การ์ตูนเรื่อง Saint Seiya อันโด่งดังนั้น ตีพิมพ์รายสัปดาห์ในนิตยสารการ์ตูนรายสัปดาห์ Weekly Jump (週刊少年ジャンプ) ของญี่ปุ่น ตั้งแต่ ค. ศ. 1986-1990 และมีการพิมพ์รวมเล่มเป็นเรื่องของตัวเองทั้งหมด 28 เล่มด้วยกัน เนื้อเรื่องจะเป็นการยำใหญ่ผสมระหว่างความเชื่อของหลายศาสนาที่เป็นที่รู้จักในญี่ปุ่น เคยได้พูดถึง แอนโดรเมด้า ชุน (Andromeda Shun) ในประเด็นของหนุ่มรูปงามเอาไว้เมื่อนานมาแล้ว คราวนี้ขอเขียนถึง เวอร์โก้ ชากะ (Virgo Shaka, 乙女座のシャカ) ในมุมมองของพุทธศาสนาบ้าง
ความน่าสนใจของตัวละครชากะนี้คือมีลักษณะแย้งกับเนื้อเรื่องหลักอย่างมาก เพราะเรื่อง Saint Seiya ประเด็นหลักคือเรื่องของเทพปกรณัมกรีก (Greek Mythology) ของทางตะวันตก แต่ชากะผู้นี้มีลักษณะของพุทธศาสนาเด่นชัดมาก เริ่มตั้งแต่ชื่อเลย คำว่า ชากะ หรือ ชะกะ (Shaka) จริง ๆ ย่อมาจากคำศัพท์คำว่า ชะกะมุนิ (Shakamuni) สะกดด้วยตัวอักษรคันจิว่า 釈迦牟尼 มีความหมายคือ “ศากยมุนี” เป็นการบอกทางอ้อมว่า ชากะอาจจะเป็น “พระศากยมุนีพุทธเจ้า” กลับชาติมาเกิดนั่นเอง (พุทธเถรวาทจะนิยมเรียกว่า “พระโคตมพุทธเจ้า” ขณะที่พุทธมหายานนิยมเรียกว่า “พระศากยมุนีพุทธเจ้า” ญี่ปุ่นนับถือพุทธแบบมหายานเพราะรับพุทธศาสนาผ่านทางจีน จึงเป็นพุทธศาสนาคนละนิกายกับเมืองไทย)
ในจักรวาลของ Saint Seiya นั้น เชื่อว่าพระเจ้ามีจริง ซึ่งก็คือเหล่าเทพ Olympians อย่างเช่น อาเธน่า, โพไซดอน, ฮาเดส ขณะที่ชากะเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดา แต่ชากะเป็นมนุษย์ที่ตรัสรู้แล้ว จึงได้รับสมญาว่า “บุรุษผู้ใกล้เคียงพระเจ้า” นั่นเอง เป็นการบอกทางอ้อมว่าผู้ตรัสรู้แล้วอย่างพระศากยมุนีพุทธเจ้า ตัดสินใจกลับชาติมาเกิดเป็นมนุษย์เพื่อปกป้องอาเธน่า และช่วยให้โลกรอดพ้นจากเงื้อมมือของเทพเจ้าผู้ชั่วร้าย ดังนั้น ชากะจึงเหมาะที่สุดที่จะเป็นเซนต์ของราศีกันย์ เพราะราศีกันย์หมายถึงหญิงพรหมจรรย์ พระศากยมุนีพุทธเจ้าที่ครองเพศบรรพชิตมาตลอดจึงจัดเป็นเพศพรหมจรรย์ได้
อีกทั้งการที่ชากะหลับตา (เกือบจะ) ตลอดเวลา โดยให้เหตุผลว่าเพื่อปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 และเพิ่มพลังให้ประสาทสัมผัสที่ 6 และที่ 7 ก็เป็นแนวทางของพุทธศาสนาที่ให้ลดละเลิกจากกิเลสจากรูป, รส, กลิ่น, เสียง, สัมผัส ในเนื้อเรื่องจึงกล่าวกันว่า อย่าให้ชากะลืมตา เพราะทุกสิ่งจะแหลกสลาย คือถ้าชากะลืมตาเมื่อไหร่ก็แปลว่าเอาจริงแล้ว (พลังคอสโม่เต็มเปี่ยม พร้อมปล่อยของ! ) นอกจากนี้ ชื่อไม้ตายของชากะแต่ละท่าก็มีชื่อเท่มาก ๆ แบบพุทธศาสนาเข้มข้นกันเลยทีเดียว ดังนี้
