สัมภาษณ์ สุภัตรา ภูมิประภาส ประสบการณ์ ‘6 ตุลา’ ที่หล่อหลอมสู่การ ‘ผ่าพม่า’ ผ่านงานแปล

สัมภาษณ์ สุภัตรา ภูมิประภาส ประสบการณ์ ‘6 ตุลา’ ที่หล่อหลอมสู่การ ‘ผ่าพม่า’ ผ่านงานแปล
เหตุการณ์ ‘6 ตุลา’ อาจมีความหมายต่อแต่ละคนแตกต่างกันไป สำหรับ สุภัตรา ภูมิประภาส ในวัยราว 14-15 ปี ที่เคยถูกจับและต้องไปใช้ชีวิตอยู่ในบ้านปราณีเป็นเวลานาน 1 เดือน โดยไม่รู้ว่าตัวเองทำอะไรผิด นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะหล่อหลอมตัวตนของสุภัตราให้เป็นผู้สนใจและเคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง การทำงานในบทบาทสื่อสารมวลชน ค่อย ๆ เปิดทางให้สุภัตราเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่า โดยเฉพาะเหตุการณ์การเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งใหญ่ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1988 (เรียกกันสั้น ๆ ว่า 8-8-88) ที่ทำให้สุภัตราสนใจใคร่รู้ และดำดิ่งลึกลงไปในประวัติศาสตร์พม่ามากขึ้น จากจุดนั้นเอง สุภัตรากับเพื่อนร่วมกันแปลหนังสือเล่มแรก ‘ใบอนุญาตข่มขืน’ ตีแผ่ความโหดร้ายของกองทัพพม่าที่กระทำต่อหญิงสาวกลุ่มชาติพันธุ์ และเมื่อสุภัตราลาออกจากการเป็นผู้สื่อข่าว เธอก็ทุ่มเวลาให้กับงานแปลที่รักอย่างเต็มที่ นำเสนอพม่าหลากประเด็น หลายช่วงเวลา ผ่านผลงานแปลหลายเล่ม ทั้ง ‘ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง’ ‘ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน’ ฯลฯ รวมทั้งผลงานเล่มล่าสุด ‘ผ่าพม่า เปิดประวัติศาสตร์ปกปิด’ ที่ล้วนแต่เปิดมุมใหม่ให้สังคมไทยมองพม่าชัดเจนยิ่งขึ้น The People ชวนรู้จัก สุภัตรา ภูมิประภาส ผู้ ‘ผ่าพม่า’ ผ่านงานแปล ผ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ สัมภาษณ์ สุภัตรา ภูมิประภาส ประสบการณ์ ‘6 ตุลา’ ที่หล่อหลอมสู่การ ‘ผ่าพม่า’ ผ่านงานแปล The People: เหตุการณ์ ‘6 ตุลา’ หล่อหลอมตัวตนของคุณอย่างไร สุภัตรา: สมัย 6 ตุลา ตัวเองไปอยูในเหตุการณ์และถูกจับ ตอนนั้นอายุ 14-15 ยังเรียนชั้นมัธยมอยู่เลย แล้วก็ไม่รู้ว่าตัวเองทำอะไรผิด ถูกเอาไปขังอยู่ 1 เดือน แล้วก็ยกฟ้อง เราก็รู้สึกว่าฉันทำอะไรผิด ไม่มีใครบอกอะไรเราเลย ก็ค้างคาอยู่ในใจ ตอนเรียนมหาวิทยาลัย (คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย) ก็ยังค้างคาอยู่ ทำให้อยากทำอะไรสักอย่างที่เป็นการนำข้อมูลออกมาให้สังคมได้รับรู้ ประกอบกับเป็นคนชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว