คุยกับ 'อิ อิ ชอว์' นักเคลื่อนไหวเมียนมา ผู้อุทิศชีวิตให้การรักษา HIV ในหมู่แรงงานอพยพทั่วถึง
หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุข และภาคีเครือข่ายด้านเอดส์ ได้กำหนดให้วันที่ 1 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวัน VCT Day (Voluntary Counseling and Testing Day) หรือ วันรณรงค์ตรวจเอชไอวี (HIV) เพื่อให้คนตระหนักถึงความสำคัญของสถานการณ์ติดเชื้อ HIV รวมถึงประโยชน์ด้านต่าง ๆ ของการรับคำปรึกษา การตรวจหาการติดเชื้อ HIV โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีพฤติกรรมเสี่ยง
สำหรับประชาชนชาวไทย การให้ความรู้เกี่ยวกับ HIV แม้จะยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด แต่ก็นับว่าก้าวมาจากจุดเริ่มต้นได้ไกลมากแล้ว แต่ปัญหา HIV ไม่ได้มีอยู่เพียงกลุ่มคนไทยเท่านั้น เพราะในกลุ่มผู้อพยพและแรงงานข้ามชาติเองก็ยังต้องประสบกับปัญหาและการรักษาพยาบาลที่ไม่ทั่วถึงอยู่
สำหรับวันที่ 1 กรกฎาคม ประจำปี 2563 นี้ The People ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณ อิ อิ ชอว์ (Ei Ei Chaw) สตรีนักเคลื่อนไหวชาวเมียนมา ผู้เกิดและโตมาในครอบครัวของแรงงานอพยพในประเทศไทย ด้วยประสบการณ์การเป็นผู้อพยพตลอดชีวิตที่เธอเติบโตมา ทำให้อิชอว์กล้าที่จะเข้ามาทำงานช่วยเหลือใน มูลนิธิการพัฒนาการศึกษาเพื่อการพัฒนา (Foundation for Education and Development หรือ FED) ด้วยหวังจะใช้ความเข้าใจในวัฒนธรรมและภาษา ส่งเสริมให้เหล่าแรงงานอพยพจากเมียนมามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เธอได้ใช้โอกาสนี้อธิบายสถานการณ์ผู้ติดเชื้อ HIV ในพื้นที่จังหวัดพังงา รวมถึงความคาดหวังของมูลนิธิฯ ที่อยากให้กลุ่มแรงงานอพยพมีคุณภาพชีวิตและการจัดการด้านสุขภาพที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
The People: คุณเข้ามาร่วมงานกับ FED ได้อย่างไร
อิ อิ ชอว์: ก่อนหน้านี้เคยทำงานกับกลุ่มสตรีเมียนมามาก่อนค่ะ ตอนนั้นเขามีการจัดตั้งกลุ่มผู้หญิง เพื่อพัฒนาศักยภาพของเยาวชนแล้วก็สตรีในเขตชายแดน เราก็ทำงานเป็น NGO มาตั้งแต่อายุ 18 แล้ว พอช่วงปี 2004 มันเกิดมีสึนามิขึ้นมา เราเลยได้มีโอกาสมาทำงานเป็นล่ามช่วยแปลภาษาให้พวกอาสาสมัครจากองค์กรต่าง ๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือในตอนนั้น พอสถานการณ์ดีขึ้นก็มีคนมาชวนไปทำงานกัน FED ที่เขาเคลื่อนไหวช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในจังหวัดพังงาพอดีค่ะ เขาเห็นว่าเราสื่อสารทั้งภาษาไทย เมียนมา มอญ แล้วก็ทวายได้ เขาเลยคิดว่าเราน่าจะช่วยเหลือกลุ่มแรงงานเมียนมาที่มีอยู่เยอะในจังหวัดนี้ได้ ตอนนั้นเราก็อยากทำงานด้านนี้อยู่แล้วเลยตอบตกลงไป
