โรแวน แอตกินสัน แก้ปัญหาการเหยียด ด้วยการสร้างภูมิคุ้มกัน ไม่ใช่ปิดปาก
"ปัญหาที่ชัดเจนของการกำหนดให้การดูหมิ่นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายก็คือ มีหลายอย่างที่อาจถูกตีความว่าเป็นการดูหมิ่นได้ เช่น การวิจารณ์ ล้อเลียน เสียดสี เพียงแค่พูดถึงสิ่งที่ขัดต่อจารีตดั้งเดิมก็อาจถูกตีความว่าเป็นการดูหมิ่นได้แล้ว"
โรแวน แอตกินสัน (Rowan Atkinson) ดาราตลกจากซีรีส์ชุด “Mr. Bean” กล่าวถึงปัญหาการใช้กฎหมายอาญาเอาผิดในข้อหา “ดูหมิ่น” ซึ่งกระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และกระทบต่อวิชาชีพของเขาโดยตรง เมื่อมันกลายเป็นกรอบที่จำกัดความคิดสร้างสรรค์ แม้ว่าเสรีภาพนั้น บางครั้งจะกระทบกระเทือนต่อจิตใจของผู้อื่นก็ก็ตาม
ที่อังกฤษ มีกฎหมายฉบับหนึ่งชื่อว่า Public Order Act 1986 หรือกฎหมายว่าด้วยระเบียบสาธารณะ ซึ่งเป็นกฎหมายที่วางหลักเกี่ยวกับความประพฤติของประชาชน หรือการรวมตัวในที่สาธารณะ เป็นต้น และใน มาตรา 5 ของกฎหมายฉบับนี้ก็ได้กำหนดความผิดว่าด้วยการ “ดูหมิ่น” เอาไว้ด้วย ดังมีความตอนหนึ่งว่า
"บุคคลย่อมมีความผิดเมื่อ
(a) แสดงพฤติกรรมข่มขู่ คุกคาม หรือมีท่าทีไม่เหมาะสม หรือใช้ถ้อยคำดูหมิ่น หรือ
(b) แสดงข้อเขียน เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ที่มองเห็นได้อย่างใด ๆ ซึ่งเป็นการข่มขู่ คุกคาม หรือดูหมิ่น
โดยการแสดงออกนั้นอยู่ในระยะที่บุคคลหนึ่งได้ยินหรือมองเห็น ซึ่งน่าจะทำให้บุคคลนั้นรู้สึกถูกคุกคาม ตกใจ หรือทุกข์ใจได้"
หากจะเปรียบเทียบกับกฎหมายไทยก็ใกล้เคียงกับกฎหมายว่าด้วยเรื่องการ "ดูหมิ่นซึ่งหน้า" ซึ่งมีโทษปรับไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขณะที่กฎหมายอังกฤษมีเพียงโทษปรับไม่เกินระดับ 3 (ไม่เกิน 1,000 ปอนด์)
แต่ที่อังกฤษ การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้มีปัญหาให้เกิดข้อถกเถียงอย่างมากมาย เนื่องจากขอบเขตของคำว่า “ดูหมิ่น” นั้นไม่ชัดเจน จนเกิดคดีที่ไม่น่าคาดคิด เช่น
มีเด็กวัยรุ่นรายหนึ่งชูป้ายมีข้อความว่า "Scientology ไม่ใช่ศาสนา แต่เป็นลัทธิที่อันตราย" (Scientology เป็น กลุ่มความเชื่อหนึ่งที่แพร่หลายในสหรัฐฯ มีสาวกชื่อดังอย่าง ทอม ครูซ) ปรากฏว่า มีการดำเนินคดีกับเด็กรายนี้โดยกล่าวหาว่า ป้ายดังกล่าวมีข้อความที่ ดูหมิ่น หรือคุกคามสาวกของลัทธิดังกล่าว ก่อนที่คดีจะตกไปในชั้นอัยการ
