“คู่แข่งของฉันมักพยายามทำลายความน่าเชื่อถือของฉันอยู่ตลอดเวลา หาว่าฉันเป็นได้แค่ตุ๊กตาหน้าสวย ซึ่งมันเป็นอคติตื้นเขินที่พวกเขามี และกุขึ้นช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง พวกเขาพยายามทำให้คนรู้สึกว่าฉันมันอ่อนหัด แล้วก็โยงไปกับการที่ฉันเข้าประกวดนางงามจักรวาล ทำให้ฉันไม่มีคุณสมบัติที่จะมาเทียบรัศมีพวกเขาได้”
เมื่อการเมืองคือเรื่องของทุกคนและทุกวงการ หลายปีมานี้ เราจึงได้เห็น ‘นางงาม’ ออกมาเป็นกระบอกเสียงเรียกร้องประเด็นต่าง ๆ ในสังคมมากขึ้น ทั้งบางคนยังก้าวไปสู่แวดวงการเมือง เพื่อผลักดันนโยบายให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจังในเชิงรูปธรรมมากกว่าเดิม
ดี-แอนน์ เคนติช-โรเจอร์ส (Dee-Ann Kentish-Rogers) คือหนึ่งในนั้น
ดี-แอนน์ คือผู้เข้าประกวดนางงามจักรวาล ครั้งที่ 67 ซึ่งจัดขึ้นในปี 2018 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ นอกจากเธอจะมาพร้อมกับการจารึกประวัติศาสตร์ใหม่ของชาติที่เธอเป็นตัวแทนอย่างหมู่เกาะบริเตนใหญ่ หรือ Great Britain หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ตามภาษานางงามว่า ‘สาวงามจากเมืองผู้ดีอังกฤษ’ ด้วยการเป็นสาวผิวสีคนแรกที่ได้สวมสายสะพายนางงามตัวแทนรัฐชาติและอดีตเจ้าอาณานิคมของโลกแล้ว ดูเหมือนว่าตลอดระยะเวลาการให้สัมภาษณ์ช่วงเก็บตัว และการนำเสนอตัวตนของเธอผ่านชุดประจำชาติ ดี-แอนน์ จะส่งสารทางการเมืองออกมาได้อย่างโดดเด่น
ในการประกวดชุดประจำชาติ ดี-แอนน์ ถือป้ายที่มีข้อความว่า “Let’s finish what they started” (มาร่วมสานต่อสิ่งที่เขาริเริ่มกันมาให้จบ) ส่วนข้างล่างก็ทำเป็นกล่องหย่อนบัตรเลือกตั้งที่แสดงให้เห็นถึงวาระสำคัญในประวัติศาสตร์อังกฤษ ที่ผู้หญิงสามารถเลือกตั้งได้เป็นครั้งแรกในการเมืองประชาธิปไตยของประเทศ บนเวทีการประกวดนางงามที่แฟนนางงามสายอนุรักษนิยมหรือสายตาผู้ชมจำนวนไม่น้อยมองว่า ที่นี่ไม่ใช่พื้นที่ทางการเมืองแบบโจ่งแจ้ง และควรเป็นเฉพาะเวทีประชันความสวยความงามของผู้หญิงเท่านั้น
ทว่าดี-แอนน์ กลับทำให้เวทีการประกวดนางงามมีภาพของการเมือง และทำให้เป็นพื้นที่ทางการเมืองอย่างชัดเจน สมกับคำกล่าวที่ว่า “การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน” หรือ the personal is political (ไม่เว้นแม้แต่นางงาม ที่ครั้งหนึ่งถูกผู้จัดหรือผู้ฝึกซ้อมบอกให้วางตัวเป็นกลาง หรือสงบปากสงบคำเอาไว้)
แม้จะไปไม่ถึงการคว้ามงกุฎนางงามจักรวาลกลับประเทศ แต่ดี-แอนน์ ก็เลือกจะเดินหน้าในสิ่งที่ตัวเองมุ่งมั่นอีกอย่าง นั่นก็คือ ‘การเมือง’ เพราะหลังจากนั้นเธอก็ก้าวเข้าสู่แวดวงการเมืองอังกฤษอย่างเต็มตัว และปี 2020 ในวัย 27 ปี เธอก็ได้นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการพัฒนาสังคมของเกาะอังกิลล่า (Anguilla) ดินแดนโพ้นทะเลของอังกฤษในทะเลแคริบเบียน เอาชนะคู่แข่งหลายสมัยอย่าง วิกเตอร์ แบงค์ ที่ครองเก้าอี้ยาวติดต่อกันมาถึง 40 ปีได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งดี-แอนน์ ก็มาพร้อมความตั้งใจของคนรุ่นใหม่ที่จะพัฒนาเกาะแห่งนี้ และตั้งเป้าขจัดปัญหาการทุจริตที่เกาะกินอังกิลล่ามาอย่างยาวนาน
