บัณฑิต อึ้งรังษี วาทยกรคาร์เนกี้ ฮอลล์ สู่ไลฟ์โค้ชสร้างความสำเร็จ
“ผมใช้เวลาไม่ถึง 10 ปี ในการสร้างตัวจากเด็กไทยธรรมดาคนหนึ่ง ไม่มีเส้นสาย กลายเป็นคนระดับโลก ผมอยากใช้เวลาที่เหลือในชีวิต สอนคนและสร้างคนให้มากที่สุด เพื่อช่วยสร้างประเทศไทยให้เป็นมหาอำนาจ”
บัณฑิต อึ้งรังษี วาทยกร (คอนดักเตอร์) ที่หลายปีมานี้ผันตัวไปเป็นไลฟ์โค้ชคนดัง และเป็นอาจารย์ของ ฌอน บูรณะหิรัญ ไลฟ์โค้ชรุ่นใหม่ที่เผชิญมรสุมอยู่ขณะนี้ กล่าวถึงตัวเองไว้ใน บัณฑิต อึ้งรังษี BUNDIT U. ช่องยูทูบของเขา ที่นับถึงต้นกรกฎาคมนี้มีผู้ติดตามกว่า 168,000 ราย ไม่นับแฟนเพจ บัณฑิต อึ้งรังษี Bundit Ungrangsee ที่มีผู้ติดตามกว่า 1.25 ล้านราย
สิบกว่าปีก่อน สังคมไทยรู้จักบัณฑิตจากโฆษณาสินค้ายี่ห้อหนึ่ง ที่เปิดด้วยเสียงของเจ้าตัวว่า “วันหนึ่งผมเดินหลงทางในนิวยอร์ก เลยถามคนที่เดินผ่านมาว่า ‘เฮ่ ผมจะไปคาร์เนกี้ ฮอลล์ ได้ยังไง’ เขาตอบผมว่า ‘คุณต้องซ้อม ซ้อม แล้วก็ซ้อม’” ต่อให้ตอนนั้นหลายคนอาจไม่รู้ว่า ‘คาร์เนกี้ ฮอลล์’ คืออะไร และสรุปแล้วคาร์เนกี้ ฮอลล์ ไปทางไหน แต่ด้วยแววตา สีหน้า และท่าทางที่มุ่งมั่นของบัณฑิต ก็ทำให้คนดูขณะนั้นเชื่อได้ไม่ยากว่าเขาคือ ‘ตัวจริง’ ที่ฟันฝ่าอุปสรรคไปถึงปลายทางความสำเร็จที่คาร์เนกี้ ฮอลล์ อย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้
บัณฑิตเรียนรู้การเล่นกีตาร์คลาสสิกตั้งแต่อายุราว 13 ปี สมัยเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญ เมื่อเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) บัณฑิตได้ขอครอบครัวโอนย้ายหน่วยกิตไปเรียนต่อที่ University of Wollongong ประเทศออสเตรเลีย เพราะจะได้เรียน 2 สาขาควบคู่กันไป คือ บริหารธุรกิจ เพราะที่บ้านทำธุรกิจส่วนตัว และ ดนตรี ซึ่งเป็นสิ่งที่รัก ในที่สุดเขาก็จบปริญญาตรีทั้ง 2 สาขาได้สำเร็จ จากนั้นไปเรียนต่อปริญญาโทด้านวาทยกรที่ University of Michigan สหรัฐอเมริกา ตามด้วยการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในประเทศที่มีชื่อเสียงด้านการเรียนการสอนดนตรี ทั้งที่อิตาลี ออสเตรีย รัสเซีย เยอรมนี
ฝีมือซึ่งได้รับการบ่มเพาะจนได้ที่ ทำให้ในปี 2541 บัณฑิตเป็นหนึ่งในวาทยกรรุ่นใหม่ 9 คนที่ได้รับการคัดเลือกจากทั่วโลก ให้ไปศึกษาด้านดนตรีที่ คาร์เนกี้ ฮอลล์ (Carnegie Hall) สถานที่จัดคอนเสิร์ตชั้นนำระดับโลกในสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งใน ค.ศ. 1891 (พ.ศ. 2434) ที่เหล่านักดนตรีใฝ่ฝันจะไปเปิดการแสดงอย่างน้อยสักครั้งในชีวิต (ที่นี่มีหลักสูตรการเรียนการสอนด้านดนตรีด้วย) ก้าวแรกที่คาร์เนกี้ ฮอลล์ นี้เอง เป็นประตูเปิดให้เขาได้รับทุนเรียนด้านดนตรีที่ Tanglewood Music Center ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ เช่นกัน