แต่ยุคนั้นหนังสือที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ก็ไม่มีให้เราอ่าน เพราะฉะนั้นเลยได้แต่คิดอยู่ในใจว่าจะต้องทำอะไรแบบนี้ พอเรียนจบปุ๊บ เห็นหนังสือพิมพ์ประกาศรับสมัครนักข่าว เลยไปสมัครเป็นผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ เพราะเราจบเศรษฐศาสตร์มา ระหว่างนั้นอยากเรียนรู้สังคม เลยไปเข้าโครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม รุ่นที่ 8 ของมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ซึ่งเปิดรับอาสาสมัครเพื่อทำงานกับกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เราก็อยากทำมากเลย เพราะอ่านนิยายเยอะด้วย มีนิยายที่บอกว่านางเอกออกไปเป็นพัฒนากรอยู่ต่างจังหวัด แต่ตอนแรกก็ไม่ได้ตรงกับที่ต้องการเท่าไหร่ คือเราอยากไปต่างจังหวัด แต่สิ่งที่เราได้ทำคือในกรุงเทพฯ เป็นฝ่ายข้อมูลเผยแพร่ที่สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน อาจเพราะแบ็คกราวนด์เราเป็นนักข่าวมานิดหนึ่ง ช่วงนั้นมีโครงการรณรงค์ให้นิรโทษกรรมนักโทษการเมืองที่โดนคดีคอมมิวนิสต์ รุ่นนั้นเป็นรุ่นที่โดนคดีหนัก ๆ แล้วสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนก็ทำร่วมกับองค์กรสิทธิฯ หลาย ๆ องค์กร รณรงค์ให้นิรโทษกรรมคนเหล่านี้ เราก็ไปทำฝ่ายเผยแพร่ ทำให้นึกย้อนไปถึงตอนที่เราถูกจับแล้วรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม พอทำตรงนี้ก็ได้เรียนรู้ข้อมูลในแง่มุมต่าง ๆ นอกจากที่เคยรู้ ทำไปได้ 2 ปี ก็จบเทอมโครงการอาสาสมัครเพื่อสังคม เลยกลับไปเป็นนักข่าว คราวนี้ไปอยู่มติชน ต้องบอกว่า 2 ปีที่ทำโครงการอาสาสมัครฯ มันเติมเต็มเราในแง่การเรียนรู้สังคมเยอะมาก ๆ โดยเฉพาะในมุมเรื่องสิทธิมนุษยชน   The People: อะไรที่จุดประกายให้สนใจประเด็นเกี่ยวกับพม่า สุภัตรา: เราเป็นคนที่ถ้ามีทุนที่ไหนก็จะสมัครไป คือพร้อมจะลาออกจากงานไปทำตรงนั้น พอทำเสร็จ ไม่ว่าจะเป็นเดือน เป็นปี เราก็กลับมา เพราะมันยิ่งทำให้ได้ข้อมูลเยอะขึ้น พอกลับมาเป็นนักข่าว เราก็ยังคบหากับเพื่อนในแวดวงสิทธิมนุษยชน ได้เรียนรู้ว่ามีปัญหาที่โน่นที่นี่ แล้วกรณีพม่า ตอนนั้นปี 1988-1989 เพื่อน ๆ ก็ตั้งกลุ่มช่วยเหลือนักศึกษาพม่าที่ทะลักเข้ามาในไทยจากเหตุปราบปราม พวกเขาเป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกับเรา อาจอ่อนกว่านิดหนึ่ง เราก็นึกถึงว่าที่อ่านมา 14 ตุลา 6 ตุลา นักศึกษาแพทย์ นักศึกษาพวกหัวกะทิทั้งหลายทะลักไปตามป่า มันเหมือนภาพสะท้อนกลับมาว่าคนพวกนี้ก็คล้ายกัน เราเลยรวมกลุ่มกันช่วยพวกเขา ช่วยจริง ๆ เลยนะคะ คือนักศึกษาพม่าบางส่วนเข้ามากรุงเทพฯ บางส่วนก็ไปเข้ากับกลุ่มชาติพันธุ์ ชนกลุ่มน้อย จับอาวุธ เนื่องจากตอนนั้นพม่าปิดประเทศ ไม่มีใครเข้าไปได้ แล้วการปราบปรามก็เป็นประเด็นใหญ่มาก พวกประเทศที่สามก็มารับนักศึกษาพม่า เวลามาคัดตัวให้ทุนก็จะคัดเอาพวกหัวกะทิไป แต่มีนักศึกษากลุ่มหนึ่งที่เรียนแพทย์ วิศวะ เขาไม่ไป เราถามว่าทำไมไม่ไป เขาบอกว่าต้องการอยู่ใกล้บ้าน ต่อสู้ที่นี่ เวลานั้นเราก็จะเทียบเคียงเหตุการณ์เดือนตุลากับเหตุการณ์นี้ สตอรี่คล้ายกันเลย คนรุ่นตุลากับคนรุ่น 1988 ของพม่า เพราะฉะนั้นจะอินกับพวกนี้มาก ตอนนั้นเราทำข่าวด้วย และช่วยเหลือเขาเท่าที่ทำได้ สัมภาษณ์ สุภัตรา ภูมิประภาส ประสบการณ์ ‘6 ตุลา’ ที่หล่อหลอมสู่การ ‘ผ่าพม่า’ ผ่านงานแปล The People: การช่วยเหลือเพื่อนนักศึกษาพม่าเป็นจุดเริ่มต้นของงานแปล? สุภัตรา: ตอนนั้นเป็นนักข่าว เป็นช่วงที่ อ่องซาน ซูจี ถูกกักบริเวณอยู่ ประกอบกับตอนนั้นเราจะทำเรื่องซูจีอายุครบ 60 ปีกันด้วย แล้ว ‘License to Rape : The Burmese military regime’s use of sexual violence in the ongoing war in Shan State’ ก็ออกมาพอดี เป็นรายงานของกลุ่มผู้หญิงไทใหญ่ในรัฐฉานที่ถูกกองทัพพม่าข่มขืนเพื่อทำลายล้างสงครามกลุ่มชาติพันธุ์ เล่มนี้ทำให้คนหันมาสนใจพม่ามาก ๆ คือพวกผู้หญิงกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าจะใช้วิธีนี้ในการบอกให้โลกรู้ว่าเขาโดนอะไรมาบ้าง จริง ๆ แล้วไม่ได้อยากแปลเล่มนี้เลย เพราะว่าอ่านแล้วขมขื่นมาก มันโหดมาก แต่เรารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่พอจะทำได้เกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงไปชวนคุณเพ็ญนภา หงษ์ทอง เพื่อนนักข่าวอีกคนมาช่วยกันแปล แปลคนเดียวไม่น่าจะไหวเพราะโหดมาก พอ ‘ใบอนุญาตข่มขืน บันทึกการทารุณกรรมทางเพศในรัฐฉาน’ ออกมา คนก็ฮือฮาเยอะมาก นี่คือเล่มแรก แต่ต้องบอกว่าเป็นการทำเชิงรณรงค์ ไม่ได้เป็นเชิงพาณิชย์ ต่อมาได้ร่วมแปล ‘Shattering Silences : Karen Women Speak out about the Burmese Military Regime's use of Rape as a Strategy of War in Karen State’ หรือชื่อไทยว่า ‘ข่มขืน-ขื่นขมในความเงียบ : เรื่องเล่าของผู้หญิงกะเหรี่ยงกับเรื่องราวของทหารพม่าและสงครามประชาชนในรัฐกะเหรี่ยง’ เหตุการณ์เหมือนกันเปี๊ยบเลย