คำสาบานฮิปพอคราทีส คำปฏิญาณของหมอ ที่เสื่อมความหมายในสังคมปัจจุบัน
ฮิปพอคราทีส คือชาวกรีกโบราณที่มีชีวิตในช่วงศตวรรษที่ 5 ถึง 4 ก่อนคริสตกาล ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น "บิดา" แห่งวิชาแพทย์ตะวันตก โดยมีงานเขียนทางการแพทย์ที่อ้างว่าเป็นงานของฮิปพอคราทีส (Corpus Hippocraticum) หลงเหลือมาถึงปัจจุบัน 60 ชิ้น
อย่างไรก็ดี เรื่องราวชีวิตของฮิปพอคราทีสที่มาจากการบันทึกของคนร่วมสมัยมีค่อนข้างน้อย มีปรากฏในงานของเพลโต พอให้รู้ว่าเขาเป็นคนที่ดังในทางการแพทย์มาจากเมืองคอส มีศิษย์ของอริสโตเติลให้เครดิตว่า ฮิปพอคราทีสเป็นคนที่วินิจฉัยโรคโดยพิจารณาจาก “เหตุ” ที่เป็นหลักฐานเชิงรูปธรรม (เช่นการพิจารณาอุจจาระเพื่อหาสาเหตุของอาการอาหารไม่ย่อย)
แต่ประวัติของเขามาถูกรวบรวมเขียนขึ้นเป็นเรื่องราว ก็เมื่อเขาเสียชีวิตไปแล้วราว 5 ศตวรรษ ซึ่งเป็นการบันทึกมุขปาฐะที่เล่าสืบเนื่องกันมา และมีความน่าสงสัยว่าส่วนไหนบ้างที่เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ แม้กระทั่งงานของฮิปพอคราทีส 60 ชิ้น นักประวัติศาสตร์ก็คิดว่า น่าจะเป็นผลงานของผู้เขียนหลายคนจากหลายสมัยที่ยกเครดิตให้บิดาแห่งการแพทย์ มากกว่าที่จะเป็นงานที่ถ่ายทอดมาจากเขาเอง
งานของ (หรือได้เครดิตว่าเป็นของ) ฮิปพอคราทีส ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดก็คือ Hippocratic oath หรือคำสาบานของฮิปพอคราทีส ซึ่งเป็นงานที่วางหลักจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ ที่แม้แต่ในปัจจุบันก็ยังถูกนำมาใช้ในพิธีจบการศึกษาของโรงเรียนแพทย์ในตะวันตกหลายแห่ง
ฟรานซิส อดัมส์ นักเขียนศตวรรษที่ 19 ได้แปลคำสาบานดังกล่าวจากภาษากรีกได้ความว่า
"ข้าพเจ้าขอสาบานต่อองค์เทพอะพอลโล เทพแห่งการแพทย์ เทพแอสคลีปิอัส และเทพีแห่งสุขภาพและการเยียวยา ไปจนถึงเทพยดาทั้งหลายว่า ด้วยความสามารถและวิจารณญาณของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะรักษาสัตย์ปฏิญาณตามเงื่อนไขดังนี้ ข้าพเจ้าจะนับถือครูอาจารย์ผู้สอนศิลปวิทยาดั่งพ่อแม่ จะดูแลและแบ่งปันแก่ท่านเมื่อยามจำเป็น จะฟูมฟักสั่งสอนวิชาบุตรหลานของท่านเช่นพี่น้องหากพวกเขาประสงค์จะเล่าเรียน โดยไม่คิดค่าวิชาหรือตั้งเงื่อนไขใด ๆ จะอบรมทั้งกฎระเบียบ ความรู้ และการประกอบวิชาทั้งปวง ข้าพเจ้าจะส่งต่อความรู้ศิลปศาสตร์นี้ให้กับลูกชายของข้าพเจ้า ลูกชายของครูอาจารย์ และลูกศิษย์ทั้งหลายที่ยอมอยู่ใต้เงื่อนไขและคำสาบานตามกฎแห่งวิชาแพทย์เท่านั้น จะไม่ยอมสอนให้บุคคลอื่นใดอีก
“ข้าพเจ้าจะปฏิบัติตามวิธีบำบัดรักษาด้วยความสามารถและวิจารณญาณ ข้าพเจ้าจะคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ป่วย และงดเว้นการกระทำใด ๆ ที่จะส่งผลร้าย เป็นอันตรายต่อผู้ป่วย ต่อให้ถูกร้องขอข้าพเจ้าก็จะไม่มอบยาพิษให้กับใคร และจะไม่ให้คำแนะนำเช่นนั้นกับใคร ในทางเดียวกัน ข้าพเจ้าจะไม่ทำแท้งให้กับหญิงนางใด ข้าพเจ้าจะใช้ชีวิตและปฏิบัติวิชาชีพโดยคำนึงถึงความบริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์ ข้าพเจ้าจะไม่ใช้มีดเฉือนผู้ใด แม้ว่าผู้นั้นจะหายใจรวยรินถูกทับอยู่ใต้ก้อนหิน ข้าพเจ้าจะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้ที่ปฏิบัติงานเช่นนั้น
"ข้าพเจ้าจะเข้าบ้านหลังใดก็ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย ข้าพเจ้าจะงดเว้นซึ่งการกระทำอันทุจริตมุ่งร้าย คิดลามกต่อหญิงหรือชายไม่ว่าจะเป็นเสรีชนหรือทาส หากข้าพเจ้าได้รู้ได้เห็นเรื่องของผู้อื่นในระหว่างการปฏิบัติวิชาชีพอันเป็นเรื่องไม่พึงเผยแพร่ ข้าพเจ้าจะไม่นำเรื่องนั้นไปบอกกล่าวต่อไม่ว่าจะในระหว่างการปฏิบัติวิชาชีพหรือไม่ก็ตาม ข้าพเจ้าจะถือว่าเรื่องเหล่านั้นเป็นความลับ
