"โลกนี้มีนักแสดงที่แท้จริงอยู่เจ็ดคน และ ฌอน คอนเนอรี คือหนึ่งในนั้น"
คำกล่าวนี้มาจาก สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) พ่อมดแห่งฮอลลีวูด ที่แม้ว่าจะไม่แน่ชัดถึงที่มาที่ไปว่าทำไมเขาถึงกล่าวชื่นชมคอนเนอรี และไม่รู้ว่าอีก 6 คนที่เหลือนั้นคือใครที่เข้ามาตรฐานของสปีลเบิร์ก แต่หลายคนก็ต้องพยักหน้ายอมรับว่า ฌอน คอนเนอรี (Sean Connery) คือไอคอนระดับตำนานของโลก เพราะนอกจากตัวละคร เจมส์ บอนด์ ที่เขารับบทมาถึง 7 ภาค เขายังเป็นนักแสดงมากฝีมือที่การันตีด้วยรางวัลออสการ์จาก The Untouchables (1987)
คอนเนอรีเป็นนักแสดงจากสกอตแลนด์ที่ชาวสกอตภาคภูมิใจอย่างมาก ถึงกับขนานนามให้เขาว่า “The Greatest Living Scot” และ “Scotland's Greatest Living National Treasure” เลยทีเดียว ซึ่งคอนเนอรีเองก็ภูมิใจกับการเป็นสายเลือดสกอต ดูได้จากเมื่อตอนอายุ 16 ปี ที่เขาสมัครรับราชการทหารเรือ และได้สักที่แขนขวาของเขาว่า “Mum and Dad” เพื่อระลึกถึงคุณบิดามารดา และยังมีรอยสัก “Scotland Forever ” ซึ่งสองสิ่งนี้คือสิ่งที่เขายึดถือมาตลอดชีวิต
“ฌอน” ไม่ใช่ชื่อต้นของเขา หากแต่คือชื่อกลางจากชื่อเต็มคือ โธมัส ฌอน คอนเนอรี เขาเลือกที่จะเรียกตัวเองด้วยชื่อกลางตั้งแต่ก่อนจะเริ่มงานในวงการบันเทิง แม้ว่าตอนเด็กเพื่อน ๆ จะเรียกเขาว่า “ทอมมี่” และเรียกเขาว่า “บิ๊ก แทม” (Big Tam) เมื่อครั้นเติบโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่นเจ้าของส่วนสูง 188 เซนติเมตร
หลังออกจากราชการทหารเนื่องจากเป็นแผลในกระเพาะอาหาร คอนเนอรีก็ทำงานต่าง ๆ มากมาย และเริ่มเข้าสู่วงการนักเพาะกาย จนถึงขั้นได้รับรางวัล Mr. Universe ในปี 1953 ซึ่งเป็นหนึ่งในใบเบิกทางของเขาในวงการบันเทิง จากนั้นคอนเนอรีในวัยหนุ่มก็หาลู่ทางต่อด้วยการเข้าวงการละครเวที ทำให้เขาได้พบกับเพื่อนนักแสดง ไมเคิล เคน ในปี 1954 ในปาร์ตี้ของละครเวทีเรื่อง South Pacific และเป็นเพื่อนซี้กันตลอดมา จากนั้นเขาก็ไต่เต้าไปเรื่อย ๆ จนได้เข้าสู่วงการโทรทัศน์ และแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก No Road Back ในปี 1957
เขาวานให้ผมเป็นสายลับ
ฌอน คอนเนอรี ไม่ได้เป็นตัวเลือกแรกที่ เอียน เฟลมมิง เจ้าของบทประพันธ์นิยาย James Bond ต้นตำรับสายลับก้องโลก อยากได้มาแสดง เฟลมมิงถึงกับประกาศว่าไม่อยากได้ “ไอ้สตันท์แมนตัวยักษ์” คนนี้ มาเป็นผู้การเจ้าสำราญชาวอังกฤษของเขา เพราะอย่างที่บอก คอนเนอรีมีรูปร่างสูงใหญ่ หุ่นล่ำ แถมยังเป็นชาวสกอตอีกต่างหาก เรียกว่าไม่มีอะไรตรงกับบทเลย