แต่ไปเกิดในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเล่มนี้ก็เป็นงานที่เราช่วยเพื่อนรณรงค์ด้วยเหมือนกัน   The People: ความรู้สึกของคุณเป็นอย่างไรบ้าง ที่ประเดิมเส้นทางสายการแปลด้วยเรื่องราวที่มีเนื้อหาเข้มข้นหนักหน่วง สุภัตรา: รู้สึกมาก รู้สึกขมขื่นไปกับเขา รู้สึกโกรธ ไม่อยากแปลอีกแล้ว ไม่อยากให้มีเหตุการณ์แบบนี้มาให้แปลอีกแล้ว เลยยังทำให้เราวนเวียนอยู่ในประเด็นพม่า คือพอคุณอยู่กับข้อมูล คุณจะรู้ว่ามันไม่ได้สวยงาม พม่าไม่ได้มีแค่สาวทาทานาคาสวย ๆ เอวบางร่างน้อย นุ่งโสร่ง มันมีเรื่องราวมากมายกว่านั้น   The People: ‘ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง’ คือผลงานแปลของคุณที่ทำให้คนอ่านรู้จักพม่าในอีกมุมมอง? สุภัตรา: นอกจากประเด็นหนัก ๆ ของพม่าแล้ว ส่วนตัวเป็นคนสนใจเรื่องราชสำนักมาก ทุกราชสำนักเลยนะคะ ชอบอ่าน แล้วถ้าเผื่อใครอ่านเกี่ยวกับราชสำนักจะรู้ว่ามีสีสันมากทุกที่เลย ถ้าพูดถึงพม่า ก่อนจะมีเล่ม ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง’ คนจะคิดถึงเล่ม ‘พม่าเสียเมือง’ ของอาจารย์หม่อมคึกฤทธิ์ (ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช) เชื่อว่าคนที่สนใจพม่าทุกคนจะได้อ่าน แล้วก็จะมีภาพจำว่ากษัตริย์ธีบอกับพระนางศุภยาลัตชั่วร้ายมาก แต่จริง ๆ ถ้าไปอ่านคำนำของอาจารย์หม่อมจะเขียนว่า อันนี้เขียนให้อ่านกันสนุก ๆ แต่คนก็จะคิดว่ามันเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว ทีนี้พอสนใจพม่า แล้วเห็นทางออนไลน์ว่า ‘The King In Exile : The Fall Of The Royal Family Of Burma’ เพิ่งพิมพ์ที่อินเดีย ก็อยากได้ โชคดีมากที่เพื่อนชาวอินเดียเขากลับบ้านที่นั่น เลยบอกเขาว่าช่วยซื้อมาให้หน่อยเพราะอยากอ่านมาก พอเริ่มอ่านปุ๊บ ก็อ่านแบบไม่หลับไม่นอนเลย เป็นเล่มที่เปิดข้อมูลมาก ไม่ใช่ข้อมูลมโนด้วย เป็นเรื่องที่ทุกจุดมีข้อมูลหลักฐานรองรับหมด อ่านแล้วสะเทือนใจกับชีวิตของทุกคนในนั้น อ่านแล้วอยากแปลมาก คืออ่านแล้วก็แปลในหัวไปด้วยเลย และโชคดีมากที่สำนักพิมพ์มติชนสนใจ แต่ก่อนหน้าที่จะได้แปล ผู้เขียนคือคุณสุดาห์ ชาห์ (Sudha Shah) บอกว่าอยากคุยกับคนแปลก่อน แล้วก็บินจากอินเดียมาไทยเลย ก็นัดเจอ พูดคุยกัน ระหว่างนั้นเขาไม่ได้บอกว่าจะให้ลิขสิทธิ์ แต่วันหนึ่งคุณสุดาห์ ชาห์ ไปพูดที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศเรื่องหนังสือเล่มนี้ เราก็ไปฟังด้วย เขาก็บรรยายของเขาไป จู่ ๆ เขาพูดขึ้นมากลางวงว่ากำลังจะแปลเป็นไทยนะ คนแปลนั่งอยู่นี่ เราก็ดีใจมากที่เขาโอเค พอแปลแล้วเราก็คิดว่าเล่มนี้เป็นเล่มที่ทำให้คนไทยสนใจพม่าในบริบทที่มากขึ้นในการสืบค้นข้อมูล สัมภาษณ์ สุภัตรา ภูมิประภาส ประสบการณ์ ‘6 ตุลา’ ที่หล่อหลอมสู่การ ‘ผ่าพม่า’ ผ่านงานแปล The People: เป็นความตั้งใจของคุณหรือไม่ที่ต้องการแปลหนังสือที่มีหลักฐานต่าง ๆ รองรับชัดเจน สุภัตรา: เป็นความตั้งใจค่ะ เพราะคิดว่าหนังสือฟิกชัน นวนิยาย เรื่องแต่ง มีคนเขียนเยอะแล้ว เมื่อก่อนตัวเองก็ชอบแบบนั้น แต่พอโตขึ้น...หมายถึงถ้าคนอ่านหนังสือ จะรู้ว่าความชอบจะเปลี่ยนไปตามอายุ หรือเราอ่านจนเยอะแล้ว สมัยก่อนเราอ่านนิยายจนรู้ว่านางเอกของนักเขียนคนนี้จะมีบุคลิกแบบไหน คราวนี้พอเป็นหนังสือที่แปลเลยตั้งใจว่า ตัวเองเป็นคนชอบความรู้ หมายถึงความรู้ที่ผ่านตัวอักษรที่มีคนทำไว้อยู่แล้ว ก็ชอบและอยากจะแปลงานที่มีข้อมูลรองรับมากกว่าการวิเคราะห์ คือวิเคราะห์นี่เดี๋ยวคนอ่านวิเคราะห์เอง แต่ส่วนตัวเป็นคนชอบงานที่คนเขียนหาข้อมูลมาให้อ่าน แล้วโชคดีมากที่หนังสือแต่ละเล่มที่ได้แปล คนเขียนทำข้อมูลมาดีมาก ละเอียดมาก และเขียนสนุก ต้องถือว่าตัวเองโชคดีในฐานะนักแปลที่ได้แปลหนังสือที่ตัวเองชอบ เป็นหนังสือที่สนุกด้วย แล้วก็เป็นเรื่องที่เป็นข้อมูล เป็นข้อเท็จจริง เป็นการส่งผ่านให้สาธารณชน เหมือนเราทำตัวเป็นตัวกลางที่จะส่งผ่านข้อมูลไป   The People: สังเกตว่าหนังสือที่คุณแปลมีความเกี่ยวเนื่องทางเวลาระหว่างกัน ไล่ตั้งแต่ยุคปลายราชวงศ์พม่า เชื่อมไปถึงยุคพม่าเป็นอาณานิคมของอังกฤษ? สุภัตรา: เป็นความตั้งใจอีกเช่นกัน ตอนแรกจะเลือกอ่านหนังสือที่สนใจก่อน พอสนใจแล้วก็จะเชื่อมไปยังเรื่องอื่น ๆ ที่อยู่ในช่วงเวลาใกล้กัน เมื่อยุคสมัยเป็นยุคที่เชื่อมต่อกัน ก็เหมือนรู้จักตัวละครหมดแล้ว กลายเป็นต้นทุนที่ทำให้ทำงานง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นทุกเล่มที่แปล ตัวละครจะพัวพันกันหมดเลย สัมภาษณ์ สุภัตรา ภูมิประภาส ประสบการณ์ ‘6 ตุลา’ ที่หล่อหลอมสู่การ ‘ผ่าพม่า’ ผ่านงานแปล The People: เล่มล่าสุดคือ ‘ผ่าพม่า เปิดประวัติศาสตร์ปกปิด’ เดินทางมาถึงประวัติศาสตร์ร่วมสมัยแล้ว? สุภัตรา: ก่อนหน้านี้แปลเรื่อง ‘Finding George Orwell in Burma’ ของเอ็มม่า ลาร์คิน (Emma Larkin) เป็นภาษาไทยคือ ‘จิบพม่าตามหาจอร์จ ออร์เวลล์ ประวัติศาสตร์ระหว่างบรรทัดในร้านน้ำชา’ ถ้าเผื่อใครอ่านก็จะสนุกมาก เอ็มม่าใช้จอร์จ ออร์เวลล์ (เจ้าของผลงานซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอย่าง 1984, Animal Farm เป็นต้น - ผู้สัมภาษณ์) เป็นตัวนำ แล้วไปตามที่ต่าง ๆ ทั้งหมดทั้งมวลเป็นปัญหาในพม่าที่เขาสะท้อนมาแล้วเราไม่เบื่อเลย แล้วเอ็มม่าเป็นนักข่าวที่เขียนหนังสือสนุก ซึ่งส่วนตัวชอบอ่านหนังสือที่นักข่าวเขียนอยู่แล้ว พอแปลเล่มนี้เสร็จ วันหนึ่งเอ็มม่าก็ถามว่าสนใจจะแปล ‘The Hidden History of Burma Race, Capitalism and the Crisis of Democracy in the 21st Century’ เขียนโดย ตั้น เมี่ยน-อู (Thant Myint-U) หรือเปล่า คือตั้น เมี่ยน-อู เป็นนักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ การเขียนของเขาจะมีความเป็นนักวิชาการ แล้วตอนนั้นเราไม่แน่ใจว่าจะสนุกแค่ไหนด้วย แต่เอ็มม่าบอกว่าเป็นเล่มที่เปิดข้อมูลและมีความแหลมคมมาก อยากให้อ่านก่อน เราก็เลยอ่าน พออ่านแล้วรู้เลยว่าอยากแปลเรื่องนี้ พอมาเล่มนี้ปุ๊บ ‘ผ่าพม่า เปิดประวัติศาสตร์ปกปิด’ ของสำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์ จะเป็นการเมืองที่ตื่นเต้นมาก เพราะแม้แต่คนพม่าเองก็ไม่รู้ว่าเบื้องบนของเขาทำอะไรกันอยู่ พวกเพื่อนเราที่อยู่ตามชายแดน ที่นั่นที่นี่ หรือแม้แต่องค์กรระหว่างประเทศก็ไม่รู้หรอก เพราะรัฐบาลเผด็จการพม่าไม่เปิด เขาปิดแล้วเขาปิดจริง ๆ แล้วตอนนั้น ตั้น เมี่ยน-อู ได้รับเชิญเข้าไประหว่างที่เผด็จการกำลังจะลงจากอำนาจ ลงจริงหรือเปล่าไม่รู้ แต่จะทำให้พม่าเปลี่ยนผ่านมาสู่รัฐบาลเลือกตั้ง เลยเป็นข้อมูลที่คนในเปิดมาหมดเลยว่าใครวางเครือข่ายกันไว้อย่างไร แล้วที่ดีมาก ๆ คือเขาจะมีข้อมูลสังคมพม่าทั่วไป ภาคประชาสังคม หรือว่าสถานการณ์พม่าในแง่ความเป็นประเทศยากจน ร่ำรวย ทุกอย่าง ทุกประเด็น อยู่ในเรื่องนี้หมด ส่วนความเป็นนักวิชาการของตั้น เมี่ยน-อู ก็เข้ามาเสริมอย่างมาก ตรงที่เขาจะให้ภูมิหลัง เช่น กรณีโรฮิงญา หรือแม้แต่คำว่า เมียนมา เบอร์มา พม่า คือเราแทบจะไม่เคยรู้เลย แม้กระทั่งเพื่อนชาวพม่าก็ยังบอกเราไม่ได้ว่าแต่ละคำแตกต่างกันอย่างไร แต่ตั้น เมี่ยน-อู บอกไว้หมดตั้งแต่แรก เขาค่อนข้างเข้มงวดกับคำพวกนี้ รวมทั้งเรื่องของกองกำลังและการต่อสู้ทั้งหลาย ทุกอย่างมีข้อมูลรองรับหมด สำหรับตัวเองแล้วคิดว่าเล่มนี้เป็นผลงานที่ดีที่สุดของตั้น เมี่ยน-อู เลยทีเดียว สัมภาษณ์ สุภัตรา ภูมิประภาส ประสบการณ์ ‘6 ตุลา’ ที่หล่อหลอมสู่การ ‘ผ่าพม่า’ ผ่านงานแปล The People: ปรับตัวมากน้อยเพียงใดในการแปลหนังสือที่มีสำนวนแตกต่างกัน สุภัตรา: ไม่ต้องปรับตัวอะไรเลย