บัณฑิตเข้าร่วมการแข่งขันวาทยกรระดับนานาชาติหลายครั้ง และคว้ารางวัลมาได้เรื่อย ๆ ซึ่งครั้งที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขามากสุด และเป็นเสมือนใบเบิกทางให้คนไทยรู้จัก ‘บัณฑิต อึ้งรังษี’ ก็คือการแข่งขัน Maazel-Vilar International Conducting Competition ในปี 2545 ที่คณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยปรมาจารย์ด้านดนตรีทั้งหลาย ลงคะแนนให้บัณฑิตสูงกว่าผู้เข้าแข่งขันราว 360 คน ทำให้เขาคว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง (ในเว็บไซต์ของบัณฑิต ส่วนที่เป็นประวัติไม่ได้ระบุว่าเป็น ‘ผู้ชนะเลิศร่วม’ ขณะที่ The New York Times ระบุว่า การแข่งขันนี้มีผู้ชนะเลิศร่วมกัน 2 คนคือ บัณฑิต และ เซียน จาง จากจีน)
ชัยชนะและชื่อเสียงที่สั่งสม พาให้บัณฑิตได้รับเชิญไปอำนวยเพลงให้วงออร์เคสตราและโอเปรา เฮาส์ ชั้นนำต่าง ๆ ทั่วโลก รวมแล้วกว่า 400 คอนเสิร์ต ซึ่งวงต่าง ๆ ที่บัณฑิตเคยคอนดักต์มีเช่น New York Philharmonic Orchestra, Los Angeles Philharmonic Orchestra, Orchestra Filarmonica di Arturo Toscanini, La Fenice เป็นต้น ยังไม่นับวงออร์เคสตราในหลายประเทศ อย่าง สเปน ตุรกี เกาหลีใต้ ออสเตรีย ญี่ปุ่น รัสเซีย นิวซีแลนด์ ฮังการี มาเลเซีย รวมทั้งไทย ผลงานต่าง ๆ ทำให้ในปี 2548 เขาได้รับรางวัลศิลปาธร สาขาคีตศิลป์ ตามด้วยปี 2549 ที่ได้รับการแต่งตั้งจากกระทรวงวัฒนธรรม ให้เป็นทูตวัฒนธรรม
ปี 2553 บัณฑิตถูกตั้งคำถามจากคนในแวดวงดนตรีคลาสสิก เมื่อ ทฤษฎี ณ พัทลุง นักประพันธ์ดนตรีและวาทยกร สังเกตว่า ปกซีดีอัลบัม Heavenly Music ที่ปกหน้าเป็นรูปบัณฑิตคอนดักต์วงออร์เคสตรา ส่วนปกหลังบางส่วนเขียนว่า บทเพลงเหล่านี้ได้ถูกคัดสรร โดยคอนดักเตอร์ บัณฑิต อึ้งรังษี ตามสไตล์ “ดนตรีดี ๆ ไม่มีกระได” เป็นเพลงคลาสสิกที่เข้าถึงได้ง่าย สั้น ๆ และไพเราะ ทุกเพลงบรรเลงโดยนักดนตรีระดับโลกของยุโรป อาจทำให้เกิดความกำกวมว่า เพลงคลาสสิกในแผ่นซีดีนั้นคอนดักต์โดยบัณฑิต
“ด้วยความสงสัย หลังจากแกะพลาสติกแล้ว ผมจึงพลิกกล่องดูให้ทั่ว ทั้งข้างหน้า ข้างหลัง ข้างนอก ข้างใน… จนในที่สุดก็เจอ ข้างใต้! มาสังเกตตัวพิมพ์เล็กมาก เกือบต้องใช้แว่นขยายอ่าน หลบอยู่บริเวณใต้ที่ยึดแผ่นกลางกล่อง เขียนว่า “All tracks courtesy of the RFCM Symphony Orchestra conducted by Dr. Keith J. Salmon” (RFCM คือ Royalty-Free Classical Music, หรือ ‘ดนตรีคลาสสิคปลอดค่าลิขสิทธิ์’)” ทฤษฎีเขียนไว้ตอนหนึ่งในบล็อกส่วนตัว (ติดตามรายละเอียดต่าง ๆ ของประเด็นนี้ใน https://trisdee.wordpress.com/2010/09/23/the-disappointing-truth/)
เมื่อเรื่องกระจายออกไปในวงกว้าง บัณฑิตออกมาชี้แจงว่า
“สวัสดีครับ เพื่อน ๆ ผมบัณฑิต อึ้งรังษี ขอบคุณสำหรับทุกคอมเม้นต์ครับ ในสื่อที่ออกไป เขียนอย่างชัดเจนว่า ผมเป็น Presenter, Executive Producer แต่เป็น Conductor เฉพาะในบางเพลงเท่านั้น และเพลงที่คอนดักท์จะมีโน้ตไว้อย่างชัดเจนครับ (แต่คอนดักท์ทุกเพลงในแผ่น Just Good Music) โมเดลนี้ ที่ต่างประเทศก็ทำกันเป็นเรื่องปกตินะครับ ไม่ได้เป็นการหลอกลวงผู้บริโภค ผมปรึกษา Vice President ของ SONY/BMG ที่นิวยอร์ก ศิลปินใหญ่ ๆ ที่อเมริกา ยุโรปก็ทำแบบนี้ และลิขสิทธิ์ถูกกฎหมายทุกประการครับ แต่ถ้ายังไม่ชัดเจนเพียงพอสำหรับบางท่าน ผมจะแก้ไขให้ผู้ซื้อซีดีเข้าใจอย่างชัดเจนในอนาคตครับ ขอขอบคุณที่นำมาเสนอ เพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไขต่อไป
