คณะราษฎร การปฏิรูปกองทัพให้เป็นประชาธิปไตย

คณะราษฎร การปฏิรูปกองทัพให้เป็นประชาธิปไตย
“คณะราษฎรเห็นว่า การที่จะแก้ความชั่วร้ายก็โดยที่จะต้องจัดการปกครองโดยมีสภา จะได้ช่วยกันปรึกษาหารือหลาย ๆ ความคิดดีกว่าความคิดเดียว” ตอนหนึ่งของประกาศคณะราษฎร 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบกษัตริย์เหนือรัฐธรรมนูญ มาเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. 2475 คณะราษฎร ที่ประกอบด้วยนายทหารระดับกลางซึ่งส่วนใหญ่มิได้มีอำนาจบังคับบัญชากำลังทหารโดยตรง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปกองทัพเพื่อค้ำจุนระบอบใหม่  ย้อนกลับไปยุคก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ตำแหน่งสูง ๆ ในกองทัพล้วนเป็นตำแหน่งของผู้มีเชื้อมีสาย สามัญชนยากนักที่จะแทรกเข้าไปรับตำแหน่งได้ ทั้งยังมีความพยายามที่จะกีดกันสามัญชนในการเข้าเรียนโรงเรียนนายร้อย  ทั้งนี้ตามความเห็นของ พลตรีพระยาอมรวิสัยสราฤกษ์ จเรทหารปืนใหญ่ที่ได้เสนอเรื่องนี้กับ จอมพล สมเด็จฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เสนาธิการทหารบก เมื่อปี พ.ศ. 2467 ว่า  "ถึงเวลาแล้วที่ควรเลิกวิธีเปิดรับผู้สมัครเข้าเรียนนายร้อยโดยไม่เลือกชั้นบุคคล คือควรคัดเลือกแต่เฉพาะผู้ที่มีฐานะดีและมีตระกูลสูง กับต้องจัดการบำรุงฐานะนายทหารให้ดีมีปึกแผ่นแน่นหนาเสียตั้งแต่เวลาเริ่มแรก" และข้อเสนอดังกล่าว สมเด็จฯ กรมพระนครสวรรค์ฯ รับรองให้นำเข้าเสนอที่ประชุมใหญ่กระทรวงกลาโหมได้ และ "เห็นว่าเป็นเรื่องน่าคิด" (ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. 2475 และ 1 ปี หลังการปฏิวัติ) “เป็นความจริงที่ในหลวงรัชกาลที่ 7 มิได้แสดงความสามารถที่จะแก้ไขงานของชาติให้รุ่งเรืองขึ้นได้ มุ่งแต่จะฟื้นฐานะของเจ้าที่ตกต่ำมาแต่ครั้งรัชกาลที่ 6 ให้รุ่งเรืองขึ้น โดยจะเห็นได้ว่ามีการแต่งตั้งเจ้ากันหนักมือ จนในสุดท้ายตำแหน่งใหญ่ๆ และสำคัญทั้งหมดต้องอยู่ในมือของเจ้า ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งการระวังรักษาเก้าอี้พระเจ้าแผ่นดินในตัว ความจริงไม่เป็นการเสียหายอะไรถ้าตั้งเจ้าที่เฉียบแหลม สามารถทำหน้าที่สำคัญ แต่การณ์มิได้เป็นเช่นนั้น ดูสักแต่ว่าเป็นเจ้าละก็ตั้งได้โดยไม่จำกัดเสียเลย” พระยาทรงสุรเดช หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรกล่าว ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในบรรดาทหารชั้นผู้ใหญ่ของคณะราษฎร พระยาพหลพลพยุหเสนา ที่มียศสูงสุดคือ พันเอก อยู่ในตำแหน่งจเรทหารปืนใหญ่ ไม่มีอำนาจบังคับทหาร พระยาทรงสุรเดช เป็นอาจารย์ใหญ่วิชาทหารในโรงเรียนนายร้อย ก็ไม่มีอำนาจบังคับทหารเช่นเดียวกัน มีเพียงพระยาฤทธิอัคเนย์ที่มีทหารอยู่ในมือเป็นทหารปืนใหญ่ 2 กองพัน  โดยภาวะเช่นนี้ คณะราษฎรที่เพิ่งขึ้นมามีอำนาจได้ไม่นานก็จำเป็นต้องพยายามดึงอำนาจการบังคับบัญชาทหารมาอยู่ในมือ อย่างน้อยก็ในกรุงเทพฯ เพื่อให้แน่ใจได้ว่า กองทัพที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจะให้การสนับสนุนระบอบใหม่ จากข้อมูลของ ปรัชญากรณ์ ลครพล ในวิทยานิพนธ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เรื่อง "คณะราษฎรกับการปรับปรุงกองทัพบกไทย พ.