09 ก.ค. 2563 | 16:44 น.
ในวันที่มหาวิทยาลัยทั้งหลายต่างต้องปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของรอบด้าน The People มีโอกาสได้สนทนากับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิดเห็น แนวทางการแก้ปัญหา และการวางแผนเพื่อก้าวสู่อนาคตอันใกล้ที่ทุกสิ่งหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านอยู่ตลอดเวลา ทั้งวิกฤตโควิด-19 การเรียนออนไลน์ รวมถึงหาคำตอบของคำว่า ‘ความเป็นศิลปากร’ ที่ใคร ๆ มักพูดถึงกันว่ามีความหมายว่าอย่างไรกันแน่ The People: อยากให้อาจารย์ชัยชาญช่วยแนะนำตัวเบื้องต้น ชัยชาญ: ชัยชาญ ถาวรเวช ตอนนี้เป็นอธิการบดีสมัยที่สอง ก่อนหน้านี้เป็นศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ รุ่น 15 ถ้าเป็นศิลปากรก็รุ่น 46 จากนั้นได้ทุนไปเรียนต่ออเมริกา กลับมาก็มาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัย ตอนนั้นเราเป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรงแถมยังเป็นศิษย์เก่าเลยลุยเต็มที่ และจุดสำคัญอยู่ที่คณะสถาปัตยกรรมฯ ของเราชนะเลิศได้ประกวดแบบอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ได้ลงมือทำจริง เราเห็นรุ่นพี่รุ่นน้องลงแรงช่วยกัน ทำให้งานก่อสร้างที่ตอนนั้นไม่ค่อยมีคนสนใจก็ได้รับความสนใจมากขึ้น ทุกวันนี้พอมีเด็กรุ่นเก่าที่จบไปแล้วบอกว่ายังใช้สิ่งที่เราสอนอยู่ก็รู้สึกภูมิใจมากจริง ๆ The People: จุดเริ่มต้นของการเป็นอธิการบดี? ชัยชาญ: เราสอนมาเรื่อย ๆ เป็นที่ปรึกษานักศึกษา กิจการนักศึกษา จัดนิทรรศการ ช่วยทุกคน ช่วยทุกภาควิชา พอเวลามีเลือกตั้งคณบดีเราก็เลยได้รับเลือก ตอนนั้นเรามีผลงานเด่น ๆ อย่างการเป็นประธานคณบดีสถาปัตยกรรมแห่งประเทศไทย ช่วยหางบประมาณ 200 ล้านบาท ให้กับคณะสถาปัตยกรรมฯ 9 มหาวิทยาลัย จัดตั้งโครงการพัฒนาอาจารย์ขาดแคลนกลุ่มสถาปัตยกรรมไทย กระตุ้นให้รัฐบาลตื่นตัวกับสายงานศิลปะตั้งแต่ยุคของคุณชวน หลีกภัย และมาสำเร็จในยุคของคุณชวลิต ยงใจยุทธ ที่ทำให้เราได้สอนนักเรียนที่สนใจ ผลิตเด็ก ๆ ออกสู่สังคมได้มากขึ้น พอหมดวาระคณบดี ก็ได้เป็นรองอธิการบดีฝ่ายวางแผน จังหวะนั้นเจอกับวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 พอดี แต่เราก็ผ่านอุปสรรคนั้นมาได้ จากนั้นเป็นอาจารย์รักษาการคณบดีคณะไอซีที (เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร) แรกเริ่มคณะมีเงินอยู่ที่ศูนย์บาท แต่สิบปีหลังจากเราทำและลงจากตำแหน่ง คณะมีเงินเก็บไว้ 80 ล้านบาท สาขานิเทศศาสตร์สร้างชื่อเสียงขึ้นเรื่อย ๆ เป็นหนึ่งในคณะที่มีเด็กเลือกเรียนเยอะ เรียนจบอัตราตกงานต่ำ เราเอาหลักสูตรมาบูรณาการกันเพราะรู้ว่าศาสตร์บริสุทธิ์อย่างเดียวไม่มีทางใช้ได้เต็มที่ 100 เปอร์เซ็นต์ เราเอาศิลปะที่เป็นรากฐานสำคัญของศิลปากรมาใช้ร่วมกับเทคโนโลยี เกิดเป็นการออกแบบแอนิเมชัน เกม เว็บไซต์ เด็กต้องรู้ศิลปะ ไม่อย่างนั้นเสียชื่อศิลปากรหมด ส่วนนี้คงเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ได้เป็นอธิการบดีศิลปากรเมื่อปี 2556 ช่วงที่เป็นอธิการบดีสมัยแรกก็พอมีเหตุการณ์ให้ตื่นเต้นบ้าง น้ำท่วม วิกฤตการเมือง สิ่งสำคัญที่สุดคือเราสามารถเอามหาวิทยาลัยศิลปากรเข้าเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับได้จากที่พยายามกันมานาน พอหมดวาระก็กลับไปสอนหนังสือต่อที่คณะไอซีทีเป็นอาจารย์พิเศษ พออธิการบดีท่านที่แล้วลาออก เราเลยได้กลับเข้ามาใหม่ คราวนี้หนักเลยเพราะเจอโควิด-19สถาปนิกไม่ใช่แค่คนแต่งตัวโก้ ๆ เดินไปเดินมา แต่สถาปนิกจะต้องทำงานซ้ำแล้วซ้ำอีก