ความขัดแย้งจีน-อินเดีย: เมื่อทหารมหาอำนาจนิวเคลียร์ปะทะกันจนตายด้วยมือเปล่า
ปี 2020 มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันและสร้างความตึงเครียดให้โลกหลายข่าวด้วยกัน ทั้งการระบาดของไวรัสโควิด-19 ข่าวลือของผู้มาจากดาวอื่น การประท้วงเพื่อความยุติธรรมเพื่อคนผิวดำ สถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ระหว่างเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ รวมถึงการปะทะครั้งสำคัญของทหารจีนกับอินเดียจนทำให้เกิดผู้เสียชีวิต
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2020 เกิดการต่อสู้ของทหารสองฝ่ายในหุบเขากัลวาน ณ ดินแดนแคชเมียร์ ทางตะวันตกของเทือกเขาหิมาลัย ที่อยู่เหนือจากระดับน้ำทะเลราว 4,300 เมตร ทหารจีนและอินเดียสู้กันโดยไม่ใช้อาวุธสงคราม พวกเขาพุ่งเข้าใส่กัน ตะลุมบอนขว้างปาก้อนหินก้อนอิฐ ต่อยด้วยหมัด ใช้ไม้พันลวดหนามกับเหล็กเส้นติดตะปูฟาดใส่ฝ่ายตรงข้าม จนทำให้มีรายงานว่าทหารอินเดียเสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ถึง 20 นาย บาดเจ็บอีกกว่า 70 ราย สร้างความสะเทือนใจไปทั่วโลก
ทหารอินเดียกล่าวกับสื่อหลายสำนักว่าพวกเขาถูกโจมตีโดยไม่ทันตั้งตัว ก่อนหน้านี้พวกเขาเคยเผาเต็นท์ทหารจีนที่เข้ามาสร้างที่พักพิงยังเขตแดนของอินเดีย จึงทำให้ทหารจีนอยากเอาคืนด้วยการบุกเข้ามาต่อยตีจนมีคนตายหลายสิบคน และทหารจีนมีผู้บาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตเช่นกัน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่กองทัพอินเดียอ้างข้อมูลการดักฟังทางวิทยุจนทราบว่ามีทหารจีนเสียชีวิตประมาณ 40 คน แต่คำอ้างดังกล่าวยังไม่ได้รับการยืนยันจากรัฐบาลจีนแต่อย่างใด
แม้ทหารอินเดียกล่าวว่าพวกเขาถูกโจมตีก่อน แต่ จ้าว ลี่เจียน (Zhao Lijian) โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนยืนยันว่าทหารอินเดียเป็นฝ่ายข้ามเส้นแบ่งพรมแดนจีน-อินเดีย หรือ เส้นควบคุมตามความเป็นจริง (Line of Actual Control-LAC) ที่ระบุว่าห้ามทั้งสองฝ่ายใช้อาวุธปืนในรัศมี 2 กิโลเมตร และอินเดียได้สร้างถนน สะพาน พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ในพื้นที่ห้ามสร้างตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน โดยทหารอินเดียข้ามฝั่งมาถึง 2 ครั้ง เพื่อยั่วยุให้ทหารจีนโกรธแค้นจนเกิดการปะทะ
ย้อนกลับไปยังปี 1962 ทั้งสองชาติเคยทำสงครามกันมาก่อนเรื่องข้อพิพาทชายแดนหิมาลัย ต่อมาเดือนกันยายนปี 1967 เกิดการโจมตีด้วยปืนใหญ่ กำลังพล และเครื่องบินขับไล่ไอพ่น ส่งให้ทหารทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตจำนวนมาก ภายหลังจึงทำข้อตกลงกันใหม่ว่าจะไม่ใช้อาวุธปืนและวัตถุระเบิดในการป้องกันตัวหรือโจมตีฝ่ายตรงข้ามใกล้กับเส้นควบคุมตามความเป็นจริง ทำให้การต่อสู้ในปี 2020 เกิดขึ้นด้วยหมัด ลูกเตะ และทุบตีกันด้วยข้าวของใกล้ตัวที่เอื้อมถึง ซึ่งไม่ผิดข้อตกลงที่ทั้งสองทำร่วมกันเมื่อหลายสิบปีก่อน
