเทศจีนให้กับเกรซี ซึ่งมีประสบการณ์ในการรายงานข่าวจากจีนมายาวนาน เธอลังเลที่จะรับตำแหน่งเพราะลูก ๆ กำลังอยู่ในวัยรุ่น เธอเองเพิ่งผ่านพ้นจากการผ่าตัดมะเร็งเต้านมได้ไม่นาน ขณะเดียวกันเธอก็รู้สึกว่าตัวเองสามารถช่วยเติมเต็มการรายงานข่าวของบีบีซีจากประเทศจีนได้ดี นักข่าวหญิงเองที่จะได้รับหน้าที่เช่นนี้มีค่อนข้างน้อย และผู้บริหารก็อ้อนวอนให้เกรซีรับตำแหน่งนี้ให้ได้ เธอจึงยื่นเงื่อนไขว่าจะรับหน้าที่นี้ แต่เธอต้องได้รับค่าจ้างที่เท่าเทียมกับบรรณาธิการเพศชายรายอื่น ๆ เพราะเธอและเพื่อนร่วมงานเพศหญิงต่างรับรู้ได้ว่า ปัญหาดังกล่าวมีอยู่แต่ไม่มีใครรู้ว่ามันมากน้อยแค่ไหน
หลังรับตำแหน่งได้ราว 4 ปี ตอนนั้นบีบีซีกำลังถูกกดดันหนักจากภาคสังคมและการเมืองให้เปิดเผยถึงการใช้จ่าย และแสดงความโปร่งใสในการบริหารงาน เนื่องจากบีบีซีเป็นองค์กรสาธารณะที่ใช้เงินของประชาชนในการดำเนินงาน บีบีซีจึงยอมเปิดเผยค่าจ้างของลูกจ้างระดับสูงที่ได้รับค่าจ้างสูงกว่า 150,000 ปอนด์ต่อปี
ตอนนั้น บีบีซีมีบรรณาธิการต่างประเทศอยู่ 4 คน เพื่อนร่วมงานของเกรซีในตำแหน่งบรรณาธิการที่เป็นเพศชาย 2 คนนอกจากจะติดบัญชีแล้ว รายได้ของพวกเขายังอยู่ในระดับ 150,000 ถึง 199,000 ปอนด์ หนึ่งราย และที่ 200,000 ถึง 249,999 ปอนด์อีกหนึ่งราย ขณะที่เธอซึ่งรับตำแหน่งเดียวกัน หน้าที่รับผิดชอบเหมือนกัน และต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการทำงานในดินแดนที่ไม่การันตีเสรีภาพสื่อกลับได้รับค่าจ้างที่ 135,000 ปอนด์ เช่นเดียวกับบรรณาธิการเพศหญิงอีกรายที่ไม่มีชื่อติดโผ ซึ่งหากนำรายได้ของฝ่ายชายและฝ่ายหญิงมาเทียบกัน บก.หญิงจะได้รายได้น้อยกว่าราว 50 เปอร์เซ็นต์ (The New Yorker)
ไม่ใช่แต่เกรซีเท่านั้นที่ผิดหวังกับการบริหารงานขององค์กร เธอและเพื่อนร่วมงานที่เรียกตัวเองว่า BBC Women ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือแสดงจุดยืนกับผู้บริหาร หลังจากนั้นเธอยังได้ยื่นหนังสือไปถึง โทนี ฮอลล์ ผู้อำนวยการใหญ่ของบีบีซีเป็นการส่วนตัว โดยเชื่อว่า ผู้บริหารอย่างเขาน่าจะยอมรับฟังเหตุผล และปฏิบัติตามกฎหมายที่ห้ามการเลือกปฏิบัติทางเพศ
สองเดือนต่อมา บีบีซียื่นข้อเสนอเพิ่มเงินเดือนให้เธออีก 34 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังน้อยกว่ารายรับของบรรณาธิการเพศชายอีกมาก เธอจึงปฏิเสธโดยยืนยันว่า สิ่งที่เธอต้องการไม่ใช่เงินเดือนที่มากขึ้นกว่าเดิม แต่เธอต้องการความเสมอภาค ซึ่งปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาของ “ผู้หญิง” แต่ความเสมอภาคเป็นปัญหาของสังคมมนุษย์
เมื่อการเจรจาไม่เป็นผล เธอจึงลาออกจากตำแหน่งบรรณาธิการประเทศจีน (แต่ยังทำงานในบีบีซีต่อไป) และออกจดหมายเปิดผนึกถึงบีบีซีเผยให้สาธารณะได้เห็นถึงปัญหาภายในองค์กรสาธารณะแห่งนี้
