29 มิ.ย. 2563 | 15:39 น.
“เธอไม่ได้ลงวิ่งแข่งเพราะอยากวิ่ง แต่เธอทำเพราะอยากช่วยชีวิตชายผู้เป็นที่รัก”
เรื่องราวชีวิตของ ลัตตา คาเร (Lata Kare) หญิงชราชาวอินเดียที่ลงแข่งวิ่งอย่างไม่หยุดหย่อน สามารถเป็นเรื่องเล่าโรแมนติกสวยงาม ทว่าเวลาเดียวกันกลับเต็มไปด้วยความเจ็บปวด เมื่อชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งต้องพบกับอุปสรรคครั้งใหญ่เพราะสามีเกิดล้มป่วยขึ้นมา และเธอก็ไม่มีเงินเพื่อรักษาเขาให้หายจากความเจ็บป่วย ก่อนชีวิตของเธอจะโด่งดังไปทั่วโลก ลัตตากับสามีใช้ชีวิตอยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ของเมืองบุลดานา รัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) ประเทศอินเดีย ทำอาชีพรับจ้างทั่วไป จัดของ ยกของ ทำความสะอาด แต่ส่วนใหญ่พวกเขาทำงานเป็นลูกจ้างในฟาร์มของเกษตรกรชนชั้นกลาง ใคร ๆ ต่างก็มองว่าพวกเขาเป็นคู่รักขยันทำงาน หนักเอาเบาสู้ อยู่กันด้วยความรักความเข้าใจจนล่วงเลยวัยหนุ่มสาวเข้าสู่วัยกลางคน ลัตตามีลูกทั้งหมด 4 คน ลูกสาวสามคนแต่งงานออกเรือนไปหมดแล้ว เหลือลูกชายหนึ่งคนที่อยู่กับพ่อแม่และกำลังหางานทำ ชีวิตของคู่สามีภรรยาดำเนินไปเหมือนทุกวัน ทำงานแล้วกลับบ้าน ออกจากบ้านเพื่อไปทำงาน วันเวลาผ่านไปจนรู้อีกทีก็แก่ตัวลงเรื่อย ๆ และโรคภัยตามวัยเริ่มย่างกรายเข้ามาหาทั้งคู่ ปี 2014 สามีของลัตตาล้มหมอนนอนเสื่อ เขามีอาการหน้ามืด บ้านหมุน คล้ายจะเป็นลมอยู่บ่อย ๆ ลัตตาจึงพาเขาไปหาหมอชุมชนเพื่อทำการรักษา ทว่าเมื่อหมอตรวจร่างกายเขาคร่าว ๆ กลับไม่สามารถวินิจฉัยได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ชายที่ป่วยหนักต้องพึ่งเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย หมอแนะนำว่าหากต้องการรู้อาการป่วยที่แม่นยำ เธอต้องพาสามีไปหาหมอยังโรงพยาบาลในเมืองใหญ่ที่อยู่ห่างออกไปราว 400 กิโลเมตร ลัตตาไม่สามารถพาสามีไปหาหมอได้ทันที เธอไม่มีเงินมากพอสำหรับค่ารักษาที่คาดเดาไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงเงินที่มีไม่มากพอเรียกรถพยาบาลมารับ หรือค่าเดินทางด้วยการขึ้นรถเมล์หรือรถไฟไปในเมือง พวกเขาไม่มีเงินจนต้องยอมอับอายไปหยิบยืมจากเพื่อน ๆ และลูกสาวที่แต่งงานเข้าบ้านฝ่ายชายไปแล้ว จนท้ายที่สุดได้เงินมาก้อนหนึ่งพอให้เข้าเมืองเพื่อรับการรักษา เมื่อมาถึงโรงพยาบาลในเมือง เธอต้องเจอกับเรื่องกลุ้มใจอีกครั้ง เมื่อไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลเพราะไม่ใช่ชาวเมืองมหาราษฏระแต่กำเนิด หมอวินิจฉัยอาการและจ่ายยาเบื้องต้นให้ พร้อมกับแนะนำว่าการตรวจด้วยเอ็มอาร์ไอ MRI (เครื่องมือทางการแพทย์คลื่นวิทยุกับคลื่นสนามแม่เหล็กแรงสูง) สามารถทำให้รู้ว่าเขาป่วยเพราะอะไร