[caption id="attachment_24888" align="aligncenter" width="640"]
ดี-แอนน์ (กลาง) ในบทบาทการเป็นมิส ยูนิเวิร์ส เกรท บริเตน ปี 2018 (ภาพ https://www.baaz.com/trending/story/5b4e367a438e0a5b3003a9a1)[/caption]
กว่าจะมีวันนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะดี-แอนน์ ต้องต่อสู้กับอคติที่เกิดจากอำนาจชายเป็นใหญ่ในพื้นที่การเมืองของเกาะอังกฤษอย่างหนัก โดยเฉพาะวาทกรรมเดิม ๆ ที่กดทับนักการเมือง ‘เพศหญิง’ และ ‘นางงาม’ อย่างเธอ ดี-แอนน์ เผยในบทสัมภาษณ์ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เดลี่เมล ว่า
“คู่แข่งของฉันมักพยายามทำลายความน่าเชื่อถือของฉันอยู่ตลอดเวลา หาว่าฉันเป็นได้แค่ตุ๊กตาหน้าสวย ซึ่งมันเป็นอคติตื้นเขินที่พวกเขามี และกุขึ้นช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง พวกเขาพยายามทำให้คนรู้สึกว่าฉันมันอ่อนหัด แล้วก็โยงไปกับการที่ฉันเข้าประกวดนางงามจักรวาล ทำให้ฉันไม่มีคุณสมบัติที่จะมาเทียบรัศมีพวกเขาได้
“แต่ฉันอยากจะบอกนะคะว่า ก็เพราะเวทีนางงามจักรวาลนี่แหละค่ะ ที่ปลุกความสนใจทางการเมืองของฉันให้ลุกโชน โดยเฉพาะด้านการพัฒนาสังคม หลายคนอาจมองว่าการประกวดนางงามนั้นขัดต่อหลักการของลัทธิสตรีนิยม แต่ฉันต้องการลบล้างความคิดนี้ด้วยการใช้ตำแหน่งของตัวเอง เพื่อชี้ให้เห็นความโหดร้ายของวัฒนธรรมการขลิบอวัยวะเพศหญิง และความรุนแรงจากการใช้น้ำกรดทำร้ายกันของคนในสังคม”
มิส ยูนิเวิร์ส เกรท บริเตน ปี 2018 และนักการเมืองหญิงหน้าใหม่ไฟแรงคนนี้ จบการศึกษาด้านนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม เธอทำงานด้านการพัฒนาสังคมผ่านการเคลื่อนไหวแนวก้าวหน้าต่าง ๆ มาก่อนแล้วมากมายบนเกาะอังกิลล่าที่มีประชากรราว 15,000 คน ทำให้ศึกการเลือกตั้งทั่วไปของเกาะอังกิลล่า ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่ผ่านมา พรรค Anguilla Progressive Movement ของเธอสามารถกวาดเก้าอี้ในสภาไปได้ 11 ที่นั่ง เอาชนะพรรคคู่แข่งไปได้อย่างขาดลอย
หลังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการพัฒนาสังคม เธอก็ตั้งใจดูแลงานด้านนี้อย่างต่อเนื่อง และพยายามขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่ดีให้ประชากรชาวเกาะอังกิลล่า ขณะเดียวกัน นี่คือการเปิดประตูให้ผู้หญิงและคนผิวสีได้มีตัวตนในการเมืองของอังกฤษ เป็นการตอกย้ำถึงความเท่าเทียมในสังคม
หากหลายทศวรรษก่อน ผู้หญิงหัวก้าวหน้าหลายคนร่วมกันต่อสู้ฝ่ามรสุมต่าง ๆ ของอคติและอำนาจปิตาธิปไตยในสิทธิทางการเมืองผ่านสตรีนิยมคลื่นลูกที่ 1 มาวันนี้ไม่ว่าเราจะอยู่ในสตรีนิยมคลื่นลูกที่เท่าไหร่แล้วก็ตาม ดี-แอนน์ เคนติช-โรเจอร์ส ก็ได้แสดงพลังให้เห็นในฐานะผู้ต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีกว่า และพร้อมจะก้าวไปบนเส้นทางสายนี้อย่างจริงจัง แบบที่ใครหน้าไหนก็ว่าเธอไม่ได้ว่าเป็นแค่นางงามหน้าสวย แต่ไร้พลังและไร้เสียง