ตอนนั้นทางสตูดิโอพยายามยื่นข้อเสนอให้นักแสดงดังหลายคน เช่น แครี แกรนท์ ซึ่งบอกปัดบทไปเพราะไม่ยอมเล่นหนังแฟรนไชส์หลายภาค ริชาร์ด จอห์นสัน มาแสดงไม่ได้เพราะติดสัญญากับ MGM ส่วน แพทริค แม็คกูฮาน ที่เกือบจะได้แสดงแล้วแต่ขอปฏิเสธไปเพราะไม่ชอบนิสัยของเจมส์ บอนด์ สุดท้ายเมื่อหานักแสดงอยู่นาน ดานา บร็อคโคลี ภรรยาของโปรดิวเซอร์ อัลเบิร์ต อาร์. บร็อคโคลี ก็เป็นคนหว่านล้อมทุกคนว่าต้องให้คอนเนอรี นักแสดงหนุ่มวัย 32 ปี ที่ยังไม่ได้มีชื่อเสียงอะไรมาก มาแสดงเป็นเจมส์ บอนด์ เท่านั้น เพราะเธอมองเห็นเสน่ห์บางอย่างที่ไม่เหมือนใครในตัวเขา แล้วเธอก็คิดถูก
ภาพยนตร์ Dr. No (1962) ต้นกำเนิดแฟรนไชส์สายลับเจมส์ บอนด์ ภาคแรก ออกฉายประสบความสำเร็จถล่มทลาย ฌอน คอนเนอรี กลายเป็นผู้ชายในฝันของสาว ๆ และเป็นไอดอลของหนุ่ม ๆ ว่ากันว่าคอนเนอรีได้รับจดหมายเขียนแสดงความคลั่งไคล้ในตัวเขานับพันฉบับต่อสัปดาห์
คอนเนอรีรับบทสายลับที่เปี่ยมด้วยเสน่ห์ ไหวพริบและปฏิภาณ ได้อย่างไร้ที่ติ ทำให้ เอียน เฟลมมิง ยอมรับเขาได้ในที่สุด ซึ่งเฟลมมิงออกมาเผยภายหลังว่า เขาประทับใจในความสามารถของคอนเนอรี และตั้งใจเขียนปูมหลังตัวละครเจมส์ บอนด์ ไว้ในนิยายเล่ม You Only Live Twice (1964) ว่า มีเชื้อสายสก็อตแลนด์จากฝั่งทางพ่อ ตามประวัติจริงของคอนเนอรี เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่พระเอกคนนี้ ก่อนที่นิยายเล่มนี้จะกลายเป็นภาพยนตร์ในปี 1967 ซึ่งแน่นอนว่าคอนเนอรีก็ไม่พลาดรับบทเป็นเจมส์ บอนด์ ติดต่อกันเป็นเรื่องที่ 5
ชื่อเสียงที่คอนเนอรีได้รับจากการรับบทเจมส์ บอนด์ สร้างภาพจำให้ผู้คนมองว่าเขาเป็น sex symbol อยู่นานหลายสิบปี จนนิตยสาร People มอบตำแหน่ง Sexiest Man Alive ให้ในปี 1989 ซึ่งเขาเป็นนักแสดงที่ “อายุมากสุด” เท่าที่เคยได้ตำแหน่งนี้ เพราะอายุมากถึง 59 ปีแล้ว คอนเนอรีได้ออกมากล่าวติดตลกตอนรับตำแหน่งนี้ว่า “แหม มันก็ไม่ได้มีคนตายที่เซ็กซี่เท่าไหร่หรอกนะ” และถึงจะอายุเยอะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความเซ็กซี่จะลดน้อยถอยลง เพราะเขายังได้รับตำแหน่ง Sexiest Man of the Century ในปี 1999 อีกด้วย
แม้คอนเนอรีจะเป็นผู้สร้างตำนานเจมส์ บอนด์ แต่ว่า เทอเรนซ์ ยัง ผู้กำกับ Dr. No ก็ได้รับคำชมอย่างมากในการปั้นพ่อหนุ่มชาวสกอตคนนี้ขึ้นมา เพราะเขาจับคอนเนอรีเข้าคอร์สฝึกกริยามารยาทและการเข้าสังคม ทั้งมารยาทบนโต๊ะอาหาร ท่าทางในการเดินในการพูด หรือแม้กระทั่งการกิน ทำให้คอนเนอรีสวมบทเจมส์ บอนด์ ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
[caption id="attachment_25353" align="aligncenter" width="1200"]
คอนเนอรีสวมบทเจมส์ บอนด์ ในภาพยนตร์เรื่อง Goldfinger (1964)[/caption]
หัวล้านแล้วไง ก็ใส่วิกสิ!