ทว่าการตรวจหนึ่งครั้งมีค่าใช้จ่ายครั้งละ 5,000 รูปี คิดเป็นเงินไทยราว 2,100 บาท แล้วคนชนชั้นแรงงานค่าแรงน้อยนิดจะไปเอาเงินก้อนนี้มาจากไหน ? ค่าแรงของสองสามีภรรยาไม่มากพอให้เขาได้เข้าเครื่องสแกนทันที หากเก็บออมเงินโดยไม่ซื้ออะไรเลยก็ยังไม่พอเพราะลัตตาต้องทำงานคนเดียว ส่วนโรคร้ายก็รอไม่ได้ ระหว่างจมกับความท้อแท้หมดสิ้นหนทาง ชาวบ้านในชุมชนรู้สึกสงสารชะตาชีวิตของพวกเขา จึงแนะนำให้ลัตตาลองลงชื่อเข้าร่วมการแข่งขันวิ่ง ‘บารามาติ มาราธอน’ (Baramati Marathon) ที่จะจัดขึ้นอีกไม่กี่วันข้างหน้า เพราะหากชนะจะได้เงินรางวัล 5,000 รูปี พอดิบพอดีกับค่าเข้าเครื่องตรวจ MRI “แค่วิ่งให้ชนะก็ได้เงินแล้ว” ฟังดูเหมือนง่าย แต่เมื่อลองทำแล้วยากกว่าที่คิด ลัตตาเป็นเพียงคนจากชนชั้นแรงงาน พวกเขามีเงินพอให้อยู่กิน ไม่มีเงินซื้อรองเท้าสำหรับวิ่ง เครื่องแต่งกายก็มีเพียงแค่ส่าหรี แถมยังไม่มีเวลาซ้อมมากพอเพราะต้องทำงานรับจ้างรายวัน รวมถึงอายุของเธอที่ปาเข้าไป 62 ปี หากดึงดันลงแข่งวิ่งทั้งที่ไม่มีอะไรสนับสนุนเลย เธออาจต้องเจอกับปัญหาสุขภาพภายหลัง เวลานี้หญิงชราไม่มีอะไรจะเสียอีกต่อไป เธอตัดสินใจลงแข่งขันวิ่งประเภท 3 กิโลเมตร ที่แบ่งกลุ่มผู้แข่งขันจากอายุ ปรับตารางชีวิตใหม่ด้วยการตื่นเช้ากว่าปกติ 2-3 ชั่วโมง ลุกออกมาวอร์มร่างกายช่วงเช้ามืด สวมรองเท้าแตะเก่า ๆ ซ้อมวิ่งในที่ลับตาคนพร้อมกับเสียงประท้วงของลูกชาย เขาบอกว่าแม่ไม่มีวันทำได้เพราะเธอไม่เคยซ้อมมาก่อน ไม่เคยรู้จักเทคนิคการวิ่งเพื่อแข่งขัน และแทบไม่มีความเป็นไปได้เลยว่าเธอจะทำสำเร็จ เมื่อถึงวันแข่งขัน เธอกินข้าวเช้าเรียบร้อย สวมรองเท้าแตะกับชุดส่าหรีที่ดูอย่างไรก็ไม่เหมาะกับการไปแข่งวิ่ง พอมาถึงงานทางผู้จัดไม่อยากให้เธอลงแข่ง แต่ลัตตากับชาวบ้านที่รู้จักเธออ้อนวอนขอให้ได้ลงแข่งเพื่อร่วมชิงเงินรางวัลครั้งนี้ จนทีมงานใจอ่อนยอมให้หญิงชราชุดส่าหรีได้ลองวิ่งดูสักครั้ง ลัตตาประจำอยู่เส้นสตาร์ท แฟชั่นของเธอสามารถสร้างความแปลกใจให้กับคนในงาน การแข่งครั้งนี้นักวิ่งหลายคนสวมรองเท้ากีฬา กางเกงขาสั้นวิ่งสบาย และเสื้อที่ทำจากเนื้อผ้าลดการเสียดสีกับผิวกาย แต่เธอมาด้วยชุดรุ่มร่าม แถมไม่สนใจสายตาดูแคลน เริ่มทำสมาธิมองตรงไปข้างหน้า เมื่อเสียงปืนเริ่มการแข่งขันดังขึ้นเธอออกตัววิ่งสุดชีวิตเพื่อไปถึงเส้นชัยเป็นคนแรกให้ได้ การวิ่ง 3 กิโลเมตร ไม่ได้อาศัยแค่ความเร็วลมกรดเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องอาศัยความอึดเพื่อประคองความเร็วไปให้ถึงเส้นชัยก่อนหมดแรง หลังจากลัตตาวิ่งออกจากจุดเริ่มต้นได้ไม่ถึง 3 นาที