ทัตซึคิจิ มิโนเบะ ผู้เสนอทฤษฎีทางกฎหมายเพื่อจำกัดอำนาจจักรพรรดิ

ทัตซึคิจิ มิโนเบะ ผู้เสนอทฤษฎีทางกฎหมายเพื่อจำกัดอำนาจจักรพรรดิ

ทัตซึคิจิ มิโนเบะ ผู้เสนอทฤษฎีทางกฎหมายเพื่อจำกัดอำนาจจักรพรรดิ

หลังการปฏิรูปเมจิในปี 1868 ญี่ปุ่นได้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่โดยได้แบบมาจากรัฐธรรมนูญของเยอรมัน ซึ่งในหมวดว่าด้วยเรื่องของจักรพรรดินั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ให้อำนาจของจักรพรรดิไว้มากมาย จนทำให้จักรพรรดิมีสถานะเป็นผู้บังคับใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐโดยตรง นับเป็นครั้งแรกในรอบกว่าพันปี ที่จักรพรรดิญี่ปุ่นกลับมามีอำนาจทางการเมืองโดยตรงอีกครั้ง แม้ว่าในทางปฏิบัติสภาองคมนตรีที่มีมาก่อนรัฐธรรมนูญในฐานะที่ปรึกษาของจักรพรรดิคือผู้ถืออำนาจที่แท้จริง แต่จักรพรรดิเมจิก็มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายด้านการทูตและการต่างประเทศ อย่างไรก็ดีเมื่อมีการใช้งานเรื่อยมาก็เจอปัญหา ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีบางส่วนที่ใช้ถ้อยคำซึ่งมีลักษณะกำกวม หรือขัดแย้งกันเอง นักกฎหมาย นักรัฐศาสตร์ และนักการเมืองต้องมานั่งตีความกันว่าเจตนารมณ์ที่แท้ของรัฐธรรมนูญคืออะไร? ฝ่ายเผด็จการก็ตีความเพื่อมุ่งใช้อำนาจเป็นสำคัญ ฝ่ายเสรีนิยมก็มุ่งตีความเพื่อจำกัดอำนาจของรัฐ และหัวขบวนนักคิดของฝ่ายหลังก็คือ ทัตซึคิจิ มิโนเบะ (Tatsukichi Minobe, 1873-1948) ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ออกมาตีความสถานะของจักรพรรดิตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า จักรพรรดิเป็นเพียง "องค์หนึ่งของรัฐ" (organ of the state) ที่ตั้งอยู่สูงสุอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงอยู่ที่รัฐ หาใช่ตัวบุคคลที่อยู่ในตำแหน่งจักรพรรดิไม่ และจักรพรรดิก็มิได้มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์เหนือยิ่งไปกว่ารัฐ มิโนเบะจบการศึกษาด้านกฎหมายจากเยอรมนี แล้วกลับมาเป็นศาสตราจารย์นิติศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยโตเกียว ก่อนได้รับการแต่งตั้งให้รับตำแหน่งวุฒิสมาชิกในปี 1932 เขาเสนอทฤษฎีว่าด้วยอำนาจจักรพรรดิตั้งแต่เป็นศาสตราจารย์ด้านกฎหมาย ก่อนรับตำแหน่งทางการเมืองนานนับสิบปี และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในแวดวงวิชาการ จนกระทั่งญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคแสนยนิยม (militarism) ทฤษฎีของเขาจึงได้ถูกโจมตีอย่างรุนแรงจากกลุ่มขวาจัด เนื่องจากมันไปบั่นทอนการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จของทหารในนามจักรพรรดิ และเขาก็เคยหักหน้ากองทัพมาก่อนในฐานะที่ปรึกษารัฐบาล ด้วยการให้คำแนะนำว่านายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีอำนาจหักล้างคำสั่งของนายพลได้ ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับเหล่านายพลทหารเป็นอย่างมาก (The New York Times) ในปี 1935 รัฐบาลพยายามกดดันสถาบันการศึกษาให้ยึดถือการตีความตามแนวทางของรัฐ ด้วยการลงมาสอบสวนการเรียนการสอน และตำราว่าด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญ หนังสือของมิโนเบะถูกสั่งแบน ตัวเขาเองถูกข่มขู่ดำเนินคดีด้วยข้อหาหมิ่นจักรพรรดิ ทำให้เขาตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาสูง ด้านรัฐบาลได้ออกประกาศยืนยันอำนาจสูงสุดของรัฐว่า เป็นของจักรพรรดิที่สืบทอดมาจาก "สุริยเทพี" (Amaterasu) "รัฐนโยบายแห่งญี่ปุ่น ปรากฏชัดในสาส์นจากสวรรค์ซึ่งระบุว่า สุริยเทพีได้มอบพระนัดดาลงมาเป็นจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น ญี่ปุ่นถูกปกครองด้วยจักรพรรดิสืบต่อกันมาอย่างไม่ขาดสาย ความเรืองรองแห่งราชวงศ์คือสิ่งที่ปรากฏทั้งบนโลกและบนสวรรค์ "เมื่อรัฐธรรมนูญถูกประกาศใช้ จักรพรรดิเมจิทรงประกาศว่า 'เราได้สืบทอดอำนาจสูงสุดจากบรรพชนและอำนาจนี้ก็จะถูกถ่ายทอดถึงทายาทของเรา' มาตรา 1 แห่งรัฐธรรมนูญระบุว่า 'จักรวรรดิญี่ปุ่นจะต้องถูกปกครองและบริหารโดยจักรพรรดิที่ครองราชย์สืบกันอย่างไม่ขาดสายชั่วนิรันดร' มันคือสิ่งที่ยืนยันชัดเจนว่า อำนาจสูงสุดอยู่กับจักรพรรดิ "ทฤษฎีทางรัฐธรรมนูญว่าด้วยอำนาจจักรพรรดิที่นอกเหนือจากนี้ย่อมขัดต่อรัฐนโยบายที่แท้จริงของญี่ปุ่น" ตอนหนึ่งของประกาศรัฐบาลเมื่อปี 1935 ระบุ (The New York Times) มิโนเบะถูกโจมตีบนหน้าสื่ออย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายเดือน กระตุ้นให้กลุ่มขวาจัดมุ่งป้องร้ายหวังเอาชีวิต ในเดือนกุมภาพันธ์ 1936 มิโนเบะถูกคนร้ายบุกยิงถึงบ้าน แต่เคราะห์ดีได้รับบาดเจ็บเพียงบริเวณขาขวา ไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิต หลังจากนั้นมา มิโนเบะก็ไม่มีบทบาทใดๆ ทั้งในด้านวิชาการและการเมืองอีก จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น ซึ่งเขาได้รับแต่งตั้งจากองค์จักรพรรดิให้รับตำแหน่งองคมนตรี แสดงให้เห็นถึงท่าทีของสถาบันที่ยอมรับการตีความตามทฤษฎีของเขาว่า จักรพรรดิมิได้มีอำนาจล้นฟ้า ตามทฤษฎีที่เคยเชื่อถือกันมาก่อนหน้า ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ร่างภายใต้การกำกับของสหรัฐฯ นั้น แม้มิโนเบะจะยอมรับว่ามันช่วยวางรากฐานการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่ก็วิจารณ์ว่าการลิดรอนสิทธิในการมีกองทัพ ดูจะไม่เป็นธรรมกับญี่ปุ่นเท่าใดนัก และการกำหนดให้จักรพรรดิเป็นประมุขเชิงสัญลักษณ์โดยสมบูรณ์ ก็ดูจะเป็นการหนักข้อเกินไป อาจสร้างความไม่พอใจให้กับชาวญี่ปุ่นที่รักเคารพสถาบันเป็นอย่างยิ่ง จนอาจนำไปสู่ความวุ่นวายได้ (แต่ความวุ่นวายก็มิได้เกิดอย่างที่เขากังวล)