แม้ว่าจะไม่ได้เกิดมาจากตระกูลไฮโซ แต่การแสดงของเขาในบทบาทเจมส์ บอนด์ ก็ทำให้ทุกคนเชื่อได้ว่า ผู้ชายคนนี้ดูดีมีชาติตระกูล ด้วยรูปร่างสูงใหญ่ ผึ่งผาย องอาจ บวกกับหน้าตาที่หล่อเหลา คารมคมคาย ทำให้คอนเนอรีกลายเป็นแบบอย่างของสายลับเจ้าเสน่ห์ เจมส์ บอนด์ มาจนถึงปัจจุบัน
แต่คนรุ่นหลังหลายคนไม่รู้เลยว่า เจมส์ บอนด์ มาดเท่ที่เราเห็นนั้น ที่จริงแล้วเขาใส่แฮร์พีซอยู่ตลอดเวลา เนื่องจาก ฌอน คอนเนอรี ผมบางตั้งแต่ยังหนุ่ม เขาเริ่มผมร่วงตั้งแต่อายุ 21 และในวัย 30 กว่าตอนที่มาคัดเลือกบทเจมส์ บอนด์ หัวของเขาก็เริ่มล้านแล้ว แต่นั่นไม่เป็นอุปสรรคต่อการมุ่งมั่นในเส้นทางบันเทิงของเขา เพราะใช้แฮร์พีซเสริมหล่อเข้าช่วย แล้วเขาก็ไม่ได้แคร์อะไร หากใครจะรู้ว่าเขาหัวล้าน
[caption id="attachment_25354" align="aligncenter" width="640"]
เจมส์ บอนด์ ในชุดเสื้อเชื้ตลายทางสีน้ำเงินและกางเกงขาว (ภาพ https://bamfstyle.com/2013/06/27/bond-thunderball-stripes/)[/caption]
ตัวพ่อสายแฟชั่นแห่งยุค 60s
การเป็นพยัคฆ์ร้าย 007 ทำให้ ฌอน คอนเนอรี พ่วงตำแหน่งผู้ชายที่แต่งตัวได้ดีที่สุดในช่วงปี 1960s มาดเข้มสุดคูลของเขานอกจากจะทำให้สาว ๆ ใจสั่นแล้ว ยังทำให้ผู้ชายหลงใหลในสไตล์ของเขาอีกด้วย หนุ่ม ๆ ในยุคนั้นต่างพากันแต่งตัวเลียนแบบกันยกใหญ่ คอนเนอรีได้รับคำชมว่า เป็นคนที่เลือกแต่งชุดสูทในเฉดสีใหม่ที่สมัยนั้นยังไม่นิยมกัน โดยเฉพาะชุดสูทสามชิ้นสีเทาอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่ง แดเนียล เครก ยังต้องขอเอาชุดนี้กลับมาตอนแสดงเป็นเจมส์ บอนด์
คอนเนอรียังมีเคล็ดลับในการดูแลตัวเองให้เรียบหรูดูดี อย่างเช่นการเลือกใส่สูทที่ทำจากผ้าไหม dupioni เพราะเกิดรอยยับได้ยากกว่าผ้าไหมชนิดอื่น และเหมาะกับการออกตะลุยผจญภัยแบบลูกผู้ชาย เขามักจะเลือกใส่รองเท้าแบบสั่งตัด ที่แม้จะมีราคาแพงแต่ก็คุ้มค่า เพราะถือคติว่ารองเท้าดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
นอกจากนี้ เขายังให้ความสำคัญกับการ grooming หรือการเสริมสวยสำหรับท่านชาย ซึ่งหลายคนอาจจะละเลยไป คอนเนอรีจะคอยจัดแต่งเคราและขน รวมถึงรักษาสุขอนามัยส่วนตัวเสมอ ทำให้เขาดูดีได้แม้ไม่ต้องใส่เสื้อผ้าราคาแพง และหนึ่งในชุดของบอนด์ที่ไม่ใช่ชุดสูท แต่ผู้ชายชอบกันมากก็คือ ชุดเที่ยวทะเลเสื้อเชิ้ตลายทางสีน้ำเงิน ใส่คู่กับกางเกงสีขาว ในเรื่อง Thunderball (1965) ลุคสบาย ๆ แบบนี้ทำให้เขาดูมีเสน่ห์ และเข้าถึงได้ง่ายกว่า ชุดนี้จึงกลายเป็นต้นแบบการแต่งกายสไตล์ smart and casual ที่ยังคงความนิยมมาถึงปัจจุบัน
[caption id="attachment_25355" align="aligncenter" width="640"]
คอนเนอรีในงาน American Film Institute[/caption]
ถึงเวลารูดม่านลาโรง
ชีวิตการแสดงของผู้ชายที่ขึ้นชื่อว่าทรงเสน่ห์ เป็นที่ชื่นชมของทั้งผู้หญิงและชายคนนี้ จบลงอย่างเรียบง่ายเมื่อเขาประกาศเกษียณอย่างเป็นทางการในปี 2006 หลังได้รับรางวัล Lifetime Achievement Award จาก American Film Institute
