จอมพล แปลก พิบูลสงคราม: บุรุษชื่อแปลกที่นำความ “แปลก” มาสู่สังคมไทย
หากถามถึงนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุดในไทย ต้องยกให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้นั่งเก้าอี้ผู้นำนานถึง 14 ปี 11 เดือน เป็นนายกฯ ถึง 8 สมัย นานพอดูจนทำให้คนไทยรุ่นหลังเรียนประวัติศาสตร์ไทยจดจำชื่อของจอมพล ป. ได้เป็นอย่างดี ทว่าเมื่อถามต่อว่า “ป.” ของจอมพลท่านนี้มีที่มาอย่างไร กลับไม่ใช่ทุกคนที่ตอบคำถามนี้ได้
ก่อนจะเป็น จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้โด่งดัง เขามีชื่อเดิมว่า แปลก ขีตตะสังคะ เกิดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 ในครอบครัวเกษตรกรย่านวัดปากน้ำ จังหวัดนนทบุรี สาเหตุที่พ่อแม่ตั้งชื่อลูกชายว่า “แปลก” เกิดจากความผิดปกติเล็กน้อยบนใบหน้า เมื่อแม่สังเกตเห็นว่าลูกน้อยมีใบหูทั้งสองข้างอยู่ต่ำกว่าดวงตามากกว่าคนทั่วไป ขณะที่หูของคนส่วนใหญ่จะอยู่ระนาบเดียวกับดวงตา ไม่ลดหลั่นจนเห็นได้ชัดแบบนี้ จึงทำให้แม่ตั้งชื่อว่าแปลก เพราะหูอยู่ในตำแหน่งต่ำแปลกจากปกติ
ลักษณะใบหูอยู่ต่ำกว่าตา ในตำราหมอดูหรือซินแสหลายสำนักมองว่าเป็นคนมีบารมี มีวาสนาและบุญญาธิการ แต่ครอบครัวของเด็กชายแปลกคงไม่คาดคิดว่าเขาจะกลายมาเป็นนายกรัฐมนตรีไทยถึง 8 สมัย นำความแปลกมาสู่สังคมไทยมากมายสมชื่อ
หลังเรียนจบจากฝรั่งเศส แปลก ขีตตะสังคะ กลับมารับราชการยังบ้านเกิด ได้รับบรรดาศักดิ์ราชทินนามเป็น “หลวงพิบูลสงคราม” ต่อมาเข้าร่วมกับกลุ่มคณะราษฎรเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของสยามประเทศในปี 2475 แถมยังมีบทบาทโดดเด่นในการปราบปรามกบฏบวรเดช
เมื่อสยามยกเลิกราชทินนามอวยยศแบบเก่า ในสมัยรัชกาลที่ 8 ได้ประกาศพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้หลวงพิบูลสงครามอยู่ในตำแหน่งจอมพล ซึ่งตัวเขาก็พอใจจะใช้ราชทินนามเดิมของตัวเองเป็นนามสกุล คือ “พิบูลสงคราม” (Phibunsongkhram)
มีเสียงเล่าลือส่งต่อกันปากต่อปากว่า จริง ๆ แล้วจอมพลท่านนี้ไม่ชอบชื่อของตัวเองเท่าไหร่นัก เลยเลือกใช้ตัวอักษรย่อ ป. แทนการเรียกหรือเขียนชื่อว่า แปลก โดยนำแรงบันดาลใจมาจากชื่อบุคคลสำคัญตามแบบตะวันตกที่มักใช้ตัวย่อ อาจเป็นเพราะไม่อยากให้คนตั้งคำถามว่าทำไมถึงชื่อแปลก หรือให้คนมุ่งความสนใจว่าตัวของเขามีอะไรแปลกประหลาดไปจากคนอื่น ๆ ถึงมีชื่อว่าแปลก
ความแปลกที่จอมพลแปลก พิบูลสงคราม นำมาสู่สังคมสยามสมชื่อมีหลายอย่างด้วยกัน ระหว่างดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้จัดตั้งสถานสงเคราะห์ผู้สูงอายุแห่งแรกของไทย หรือที่เรียกกันว่า “บ้านพักคนชรา” จากนั้นประกาศนโยบายตั้งตลาดนัดทั่วประเทศ ทำให้กรุงเทพฯ มีตลาดนัดขนาดใหญ่บริเวณสนามหลวง ต่อมาภายหลังย้ายตลาดไปอยู่ย่านอื่นโดยใช้ชื่อใหม่ว่ ตลาดนัดจตุจักร และเขาก็ได้เปลี่ยนชื่อประเทศเสียใหม่จาก “ประเทศสยาม” เป็น “ประเทศไทย”
นอกจากเรื่องโครงสร้างขนาดใหญ่ รัฐนิยมของจอมพล ป. ยังนำความแปลกใหม่มาสู่การใช้ชีวิตของคนในช่วงเวลานั้น พยายามเปลี่ยนธรรมเนียมหลายอย่างที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาหลายยุคสมัย ด้วยการสั่ง ‘ลด’ และ ‘เพิ่ม’ ค่านิยมในเวลาเดียวกัน สั่งให้คนเลิกกินหมาก ทุกคนต้องสวมรองเท้าเมื่อออกจากบ้าน ห้ามผู้หญิงเปลือยท่อนบนและต้องสวมหมวก ให้คนเริ่มทักทายกันด้วยคำว่า “สวัสดี” ห้ามชาวจีนถือครองที่ดินในประเทศไทย จนชาวจีนอพยพต้องหาเมียเป็นคนไทย เพื่อจะได้มีสิทธิถือครองที่ดิน
ยังมีเรื่องยิบย่อยอีกมากมายที่จอมพลแปลก (ที่เขาพึงใจให้เรียกว่า ป.) พยายามเปลี่ยนแปลง บางอันก็ประสบความสำเร็จ บางเรื่องก็ล้มเหลวและถูกยกเลิกไป นโยบายหลายอย่างของเขาถือเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนทั้งชื่อประเทศใหม่ การย้ายวันปีใหม่เป็น 1 มกราคม หรือการที่ทุกคนต้องเริ่มปฏิบัติตัวตามแบบชาติตะวันตก เป็นจอมพลชื่อแปลกที่นำความแปลกหลายอย่างมาสู่ประเทศไทย และหลายอย่างก็กลายเป็นมรดกที่สืบทอดกันมาถึงทุกวันนี้
ที่มา
อ. พิบูลย์สงคราม. 2540. จอมพล ป. พิบูลสงคราม. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ ตระกูลพิบูลสงคราม
ชาญวิทย์ แพงแก้ว. จอมพลผู้พลิกวัธนธัม. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่นส์
ภูริ ฟูวงศ์เจริญ ศรัญญู เทพสงเคราะห์และณัฐพล ใจจริง. อยากลืมกลับจำ. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงแทพฯ: มติชน.
เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์