พระองค์เจ้าบวรเดช: จากผู้นำกลุ่มกบฏบวรเดช สู่นักออกแบบผ้าโขมพัสตร์
เมื่อเอ่ยพระนาม พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช คนไทยส่วนใหญ่จะจดจำได้จากการเป็นอดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม และผู้นำกลุ่ม ‘กบฏบวรเดช’ ผู้ก่อการกบฏเพราะต้องการยึดอำนาจทางการเมืองคืนจากรัฐบาลของคณะราษฎร ที่เปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศสยาม จากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นราชาธิปไตยใต้รัฐธรรมนูญ แต่อีกมุมหนึ่งของชีวิตนอกจากการเมือง พระองค์คือนักออกแบบลายผ้าผู้ก่อตั้งแบรนด์ ‘โขมพัสตร์’
หลังจากพระองค์เจ้าบวรเดชพ่ายแพ้ในการก่อกบฏบวชเดช ปี 2476 จนพระองค์กับ หม่อมเจ้าผจงรจิตร์ กฤดากร ผู้เป็นชายา ต้องลี้ภัยทางการเมืองไปยังไซง่อน ประเทศเวียดนาม พอสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงจึงย้ายไปอยู่กัมพูชา ระหว่างอยู่ต่างแดน พระองค์สร้างรายได้ด้วยการเปิดโรงงานทอผ้าและร้านค้าถ่าน สุดท้ายกลับเข้ามายังประเทศไทยอีกครั้งเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ปี 2491 เนื่องจากได้รับการนิรโทษกรรม
เมื่อกลับมายังดินแดนบ้านเกิดหลังจากต้องลี้ภัยนาน 16 ปี และไม่ได้ทำงานราชการอีกต่อไป พระองค์เจ้าบวรเดชกับหม่อมเจ้าผจงรจิตร์เลือกอาศัยอยู่ที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สร้างโรงงานย้อมผ้าพิมพ์ผ้าขึ้นในปี 2491 โดยใช้ชื่อว่า ‘โขมพัสตร์’ โดยโขมมีความหมายว่าละเอียด ส่วนพัสตร์หมายถึงผ้า จำหน่ายผ้าพิมพ์ลายแบบละเอียด แรกเริ่มทำผ้าด้วยการวาดมือทำมือทุกกระบวนการผลิต ควบคู่กับการพิมพ์ลายลงผ้าแบบสกรีนพรินติ้ง (Screen Printing) ถือเป็นเจ้าแรก ๆ ของไทยที่มีวิธีทำลายผ้าด้วยเทคโนโลยีทันสมัย
แรกเริ่มเมื่อตั้งโรงงาน พระองค์เจ้าบวรเดชกับภริยาศึกษาเรื่องลายไทยจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ประกอบกับการเรียนรู้เรื่องการย้อมผ้าของชาวเวียดนาม คำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ สังเกตว่าค่านิยมการสวมใส่เสื้อผ้าและข้าวของเครื่องใช้ของคนไทยช่วงเวลานั้นรับวัฒนธรรมตามแบบชาติตะวันตก นำวิชาที่ติดตัวเมื่อครั้งลี้ภัยมาสร้างสรรค์ลายผ้าผสมผสานให้ตรงตามความชอบของชาวไทย
ลวดลายประยุกต์บนผ้าของโขมพัสตร์บอกเล่าเรื่องราวความเป็นไปจากอดีต สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวไทยทั้งภาพวัดอรุณ ภาพเด็กหัวจุกเรือหงส์ บ้านเรือนของชาวไทย ไปจนถึงลายไทยเดิม อย่างลายดอกจิก เทพพนม หรือดอกบัว นำเสนอในรูปแบบที่คนไทยสมัยนั้นมองว่าไม่ใช่ของที่สวมใส่แล้วเชย
นอกจากการทำเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย โขมพัสตร์ยังแตกไลน์สินค้าให้หลากหลายมากขึ้น ทำผ้าใช้กับชุดชา สำหรับกลุ่มคนต้องการจิบชายามบ่ายแบบชาวอังกฤษ ทำผ้าพันคอ ปลอกหมอน ผ้ารองจานบนโต๊ะรับประทานอาหาร ทว่าหลังจากดูแลโรงงานผ้าของตนเองได้ราว 5 ปี พระองค์เจ้าบวรเดชก็จากไปในปี 2496 ด้วยวัย 76 ปี
ธุรกิจผ้าโขมพัสตร์ถูกดูแลต่อโดยหม่อมเจ้าผจงรจิตร์ กฤดากร ออกแบบลวดลายใหม่ ๆ ที่ได้จากการสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัวมากขึ้น เช่น นกในย่านสีลมเกาะบนเสาไฟฟ้า ทว่าลายผ้าโดดเด่นที่สุดของโขมพัสตร์คงหนีไม่พ้นผ้าเกี้ยวพิมพ์ทองที่ประยุกต์จากศิลปะเก่าแก่ของอินเดีย ออกแบบอย่างพิถีพิถัน ผ่านกระบวนการผลิตสลับซับซ้อนหลายขั้นตอน โด่งดังจากการถูกนำไปใช้ตกแต่งพระที่นั่งวิมานเมฆ จนได้รับความนิยมจากชาวไทยเมื่อหลายสิบปีก่อนอย่างล้นหลาม ทำให้ผ้าเกี้ยวกลายเป็นสัญลักษณ์ของโขมพัสตร์ เป็นมรดกตกทอดมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลานถึงทุกวันนี้
แม้หลายคนจะไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับมุมมองทางการเมืองของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช แต่พระองค์นับเป็นอีกผู้หนึ่งที่มีความสามารถหลากหลาย น้อยคนนักจะได้รู้ถึงชีวิตอีกแง่มุมที่พระองค์ใช้เวลาอยู่กับผ้าและลายไทย แม้จะเป็นการสร้างอาชีพเพื่อเอาตัวรอด แต่เวลาเดียวกันได้สร้างสรรค์ศิลปะไทยประยุกต์ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ลายไทยกับวัฒนธรรมไทยถูกส่งต่อมาสู่ปัจจุบันในรูปแบบศิลปะบนผืนผ้า
ที่มา
นายหนนวย. 2530. เจ้าฟ้าประชาธิปกราชันผู้นิราศ. กรุงเทพฯ
https://www.siamdiscovery.co.th/explore/KHOM-STORY-2018/328
https://issuu.com/magazine1nai/docs/prachuapkhirikhan/121
เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์