The People: ทำงานร่วมกับ FED เป็นอย่างไรบ้าง
อิ อิ ชอว์: ช่วงแรกที่เข้ามาก็เรียนรู้ระบบของที่นี่ก่อนค่ะ FED หลัก ๆ แล้วเราจะส่งเสริมอยู่ 3 ด้านคือ ด้านสุขภาพ การศึกษา แล้วก็สร้างเสริมสิทธิของแรงงานข้ามชาติ ก่อนหน้านี้สิ่งที่ FED ทำมาคือการทำงานเพื่อให้ระบบบริการด้านสุขภาพ เช่น การตรวจ และการให้คำปรึกษาเอชไอวี (HIV) ในกลุ่มแรงงานอพยพคลอบคลุมมากยิ่งขึ้น มีทั้งการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือชาวอพยพ โดยมุ่งเน้นด้านการป้องกันการใช้แรงงานเด็ก และการให้ความรู้เรื่องสิทธิแรงงาน รวมถึงทำงานร่วมกับองค์กรไม่แสวงผลกำไรอื่นๆ เพื่อผลักดัน และสนับสนุนเรื่องการปกป้องสิทธิ์ของแรงงานต่างด้าวด้วย สำหรับตัวอิชอว์เอง ได้มีโอการเข้าไปทำงานภายใต้โครงการส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งทำงานเป็นเจ้าหน้าที่คอยจัดอบรมให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่ชุมชนแรงงานข้ามชาติ แล้วก็เด็กนักเรียนชาวเมียนมาค่ะ
The People: HIV เป็นปัญหาใหญ่ขนาดไหนในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ
อิ อิ ชอว์: ใหญ่กว่าที่คิดค่ะ คือแรงงานส่วนใหญ่ที่ข้ามมาทำงาน เขาไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเลย จากทีแรกที่เราลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อมูลสุขภาพของแรงงาน เราก็พบว่าใน 7 อำเภอของจังหวัดพังงาที่เราสำรวจ มีปัญหาเรื่องผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV สูงเป็นอันดับต้น ๆ ทีนี้เพราะเขาขาดความรู้เกี่ยวกับโรค พอเจ็บไข้ได้ป่วยเขาก็จะไม่กล้าไปหาหมอ เพราะเขาพูดไทยไม่ได้ แถมกลัวค่าใช้จ่ายแพง เขาก็เลยไม่ยอมไปตรวจ ไม่ยอมไปรักษา ปรากฎว่าผลที่ตามมามันส่งผลกระทบต่อชุมชนที่เขาอยู่ เพราะเชื้อมันลามไปติดคนอื่นด้วย เราเลยมองว่ามันเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องได้รับการจัดการ
The People: ก่อนหน้านี้กลุ่มแรงงานอพยพมีวิธีจัดการตัวเองยามเจ็บป่วยอย่างไร
อิ อิ ชอว์: เขาก็จะหาซื้อยาตามร้านขายยาไปก่อนค่ะ พอป่วยหนักจริง ๆ ถึงจะไปหาหมอ แต่ส่วนใหญ่ถ้าเลือกได้เขาก็ไม่อยากไปเท่าไหร่ หลายคนเขายังเชื่อว่าที่เป็นไข้ป่วยหนักขนาดนี้คือมีสิ่งไม่ดี มีผีมาสาปอยู่เลย เขาก็จะไปหาพวกหมอผีตามบ้าน ไปรักษาแบบนั้นเอา กรณีที่ไม่ทันได้รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร ก็ตายไปทั้งอย่างนั้น แถมยังแพร่เชื้อไว้ให้คนในครอบครัวไว้อีกด้วยค่ะ
