ฮอร์เก ราฟาเอล วิเดลา: เผด็จการอาร์เจนตินาผู้ขึ้นชื่อเรื่องการบังคับสูญหาย

ฮอร์เก ราฟาเอล วิเดลา: เผด็จการอาร์เจนตินาผู้ขึ้นชื่อเรื่องการบังคับสูญหาย

“ไม่ว่าผู้ที่หายจะมีชีวิตอยู่หรือตาย พวกเขาก็ยังหายสาบสูญไปอยู่ดี”

– ถ้อยแถลงของประธานาธิบดีเผด็จการอาร์เจนตินา

หลังถูกถามเรื่องการหายตัวไปของผู้คนจำนวนมาก

การถูก ‘บังคับสูญหาย’ ถือเป็นโศกนาฏกรรมที่ทุก ๆ วันมีคนถูกบังคับให้หายไปจากสังคมอยู่เสมอ รวมถึงเหตุการณ์ช่วงปี 1976-1981 ในประเทศอาร์เจนตินา ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการของ ฮอร์เก ราฟาเอล วิเดลา (Jorge Rafael Videla) ที่เกิดเหตุการณ์ไม่น่าจดจำมากมาย ทั้งสภาพเศรษฐกิจตกต่ำ การใช้อำนาจโดยมิชอบของผู้ปกครอง การบังคับสูญหาย และการอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ที่โลกเรียกกันว่า ‘สงครามสกปรก’ ก่อนเขาจะกลายเป็นผู้นำประเทศ วิเดลาเริ่มเหมือนกับผู้ทำรัฐประหารยึดอำนาจคนอื่น ๆ ทั่วโลก คือเป็นทหารเหมือนบรรพบุรุษในตระกูลที่เป็นทหารกันมาหลายชั่วอายุคน แถมพ่อของเขาก็เคยมีเอี่ยวกับการทำรัฐประหารครั้งก่อน คราวนี้ถึงตาของวิเดลาที่จะเดินตามรอยเท้าพ่อแล้ว นายพลวิเดลาวางแผนปลดนายทหารที่สนับสนุนประธานาธิบดี อิซาเบล เดอ เปรอง (Isabel de Peron) ภรรยาคนที่สามของอดีตประธานาธิบดีฆวน เปรอง จากนั้นค่อยทำรัฐประหาร ยึดอำนาจตอนเที่ยงคืน ขับไล่ประธานาธิบดีหญิงลงจากตำแหน่ง จนเธอต้องขึ้นเฮลิคอปเตอร์หนีไป เมื่อการทำรัฐประหารประสบความสำเร็จ กองทัพตั้งข้อหานางอิซาเบลว่ามีความผิดฐานคอร์รัปชัน กลุ่มนายพลทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ส่วนวิเดลาขึ้นรับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อปี 1976 โดยแจ้งวัตถุประสงค์ของการเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองครั้งนี้ว่า อาร์เจนตินาต้องจัดตั้งรัฐบาลที่มีความสามารถด้านเศรษฐกิจเพื่อฟื้นฟูความมั่นคงของชาติ ปกป้องอารยธรรมชาวคริสเตียนตะวันตก ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ฮอร์เก ราฟาเอล วิเดลา: เผด็จการอาร์เจนตินาผู้ขึ้นชื่อเรื่องการบังคับสูญหาย ประธานาธิบดีคนใหม่เข้ามาเจอกับสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น พร้อมกับความไม่สงบจากกลุ่มกองโจรติดอาวุธที่กบดานอยู่หลายเมือง เขาจึงเร่งปลดข้าราชการนักการเมืองหลายคนลงจากตำแหน่ง เอาบุคลากรทางทหารมานั่งคุมงานบริหารประเทศแทน พร้อมกับสนับสนุนการค้าเสรีมากขึ้น แม้มาตรการทางเศรษฐกิจของเขาจะประสบความสำเร็จในระดับปานกลาง แต่การขึ้นมามีอำนาจแบบไม่ผ่านการเลือกตั้งของเขาก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่ตลอดเวลา มีเรื่องแปลกประหลาดเกิดขึ้นในสมัยของเขา ไม่นานหลังจากกองทัพมีอำนาจ กลุ่มนักเคลื่อนไหว นักการเมืองฝ่ายตรงข้าม นักเขียน นักข่าว นักธุรกิจมีชื่อ รวมถึงประชาชนคนทั่วไป ต่างพากันหายหน้าหายตาไปโดยไม่ทราบสาเหตุ ช่วงเวลาไม่กี่ปีที่วิเดลามีอำนาจ ชาวอาร์เจนตินาหลายหมื่นคนถูกบังคับสูญหาย ไม่มีใครทราบชะตากรรม ทั้งหมดเกิดขึ้นเพียงเพราะคนเหล่านี้มองว่าเขาได้อำนาจทางการเมืองมาอย่างไม่ถูกต้อง เพียงเพราะเขาวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล หรือเหตุผลสุดสลดอย่างการเรียกร้องคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ชาวอาร์เจนตินาหลายคนเชื่อว่า การหายตัวไปของหลายคนเกิดขึ้นจากฝีมือของวิเดลา