กรณีของวัยรุ่นอีกรายทำเสียง "โฮ่ง" ใส่สุนัขลาบราดอร์ แม้เจ้าของสุนัขจะไม่สนใจเอาผิด แต่ตำรวจได้ยินเข้าจึงดำเนินคดี เขาถูกกักตัวนาน 5 ชั่วโมง โดนโทษปรับไป 200 ปอนด์ ก่อนที่ศาลจะสั่งยกฟ้องในปีต่อมา แต่การดำเนินดคีที่ยาวนานทำให้ประชาชนต้องเสียภาษีไปกับเรื่องที่เล็กน้อยโดยใช่เหตุ
หรือกรณีที่นักศึกษามหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดรายหนึ่งเดินเข้าไปพูดกับเจ้าหน้าที่ตำรวจม้าว่า "ขอโทษนะ คุณรู้รึเปล่าว่า ม้าของคุณเป็นเกย์?" ปรากฏว่า ตำรวจดำเนินคดีกับนักศึกษารายนี้โดยอ้างว่า คำพูดของเขาแสดงถึงการรังเกียจคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งอาจกระทบต่อประชาชนที่เดินผ่านไปมา แต่คดีนี้ก็ถูกยกไปในชั้นอัยการ
“จุดยืนเบื้องต้นของผมต่อกรณีใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อยู่บนความเชื่อด้วยความศรัทธายิ่งว่า สิ่งที่มีค่าที่สุดเป็นอันดับ 2 ในชีวิต ก็คือ เสรีภาพที่จะแสดงตัวตนของตนเองโดยอิสระ สิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตสำหรับผมคือ อาหารที่เข้าปาก และอันดับ 3 คือ การมีหลังคาคุ้มหัว” แอตกินสันกล่าวในงานแถลงข่าวของกลุ่ม Reform Section 5 ที่รณรงค์เรื่องการแก้ไขกฎหมาย Public Order ในมาตรา 5
แอตกินสันกล่าวต่อไปว่า “การแสดงออกโดยอิสระเป็นรองเพียงสิ่งที่จะช่วยให้คุณมีชีวิตต่อไปเท่านั้น นั่นเป็นเพราะผมได้ใช้ประโยชน์จากอิสระในการแสดงความคิดเห็นในประเทศนี้มาโดยตลอดวิชาชีพของผม และหวังว่าจะได้ทำเช่นนั้นต่อไป
“โดยส่วนตัวผมคิดว่า ผมคงจะไม่ถูกจับกุมจากกฎหมายใด ๆ ที่มีอยู่เพื่อจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สาเหตุไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า นั่นเป็นด้วยสิทธิพิเศษของการเป็นบุคคลสาธารณะที่เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ดังนั้นความเป็นห่วงของผมจึงไม่ใช่เรื่องของตัวเอง แต่เป็นกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงมากกว่า เนื่องจากการที่พวกเขาไม่เป็นที่รู้จัก เช่น ชายที่ถูกจับในออกซ์ฟอร์ด เพราะบอกว่า ม้าของตำรวจเป็น ‘เกย์’ หรือวัยรุ่นที่เรียกศาสนจักร Scientology ว่าเป็นลัทธิ (cult - มีความหมายในเชิงลบว่า เป็นกลุ่มความเชื่อที่ผิดปกติ)”