รองเท้าแตะคู่ใจข้างหนึ่งดันขาดระหว่างวิ่ง ช่วงเสี้ยววินาทีแห่งการตัดสินใจ ลัตตาสลัดรองเท้าอีกข้างทิ้ง วิ่งต่อแบบเท้าเปล่าไปจนถึงเส้นชัยเป็นคนแรก พร้อมกับเสียงเชียร์กึกก้องจากฝูงชน แทบไม่มีใครเชื่อสายตาว่าหญิงชราตัวเล็กท่าทางอ่อนแอจะวิ่งมาถึงปลายทางเป็นคนแรก เธอทำให้วงพนันข้างสนามเกิดความวุ่นวาย ไม่มีใครคิดมาก่อนว่าผู้หญิงที่ไม่มีความพร้อมทั้งอุปกรณ์หรือการฝึกซ้อม สามารถพุ่งสู่ชัยชนะเพราะพลังใจที่อยากช่วยสามี หลังเธอคว้าเงินรางวัล 5,000 รูปี เรื่องราวการกัดฟันสู้เพื่อคนรักของลัตตาถูกเล่าบนหน้าหนังสือพิมพ์และสื่อออนไลน์ กระจายเรื่องของเธอไปทั่วอินเดีย“ไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าผู้เข้าแข่งขันที่มาด้วยรองเท้าแตะกับชุดรุ่มร่ามจะคว้าชัยชนะไปได้ ถือเป็นเรื่องน่ายินดีมากจริง ๆ” - ซาชิน ผู้จัดงานแข่งขันบารามาติ มาราธอน
มีคนจำนวนไม่น้อยเห็นข่าวและอยากยื่นมือเข้าช่วยเหลือลัตตา จนเธอสามารถมีเงินเก็บมากพอรักษาอาการป่วยสามี นอกจากนี้เรื่องราวอันน่าทึ่งถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์เรื่อง Lata Bhagwan Kare (2020) ที่ทำให้คนทั่วโลกรู้จักเธอมากขึ้น สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอีกมากที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาที่แก้ไม่ตก ชีวิตต้องดิ้นรนต่อสู้ของลัตตาต่อยอดจนเกิดการตั้งคำถามถึงระบบการทำงานของรัฐ ชาวอินเดียเมื่อรู้เรื่องราวของเธอตั้งคำถามว่า รัฐบาลสามารถช่วยแบ่งเบาปัญหาโรคภัยไข้เจ็บของประชาชนอย่างไรบ้าง หรือคนไม่มีเงินก็ต้องดิ้นรนทุกวิถีทาง เหมือนอย่างที่ลัตตาต้องลงวิ่งแข่งเพื่อนำเงินไปรักษาสามี ไม่มีใครช่วย ไม่มีโอกาส แล้วต้องทำอย่างไรถึงจะลดช่องว่างขนาดใหญ่ของสังคมอินเดียได้ ด้านลัตตาเมื่อหมดห่วงเรื่องอาการเจ็บป่วยของคนรัก เธอตัดสินใจลงแข่งขันบารามาติ มาราธอน ในทุก ๆ ปี และคว้าชัยชนะได้สามปีติดกันแล้ว แม้ตอนนี้อายุใกล้แตะ 70 ปี ก็จะยังวิ่งต่อไปเรื่อย ๆ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือแรงจูงใจที่ทำให้ลงวิ่งในตอนนี้แตกต่างจากการวิ่งครั้งแรก แรกเริ่มเธอวิ่งเพื่อหวังเงินไปรักษาสามี แต่ตอนนี้เธอวิ่งเพราะมันคือส่วนหนึ่งของความทรงจำล้ำค่าระหว่างเธอกับสามีไปเสียแล้ว ที่มา https://timesofindia.indiatimes.com/entertainment/marathi/movie-reviews/lata-bhagwan-kare/movie-review/73333001.cms http://blog.angryasianman.com/2014/01/file-under-badass-61-year-old-barefoot.html https://postcard.news/extra-ordinary-story-ordinary-woman-saving-ailing-husband-check/ เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์ .