จีนกับอินเดียเคยถกกันเรื่องข้อพิพาทพรมแดนหลายต่อหลายครั้ง ทั้งสองต่างต้องการดินแดนเทือกเขาสูงไร้ผู้อยู่อาศัย แต่การต่อสู้ครั้งนี้ถือเป็นครั้งรุนแรงที่สุดในรอบ 45 ปี แม้ก่อนหน้านี้จะเกิดการกระทบกระทั่งกันบ้างทว่ายังไม่รุนแรงจนทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก
ชาวอินเดียหลายเมืองตัดสินใจลงถนนเพื่อร่วมไว้อาลัยแก่ทหารผู้จากไป พิธีศพของทหารที่เสียชีวิตจะถูกจัดขึ้นที่เมืองบ้านเกิด ท่ามกลางความโกรธแค้นและเศร้าโศกเสียใจของคนในชุมชน พวกเขาออกมาเผารูปของประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง (Xi Jinping) บ้างก็แห่โลงศพไม้แปะหน้าของผู้นำจีนแล้วนำไปทิ้งน้ำ บางคนเผาธงชาติจีน รวมกลุ่มกันหน้าสถานทูตจีนเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีอินเดีย นเรนธรา โมดี (Narendra Modi) เร่งหามาตรการโต้ตอบการกระทำของจีนที่ทำให้ทหารอินเดียเสียชีวิต
กระทรวงต่างประเทศอินเดียกล่าวว่า การอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนเหนือพื้นที่บริเวณหุบเขากัลวานถือเป็นการกล่าวเกินจริงบนพื้นฐานข้อมูลไม่ถูกต้อง ทั้งสองยังคงมีความขัดแย้งเรื่องความเข้าใจ จึงต้องหารือร่วมกันเพื่อมองหาวิธีแก้ปัญหา ส่วน ราหุล คานธี (Rahul Gandhi) อดีตผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ออกมาตั้งคำถามถึงผู้นำประเทศตัวเองว่า เพราะเหตุใดถึงยังนิ่งเฉยทั้งที่สูญเสียทหารอินเดียถึง 20 คน และประชาชนบางส่วนรู้สึกว่านายกฯ ของตัวเอง เอาใจไปอยู่กับจีนมากเกินไป
จากการประท้วงตามเมืองเล็ก ๆ เริ่มขยายวงกว้างกดดันรัฐบาลหนักขึ้น ถึงขั้นเรียกร้องให้อินเดียงดนำเข้าสินค้าที่ผลิตโดยจีนเข้ามาในประเทศ ประท้วงให้บริษัทเอกชนร่วมทุนกับจีนยกเลิกสัญญาที่ทำไว้ทั้งหมด (ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก) ส่วนสำนักข่าวเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ พยายามหาคำตอบว่าฝ่ายไหนล้ำเส้นกันแน่ด้วยการนำบทวิเคราะห์ของสถาบันนานาชาติเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์และความมั่นคงของอังกฤษ (IISS) ยืนยันจากภาพถ่ายดาวเทียมว่า กองทัพทั้งสองประเทศต่างรุกล้ำเข้ามาใกล้กับเส้นความคุมตามความเป็นจริงด้วยกันทั้งคู่
ต่อมาหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของอินเดียให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทางจีนได้ปล่อยตัวทหารอินเดีย 10 นาย ที่ถูกจับตอนปะทะกันบนแนวชายแดน ตรงกับข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters) และ เพรสส์ ทรัสต์ ออฟ อินเดีย (Press Trust of India-PTI) ว่า การปล่อยตัวทหารอินเดียเกิดขึ้นหลังจากนายทหารชั้นสูงของสองประเทศประชุมร่วมกัน หาวิธีลดความตึงเครียดที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ทางจีนปล่อยตัวทหารที่ถูกจับไว้ แต่ก่อนหน้านี้กองทัพอินเดียเคยแถลงการณ์ว่าไม่มีทหารหายตัวไปหลังเกิดเหตุรุนแรง และรัฐบาลอินเดียก็ไม่ได้ออกมายืนยันเรื่องการปล่อยตัวนายทหาร