ส่วนกรณีมีผู้แสดงความเห็นว่า กฎหมายฉบับนี้ไม่เป็นปัญหาเพราะเมื่อไปถึงชั้นอัยการหรือชั้นศาลแล้ว สุดท้ายคดีที่ฟังดูประสาทเหลือเชื่อข้างต้นล้วนถูกยกไปทั้งสิ้น แต่แอตกินสันกล่าวว่า เหตุที่เป็นเช่นนั้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะแรงกดดันจากสังคม และการรายงานของสื่อ และเขาเชื่อว่า น่าจะยังมีกรณีอื่น ๆ อีกมากที่ไม่เป็นข่าว แต่มีคนต้องถูกจับกุมถูกปรับ เสียเวลาต่อสู้คดีไปกับเรื่องที่ไม่ควรเป็นเรื่องตั้งแต่แรก
“มันเป็นสิ่งที่อาจเรียกได้ว่า การไม่ยอมอดกลั้น ‘ใหม่’ เป็นความปรารถนาใหม่ที่จะควบคุมเสียงคัดค้านที่ไม่น่าฟังอย่างเข้มข้น ‘ผมจะไม่ทน’ หลายคนพูดอย่างนี้ แล้วหลายคนก็เป็นคนที่พูดจาสุภาพ การศึกษาสูง มีหัวทางเสรีนิยมกล่าวว่า ‘ผมไม่ทนกับการไม่รู้จักอดทนอดกลั้น (เช่นความแตกต่างทางวัฒนธรรม) เท่านั้น’ หลายคนได้ยินแล้วก็พยักหน้าตามอย่างทรงภูมิว่า ‘อืมม ใช่ ฉลาดพูดนะ’ แต่ถ้าคุณได้ลองพิจาณาคำพูดที่เหมือนจะไร้คำโต้แย้งนี้เกิน 5 วินาที คุณก็จะพบว่า สิ่งที่คำพูดนี้กำลังผลักดันอยู่ก็คือการทดแทน การไม่ยอมอดกลั้นต่อสิ่งหนึ่ง ด้วยการไม่ยอมอดกลั้นอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งสำหรับผมมันไม่ใช่เรื่องที่แสดงถึงความก้าวหน้าใด ๆ เลย” แอตกินสันกล่าว
สิ่งที่แอตกินสันพาดพิงในคราวนี้ ชัดเจนว่าเป็นเรื่องของความถูกต้องทางการเมือง (political correctness) ที่ฝ่ายเสรีนิยมรณรงค์เพื่อให้คนลดการใช้คำพูดที่อาจกระทบต่อชนกลุ่มน้อยกลุ่มต่าง ๆ หรือผู้ด้อยโอกาสในสังคม ซึ่งนับเป็นหนึ่งใน “วัตถุดิบ” ชิ้นสำคัญที่นักแสดงตลกหลายคนนำมาใช้ รวมถึงแอตกินสันเอง
เช่น ในรายการ Not the Nine O'Clock News ตอนหนึ่งเขาได้ล้อเลียนแนวคิดของ ส.ส. พรรคอนุรักษนิยม ด้วยการแสดงเป็น ส.ส. ที่ขึ้นกล่าวในที่ประชุมพรรคถึงนโยบายตรวจคนเข้าเมืองว่า
"อย่างแรก การตรวจคนเข้าเมือง ประชาชนมักจะเข้าใจพรรคเราผิดในเรื่องนี้ตลอดเวลา จริงมั้ย? เราไม่ได้เห็นว่า พวกอพยพเป็นสัตว์ซะหน่อย ให้ตายเถอะ! ผมรู้จักผู้อพยพหลายคนเป็นการส่วนตัว และพวกเขาก็เป็นคนที่ดีอย่างยิ่งเลย แน่นอนพวกเขาผิวดำ ซึ่งก็น่าเห็นใจ แต่จากใจจริง พวกเขาบางคนสามารถทำงานบางอย่างได้เกือบดีเท่ากับคนขาว เรายอมรับในเรื่องนี้
"ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้ ผู้อพยพส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดียและปากีสถาน แล้วผมก็ชอบ แกงกะหรี่ ชอบมาก! แต่ในเมื่อเราได้สูตรมาแล้ว มันยังมีความจำเป็นที่พวกเขาจะยังอยู่ที่นี่ต่อไปเหรอ? พรรคอนุรักษนิยมของเราเข้าใจปัญหานี้ เห็นมั้ย?"
