สัมภาษณ์ กรุณา บัวคำศรี คนข่าวตัวจริงกับมุมมอง รู้เท่าทัน "สื่อ" หรือจะตกเป็น "ทาสสื่อ"
ท่ามกลางวิกฤตการณ์อันเลวร้ายที่ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตรุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษย์ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เริ่มแพร่กระจายตั้งแต่ปลายปี 2562 นับถึงเดือนกรกฎาคมปีนี้ ได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปแล้วกว่าครึ่งล้านคน และมีผู้ติดเชื้อไปแล้วถึงกว่า 12 ล้านราย ไม่มีเหตุการณ์ครั้งใดที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ สังคม และเศรษฐกิจ ได้กว้างขนาดนี้อีกแล้ว ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางข้ามพรมแดนหยุดต้องชะงัก จำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบในวงจรนี้จึงเหลือคณานับ ผู้คนถูกจำกัดขอบเขตให้ใช้ชีวิตอยู่กับบ้านโดยปริยาย
โชคดีที่เทคโนโลยีคือสิ่งเชื่อมโยงทุกคนเข้าหากันได้ และ "ข่าวสาร" ท่ามกลางวิกฤตคือสิ่งที่ผู้คนต้องการเสพ สมรภูมิข่าวไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มทีวีหรือออนไลน์จึงมีการแข่งขันกันดุเดือดขึ้นเป็นทวีคูณ ในทางกลับกัน สื่อหลักบางแห่งนำเสนอข่าวในมุมมองที่เปลี่ยนไปมาก จนบางครั้งทำให้ “ข่าว” ไม่ใช่ “ข่าว” อีกต่อไป ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการดู “ละคร” เลยก็ว่าได้ ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่สังคมมองเห็นชัดเจนขึ้นคือจรรยาบรรณของวิชาชีพสื่อมวลชนที่นับวันจะเลือนลางลงไปเรื่อย ๆ
“เรตติ้ง” เป็นดัชนีชี้วัดถึงคุณภาพของ “คนทำสื่อ” หรือ “นักข่าว” แล้วจริงหรือ
The People มีโอกาสสนทนากับคนข่าวตัวจริง ซึ่งโลดแล่นอยู่บนสมรภูมิข่าวมาอย่างโชกโชนทั้งในและต่างประเทศ อย่าง กรุณา บัวคำศรี แห่งรายการ รอบโลก Daily ออกอากาศทุกวันจันทร์-พฤหัสบดี เวลา 20.15 – 21.30 น. ทางสถานีโทรทัศน์พีพีทีวี เอชดี ช่อง 36 ที่มองภาพการแข่งขันการนำเสนอข่าวในปัจจุบัน กับบทบาทและหน้าที่ของสื่อมวลชนไว้ได้อย่างน่าสนใจ
The People: บทบาทการทำหน้าที่สื่อทุกวันนี้เป็นอย่างไร
กรุณา: เราเคยคาดหวังตอนเข้ามาทำข่าวเมื่อ 20 ปีที่แล้วว่า จากนี้ไปอีก 20 ปีข้างหน้า วงการสื่อจะต้องไปไกลกว่านี้ แต่พอมาถึงตอนนี้กลับรู้สึกว่า 20 ปีที่แล้วมันดีกว่า ยุคนั้นดิฉันเริ่มต้นการทำงานที่สถานีโทรทัศน์ไอทีวี เราถูกสอนมาว่า เราต้องทำข่าวที่เป็นประโยชน์กับคนดู เป็นประโยชน์ต่อสังคม ถึงแม้จะเป็นข่าวแนวอาชญากรรม ข่าวสืบสวนสอบสวน ช่วงนั้นที่มีการทำข่าวเรื่องประเด็นส่วยทางหลวง ที่นักข่าวไปแอบถ่ายที่ด่านตำรวจ กลายเป็นเรื่องที่ผู้คนให้ความสนใจมาก ถามว่าคนสนใจแล้วจบตรงนั้นไหม มันไม่จบ มันสืบเนื่องต่อไปจนถึงการมีบทลงโทษของตำรวจที่กระทำผิด ข่าวนี้ส่งผลถึงระบบโครงสร้างการทำงานเลยทีเดียว ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง
แต่ปัจจุบันข่าวลักษณะนี้กลับน้อยลงไปมาก การนำเสนอข่าวมักจบลงด้วยแค่ความสะใจ การเสนอข่าวจริง ๆ แล้วมันนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงได้ จนเป็นที่มาของคำถามที่ว่า เราได้ทำหน้าที่ของสื่อดีพอแล้วหรือยัง สื่อมวลชนเมื่อ 20 ปีที่แล้วเมื่อเทียบกับสื่อ ณ ตอนนี้ การทำงานไม่ได้ต่างกันมาก ยังคงยึดหลักของการหาข้อมูล และสื่อสารข้อมูลเหล่านั้นออกมา โดยมุ่งหวังว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม ดูเหมือนตอนนี้สื่อจำนวนมากจะจบแค่สื่อสารออกมาเท่านั้น เป้าหมายของสื่อในยุคนี้กลับกลายเป็นยอดผู้ชม หรือเรตติ้ง แต่คำถามที่ว่าข่าวให้อะไรกับผู้ชมในเชิงคุณค่ากลับถูกถามน้อยลง
ใครจำได้บ้างว่าข่าวในสื่อหลักข่าวไหนที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ดีในสังคม?