เพราะทุกเล่มที่แปล เวลาอ่านคุณไม่ได้อ่านสุภัตรา คุณอ่านเอ็มม่า เพียงแต่ว่าเอ็มม่ากับสุภัตรามีอะไรที่คล้าย ๆ กันอยู่ มีความเป็นนักข่าวที่ต้องทำไม่รู้ไม่ชี้ แต่ว่าเข้าไปเจาะข้อมูล เพราะฉะนั้นการแปลจะเป็นไปตามต้นฉบับ คือถ้าอ่านแล้วให้อารมณ์แบบสุภัตราเขียน คนเขียนคงไม่แฮปปี้เท่าไหร่ ก็ต้องเป็นตั้น เมี่ยน-อู ผู้เป็นนักประวัติศาสตร์ แล้วก็มีบุคลิกที่ค่อนข้างจริงจัง เพราะฉะนั้น บางอย่างแปลไปก็จะรู้สึกว่า ถ้าเป็นเราจะใช้คำนี้ ๆ แต่เวลาคิดอย่างนี้ก็จะบอกตัวเองว่า สมมติเราเขียนหนังสือสักเล่ม แล้วหนังสือเราถูกแปล เราก็ยังอยากให้เป็นสำนวนของเรา คือเหมือนเราคิดกลับไป คนอ่านอาจต้องปรับตัวนิดหน่อย แต่ข้อมูลมันคุ้มค่ามาก   The People: มีอุปสรรคในการแปลบ้างไหม สุภัตรา: ถ้าคนเขียนใช้ภาษายากก็ค่อนข้างลำบากเหมือนกัน เล่มที่ลำบากนิดหน่อยน่าจะเป็น ‘The English Governess at the Siamese Court’ แปลเป็นเล่มไทยคือ ‘อ่านสยามตามแอนนา : การบ้านและการเมืองในราชสำนักคิงมงกุฎ’ เล่มนี้ใช้ภาษาโบราณ ต้องค้นข้อมูลเยอะ ส่วนอีกเล่มคือ ‘The Fishing Fleet’ ชื่อไทยคือ ‘กองเรือหาคู่ : จากเมืองฝรั่งขึ้นฝั่งที่อินเดีย’ แค่บรรยายชุดที่คนในเรื่องใส่ก็ใช้เวลาเป็นวันแล้ว ส่วนเล่มอื่นไม่ยากเท่าไหร่   The People: เล่มที่กำลังจะแปลก็ยังคงเป็นเรื่องเกี่ยวกับพม่าอีกเช่นเคย? สุภัตรา: ‘Indian Summer’ เล่มนี้อยากแปลมานานมาก แล้วก็โชคดีที่ได้แปล ตอนนี้กำลังแปลอยู่ น่าจะออกเป็นเล่มต่อไป อินเดียกับพม่าไม่สามารถแยกกันออกได้ เพราะพม่าเคยเป็นมณฑลหนึ่งของบริติช อินเดีย แล้วเล่มนี้จะบอกเลยว่าการแยกบริติช อินเดีย ครั้งแรก ไม่ใช่อินเดีย-ปากีสถาน แต่เป็นพม่าที่แยกออกมาจากบริติช อินเดีย เล่มนี้สนุกมาก เพราะคนเขียนทำข้อมูลเยอะมาก เชิงอรรถหนึ่งบางทีย่อหน้า สองย่อหน้า ส่วนตัวละครก็วนไปทั่วเลย มีสมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 5, สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6, มหาตมะ คานธี, ชวาหะร์ลาล เนห์รู, ลอร์ด หลุยส์ เมานต์แบ็ตเทน คือเปิดสังคมอังกฤษ อินเดีย และส่วนหนึ่งของพม่าด้วย แล้วคนเขียนเก่งมากเพราะเปิดทั้งด้านสว่างและด้านมืด ส่วนอีกเล่มที่อยากแปลคือ ‘The Last Mughal’ ถ้าบอกว่าชีวิตของพระเจ้าธีบอเศร้าแล้ว ชีวิตของโมกุลคนสุดท้ายยิ่งรันทดมากเข้าไปอีก สัมภาษณ์ สุภัตรา ภูมิประภาส ประสบการณ์ ‘6 ตุลา’ ที่หล่อหลอมสู่การ ‘ผ่าพม่า’ ผ่านงานแปล The People: ความคาดหวังที่มีต่อผลงานแปล? สุภัตรา: สมัยทำงานข่าว เราก็ต้องการให้คนอ่านข่าวของเรา คือรู้สึกว่าเราทุ่มเทกับงานแต่ละชิ้นและอยากแบ่งปันให้ทุกคนได้อ่าน จริง ๆ ไม่ใช่เฉพาะงานข่าวหรืองานแปล ทุกอย่างที่เราทำ เราก็จะตื่นเต้นกับมันทุกครั้ง และเวลาที่คนตอบรับผลงานที่ทำก็รู้สึกดีใจ ภูมิใจ   The People: เหมือนผลงานแปลแต่ละเล่มเป็นจิ๊กซอว์ต่อภาพพม่า? สุภัตรา: งานแปลสองเล่มแรกเป็นเหมือนการเปิดก่อน เปิดมาว่าข้อมูลส่วนที่เราไม่รู้เลยมันเป็นอย่างไร เล่ม ‘ใบอนุญาตข่มขืน’ และเล่ม ‘ข่มขืน-ขื่นขมในความเงียบ' เป็นข้อเท็จจริงที่เรารู้ และอยากให้สังคมรู้ จากนั้นก็เชื่อมต่อกันมาคือ ‘ราชันผู้พลัดแผ่นดิน เมื่อพม่าเสียเมือง’ ‘ราชินีศุภยาลัต จากนางกษัตริย์สู่สามัญชน’ ‘กองเรือหาคู่’ และ ‘จิบพม่าตามหาจอร์จ ออร์เวลล์’ ซึ่งสี่เล่มนี้จะเป็นยุคที่พัวพันกัน จนมาถึง ‘ผ่าพม่า เปิดประวัติศาสตร์ปกปิด’ ที่เป็นยุคเปลี่ยนผ่าน ซึ่งทั้งหมดเป็นจิ๊กซอว์ที่จะช่วยให้เราต่อภาพพม่าให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น   The People: มาถึงทุกวันนี้ ภาพจำของพม่าในสังคมไทยเปลี่ยนไปมากน้อยเพียงใด สุภัตรา: เปลี่ยนไปมากนะคะ มากขึ้นในทุกบริบท อย่างถามสำนักพิมพ์ต่าง ๆ เขาก็บอกว่าหนังสือเกี่ยวกับพม่าทั้งหลายทั้งปวงขายดี อาจเพราะพม่ากับไทยใกล้กัน เป็นความสัมพันธ์แบบที่เรียกว่าทั้งรักทั้งชัง แต่เอาเข้าจริงคนพม่าไม่ได้ชังไทยเลย แล้วคนไทยเองก็เรียนรู้ คือยุคนี้สังคมเปิดให้ได้ทำความรู้จักกัน ดังนั้นในยุคนี้คิดว่าค่อนข้างแตกต่างจากเดิม บางคนอาจมีอคติอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากเท่ายุคหนึ่ง   The People: การแปลเติมเต็มชีวิตของคุณแค่ไหน สุภัตรา: มากเลยค่ะ คือจริง ๆ ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นนักแปลอาชีพอะไรเลย ที่เริ่มต้นการแปลเพราะอ่านแล้วชอบ อ่านแล้วอยากแปล อ่านแล้วก็อยากให้คนอื่นได้อ่าน อยากขายเรื่องราวให้คนอื่นอ่าน เพราะเรามีกลุ่มที่อ่านเล่มไหนก็มาคุยกัน ความที่ไม่ใช่นักแปลมืออาชีพ เพราะแปลปีละเล่มเอง คราวนี้เวลาที่เหลือจากการแปลก็เอาไปตามรอยพวกนี้แหละ ตามรอยหนังสือที่เราแปล จากนั้นก็กลับมาแปลต่อ พอทำแล้วมันมีความสุข ได้แปลสิ่งที่เราชอบ แล้วก็สร้างรายได้ให้เราด้วย ไม่ได้รู้สึกว่าทำงานที่ไม่ชอบ เพราะนี่คือสิ่งที่ชอบหมดเลย พอแปลเสร็จเราก็ไปเที่ยวอีก เราก็ชอบอีก ชีวิตก็วนเวียนอยู่อย่างนี้     เอื้อเฟื้อสถานที่: จักรพงษ์วิลล่า