งานดังกล่าวเต็มไปด้วยบรรดาคนใหญ่คนโตระดับบิ๊กเนมของฮอลลีวูด ทั้ง แฮร์ริสัน ฟอร์ด, สตีเวน สปีลเบิร์ก, จอร์จ ลูคัส รวมถึง เพียร์ซ บรอสแนน เจมส์ บอนด์ รุ่นน้อง ที่มาร่วมสดุดี คอนเนอรีเดินขึ้นเวทีอย่างร่าเริงเมื่อเขาได้ยินเสียงดนตรีจากวงปี่สกอต เขาเต้นขยับแข้งขยับขาเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ชม ก่อนจะกล่าวรับรางวัลที่สดุดีความสำเร็จในเส้นทางบันเทิงของเขาอย่างเรียบง่ายแต่กินใจ โดยเป็นเนื้อความที่สรุปเส้นทางชีวิตของเขาไว้อย่างครบถ้วน
“ผมเริ่มต้นชีวิตวัยเด็กอย่างยากลำบาก แต่ตอนนั้นเรากลับไม่รู้สึกว่าขาดอะไรไปในชีวิต เพราะไม่มีสิ่งใดให้เปรียบเทียบ และนั่นทำให้เราเป็นอิสระ ผมมีพ่อแม่ที่ทำงานหนักมาก และผมนับถือพวกเขาจากใจจริง
“ผมพบจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเมื่ออายุ 5 ขวบ และผมต้องใช้เวลากว่า 70 ปี ถึงจะเข้าใจว่าสิ่งนั้นสำคัญอย่างไร นั่นก็คือตอน 5 ขวบ ผมได้เรียนรู้วิธีอ่านหนังสือ มันง่าย ๆ อย่างนั้นเลย และมันล้ำค่าอย่างมาก ผมออกจากโรงเรียนตอนอายุ 13 และผมไม่เคยได้รับการศึกษาตามมาตรฐานอีกเลย และผมก็คิดว่าผมคงไม่อาจมายืนที่นี่ได้โดยปราศจากหนังสือ บทละคร และบทภาพยนตร์
“มันเป็นเส้นทางที่ยาวนานจาก Fountainbridge (บ้านเกิดของคอนเนอรี) ถึงค่ำคืนนี้ แม้ว่าเท้าของผมจะล้าแล้ว แต่หัวใจของผมไม่ล้าไปด้วย ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ ผมมีมื้อกลางวันกับเอเจนต์คนแรกในชีวิต ซึ่งเขาแก่กว่าผม จู่ ๆ เขาก็พูดออกมาว่า ‘ฌอน ชีวิตมันดีนะ แต่ไม่ใช่ตอนที่เราเข้าองก์สามของชีวิตว่ะ’ ผมก็ว่าเขามีเหตุผลนะ”
คอนเนอรีเรียกเสียงฮาจากผู้ร่วมงานในฮอลล์ จากคำพูดเปรียบเทียบชีวิตที่เข้าสู่วัยชรา ต้องเผชิญปัญหาต่าง ๆ เหมือนทฤษฎีโครงสร้างการเขียนบทแบบสามองก์ ที่เมื่อเข้าองก์ที่สามก็มักจะมีเรื่องราวเข้มข้นเพื่อเข้าสู่จุดจบ ซึ่งในวัยของเขาก็มักจะมีเรื่องสุขภาพเข้ามาเกี่ยว รวมถึงหนัง The League of Extraordinary Gentlemen (2003) ที่เป็นผลงานการแสดงเรื่องสุดท้ายของเขาที่มีปัญหา และถูกวิจารณ์แบบสับเละ แม้ว่าเขาจะไม่เคยเผยเหตุผลที่แท้จริงของการเกษียณ แต่ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเขาอยากไปใช้ชีวิตที่สงบสุขแล้ว
“ผมขอขอบคุณทุกคน ครอบครัวของผมและมิตรสหาย สำหรับค่ำคืนอันแสนสำราญนี้ ราตรีสวัสดิ์ครับ”
องก์ที่สามของชีวิต คอนเนอรีอุทิศให้สกอตแลนด์ เขายกเลิกการเกษียณชั่วคราวในปี 2012 ด้วยผลงานการพากย์เสียงแอนิเมชันของสกอตแลนด์เรื่อง Sir Billi ที่เขาเป็น executive producer และบรรยายสารคดี Ever to Excel เพื่อฉลองโอกาสครบรอบ 600 ปี มหาวิทยาลัย St. Andrews ของสกอตแลนด์ ที่เขารับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์เมื่อปี 1988 เป็นผลงานเรื่องสุดท้าย
“Scotland Forever” จึงไม่ใช่แค่รอยสักบนร่างกาย แต่หมายถึงชีวิต เลือดเนื้อ และหัวใจ ของ ฌอน คอนเนอรี ผู้เป็นยอดชายแห่งสกอตแลนด์อย่างแท้จริง
เรื่อง: เพจผู้ชายคนนั้นจากหนังเรื่องนี้