ศ. 2475-2488" คณะราษฎรพยายามสร้าง "กองทัพคณะราษฎร" แทนที่ "กองทัพพระมหากษัตริย์" ด้วยการลดขนาดกระทรวงกลาโหม ยุบกรมใหญ่ในกระทรวงกลาโหม ทำให้นายทหารระดับสูงหรือนายทหารยศ พล.ต. ขึ้นไปไม่มีตำแหน่งในโครงสร้างของกองทัพ  การยุบกองทัพ และกองพล โดยการกำหนดให้กองพันเป็นหน่วยทหารฝ่ายรบสูงสุดในกองทัพ ยังเปิดทางให้นายทหารของฝ่ายคณะราษฎรที่ส่วนใหญ่มียศ ร.อ. ถึง พ.ต. สามารถคุมกำลังทหารฝ่ายรบในตำแหน่งผู้บังคับกองพันได้ คณะราษฎรยังลดอำนาจของเสนาบดีกระทรวงกลาโหมลงจากโครงสร้างเดิมที่มีอำนาจทั้งในการบริหารราชการ และการบังคับบัญชากำลังทหารในกองทัพบกและกองทัพเรือ ก็ถูกแยกอำนาจการบังคับบัญชากองทัพทั้งสองออกไป การยุบกรมใหญ่และกรมน้อยเกี่ยวกับราชการทหารบกและทหารเรือทั้งหมดออกจากโครงสร้างกระทรวงกลาโหมและแปรสภาพใหม่ ก็ทำให้ไม่มีกรมใหญ่เหลืออยู่ในกระทรวงกลาโหม ส่งผลให้เสนาบดีกลาโหมมีเพียงปลัดทูลฉลองซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกองบังคับการกระทรวงกลาโหมที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาโดยตรง และเพื่อให้แน่ใจว่า เสนาบดีกลาโหมจะไม่แทรกแซงการทำงานของกองทัพ จึงมีการกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของเสนาบดีเอาไว้เฉพาะ - ติดต่อกรรมการราษฎรและเจ้ากระทรวงอื่นๆ - มีหน้าที่ทางธุรการอันเป็นงานประจำสามัญ - จัดการเรื่องเบี้ยหวัดเบี้ยบำนาญ - มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติลักษณะเกณฑ์ทหาร - มีหน้าที่ในทางกฎหมายและศาลทหาร - มีหน้าที่ในการสุขาภิบาลและการรักษาพยาบาล - อำนวยการเงินตามมติของคณะกรรมการกลางกลาโหม นอกจากนี้ ยังมีการตั้ง “คณะกรรมการกลางกลาโหม” ให้ทำหน้าที่รับผิดชอบราชการสำคัญของกองทัพทั้งหมดแทนเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ไม่ว่าจะเป็น “การเพิ่ม ลด ปลด ย้าย ตำแหน่งข้าราชการหรือการวางอัตรากำลังเครื่องรบเครื่องอุปกรณ์การรบในกองทัพบกกับกรมทหารเรือ ตลอดจนการวางงบประมาณเงิน” ทำให้ตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหมเป็นเพียงตำแหน่งลอยที่ไม่มีอำนาจอิทธิพลในการสั่งการกำลังรบ หรือบริหารจัดการกิจการที่สำคัญของกระทรวงแต่อย่างใด การตั้งคณะกรรมการกลางกลาโหมเป็นข้อเสนอของพระยาทรงฯ ที่เห็นว่าที่ผ่านมากองทัพเสื่อมโทรมลง เนื่องจากการรวบอำนาจบริหารมาไว้ที่เสนาบดี ซึ่งไม่มีทางที่จะรู้ไปเสียทุกเรื่อง ทั้งเรื่องของกองทัพบกหรือกองทัพเรือ จนนำไปสู่การตัดสินที่ผิดพลาดโดยเฉพาะในเรื่องทางเทคนิคทหาร  “แต่เดิมมาเมื่อเสนาบดีกระทรวงกลาโหมจะปฏิบัติการอย่างใดๆ ก็ย่อมกระทำไปโดยไม่ต้องการปรึกษาหารือด้วยมีระเบียบแบบแผนวางไว้เป็นกำหนดตายตัวเช่นนั้น หากจะมีการปรึกษาหารือบ้างก็เรียกมาเป็นบางคนสัก 2-3 คน หรือเพียงคนใดคนหนึ่งซึ่งเห็นควรจะรับปรึกษาได้ แต่ผู้ที่ถูกเรียกมาปรึกษาหารือนั้นจะลงความเห็นก็ไม่ได้เด็ดขาด หรือถ้าเสนาบดีไม่มีความเห็นพ้องกับผู้เรียกมาหารือด้วย เสนาบดีก็กระทำไปตามพลการตนเอง  “อนึ่งแต่เดิมยังมิได้รวมทหารบกกับทหารเรือเข้าเป็นกระทรวงเดียวกัน ฝ่ายทหารบกตัวเสนาบดีเป็นทหารบกและมีหน้าที่จะต้องวินิจฉัยเรื่องที่เกี่ยวกับทหารบกโดยฉะเพาะซึ่งนับว่าพอค่อยยังชั่ว