- ริคุโด รินเนะ (六道輪廻) - คือ สังสารวัฏหกภพภูมิ จะนำศัตรูไปสู่ภพภูมิทั้ง 6 จนสภาพจิตแหลกสลาย คือ นิรยภูมิหรือนรกภูมิ (地獄界), เปรตวิสัยภูมิ (餓鬼界), ดิรัจฉานภูมิ (畜生界), อสุรกายภูมิ (修羅界), มนุสสภูมิ (人界), และ เทวภูมิ (天界)
- เท็นมะ โคฟุกุ (天魔降伏) - คือ มารฟ้าปราชัย ท่านี้เป็นการปล่อยพลังคอสโม่มหาศาลเป็นคลื่นพลังไปกระแทกศัตรูให้ปลิวว่อน ภาพแบ็คกราวด์เป็นหญิงใส่ผ้าคลุมขี่ม้า, เทวดาปีกนก, ปีศาจหัวกะโหลก พุ่งเข้าชนศัตรูพร้อมกันหมด
- เท็นโป ริงอิง (転法輪印) - คือ ปางปฐมเทศนา ท่านี้ชากะจะใช้เพื่อชาร์จพลังคอสโม่ของตัวเองให้สูงขึ้น
- เท็นคูฮะจะ ชิมิโมเรียว (天空覇邪魑魅魍魎) – คือ ภูติฟ้ามารดินวิญญาณสัมภเวสี จะทำให้ศัตรูจิตหลอนเห็นภูติผีปีศาจจากขุมนรกมากมายจนเสียสติ
- เท็นบุโฮริง (天舞宝輪) – คือ วงล้อระบำเทวะ เป็นท่าไม้ตายขั้นสูงสุดของชากะ จะใช้เมื่อชากะตัดสินใจเปิดตาออกมา ท่านี้จะไปทำลายประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของศัตรู เวลาใช้จะปรากฏภาพของพระพุทธเจ้าและพระโพธิสัตว์จำนวนมากมาย
[caption id="attachment_24649" align="aligncenter" width="736"]
ชากะเวอร์ชั่นลืมตา[/caption]
เกี่ยวกับเรื่องประสาทสัมผัสทั้ง 5 นี้ ที่จริงเรื่องนี้ปูพื้นเรื่องประสาทสัมผัสทั้ง 5, ประสาทสัมผัสที่ 6, ประสาทสัมผัสที่ 7 มาตลอดทั้งเรื่อง แต่มาชัดมากที่ตัวละครชากะตัวนี้นี่เอง โดยเฉพาะในภาคฮาเดสที่มีการกล่าวถึงประสาทสัมผัสที่ 8 ด้วย ก็ล้วนแล้วแต่เป็นแนวคิดของพุทธศาสนาเช่นกัน คือเป็นพุทธศาสนาในนิกายโยคาจาร (Yogācāra Buddhist) โดยมนุษย์ปุถุชนทั่วไปจะมีแค่วิญญาณ 5 (หมายถึงประสาทสัมผัสทั้ง 5) คือ รูป, รส, กลิ่น, เสียง, สัมผัส (จักขุวิญญาณ, ชิวหาวิญญาณ, ฆานวิญญาณ, โสตวิญญาณ, กายวิญญาณ)
แต่ในเรื่อง Saint Seiya เซนต์ทุกคนจะมีสัมผัสที่ 6 คือ มโนวิญญาณ (Mind) เช่น จิตรู้ (มีภาวะหยั่งรู้หรือลางสังหรณ์) และถ้าเป็นโกลด์เซนต์ก็จะมีสัมผัสที่ 7 คือ มนัสวิญญาณ (Manas-Vijnana หรือ Afflicted Mind) เป็นจิตในระดับที่ใช้ตรึกตรองนึกคิดเรื่องของตัวกูของกู เรื่องเกี่ยวกับอัตตาของตัวเอง และเรื่องการตัดสินใจดำเนินชีวิตที่เหลืออยู่ของตัวเองในอนาคตอย่างไร (ใน Saint Seiya การตรึกตรองเรื่องของตัวเองถูกแสดงออกมาในรูปแบบของอายุ, วุฒิภาวะ, และความสามารถของโกลด์เซนต์ที่สูงกว่าพวกเซย่า และเรื่องอนาคตถูกแสดงออกมาในรูปแบบของความเร็วแสง)