"ตราบเท่าที่ข้าพเจ้ารักษาคำสาบานนี้ไว้ ขอให้ข้าพเจ้าจงมีแต่ความสุขความเจริญ ได้ปฏิบัติวิชาชีพโดยได้รับการนับถือจากผู้คนตลอดไป แต่หากข้าพเจ้าละเมิดคำสาบานเมื่อใดก็ขอให้ข้าพเจ้าต้องรับผลกรรมในทางตรงกันข้ามนั้น" (Britannica)
จากข้อความข้างต้นพอสรุปได้ว่า คำสาบานของฮิปพอคราทีสฉบับคลาสสิกมีหลักการสำคัญคือ การเคารพครูบาอาจารย์ การรักษาวิชาชีพให้อยู่ในเครือข่ายครอบครัวของตนและครูอาจารย์ การรักษาต้องคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ป่วยเป็นสำคัญ งดเว้นการทำร้าย ห้ามการใช้มีด ห้ามทำแท้ง ห้ามคิดอกุศลกับผู้ป่วย และต้องรักษาความลับของผู้ป่วย
หลักการเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่ล้าสมัยสำหรับการแพทย์ปัจจุบันไปแล้ว โดยเฉพาะการ “ห้ามทำร้าย” ซึ่งหากตีความคำนี้อย่างเคร่งครัด การกรีดมีดลงบนเนื้อหนังของผู้ป่วยย่อมเป็นการทำร้าย การฉีดสารเคมี หรือ “พิษ” เข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วยโดยจงใจก็เป็นการทำร้าย แม้ว่าการกรีดมีดนั้นจะมีเจตนาเพื่อแก้ไขความผิดปกติในร่างกาย แม้ว่าสารเคมีหรือสารพิษนั้นจะช่วยกำจัดสิ่งที่เป็นอันตรายยิ่งกว่า หรือช่วยให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาก็ยังถือว่าเป็นการทำร้ายอยู่ดี
ปัจจุบันยังมีกระแสเรียกร้องให้การทำแท้งเป็น “ทางเลือก” ให้กับผู้หญิงที่ตั้งท้องได้ตัดสินใจว่าตนควรจะอุ้มท้องต่อไปหรือไม่ หรือแม้กระทั่งสิทธิที่จะตายด้วยความช่วยเหลือจากแพทย์ หรือการการุณยฆาตให้กับผู้ป่วยที่หมดทางรักษา
หรือในเรื่องการรักษาความลับของผู้ป่วย หากเกิดโรคระบาดที่ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสังคม แพทย์หรือสถานพยาบาลเองก็จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลของผู้ป่วยเพื่อการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรคอย่างเลี่ยงมิได้
ถึงอย่างนั้น ในตะวันตกก็ยังมีพิธีปฏิญาณตนของผู้จบวิชาแพทย์สืบมา โดยปรับเปลี่ยนให้ใช้คำกลาง ๆ แทน เช่นเดียวกับ คำปฏิญาณของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ที่แพทยสภาไทยเผยแพร่ (ข้าฯ จักปฏิบัติตามข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรมโดยเคร่งครัดทุกประการ, ข้าฯ จักปรับปรุงตนเพื่อเพิ่มความรู้ความชำนาญในวิชาชีพ ตามควรอยู่เป็นนิจ, ข้าฯ จักถือเป็นภารกิจทะนุบำรุงความรักสามัคคีของมวลสมาชิกผู้ร่วมวิชาชีพเสมือนเครือญาติ, ข้าฯ จักประพฤติปฏิบัติตนเพื่อแผ่ขยายเกียรติคุณแห่งวิชาชีพ และผดุงเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพอย่างประณีต, ข้าฯ จักสืบสานจารีตอันงดงามของวิชาชีพ, ข้าฯ จักตั้งต้นในธรรมประทีปสัปบุรุษ และบำเพ็ญประโยชน์ เกื้อกูลสังคม และมนุษยชาติ มิเสื่อมคลาย)
ปรากฏการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า คำสาบานของฮิปพอคราทีสเสื่อมทั้งคุณค่าและความศักดิ์สิทธิ์ โดยที่ยังไม่มีหลักจริยธรรมทางการแพทย์ “ชุดใหม่” ที่เข้มแข็งทัดเทียมกันมาทดแทนดังที่ได้ อย่างที่ ดร.เดวิด แกรห์ม (David Graham) ได้กล่าวในบทความเรื่อง Revisiting Hippocrates (ย้อนมองฮิปพอคราทีส - วารสารสมาคมการแพทย์อเมริกัน) ว่า
"คำสาบานต้นฉบับมีลักษณะใกล้เคียงกับกฎหมาย เป็นสัญญาที่มีความผูกมัดอย่างเป็นทางการ ในทางกลับกัน คำสาบานสมัยใหม่มีบรรยากาศที่เป็นกลางแสดงความปรารถนาดีอย่างที่สุดแบบชืด ๆ กลายเป็นพิธีกรรมทางการที่เกือบไร้ความหมาย ไม่สื่ออิทธิพลว่าวิถีปฏิบัติทางการแพทย์จริง ๆ ควรเป็นเช่นใด"