The People: อะไรคือหัวใจหลักของการทำหน้าที่สื่อ
กรุณา: หัวใจหลักของการทำหน้าที่สื่อมวลชนก็คือ การทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม เช่น ในอดีตที่สหรัฐอเมริกา สื่อดังอย่าง “วอชิงตันโพสต์” เคยขุดคุ้ยเรื่องของอดีตประธานาธิบดี ริชาร์ด นิกสัน กับข้อกล่าวหาโกงการเลือกตั้ง จนสุดท้ายตัวเองต้องลาออก นี่คือจุดประสงค์การก่อกำเนิดสื่อมวลชน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ เราต้องพยายามจะสร้างความเปลี่ยนแปลงของสังคม นี่ต่างหากคือหัวใจของการทำหน้าที่ของสื่อ
สื่อมวลชนไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อสร้างความบันเทิง ไม่ได้มีขึ้นเพื่อความสะใจ ถ้าจะสร้างความบันเทิงก็ควรจะถูกจัดอยู่ในประเภทเนื้อหาของละคร คำว่า “ฐานันดรที่ 4” จึงถูกสร้างขึ้นมาใช้เรียกสื่อ เพื่อเป็นปากเป็นเสียงให้สังคม และทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในที่สุด
The People: ภูมิทัศน์ของสื่อยุคนี้เป็นอย่างไร
กรุณา: ในอดีตสื่อมวลชนมีหน้าที่เป็นสื่อกลางในการสื่อสารข้อมูล ลงพื้นที่เก็บข้อมูลและประเด็นมานำเสนอว่าเป็นอย่างไร ซึ่งในยุคนี้ภูมิทัศน์สื่อเปลี่ยนไปค่อนข้างเยอะ ซึ่งมาพร้อมการหลั่งไหลของข้อมูลที่มีเข้ามามากมาย ถึงคุณจะไม่ได้เป็นสื่อมวลชน คุณก็สามารถผลิตข้อมูลได้ไม่ว่าในนามของนักวิชาการ นักเขียนอิสระ หรือบุคคลธรรมดาก็ตาม ดังนั้นหน้าที่ของสื่อก็จะเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต อย่างน้อยคือเมื่อ 10–20 ปีที่แล้ว ก่อนที่อินเทอร์เน็ตจะเริ่มได้รับความนิยม หน้าที่ของสื่อในปัจจุบันควรจะทำหน้าที่ในการเป็นเกตเวย์ คือ เป็นผู้คัดกรองข้อมูลให้ผู้รับสาร เพราะข้อมูลทุกวันนี้มีมากมายมหาศาล คนที่อาจไม่คุ้นเคยกับเรื่องราวดังกล่าว หรือไม่ได้ติดตามประเด็นนั้น ๆ มาก่อนอาจไม่รู้เท่าทัน บางทีอาจจะไม่รู้ที่มาที่ไปว่าข่าวนั้นน่าเชื่อถือได้มากขนาดไหน
หน้าที่แรกของสื่อที่ควรจะมีในยุคนี้ ในความเห็นของดิฉัน คือ สื่อควรทำหน้าที่กรองข้อมูลขั้นแรกเสียก่อน แต่ว่าในการกรองข้อมูลมาให้คนได้เห็น ได้ยิน ได้ฟัง อาจไม่พออีกต่อไปแล้ว เพราะในโลกที่เต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงประเด็นต่าง ๆ ก็มีความซับซ้อนมากขึ้น สื่อก็ควรจะมีหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูล ในแง่ที่ว่าเนื้อหาข้อมูลที่เราได้มาดิบ ๆ นั้นต้องนำมาสังเคราะห์ วิเคราะห์ เพื่อให้คนได้เห็นแก่นแท้ของประเด็นข่าวต่าง ๆ แก่นจริง ๆ คืออะไร แล้วสามารถก่อให้เกิดประโยชน์อะไรกับคนรับสารบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการให้ประโยชน์ในเรื่องความรู้ หรือด้านไหนก็ตาม
ฉะนั้น หน้าที่ของสื่อจะมี 2 ส่วนหลักใหญ่ สรุปก็คือ กรองข้อมูลที่มีล้นหลามออกมา แต่ข้อมูลอย่างเดียวที่กรองออกมาก็ยังไม่พอ เพราะต้องสังเคราะห์และวิเคราะห์ เพื่อให้คนได้เห็นแก่นของข้อมูลที่เรานำมาเสนอด้วย
The People: ในมุมของประชาชน มีข้อแนะนำอย่างไรในการรับข้อมูลข่าวสารที่ให้ประโยชน์