แต่ญาณสุดท้ายที่เรื่อง Saint Seiya กล่าวถึงคือ สัมผัสที่ 8 หรือ อาลยวิญญาณ (Ālaya-Vijnana หรือ Storehouse Consciousness) คือสิ่งที่เก็บสะสมไว้ในดวงจิตของเรา ทางพุทธก็คือ “กรรม” ในระดับของอาลยวิญญาณนี้จะมีทั้งกรรมดีและกรรมชั่วที่ถูกเก็บสะสมไว้ในจิตของเราทั้งหมด มนุษย์ปุถุชนมีน้อยคนที่จะเข้าถึงสัมผัสที่ 8 นี้ ต้องบำเพ็ญสมาธิอย่างมากถึงจะเข้าถึงภาวะตระหนักรู้ในกรรมและจำกรรมของตัวเองได้ เป็นการจำได้ถึงระดับจิตวิญญาณที่แม้กายหยาบจะแหลกสลายไปแล้ว ดวงวิญญาณของตัวเองก็ยังจำกรรมที่ตัวเองเคยกระทำได้
ในเรื่องนี้ ผู้ที่รู้วิธีไปโลกแห่งความตายของฮาเดส จึงเป็นชากะคนนี้ เพราะชากะคือพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้แล้ว เข้าถึงสัมผัสที่ 8 นี้แล้วนั่นเอง จึงรู้วิธีไปโลกแห่งความตายได้โดยยังมีความทรงจำตอนเป็นมนุษย์อยู่ และสามารถกลับมาสู่โลกมนุษย์ปกติได้ด้วย ขณะที่ถ้าเข้าไม่ถึงสัมผัสที่ 8 นี้แล้วไปโลกแห่งความตาย ก็จะกลับมาโลกมนุษย์อีกไม่ได้ เพราะจิตจะลืมไปว่าตัวเองเป็นใคร แล้วก็จะตายไปจริง ๆ (เพราะสัมผัสทั้ง 7 นั้นใช้ได้เฉพาะตอนมีชีวิตอยู่ แต่พอตายไปแล้ว สัมผัสทั้ง 7 จะใช้ในโลกแห่งความตายไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถรับรู้อะไร จำตัวเองไม่ได้ และกลายเป็นวิญญาณเร่ร่อนไป) และแน่นอน ตอนที่ชากะตาย จึงต้องตายใต้ “ต้นสาละ (沙羅双樹)” เพื่อรักษาจุดยืนการปรินิพพานของพระศากยมุนีพุทธเจ้าอีกนั่นแหละ
ปิดท้ายด้วยความเป็นพุทธอีกก็คือ ในโลกแห่งความตายของฮาเดสนั้นมีที่คุมขังวิญญาณทั้งหมด 8 แห่ง การแทนด้วยเลข 8 นี้ อันที่จริงคือสัญลักษณ์ของ "มหานรก 8 ขุม (the 8 Levels of Hell)" ตามคติพุทธศาสนาแบบมหายานอีกนั่นแหละ นอกจากนี้ จำนวนสเปกเตอร์สที่เป็นผู้รับใช้ฮาเดส ก็มีจำนวน 108 คน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ "ตัณหา 108 ประการ (108 Defilements)" ของพุทธศาสนามหายานไปอีก
จัดว่าเรื่องนี้ ผู้แต่งเรื่องทำการบ้านมาหนักมากในด้านศาสนา ไม่ว่าเวลาผ่านไปนานเพียงใด จึงยังเป็นการ์ตูนอมตะเรื่องหนึ่งที่น่าหยิบกลับมาอ่านอีกหลายต่อหลายครั้ง พร้อมทั้งน่าค้นหาประเด็นใหม่ ๆ ที่ช่วยพัฒนาระดับวิญญาณทั้ง 8 ของผู้อ่านจำนวนมากทั่วโลก