"ในเรื่องค่าจ้าง บีบีซีไม่ได้ปฏิบัติตามค่านิยมที่ตนประกาศว่าด้วยเรื่องความไว้วางใจ ความซื่อสัตย์และความรับผิดชอบ การเปิดเผยค่าจ้างที่บีบีซีถูกบังคับให้ทำเมื่อ 6 เดือนก่อน นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงการจ่ายค่าจ้างที่สูงอย่างรับไม่ได้ให้กับพิธีกรระดับบนและเหล่าผู้จัดการแล้ว มันยังเผยถึงช่องว่างระหว่างค่าจ้างของพนักงานชายและหญิงที่ต้องทำหน้าที่เดียวกันอย่างไม่มีข้อแก้ตัว
"ความจริงที่ถูกเผยในครั้งนี้ทำลายความไว้วางใจที่พนักงานมีต่อบีบีซี มันเป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงได้เห็นหลักฐานที่เข้มแข็งในสิ่งที่พวกเธอสงสัยมานานว่าไม่ได้ถูกประเมินคุณค่าอย่างเท่าเทียม" เกรซีกล่าวในตอนหนึ่งของจดหมายปิดผนึกที่เผยแพร่ทางเว็บไซต์ของเธอเมื่อเดือนมกราคม 2018
เธอยังกล่าวว่า หลังการเผยความจริงดังกล่าวในเดือนกรกฎาคม 2017 ตลอดหกเดือนผู้บริหารใช้วิธีการ “แบ่งแยกแล้วปกครอง” กับบรรดาผู้ร้องเรียน เพื่อทำให้การรวมกลุ่มของผู้ร้องเรียนอ่อนกำลังลง โดยใช้วิธีเสนอปรับเพิ่มเงินเดือนให้กับพนักงานบางคนโดยไม่ได้การันตีความเสมอภาค ขณะเดียวกันก็ปล่อยให้ผู้ร้องเรียนต่อสู้ต่อไปตามระเบียบที่ต้องใช้เวลาอย่างยาวนาน
"เรารู้สึกเหมือนติดกับดัก การออกมาพูดเสี่ยงกับการโดนมาตรการทางวินัย หรือกระทั่งไล่ออก การฟ้องร้องคดีเสี่ยงกับหน้าที่การงานในอนาคต และอาจทำให้ต้องหมดตัว นอกจากนี้บีบีซียังมักหาข้อตกลงนอกศาลและเรียกร้องให้ปิดข้อตกลงเป็นความลับ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมสำหรับองค์กรที่มีภารกิจอยู่กับความจริง และไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาในเชิงระบบเลย" เกรซีกล่าว
ต่อจากนั้นอีก 6 เดือน บีบีซีก็ยอมแพ้ ออกมาขอโทษ และยอมจ่ายเงินชดเชยย้อนหลังให้กับเธอ ซึ่งเธอก็นำเงินทั้งหมดจำนวน 361,000 ปอนด์ไปบริจาคให้องค์กรที่ต่อสู้เรื่องค่าจ้างที่เท่าเทียม เป็นการตบหน้าคนที่ออกมากล่าวหาว่า สิ่งที่เธอทำไปก็เพียงเพื่อเงินเท่านั้น
และแม้เธอจะแสดงความพึงพอใจกับผลลัพธ์ที่ได้จากการต่อสู้กับนายจ้างที่เป็นองค์กรใหญ่และยังมีขนบธรรมเนียมตามประสาองค์กรเก่าแก่ เกรซีก็ยังกล่าวด้วยว่า
"ฉันคิดว่าเรามักจะเข้าใจผิดคิดว่า การมองหาจุดที่เป็นปัญหาและพิจารณาปัญหานั้นในทุกแง่มุมให้ชัดเจน แล้วเราจะหาทางแก้ปัญหานั้นได้ แต่ฉันได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์อันยากเย็นมาแล้วว่า มันไม่ได้เป็นอย่างนั้น การใช้เหตุผลกับคนที่มีทั้งอำนาจ เงินทอง และสถานะ ต่อให้เหตุผลของคุณเป็นข้อโต้แย้งที่ดีที่สุดในโลก มีหลักฐานรองรับชัดเจน ต่อให้รอยาวนานแค่ไหน คุณก็ไม่อาจชนะได้" เกรซีกล่าว (The Guardian)
นั่นคือข้อสรุปจากประสบการณ์การต่อสู้อันยากลำบาก (เธอเคยบอกว่ามันหนักหนายิ่งกว่าการต่อสู้กับมะเร็ง) โดยชี้ให้เห็นว่า ต่อให้คุณมีเหตุผลดีแค่ไหน แต่ถ้าคุณต้องต่อสู้กับผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า ก็ใช่ว่าเขาจะยอมรับเหตุผลของคุณได้ง่าย ๆ และนายจ้างส่วนใหญ่ก็พยายามทำให้เรื่องนี้เป็นความลับ ยอมจ่ายส่วนต่างให้นิดหน่อย เพื่อให้เรื่องนี้เงียบลง แก้ปัญหานี้เป็นคน ๆ ไป โดยยังรักษาโครงสร้างความเหลื่อมล้ำเอาไว้เช่นเดิม