อย่างไรก็ตาม จ้าว ลี่เจียน ออกมาแถลงการณ์โต้ตอบสื่อหลายสำนักว่าจีนไม่ได้ควบคุมตัวทหารอินเดียไว้ ดังนั้น การปล่อยตัวที่ว่าจึงไม่เคยเกิดขึ้น สร้างความสับสนให้ชาวอินเดียและคนอื่น ๆ ที่ติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด เพราะข่าวและข้อมูลความขัดแย้งครั้งนี้แทบไม่มีอะไรยืนยันแน่ชัดได้เลย
เหตุผลที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจความตึงเครียดและการต่อสู้ด้วยมือเปล่าจนตัวตายระหว่างทหารจีนกับอินเดีย เนื่องจากทั้งสองต่างเป็นประเทศใหญ่มีจำนวนประชากรมหาศาล มีระบบเศรษฐกิจขนาดใหญ่ และข้อสำคัญคือทั้งคู่มีอาวุธนิวเคลียร์ หากความขัดแย้งรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดการปะทะกันอีกครั้ง อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจและความสัมพันธ์ของหลายประเทศทั่วโลก ทำให้เหล่านักการทูตต่างอยากให้ทั้งสองไกล่เกลี่ยกันได้ในเร็ววัน
เวลานี้ทางรัฐบาลจีนยังคงไม่ออกแถลงการณ์ใด ๆ เพิ่มเติมทั้งข่าวลือทหารจีนตาย 40 คน หรือการจับตัวทหารอินเดียแล้วปล่อยคืนภายหลัง ข้อมูลส่วนใหญ่ได้จากแหล่งข่าวอินเดียที่ไม่ได้รับการยืนยัน จีนเพียงแค่ออกมากล่าวว่าทหารอินเดียเป็นฝ่ายโจมตีก่อน เหมือนกับอินเดียที่บอกว่าทหารจีนลอบเข้ามาทำร้ายก่อน ไม่มีใครยอมรับว่าตัวเองเป็นฝ่ายเริ่มก่อนและยังคงโทษอีกฝ่ายอยู่
ดูเหมือนว่าเรื่องราวการต่อสู้ด้วยก้อนหินก้อนอิฐและอาวุธดัดแปลงที่เกิดขึ้น อาจทำให้สองประเทศยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียที่ไม่ได้ใหญ่แค่จำนวนประชากรแต่ยังมีอาวุธเปี่ยมเทคโนโลยีอยู่ในมือ คงต้องทบทวนความสัมพันธ์และข้อตกลงกันใหม่อีกครั้ง
ที่มา
https://www.newindianexpress.com/nation/2020/jun/20/ladakh-standoff-china-says-galwan-valley-on-its-side-of-lac-makes-move-to-woo-new-trade-partners-2158841.html
https://www.hindustantimes.com/india-news/chinese-side-makes-fresh-claim-on-galwan-valley/story-r3NGSr5emL8Y0YORgHcH2O.html
https://www.indiatoday.in/fact-check/story/fact-check-truth-behind-pics-showing-rahul-gandhi-with-chinese-envoys-1690388-2020-06-18
https://www.newindianexpress.com/nation/2020/jun/22/indian-army-commanders-get-a-free-hand-at-border-with-china-2159697.html
https://indianexpress.com/article/explained/explained-what-happened-in-nathu-la-in-1967-india-china-border-dispute-6462532/
เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์