หลี่ เติงฮุย ผู้ผลักดันสำนึกชาตินิยม "ไต้หวัน" ที่แยกขาดจากจีน
หลังรัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้รับชัยชนะในสงครามกลางเมืองเมื่อปี 1949 รัฐบาลจีนคณะชาติของ เจียง ไคเชก ต้องล่าถอยไปตั้งรัฐบาลอยู่บนเกาะไต้หวัน และปกครองไต้หวันอย่างดินแดนอาณานิคม ชนชั้นปกครองมีแต่เครือข่ายกลุ่มอำนาจเก่าที่หนีตามกันมาจากแผ่นดินใหญ่ ชนพื้นเมืองแม้จะมีจำนวนมากกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ เป็นได้เพียงแค่ผู้ถูกปกครองเท่านั้น
และก่อนหน้าที่จีนคณะชาติจะอพยพมาอยู่ไต้หวัน 2 ปี พวกเขาเพิ่งสังหารหมู่ประชาชนที่ประท้วงการทำร้ายประชาชนอย่างไม่เป็นธรรม (เหตุการณ์ 28 กุมภาพันธ์) ชนวนมาจากเหตุการณ์หญิงม่ายขายบุหรี่มีปากเสียงกับเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้อำนาจผูกขาดการขายบุหรี่ ก่อนเจ้าหน้าที่จะฟาดเธอด้วยกระบอกปืน เมื่อฝูงชนเข้ารุมล้อมเจ้าหน้าที่จึงยิงปืนทำให้มีผู้เสียชีวิตหนึ่งราย นำไปสู่การประท้วงใหญ่ซึ่งชาวบ้านสามารถควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของเกาะไว้ได้ จีนคณะชาติก็ตอบโต้ด้วยการเคลื่อนทัพจากแผ่นดินใหญ่มาปราบปราม ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 28,000 ราย (The New York Times)
ความเลวร้ายที่รัฐบาลจีนคณะชาติทำกับชาวไต้หวันท้องถิ่น ทำให้ เจียง ไคเชก จนถึงสมัยของ เจียง จิ่งกั๊วะ ลูกชาย ต้องใช้อำนาจเผด็จการป้องกันการต่อต้านของชาวไต้หวันเรื่อยมา จนกระทั่ง หลี่ เติงฮุย ชาวไต้หวันท้องถิ่นได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี สถานการณ์การเมืองในไต้หวันจึงเปลี่ยนไป
หลี่เกิดเมื่อวันที่ 15 มกราคม ปี 1923 บนเกาะไต้หวัน ในสมัยที่ญี่ปุ่นยังปกครองไต้หวัน มีพ่อเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้โอกาสไปเรียนต่อด้านเศรษฐกิจการเกษตรที่มหาวิทยาลัยเกียวโตอิมพีเรียล ประเทศญี่ปุ่น เคยเป็นทหารในกองทัพญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แม้ว่าจะไม่เคยร่วมรบ หลังสงครามสงบเขากลับมาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวัน ระหว่างนั้นก็สมัครเข้าพรรคคอมมิวนิสต์ ศึกษาลัทธิมาร์กซ์ และร่วมการประท้วง 28 กุมภาพันธ์ ด้วย
หลังเรียนจบในประเทศ หลี่ได้ไปศึกษาต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยไอโอวาสเตท ตามด้วยปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยคอร์เนล ก่อนเข้าสู่การเมือง เขาทำงานด้านวิชาการ และเป็นนักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารและหน่วยงานของรัฐมาก่อน
ในปี 1969 หลังจบปริญญาเอกไม่นาน เขาถูกฝ่ายความมั่นคงเรียกไปรายงานตัว และทำการสอบสวนกว่า 17 ชั่วโมง เนื่องจากเขามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มเรียกร้องอิสรภาพไต้หวัน แต่หลังจากนั้นไม่นานเขาก็เข้าร่วมพรรคก๊กมินตั๋ง และได้รับความไว้วางใจจาก เจียง จิ่งกั๊วะ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ให้ขึ้นมารับตำแหน่งรัฐมนตรี ในปี 1972 อีก 12 ปี ต่อมา เจียงเลือกให้หลี่เป็นรองประธานาธิบดีคู่กับเขา และเมื่อเจียงเสียชีวิตลง หลี่จึงได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแทนในปี 1988 ซึ่งนับเป็นชาวไต้หวันท้องถิ่นคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้