กรุณา: ต้องย้อนกลับไปดูก่อนว่า ตอนนี้คนมองสื่อมวลชนแบบไหน ตัวเองก็ไม่แน่ใจ แต่ถ้าในอดีตเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ตอนที่เราทำข่าวใหม่ ๆ คนจะมองว่าสื่อมวลชนเป็นแหล่งข้อมูลที่พึ่งได้ แล้วในที่สุด ถ้าเราไปทำข่าวรายงานเรื่องนั้น ๆ มันก็ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง อันนั้นคือสิ่งที่คนคาดหวัง ยกตัวอย่างในช่วงยุคนั้น อะไรก็ตามที่เป็นความเดือดร้อนของผู้คน และไปปรากฏอยู่บนสื่อ จะได้รับการแก้ไข แต่มาในยุคนี้มันคาดการณ์ไม่ได้ เพราะภูมิทัศน์ของสื่อแตกกระจายไปมาก บางคนนิยมดูเพราะสนุกดี บางคนบอกว่าอันนี้นำไปเป็นประเด็นพูดคุยกันสนุก เราเลยไม่แน่ใจว่าคนที่เสพข่าว แล้วต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงยังมีอยู่ไหม มากน้อยแค่ไหน แต่เชื่อว่าคนทุกคนที่เสพข่าวไปก็เพื่อต้องการความเปลี่ยนแปลง แต่เป็นเพราะสื่อเองที่ไม่ได้ทำหน้าที่ที่สื่อควรจะทำ เลยทำให้คนไม่ได้คาดหวังอะไรจากสิ่งที่รับรู้ ถามว่ามีคำแนะนำกับคนที่จะติดตามข่าวสารอย่างไร มันขึ้นอยู่กับว่าเขาต้องการอะไรในการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชน
The People: เมื่อรอบด้านเป็นแบบนี้ แล้วจุดยืนของคุณในการนำเสนอข่าวในยุคนี้คืออะไร
กรุณา: เรายังไม่ทิ้งการเป็นตัวเองแน่นอน เพราะว่าเราก็ชัดเจนกับงานที่ทำมาตลอด ถามว่าต้องปรับตัวไหม แน่นอนว่าเราก็ปรับตัวไปตามสภาพที่เป็น แต่การปรับตัวของเราจะเป็นการพัฒนาในแง่มุมของวิธีการนำเสนอ อาทิ น้ำเสียง ลีลา ท่าทาง ฯลฯ แต่จะไม่ปรับสิ่งที่เราเชื่อ และการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ดีแน่นอน ถามว่าคืออะไร นั่นก็คือ หนึ่งการกลั่นกรองข้อมูล-ข่าวสาร สองทำให้คนเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นเรื่องสำคัญ และสามข้อมูลที่นำมาเสนอจะต้องเป็นประโยชน์กับประชาชน
The People: การรู้เท่าทันสื่อสำคัญแค่ไหน
กรุณา: อยากจะบอกว่าอย่าวนเวียนอยู่กับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากจนเกินไป อย่างเช่น ข่าวคุณฌอน บูรณะหิรัญ หรือแม้กระทั่งข่าวของ น้องชมพู่ เป็นต้น เพราะในอีกมุมโลกก็มักจะมีประเด็นข่าวที่น่าสนใจเกิดขึ้นเสมอ และสิ่งนั้นจะส่งผลกับประเทศไทยด้วยเช่นกัน แต่ผู้คนกลับไปสนใจและหมกหมุ่นอยู่กับกระแสบางข่าวมากเกินไป จนอาจทำให้หลงลืมประเด็นข่าวที่มีความสำคัญกับชีวิตและสังคม ยกตัวอย่าง ประเด็นที่ประเทศอินโดเซียเพิ่งประกาศพ้นจากกลุ่ม Middle Class ไปเรียบร้อยแล้ว แต่ประเทศไทยยังไม่ได้มีการพัฒนาหรือขยับตัวให้ไปไกลจากที่เป็นอยู่ ด้วยเหตุผลบางประการ แต่ถ้าลองหันไปดูประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เวียดนาม ที่ตอนนี้ตัวเลข GDP กลายเป็นบวก อีกทั้งเขากำลังเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศ ในที่สุดแล้วเรื่องเหล่านี้ต่างหากที่สื่อควรจะติดตามมานำเสนอสู่ประชาชนใช่หรือไม่
หากวันนี้ผู้คนมัวแต่ให้ความสนใจกับข่าวบางประเด็นซึ่งไม่ก่อประโยชน์มากเกินไป ถามว่าถ้าพรุ่งนี้เราตกงานล่ะ จะทำอย่างไร โดยเฉพาะในสภาวะวิกฤตแบบนี้ เมื่อโลกมีแต่ความไม่แน่นอน เราควรปรับตัวอย่างไร แล้วสื่อกระแสหลักก็ทำราวกับว่าไม่มีปัญหา ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมันไม่ใช่ เราควรจะต้องรู้ว่าเรากำลังเดือดร้อน และควรจะเลือกดู คัดกรองรับข้อมูลข่าวสารที่จะให้มุมมองที่เป็นประโยชน์ในยามวิกฤตแบบนี้ต่างหากมิใช่หรือ