“จุดประสงค์ที่ผมทำซีดีชุดนี้คือ ต้องการให้ดนตรีคลาสสิกเข้าถึงคนไทยได้อย่างไม่แพง พยายามหาวิธีมานานแล้ว วิธีนี้เหมือนได้ผล เพราะได้รับการตอบรับที่ดี พอสมควร คนที่ไม่เคยฟังดนตรีคลาสสิกก็เขียนอีเมลเข้ามาหาผมแทบทุกวัน ว่าเขาได้เริ่มรักดนตรีดี ๆ แบบนี้ ผมอยากขอถือโอกาสนี้ เชิญชวนทุกท่านที่รักดนตรีคลาสสิกในเมืองไทย ช่วยกันชวนคนไทยฟังเพลงคลาสสิกเยอะ ๆ ผมเชื่อว่ายังมีคนไทยอีกมากมายที่จะต้อง “ทึ่ง” กับดนตรีคลาสสิกถ้าเขามีโอกาสได้ยินมันมากขึ้น และผมเชื่อว่าดนตรีนี้มีประโยชน์กับสังคมและคนไทยขอขอบคุณทุกคนที่พยายามสร้างกระแสเพลงคลาสสิกในเมืองไทย โดยเฉพาะคุณสมเถา ทฤษฎี และ ดร. สุกรี ที่ทำให้มีเด็ก ๆ เล่นดนตรีคลาสสิกมากขึ้น ผมเห็นแล้วประทับใจมาก”
ควบคู่กับการเป็นวาทยกร (และก่อนจะมีประเด็นปกซีดี) บัณฑิตที่พกบุคลิกความมั่นใจไปไหนมาไหนด้วยทุกแห่ง ก็ออกหนังสือแนว ‘ไลฟ์โค้ช’ กลั่นประสบการณ์และอุปสรรคของตัวเองออกมาเป็นตัวอักษร เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ที่ต้องการประสบความสำเร็จ ชื่อเรื่องว่า ‘ต้องเป็นที่ 1 ให้ได้’ เมื่อหนังสือเล่มแรกในชีวิตได้ผลตอบรับดี บัณฑิตจึงออกหนังสือ ’30 วิธีเอาชนะโชคชะตา’ ในปี 2550 ประกอบด้วยกฎข้อต่าง ๆ อย่าง คนโชคดีรู้ว่าโชคสามารถเปลี่ยนแปลงได้, คนโชคดีเชื่อว่าตัวเขาเองสามารถเปลี่ยนแปลงโชคนั้นได้, รู้จักกฎพ่อและกฎแม่แห่งโชคลาภ, จงบูชากฎแห่งแรงดึงดูด, กำจัดความเชื่อที่จำกัด ฯลฯ “กฎ 30 ข้อนี้เป็นกฎที่เป็นหลักสัจธรรม ใช้ได้ตลอดกาล มันจะเปลี่ยนชีวิตคุณ!! อย่าลืมนะครับ เราเป็นสร้างโชคของเราเอง ด้วยความคิด และการกระทำ” บัณฑิตบอกไว้เมื่อปี 2560
จากหนังสือสร้างแรงบันดาลใจให้ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค บัณฑิตขยายฐานผู้อ่านให้มากขึ้นด้วยหนังสือฮาวทูสร้างความรวย พร้อมแตกไลน์สินค้าไปสู่หนังสือพูดได้ (audio book) ซีดีคอร์สอบรมต่าง ๆ ขาดไม่ได้คือคอร์สเสวนาออนไลน์หลายคอร์ส เช่น ISEMINAR SMC (SMC ย่อมาจาก Superstar Millionaire Coach) ที่บรรยายว่า “คุณบัณฑิตจะถ่ายทอดทุกอย่าง แบบที่เขาลูกศิษย์ จากคนธรรมดา จนเป็นคนดัง เช่น บอย วิสูตร / ครูรุ้ง / เอเทน / ผู้กองเบนซ์ / ครูสิตา / ฌอน และอีก มากมาย ที่กำลังเป็น Star และ Superstar Coaches ในปัจจุบัน”
จากชายหนุ่มที่เดินตามความฝันจนไปสู่คาร์เนกี้ ฮอลล์ มาวันนี้สังคมรู้จัก บัณฑิต อึ้งรังษี ในฐานะไลฟ์โค้ชสอนความสำเร็จ อาจารย์ด้านไลฟ์โค้ชที่ ฌอน บูรณะหิรัญ ให้ความเคารพนับถือ และ ‘อาจารย์ของอาจารย์’ ที่เขาให้คำนิยามตัวเองไว้
ที่มา
https://www.youtube.com/user/TheBunditChannel/about
https://mgronline.com/live/detail/9470000053897
https://www.nytimes.com/2002/09/30/arts/and-then-there-were-two-prize-is-shared-in-conductors-competition.html
https://www.facebook.com/BunditUngrangsee/posts/1884903701549889/