read
social
06 ส.ค. 2563 | 08:00 น.
กำนันพิทักษ์พงษ์ ศิริศักดิ์ ความสุขคือการได้เห็นรอยยิ้มของชาวบ้าน
Play
Loading...
“แต่ก่อนช่วงวัยรุ่นผมเป็นเด็กเกเร เคยดื่มเหล้า สูบบุหรี่ แล้วพ่อให้มาช่วยดูแลธุรกิจของครอบครัว หลังจากนั้นพ่อก็ให้มาลงสมัครรับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน ตอนนี้ผมเป็น กำนันตำบลด่านช้าง อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ชาวบ้านจะเรียกกำนันเต้ย ชาวอำเภอบัวใหญ่จะเป็นที่รู้จักในชื่อของกำนันเต้ย”
จากเด็กเกเรซึ่งเป็นที่กล่าวขวัญของคนทั้งชุมชน เพราะพ่อของเขาเป็นถึงกำนันตำบลด่านช้าง แต่หลังจากที่พ่อเกษียณเขาจึงต้องเข้ามารับหน้าที่แทน เริ่มต้นจากการลงสมัครผู้ใหญ่บ้าน จนได้รับความไว้วางใจจากชาวบ้านให้รับตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน และอีก 3 เดือนต่อมา
พิทักษ์พงษ์ ศิริศักดิ์
ก็ได้มาเป็น
กำนันตำบลด่านช้าง กำนันตำบลด่านช้าง อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา
จุดเดียวกับที่พ่อของเขาเคยดำรงตำแหน่ง
คำถามคือ พ่อของเขาและชาวบ้านทั้งตำบลด่านช้าง เห็นอะไรในตัวชายหนุ่มผู้ที่อดีตเคยเป็นวัยรุ่นเกเรคนนี้ ว่าจะสามารถรับตำแหน่งกำนัน ซึ่งต้องทำหน้าที่รับผิดชอบชีวิตความเป็นอยู่ของคนทั้งตำบลได้
“ผมใช้ความไว้ใจ ประกอบกับความรู้ความสามารถ และวุฒิการศึกษามารับประกัน ผมจบปริญญาตรี รัฐประศาสนศาสตร์ เป็นเรื่องการเมืองการปกครองโดยตรง ตอนหาเสียงก็ประกาศเลยว่าจะอาสามารับใช้พี่น้อง คอยช่วยเหลือแก้ไขปัญหา”
โดยสิ่งแรกที่เขารับรู้หลังจากได้รับเลือกให้มาทำหน้าที่รับใช้ประชาชน คือ ความทุ่มเท เสียสละ แรงกายแรงใจ เหมือนที่พ่อของเขาเคยผ่านมา
“ตอนเป็นวัยรุ่นเราก็ไม่รู้ว่า ทำไมดึกดื่นแค่ไหนพ่อก็ยังต้องออกไปช่วยเหลือประชาชนตอนนี้เรามาเป็นกำนันเอง ก็เลยได้รู้ว่าพ่อเคยเป็นผู้ที่เสียสละและดูแลพี่น้องประชาชนแค่ไหน เวลาของกำนันผู้ใหญ่บ้านไม่มีเวลากำหนดว่าคุณจะต้องทำงาน 8 โมงถึง 5 โมงเย็น ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วย แพทย์ สารวัตร ในตำบลด่านช้าง อำเภอบัวใหญ่ เราทำงานกัน 24 ชั่วโมง ใครมีปัญหาก็จะมาปรึกษาเรา”
ชนะใจด้วยการทำงานจริง
“หลังจากเป็นกำนันแล้วก็พยายามใช้ความรู้ความสามารถของตัวเอง พยายามคิดและตั้งโจทย์ว่าทำอย่างไรให้ชาวบ้านในตำบลด่านช้างมีความสุข ให้เวลาที่พี่น้องมาเจอเราแล้วเกิดรอยยิ้มที่เป็นสุข คนไหนมีความทุกข์มาหากำนันเต้ย กำนันเต้ยช่วยแก้ได้ ไม่ก็ประสานงานให้ ไม่ว่าหน่วยงานองค์กรเอกชน ภาครัฐ หรือภาคีเครือข่ายทั้งหมดในตำบลด่านช้าง อำเภอบัวใหญ่”