The People: ทาง FED มีการรับมือกับปัญหานี้อย่างไรบ้าง
อิ อิ ชอว์: ถ้าเป็นในส่วนของมูลนิธิฯ จะเป็นการให้ความช่วยเหลือด้านการในส่วนที่อิชอว์รับผิดชอบ หลัก ๆ แล้วเราเน้นให้ข้อมูล ให้ความรู้ และเดินหน้าสร้างความเข้าใจในกลุ่มผู้อพยพค่ะ เราเริ่มจากการลงไปสำรวจชุมชน ไปเยี่ยมบ้านในพื้นที่ที่มีแรงงานอยู่เยอะ เพื่อดูว่าเขามีปัญหาสุขภาพเรื่องอะไรบ้าง พอได้ข้อมูลมาเราก็จัดอบรมให้ความรู้กับชุมชนนั้น ๆ แต่ละชุมชนก็จะมีหัวข้อที่แตกต่างกันออกไปตามปัญหาที่เขาเจอค่ะ แต่สำหรับเรื่อง HIV และการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยเอดส์ อันนี้เป็นหัวข้อสำคัญที่เราจะอบรมให้กับทุกชุมชนอยู่แล้ว นอกจากนี้เราก็มีการจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครด้านสุขภาพในแต่ละชุมชน ให้เขาเป็นตัวแทนที่คอยทำงานให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพและช่วยเราประสานกับชุมชน เหมือนเป็นเครือข่ายในพื้นที่ของเราค่ะ กลุ่มนี้ก็จะมาช่วยเสริมการทำงานให้กับบุคลากรจาก FED อีกที
The People: การทำงานสร้างเสริมสุขภาพในกลุ่มผู้อพยพ มีอุปสรรคอะไรไหม
อิ อิ ชอว์: อุปสรรคใหญ่ ๆ คิดว่าเป็นการขาดแคลนบุคลากรค่ะ อย่างที่บอกว่าเราทำงานใน 7 อำเภอ แต่ว่าบุคลากรของเราก็ยังมีไม่มากพอที่จะลงพื้นที่ได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะพื้นที่ทุรกันดาร เรามีปัญหาด้านการสื่อสารด้วยเพราะผู้อพยพเองก็มาจากหลายชนเผ่า ทั้งมอญ ทวาย และเมียนมา ซึ่งไม่ใช่ว่าเจ้าหน้าที่ของเราจะศึกษาด้านนี้มาทุกคน นอกจากนี้ก็มีเรื่องงบประมาณที่เป็นปัญหา เรามีงบประมาณจำกัดในการจัดอบรมหรือผลิตสื่อให้ความรู้ต่าง ๆ ไหนจะเรื่องการว่าจ้างบุคลากรมาช่วยเราทำงานอีก ตรงนี้ก็เป็นปัญหาใหญ่ ๆ ที่ต้องรีบแก้ไขค่ะ
The People: ทำไมจึงเลือกขอทุนจากโครงการ Gilead Asia Pacific Rainbow Grant 2019
อิ อิ ชอว์: อันนี้ก็มาจากอุปสรรคที่บอกไปค่ะ เพราะมูลนิธิฯ ของเราเป็นกลุ่มคนเล็ก ๆ ที่พยายามจะช่วยคนในพื้นที่จ.พังงาให้ได้มากที่สุด เราจึงอยากร่วมมือกับหน่วยงานที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ในจังหวัดพังงาเอง มีกลุ่มแรงงานที่ลงทะเบียนเป็นผู้อพยพอย่างถูกต้องถึง 22000 คน และยังมีที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนอีกจำนวนหนึ่ง ด้วยจำนวนที่มากขนาดนี้ เราจำเป็นต้องขยายขอบข่ายการทำงาน ทั้งในด้านอุปกรณ์และการเข้าถึงผู้แรงงานอพยพ ถ้าหากไม่ได้ทุนจาก Gilead เราจะไม่สามารถจ้างคนเพิ่ม และไม่สามารถจัดทำเอกสารต่าง ๆ เพื่อแจกจ่ายให้ความรู้ รวมถึงไม่สามารถเดินทางไปช่วยผู้อพยพในพื้นที่ทุรกันดารได้ค่ะ