ในมุกเดียวกัน แอตกินสัน (ที่แสดงเป็น ส.ส. อนุรักษนิยม) ยังเสนอการบำบัดนักโทษอายุน้อยด้วยการช็อตไฟฟ้าแรงดัน 24,000 โวลต์ เป็นการทดลองด้วย ซึ่งหากไม่ได้ผลก็ค่อยเปลี่ยนไปใช้ "วิธีการที่อ่อนปวกเปียกแบบเสรีนิยม สังคมนิยม รักนิโกร แบบพวกแดงคอมมี่ฝ่ายซ้ายรักเพศเดียวกัน"
มุกของแอตกินสันในการแสดงครั้งนั้นจึง “ไม่พีซี” อย่างที่สุด ในทางกลับกันก็เป็นวิธีการที่เสียดสีนักอนุรักษนิยมได้เป็นอย่างดี ซึ่งหากเป็นสมัยนี้ มุกของแอตกินสันย่อมสร้างความไม่พอใจให้กับทั้งนักอนุรักษนิยมที่รู้สึกว่าตัวเองโดนเหมารวม รวมถึงฝ่ายเสรีนิยมที่ “ไม่ยอมอดกลั้น” กับการใช้คำพูดที่ทำลายความรู้สึกของชนกลุ่มน้อย
สำหรับแอตกินสัน เขามองว่า การแก้ปัญหาอคติต่าง ๆ ควรใช้การพูดคุยและอภิปรายมากกว่าใช้อำนาจรัฐเข้าไปแทรกแซง และในการรณรงค์แก้ไขกฎหมายในปี 2012 เขาเสนอว่า
“สำหรับผมวิธีที่ดีที่สุดที่จะเพิ่มความต้านทานของสังคมต่อการดูหมิ่นหรือคำที่สร้างความขุ่นเคือง คือการยอมให้มีการใช้คำพูดเหล่านี้ให้มากขึ้น เหมือนกับโรคในเด็ก เด็กจะต่อต้านเชื้อโรคได้ดีขึ้นเมื่อเด็กเคยสัมผัสกับเชื้อเหล่านั้นมาก่อน เราจึงจำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันในการเผชิญกับความขุ่นเคือง เพื่อให้เราสามารถรับมือกับคำวิจารณ์ที่ถูกหยิบยกขึ้นมาได้เป็นอย่างดี
“ความสำคัญลำดับแรกของเราควรอยู่ที่ข้อความ ไม่ใช่ผู้พูด เหมือนที่ ประธานาธิบดี (บารัก) โอบามา เคยกล่าวต่อสหประชาชาติเมื่อเดือนก่อนว่า 'ความพยายามที่จะจำกัดการพูดคุยซึ่งได้รับการยกย่องในตอนนี้ สามารถเป็นเครื่องมือที่จะใช้ปิดปากนักวิจารณ์ หรือกดขี่ชนกลุ่มน้อยได้ อาวุธที่แข็งแกร่งที่สุดในการจัดการกับคำพูดแห่งความเกลียดชังไม่ใช่การจำกัด แต่เป็นการยอมให้มีการพูดจาให้มากขึ้น'”
ความเห็นของแอตกินสันไม่ได้รับการตอบรับที่ดีจากนักเสรีนิยม ที่ไม่เห็นว่า การปล่อยให้การเหยียดมีอยู่ต่อไปจะเป็นการช่วยให้การเหยียดลดลงได้อย่างไร เพราะคนเหยียดที่ไม่เปิดใจยอมรับเหตุผลมีอยู่มากมาย ต่อให้พูดจนปากเปียกปากแฉะก็ไม่ช่วยให้คนกลุ่มนี้เปลี่ยนใจไปเห็นใจชนกลุ่มน้อยที่พวกเขาเหยียดได้ และเห็นควรที่รัฐจะต้องเข้ามาปกป้องคนกลุ่มนี้
อย่างไรก็ดี การรณรงค์ของกลุ่ม Reform Section 5 ที่แอตกินสันให้การสนับสนุนก็ได้รับชัยชนะ เมื่อสภาขุนนางเสนอให้มีการตัดคำว่า “ดูหมิ่น” ออก และสภาสามัญชนก็เห็นพ้องตาม กฎหมายฉบับแก้ไขที่ไม่มีคำ “ดูหมิ่น” ก็ถูกนำมาใช้ในปี 2014