จากประวัติความเป็นมาจะเห็นได้ว่า หลี่มิได้เลื่อมใสศรัทธาพรรคก๊กมินตั๋งมาแต่ต้น แต่ด้วยฝีมือทำให้ผู้นำพรรคเลือกใช้งานจนก้าวหน้าเรื่อยมา และเมื่อเขาได้เป็นประธานาธิบดี เขาก็ค่อย ๆ รื้อระบบการปกครองที่พรรคได้สร้างขึ้น ยกเลิกการใช้บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญเพื่อการปราบปราบคอมมิวนิสต์ (ส่วนกฎอัยการศึกที่ใช้มาตั้งแต่สมัยเจียง ไคเชก ยกเลิกไปก่อนหน้าเขาเป็นประธานาธิบดี 1 ปี) เปิดทางให้มีการตั้งพรรคการเมือง ผ่อนคลายการควบคุมความคิดเห็น จัดให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก ทำให้ชาวไต้หวันพื้นเมืองได้มีส่วนร่วมในการปกครองอย่างแท้จริง และยังเป็นผู้ที่ออกมาประณามการปราบปรามประชาชนในเหตุการณ์ 28 กุมภาพันธ์ ที่ผู้ก่อตั้งพรรคเป็นผู้กระทำ
หลี่ เติงฮุย จึงได้รับเครดิตว่าเป็นผู้ที่เปลี่ยนไต้หวันให้เป็นประชาธิปไตย แต่อีกบทบาทสำคัญไม่แพ้กันก็คือการสร้างสำนึกความเป็น “ไต้หวัน” ให้กับชาวไต้หวัน
จากข้อมูลของ บรูซ เจคอบส์ นักวิชาการจากมหาวิทยาโมนาช ประเทศออสเตรเลีย ในบทความเรื่อง Lee Teng-Hui and the Idea of "Taiwan" (The China Quarterly) นอกจากเรื่องการส่งเสริมประชาธิปไตยแล้ว หลี่คือผู้ผลักดันเรื่องอัตลักษณ์ความเป็นไต้หวัน พยายามทำให้การแบ่งแยกระหว่างชาวแผ่นดินใหญ่อพยพกับชาวไต้หวันท้องถิ่นหมดไป ส่งเสริมให้คนท้องถิ่นขึ้นมารับตำแหน่งสำคัญ ๆ ในรัฐบาล
ในการให้สัมภาษณ์กับสื่อญี่ปุ่นเมื่อปี 1994 เขายังกล่าวถึงการเปลี่ยนก๊กมินตั๋งให้เป็นไต้หวันว่า "ในอดีตผู้ที่ปกครองไต้หวันล้วนมาจากภายนอก เมื่อไม่นานมานี้ ผมยังกล่าวได้ว่า ก๊กมินตั๋งเองก็เป็นระบอบที่มาจากภายนอก มันคือพรรคที่ข้ามฝั่งมาปกครองไต้หวัน มันจึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำให้ก๊กมินตั๋งเป็นของชาวไต้หวัน"
และแม้เขาจะเชื่อในการรวมชาติ แต่เขาก็ตั้งเงื่อนไขว่า จีนแผ่นดินใหญ่จะต้องเป็นประชาธิปไตยเสียก่อน โดยระหว่างนี้ จีนและไต้หวันเป็นชาติเดียวแต่แยกขาดกัน (a divided nation)
"อย่างที่ทุกคนรู้ สาธารณรัฐจีนบนเกาะไต้หวันจะต้องก้าวไปข้างหน้า อาจพูดได้ว่า สาธารณรัฐจีนเป็นชาติหนึ่งของจีนที่แตกแยก ประชาชนทั่วโลกพึงเข้าใจว่าจีนมีแค่จีนเดียว นี่คือเป้าหมายที่เราจะไปให้ถึงในอนาคต แต่ตอนนี้มันมีการแบ่งแยก เป็นชาติที่แตกแยก ภายใต้ภาวะของการแบ่งแยกกันปกครอง เราก็ต้องมีเส้นทางการพัฒนาของเรา ถ้าในอนาคตจีนปรารถนาจะรวมชาติกันจริง ๆ มันก็จะยิ่งเป็นผลที่ดีมาก"
หลี่กล่าวหลังเดินทางเยือนกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้มีโอกาสพบกับประธานาธิบดีฟิเดล รามอส ของฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดีซูฮาร์โตของอินโดนีเซีย และพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ของไทย ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับจีนเป็นอย่างมาก แม้หลี่จะอ้างว่า เป็นการเดินทางเยือนช่วงวันหยุด ไม่ได้ไปในฐานะประธานาธิบดีไต้หวัน
แต่หลังจากนั้นไม่นาน ก่อนหน้าการเลือกตั้ง 1996 เล็กน้อย เขาก็ได้แสดงให้เห็นว่า ไต้หวันควรมีอธิปไตยเป็นของตนเอง เพื่อให้ประชาชนมีอิสระและสร้างอนาคตตามความปรารถนาของตนเอง โดยไม่ไปยึดติดกับฝันในอดีตของคนรุ่นเก่า และในวันที่เขาเข้ารับตำแหน่ง เขาได้กล่าวว่า