นอกจากนี้สื่อหลายสำนักยังลงข่าวตรงกันว่า หลังจากกองทัพทำรัฐประหารยึดอำนาจได้ไม่นาน นักเคลื่อนไหวและนักโทษทางการเมืองบางรายที่อยู่ในคุกถูกยิงเสียชีวิตคาห้องขัง แต่กองทัพออกมาแก้ข่าวนี้ว่าเกิดขึ้นเพราะฆ่าตัวตาย ทำให้ชาวอาร์เจนตินางงไปตาม ๆ กันว่านักโทษจะเอาปืนที่ไหนมายิงหัวตัวเอง มีข่าวลือว่ารัฐบาลโจมตีกลุ่มต่อต้าน ยัดข้อหาให้พวกเห็นต่าง ผู้สาบสูญมักถูกทำให้หายด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การวางยา บุกเข้าบ้านคนอื่นโดยพลการช่วงเที่ยงคืน หรือการขับรถฟอร์ด ฟอลคอน (Ford Falcon) ไม่มีทะเบียนสะกดรอยตามเป้าหมาย และเสยขึ้นทางเท้าพุ่งชนเหยื่อเมื่อสบโอกาส จับคนโยนลงจากเครื่องบินขณะบินเหนือมหาสมุทรแอตแลนติก ฝังทั้งเป็น โดนซ้อม หรือถูกทรมานด้วยเครื่องช็อตไฟฟ้า ฮอร์เก ราฟาเอล วิเดลา: เผด็จการอาร์เจนตินาผู้ขึ้นชื่อเรื่องการบังคับสูญหาย BBC รายงานว่า ระหว่างวิเดลาเป็นประธานาธิบดี มีเด็ก ๆ กว่า 400 คน ถูกรัฐบาลพรากไปจากอกพ่อแม่ พวกผู้ปกครองถูกส่งไปยังสถานกักกันลับที่ไม่มีใครรู้ว่าคนที่จับไปขังจะโดนอะไรบ้าง ผู้เป็นแม่ถูกฆ่าตาย ส่วนเด็กเพิ่งกำพร้าอีกนับร้อยถูกเลี้ยงดูโดยรัฐ รอวันเติบโตเพื่อส่งไปยังกรมกองต่าง ๆ ไม่กี่ปีหลังวิเดลาเป็นประธานาธิบดี มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 9,000-15,000 คน ยังไม่รวมคนที่หายตัวไประหว่างการรณรงค์ต่อต้านรัฐบาลทหาร เจ้าหน้าที่ด้านสิทธิมนุษยชนรายงานตัวเลขรวมของผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายช่วงวิเดลามีอำนาจมีจำนวนอยู่ที่ 30,000 คน การบังคับสูญหายหลายต่อหลายหนในประเทศถูกกล่าวขานไปทั่วโลก ใคร ๆ ต่างเรียกการหายตัวไปของชาวอาร์เจนตินาว่าเป็น ‘สงครามสกปรก’ (The Dirty War) ที่มีผู้นำเผด็จการอยู่เบื้องหลัง ครั้งหนึ่ง ประธานาธิบดีวิเดลาถูกสื่อมวลชนถามถึงประเด็นสงครามสกปรก กับการสูญหายแบบผิดปกติของคนในประเทศ ซึ่งท่านผู้นำได้ตอบกลับอย่างเย็นชาว่า “ชาวอาร์เจนตินาจำนวนมากจำเป็นต้องสละชีวิตเพื่อความปลอดภัยของประเทศ” คล้ายกับไม่แยแสถึงการมีอยู่หรือหายไปของประชาชน ไม่ใช่แค่ประชาชนที่ต้องเผชิญกับความเครียดและความหวาดกลัว วิเดลาก็เคยตกอยู่ในเหตุการณ์น่าหวาดหวั่นเช่นกัน เขาเคยถูกลอบสังหารในปี 1977 เมื่อเกิดเหตุระเบิดบริเวณรันเวย์สนามบินบัวโนสไอเรส เพียงไม่กี่วินาทีหลังจากเครื่องบินของประธานาธิบดีขึ้นสู่น่านฟ้า แต่บางคนยังไม่ปักใจเชื่อ แถมยังคิดว่าประธานาธิบดีเป็นผู้สร้างสถานการณ์ลอบสังหารที่ล้มเหลวครั้งนี้เองมากกว่า การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเปิดเผยของประธานาธิบดีวิเดลา ส่งผลให้สหรัฐอเมริกาแสดงความกดดันมายังอาร์เจนตินา ประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ ส่งผู้สังเกตการณ์ทางการทูตเพื่อคอยสอดส่องพฤติกรรมของรัฐบาล และประกาศลดความช่วยเหลือทางทหารแก่อาร์เจนตินา สร้างความกดดันมากพอสมควรให้รัฐบาลของวิเดลา หลังเริ่มรู้ตัวว่าประชาชนอดรนทนไม่ไหวมากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับการเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดของมหาอำนาจอเมริกา ในปี 1981 วิเดลาสละอำนาจ ยอมลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีโดยอ้างปัญหาสุขภาพ ส่งต่อหน้าที่ให้กับ โรแบร์โต วิโอลา (Roberto Viola) ฮอร์เก ราฟาเอล วิเดลา: เผด็จการอาร์เจนตินาผู้ขึ้นชื่อเรื่องการบังคับสูญหาย ความสำเร็จในการยึดอำนาจ การแทรกแซงทางการเมือง และการสืบทอดอำนาจจากทหารสู่ทหาร สร้างความมั่นใจให้เหล่านายพล ส่งผลให้ในปี 1982 อาร์เจนตินาส่งกองกำลังเข้ายึดหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ที่เป็นหนึ่งในอาณานิคมของอังกฤษ ถือเป็นการประกาศสงครามกับสหราชอาณาจักรอย่างเป็นทางการ ทำให้นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งอังกฤษ มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ จัดตั้งคณะรัฐมนตรีสงครามเพื่อวางแผนโต้ตอบการกระทำของอาร์เจนตินา สงครามหมู่เกาะฟอร์กแลนด์กินเวลาราว 3 เดือน ในที่สุดชัยชนะเป็นของสหราชอาณาจักร มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ถูกเรียกว่า ‘สตรีเหล็กแห่งอังกฤษ’ ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ทำให้ทหารอาร์เจนตินาเสียชีวิตไป 649 คน และกองทัพได้ทำลายแสนยานุภาพทางทหารและความน่าเชื่อถือของตัวเองทิ้งอย่างไม่มีชิ้นดี นายพลผู้ก่อสงครามโดนคดีเรื่องสิทธิมนุษยชนพ่วงการปฏิบัติงานล้มเหลว แถมประเทศผู้แพ้ยังต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามแก่อังกฤษอีก หลังจากอับอายครั้งใหญ่หลังทำสงครามแล้วแพ้ยับเยิน รัฐบาลทหารเสื่อมอำนาจจนล่มสลายไปเมื่อปี 1983 พร้อมกับการพิสูจน์ให้ประชาชนเห็นแล้วว่าทหารไม่ใช่ผู้บริหารประเทศที่ดี ต่อมาในปี 1985 เหล่านายพลที่ทำรัฐประหาร รวมถึงอดีตประธานาธิบดีวิเดลา ถูกนำตัวขึ้นศาลเพื่อพิจารณาคดีน้อยใหญ่ อาทิ ฆาตกรรม ทำร้ายร่างกาย ละเมิดสิทธิมนุษยชน ลอบสังหาร กักขังหน่วงเหนี่ยว และลักพาตัว วิเดลาถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต พอติดคุกได้ 5 ปี ก็ได้รับการอภัยโทษในสมัยประธานาธิบดี คาร์ลอส ซาอูล มีนิม (Carlos Saul Menem) ทว่าความดีใจอยู่ได้ไม่นานเท่าไหร่นัก ศาลฎีกายกเลิกการอภัยโทษดังกล่าว นำข้อหาเก่า ๆ ของเขากลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง พ่วงข้อหาใหม่ชวนขนลุกอย่างการขโมยเด็กทารก ที่เพิ่งมีหลักฐานมัดตัวเขาแน่นหนา ทำให้เขาได้โทษเพิ่มอีก 50 ปี โดยนายวิเดลาจะต้องถูกกักบริเวณอยู่ในบ้านนานกว่า 10 ปี และระหว่างนั้นต้องหมั่นมารายงานตัว ฟังการพิจารณาคดีเป็นประจำจนแก่ หลังคดียืดเยื้ออยู่นาน ในที่สุดเขาถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตเมื่อปี 2012 น่าเศร้าที่เขาติดคุกได้ไม่นานเท่าไหร่ก็เสียชีวิตในวันที่ 17 พฤษภาคม 2013 จากไปด้วยวัย 87 ปี ทางเรือนจำและโฆษกรัฐบาลไม่ได้รายงานถึงสาเหตุการเสียชีวิตว่าเกิดจากอะไร ปิดฉากตำนานนายพลทำรัฐประหารที่มีชีวิตบั้นปลายน่าอดสูไปแบบเงียบงัน เหลือทิ้งไว้เพียงบทเรียนราคาแพงให้ประเทศอาร์เจนตินา   ที่มา https://www.bbc.com/news/world-latin-america-22570888 https://www.nytimes.com/2013/05/18/world/americas/jorge-rafael-videla-argentina-military-leader-in-dirty-war-dies-at-87.html https://www.independent.co.uk/news/obituaries/general-jorge-rafael-videla-dictator-who-brought-terror-to-argentina-in-the-dirty-war-8621806.html https://www.britannica.com/biography/Jorge-Rafael-Videla https://www.washingtonpost.com/world/the_americas/jorge-rafael-videla-argentine-junta-leader-dies-at-87/2013/05/17/f22ae8d0-2f5c-11e2-a30e-5ca76eeec857_story.html   เรื่อง:ตรีนุช อิงคุทานนท์