แต่ถึงกระนั้นก็ดีเสนาบดีก็ไม่สามารถที่จะตัดสินเรื่องที่ต้องวินิจฉัยให้เป็นการเด็ดขาดได้ทุกเรื่อง เพราะเสนาบดีผู้เดียวจะรอบรู้กิจการในกองทัพทั้งหมดไม่ได้ หากว่าเสนาบดีจะเป็นผู้รอบรู้หรือชำนาญในวิชาใดก็แต่เหล่าเดียวเท่านั้น เช่นชำนาญแต่ทหารม้า ทหารราบ หรือทหารปืนใหญ่ เมื่อได้รวมทหารบกกับทหารเรือเข้าเป็นกระทรวงเดียวกัน เสนาบดีก็ยิ่งจะไม่สามารถวินิจฉัยตัดสินให้เป็นการเด็ดขาดได้ทุกเรื่อง ด้วยการกระทำครั้งก่อนๆ เสนาบดีมักจะกระทำไปโดยไม่มีการปรึกษาหารืออย่างที่เสนอขึ้น เสนาบดีทางฝ่ายทหารบกก็เป็นทหารบกและมีความรู้แต่เพียงฝ่ายทหารบก เสนาบดีฝ่ายทหารเรือก็เป็นทหารเรือก็มีความรู้แต่เพียงฝ่ายทหารเรือ ฉะนั้นจะเอาเสนาบดีฝ่ายทหารบกไปว่าการทางทหารเรือ หรือเอาเสนาบดีทหารเรือไปว่าการทหารบกก็จะไม่รู้เรื่อง และไม่สามารถที่จะตัดสินการอย่างใดๆ ได้  “ฉะนั้นกิจการอันเกี่ยวกับทางเทฆนิคซึ่งมีมากหลาย จึงจำเป็นต้องมีกรรมการขึ้นคณะหนึ่งสำหรับปรึกษาเพื่อกิจการในเรื่องรายละเอียด ดำเนิรไปได้โดยสะดวก...เสนาบดีก็ย่อมไม่ต้องรับภาระในการที่จะวินิจฉัยด้วยตนเองที่ไม่สามารถจะวินิจฉัยได้” สำหรับการทำหน้าที่ของคณะกรรมการกลางกลาโหมนั้น หากเป็นมติที่เกี่ยวเนื่องกับนโยบายของประเทศแล้ว ไม่ว่าเสนาบดีจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ต้องส่งให้คณะกรรมการราษฎรพิจารณาอีกรอบ แต่หากเป็นเรื่องระเบียบการภายใน หากเสนาบดีเห็นชอบแล้วก็ให้นำไปปฏิบัติได้เลย หากเสนาบดีเห็นค้านก็ให้ยื่นเรื่องกลับมาที่คณะกรรมการอีกรอบ หากเสียงข้างมากเกินกว่าหนึ่งในสามขององค์คณะเห็นชอบก็ให้ดำเนินการไปตามนั้น การบริหารงานของคณะกรรมการกลางจึงมีลักษณะเดียวกันกับคณะกรรมการราษฎรหรือคณะรัฐบาล ที่ตัดสินลงมติกันโดยอาศัยเสียงข้างมาก การปฏิรูปกองทัพในคราวนี้ ทำให้คณะราษฎรมีความมั่นคงในทางทหาร เนื่องจากมีสมาชิกเป็นผู้ควบคุมกำลังหลักในเมืองหลวง และคณะกรรมการกลางกลาโหมก็ล้วนเป็นสมาชิกคณะราษฎร ทำให้กองกำลังที่อยู่ในความดูแลของคณะราษฎรได้เปรียบกองกำลังจากต่างจังหวัด ซึ่งกลายเป็นฐานในการนำไปสู่การก่อกบฏในปี 2476 ที่รู้จักกันในชื่อ “คณะกบฏบวรเดช” อย่างไรก็ดี การปฏิรูปดังกล่าวก็คงอยู่ได้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ เนื่องจากการก่อกบฏในคราวนั้น ทำให้คณะราษฎรมีความชอบธรรมที่จะกำจัดผู้ต่อต้านในกองทัพได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งพระยาทรงฯ หนึ่งในสมาชิกคณะราษฎรและคนต้นคิดปฏิรูปก็หมดอำนาจไปหลังไปเข้ากับพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกในการรัฐประหาร สั่งปิดสภาโดยไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ แล้วถูกฝ่ายพระยาพหลฯ และหลวงพิบูลสงคราม (จอมพล ป. พิบูลสงคราม) ยึดอำนาจคืน  ทั้งสองเหตุการณ์ช่วยให้หลวงพิบูลฯ ผู้ปราบกบฏ กลายเป็นผู้นำกองทัพตัวจริง นำไปสู่การยุบคณะกรรมการกลางกลาโหม และฟื้นฟูอำนาจให้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งหลวงพิบูลฯ ได้ขึ้นเป็นเจ้ากระทรวงในปีต่อมา ทำให้โครงสร้างการบริหารงานแบบเสียงข้างมากในกระทรวงกลาโหมของคณะราษฎรจบลงในระยะเวลาอันสั้น