"ทุกคนรู้ว่า ไต้หวันเป็นสังคมของผู้อพยพ ยกเว้นเพื่อนร่วมชาติชนพื้นเมืองดั้งเดิมกลุ่มแรก นอกนั้นส่วนใหญ่เดินทางมาจากจีนในหลายยุคสมัย และแม้มันจะมีความแตกต่างระหว่างคนที่มาก่อนและมาหลัง ไม่ว่าจะเกิดบนเกาะนี้หรือโตที่นี่ พื้นแผ่นดินนี้งอกเงยขึ้นได้ก็ด้วยหยาดเหงื่อและเลือดเนื้อของคนรุ่นแล้วรุ่นเล่า จนอุดมสมบูรณ์ได้อย่างทุกวันนี้...เราต้องการคนที่ผูกอัตลักษณ์กับไต้หวันยืนอยู่เคียงข้างไต้หวัน ใครที่หวังจะก้าวหน้าและต่อสู้เพื่อไต้หวัน พวกเขาคือคนไต้หวัน เราต้องส่งเสริมความคิดเรื่อง 'ไต้หวันใหม่' ในขณะเดียวกัน ใครที่เชิดชูฝ่ายชาตินิยม ยกย่องวัฒนธรรมจีน และไม่หลงลืมความคิดเรื่องรวมชาติจีน พวกเขาคือ คนจีน"
แม้จะส่งเสริมความเป็นไต้หวัน และตอกย้ำกับสื่อถึงสถานะในเชิง “ข้อเท็จจริง” ของไต้หวันและจีนอยู่เสมอ แต่ตลอดเวลาที่เขาเป็นประธานาธิบดี เขาก็ไม่ไปถึงการเสนอให้เปลี่ยนชื่อไต้หวันจากสาธารณจีนเป็นสาธารณรัฐไต้หวัน ถึงอย่างนั้นเขาก็สร้างความไม่พอใจให้กับชนชั้นนำที่ส่วนใหญ่เป็นชาวจีนแผ่นดินใหญ่ ที่ยังเชื่อในเรื่องรวมชาติ
ยิ่งหลังจากเขาพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดี (ปี 2000) หลี่ยิ่งแสดงท่าทีสนับสนุนความเป็นไต้หวันในฐานะประเทศอย่างเด่นชัดขึ้น เขาได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรค Taiwan Solidarity Union ที่สนับสนุนการประกาศอิสรภาพของไต้หวัน หลังจากนั้นไม่นาน ก๊กมินตั๋งก็ขับเขาออกจากพรรค แต่เขาก็ไม่ได้สนใจ ยังคงทำการสนับสนุนกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่ออิสรภาพของไต้หวันต่อไปด้วยท่าทีที่แข็งกร้าวยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนชื่อเป็นไต้หวัน
"ตอนที่ผมเป็นประธานาธิบดีมา 12 ปี ผมเชื่ออุปสรรคและความยากลำบากมากมายในการส่งเสริมเสรีภาพและประชาธิปไตยของไต้หวัน มันทำให้ผมรู้สึกลึก ๆ ว่า ชาติของเราไม่ใช่ชาติอย่างปกติเขา
"ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภายใน หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผมรู้สึกลึก ๆ ว่า ความยากลำบากเหล่านี้ล้วนเกี่ยวพันกับการใช้ชื่อ 'สาธารณรัฐจีน' ที่ไม่อยู่บนฐานของความเป็นจริง ถ้าเราจะแก้ปัญหานี้ เราต้องเริ่มด้วยการแก้ชื่อของไต้หวัน เราต้องสร้างชาติไต้หวัน ชาติที่มีชื่ออยู่บนฐานของความเป็นจริง" หลี่กล่าว
ในบั้นปลายหลี่ถูกฟ้องคดีทุจริตในสมัยที่เขายังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่คดีถูกยกไป หลังจากนั้นหลี่ปรากฏตัวต่อสาธารณะไม่บ่อยนัก แต่หลี่ยังคงมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นระยะ รวมถึงการขึ้นเวทีหาเสียงให้กับ ไช่ อิงเหวิน ในปี 2012 ขณะที่เธอยังเป็นผู้นำฝ่ายค้าน และในปี 2018 เขายังร่วมรณรงค์กับ Formosa Alliance ให้มีการลงประชามติเรื่องสถานะอิสรภาพของไต้หวัน และการเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นไต้หวัน แม้ว่าการลงประชามตินั้นจะไม่เกิดขึ้นก็ตาม
หลี่ เติงฮุย เสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2020 ที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึกไทเป กรุงไทเป มีอายุได้ 97 ปี