The People: ทาง FED มีแผนจะนำเงินทุนจาก Gilead Asia Pacific Rainbow Grant ไปทำอะไร
อิ อิ ชอว์: อันดับแรกเราวางแผนว่าจะลงทุนด้านการสื่อสารและให้ความรู้แก่กลุ่มผู้อพยพก่อนค่ะ เราต้องทำให้เขาได้รับข้อมูลที่เป็นปัจจุบันที่สุด ทั้งในแง่ของความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค สิทธิในการรักษาเอชไอวี คือในขณะนี้เราเตรียมทำข้อมูลเพื่อเผยแพร่ ทั้งช่องทางออนไลน์ และสื่อสิ่งพิมพ์สำหรับแจกจ่ายแก่กลุ่มแรงงานใน 7 อำเภออยู่ค่ะ นอกจากนี้เราก็ยังมีแผนที่จะว่าจ้างและฝึกอบรมบุคลากร ที่จะทำหน้าที่เป็นล่ามซึ่งประจำอยู่ตามโรงพยาบาล และสถานอนามัยหลาย ๆ แห่งในจังหวัด เพื่อคอยให้ความช่วยเหลือด้านการสื่อสารกับกลุ่มแรงงานด้วยค่ะ ในกรณีนี้นอกจากเอชไอวีแล้ว เราคิดว่ามันจะช่วยบรรเทาปัญหาที่เกิดในกระบวนการรักษาโรคอื่น ๆ ได้ด้วย
The People: เป้าหมายต่อไปของ FED ต่อจากนี้ อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไร
อิ อิ ชอว์: สำหรับเป้าหมายขององค์กร ก็คงเป็นการที่กลุ่มอพยพสามารถเข้าถึงการรักษาและรับรู้สิทธิของตัวเองได้มากกว่าที่เป็นอยู่ค่ะ กรณีของ HIV เราอยากให้เขากล้าเข้ามาทำการตรวจหาเชื้อ ถ้าเจอก็รักษา ถ้าไม่เจอก็จะได้อุ่นใจ เราหวังให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้ต่อไปในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับคนที่ไม่ป่วย ซึ่งสังคมที่มีความเข้าใจ ก็จะไม่ปฏิบัติต่อผู้ป่วยอย่างรังเกียจ เขาก็จะยังเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตอยู่ร่วมกับชุมชนได้เหมือนเดิม ข้อนี้มันทำให้เราคิดว่าการสร้างความเข้าใจเป็นเรื่องสำคัญจริง ๆ
The People: แล้วความเห็นของคุณ อยากเห็นอนาคตของกลุ่มแรงงานข้ามชาติเป็นอย่างไร
อิ อิ ชอว์: ถ้าเป็นตัวอิชอว์เอง ก็อยากเห็นแรงงานที่มาทำงานเขามีชีวิตที่ดีขึ้นค่ะ ที่จริงอิชอว์เข้าใจว่าทุกคนที่มาทำงานต่างบ้านต่างเมือง เป้าหมายของเขาอันดับหนึ่งคือมาหาเงิน อย่างอื่นอาจจะไม่สนใจเลย แต่เราไม่อยากให้มันเป็นแบบนั้น เราอยากให้เขาได้เรียนรู้วัฒนธรรม เรียนรู้ความเป็นอยู่ของคนในประเทศที่เขามาอยู่ด้วย เขาควรได้รู้ว่าหน้าที่แล้วก็สิทธิของตัวเองมีอะไรบ้าง และเขาก็ควรรับผิดชอบอะไรเพื่อให้บ้านเมืองของประเทศที่เขามาอยู่ไม่เสียหาย
อย่างในกรณีของจังหวัดพังงา เป็นจังหวัดท่องเที่ยวถูกไหมคะ ถ้าแรงงานมีการติดเชื้อเอชไอวีมันย่อมส่งผลไม่ดีต่อภาพลักษณ์ของจังหวัด เราไม่อยากให้เกิดเรื่องแบบนั้นค่ะ เราก็อยากให้พื้นที่ตรงนี้แม้จะมีแรงงาน มีคนในพื้นที่ มีนักท่องเที่ยวอยู่ด้วย เราก็อยากให้เขามีชื่อเสียงที่ดีต่อไปค่ะ