ผลงานของกำนันเต้ยมีทั้ง การส่งเสริมการทำเกษตรที่เน้นนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ อย่างการปลูกถั่วไม่รดน้ำ ที่เงินลงทุน 35,000 บาทต่อ 1 ไร่ แต่ขายได้ถึง 200,000 และการส่งเสริมกลุ่มอาชีพทั้งกลุ่ม OTOP ที่มีทั้งกลุ่มเรื่องผ้าไหม กลุ่มทอเสื่อกก กลุ่มจักสาน ถักหมวก กลุ่มสานตะกร้า ซึ่งกระจายอยู่แทบทุกหมู่บ้าน รวมไปถึงการเป็นตำบลนำร่องในเรื่องสาธารณสุข ดูแลความพร้อมที่จะมีบุตร ตั้งแต่ก่อนแต่งงาน ช่วงจะตั้งครรภ์ มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขคอยให้คำปรึกษา และ โครงการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ มหัศจรรย์ 1,000 วันแรก
“มีผู้หญิงข้อความมาหาเราบอกว่า “กำนันขา หนูท้อง” เราก็ตกใจว่าทำไมถึงข้อความมาหาเรา พอดูหน้าถึงรู้ว่าเป็นลูกบ้านภายในตำบลเรา พอหลังจากนั้นเราก็ได้ให้คำปรึกษาว่าถ้าคุณเริ่มตั้งท้องคุณต้องไปฝากท้องที่สถานีอนามัย ไปกินยาบํารุงครรภ์ บำรุงเลือด เราก็จะแนะนำไปตามขั้นตอนกระบวนการ หลังจากที่ฝากท้องเสร็จ เราก็ให้ทางผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วย แพทย์ สารวัตรเราเอง รวมถึง อสม. ทำงานร่วมกัน เราก็ให้ไปติดตามผลที่น้องเขาท้องแล้วเขาได้กินยาครบถ้วนไหม ได้ดื่มนมครบไหม นี่คือนโยบายของเราที่บอกว่าทำอย่างไรให้ประชาชนเขามีความสุข ให้เขายิ้มได้เมื่อเจอเรา
” กำนันเต้ย เล่าให้ฟังอย่างติดตลก ถึงประสบการณ์จริงที่เกิดขึ้นจากการเป็นกำนันที่พึ่งพาได้ 24 ชั่วโมงของเขา
ทำงานกันเป็นทีม
นอกจากนี้ผลงานเด่นอีกเรื่องของกำนันเต้ย คือการประสานงานหน่วยงานองค์กร ภาคีเครือข่าย ไม่ว่าภาครัฐ ระดับปลัด นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด ภาคเอกชน กลุ่มองค์กร ไม่ว่ากลุ่มสตรี กลุ่มอาชีพในเขตตำบลด่านช้าง โดยเฉพาะทีมงานผู้ใหญ่ ผู้ช่วย แพทย์ สารวัตร ที่มีความเข้มแข็งพร้อมทำงานตลอด 24 ชั่วโมง และพร้อมจะลุยทุกปัญหา ซึ่งจุดเด่นของตำบลด่านช้าง
ทำให้ตำบลด่านช้าง ค่อนข้างที่จะสงบ ไม่มีเหตุการณ์รุนแรง ส่วนใหญ่ที่เกิดจะเป็นเรื่องการป้อมปรามและป้องกัน ไม่ว่าเรื่องการใส่หมวกกันน็อคเวลาขับมอเตอร์ไซค์ การคาดเข็มขัดนิรภัย และมีการทำตามนโยบายของส่วนกลางในเรื่องอำเภอคุณธรรม ทั้งการตั้งด่านตรวจ การออกตรวจโรงแรมที่พัก การตรวจร้านเกม ซึ่งก่อนออกตรวจกำนันเต้ย จะมีการประชุมหารือ ทั้งผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วย แพทย์ สารวัตร หรือทางสาธารณสุข กศน. ทีมงานฝ่ายปกครอง รวมไปถึงปลัดฝ่ายความมั่นคง ทาง อส. ทางสถานีภูธรบัวใหญ่ และภาคีเครือข่าย เพื่อออกตรวจร่วมกันทั้งหมด
ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยกำนันเต้ย และทีมงาน ได้มีการประชุมและกระจายเสียงตามหอกระจายข่าวทุกหมู่บ้าน เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ตระหนักถึงอันตรายของโควิด-19 มีการรณรงค์ให้สวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยสบู่หรือมีเจลแอลกอฮอล์ รวมไปถึงการประชาสัมพันธ์ในช่วง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ให้จับกลุ่มรวมตัวกัน โดยมีการตั้งด่านตามนโยบายของส่วนกลาง ซึ่งเมื่อเป็นการขอความร่วมมือจากกำนันเต้ย ชาวบ้านด่านช้างก็พร้อมที่จะให้ความร่วมมือทันที
โดยอำเภอบัวใหญ่ เป็นอีกอำเภอที่มีผู้เดินทางมาจากต่างจังหวัด และต่างประเทศ ที่ต้องผ่านกระบวนการกักตัว 14 วัน ซึ่งจะมีทีม อสม. เข้าไปตรวจวัดไข้ถึงบ้าน บางรายถึงขั้นไปกักตัวอยู่กลางทุ่งนา ก็จะมีญาติพี่น้องไปส่งข้าว แล้วทาง อสม. และทีมของกำนันเต้ย ต้องเข้าไปในพื้นที่้เพื่อตรวจเยี่ยมให้กำลังใจอย่างใกล้ชิด เพราะเขาเชื่อว่า แม้ในสถานการณ์เช่นนี้กำนันจะไม่ห่างประชาชน เพราะว่าพี่น้องประชาชนคือหัวใจหลักสำคัญในการกำหนดตำบล กำหนดหมู่บ้านขึ้นมา
กำนันเต้ยยังมีการใช้เทคโนโลยีอย่าง Line ในการประสานงานกับกลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้าน กลุ่ม อกม. แล้วก็เชิญชวนประชาชนที่ใช้ Line ให้เข้าร่วมกลุ่ม เวลาที่มีปัญหาในหมู่บ้านตำบลทางกำนันเต้ย และทีมงานก็จะรู้อย่างรวดเร็ว ทั้งเรื่องถนนขาด ไฟไม่สว่าง ครอบครัวที่ต้องการความช่วยเหลือ กำนันคนเก่งก็ออกไปช่วยเหลือแทบจะทั้งหมด อันไหนที่จำเป็นก็ประสานงานทำหนังสือ ส่งถึงปกครองส่วนท้องถิ่น ในระดับอำเภอ และจังหวัด ตามกระบวนการตามขั้นตอนต่อไป
“การทำงานเองให้เปิดใจ เปิดใจทุกองค์กร ทุกหน่วยงาน แม้แต่เริ่มต้นจากกลุ่มองค์กรเล็ก ๆ ของเราภายในตำบล ไม่ว่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วย แพทย์ สารวัตร กลุ่มของเราเล็ก ๆ เราต้องเปิดใจ ทุกคนเปิดใจ แล้วก็คุยกันเรื่องการทำงาน เรื่องความสามัคคีเป็นหลัก ที่ตำบลด่านช้างเข้มแข็ง เนื่องจากพี่น้องกำนันผู้ใหญ่บ้านของเรามีความสามัคคี และหลังจากความสามัคคีแล้วมันจะเข้มแข็งจะแข็งแกร่ง”
กำนันยอดเยี่ยมสองสมัย
ด้วยการทำงานเกินร้อยของกำนันเต้ย และทีมงาน ไม่แปลกที่ในวันกำนันผู้ใหญ่บ้าน 10 สิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นปีที่ 128 ปีที่ก่อตั้งสถาบันกำนัน ผู้ใหญ่บ้านขึ้นมา กำนันพิทักษ์พงษ์ ศิริศักดิ์ จะได้รางวัลกำนันยอดเยี่ยมเป็นปีที่ 2
“ผมโดนปลูกฝังมาตั้งแต่รุ่นพ่อ ให้รู้จักแบ่งปัน ให้รู้จักดูแลพี่น้องประชาชน นอกจากดูแลครอบครัวแล้วต้องไปดูแลพี่น้องประชาชนว่าเขาอยู่ดีกินดีหรือยัง เราจะต้องเดินตามรอยพ่อ ที่ตั้งอุดมการณ์ไว้ว่าเราจะต้องทำแบบนี้ให้สำเร็จ เป็นแรงผลักดันที่ให้เราอยากจะพิสูจน์ตัวเอง ถามว่าเป็นผู้ใหญ่บ้านก็เป็นแล้ว เป็นกำนันก็เป็นมาแล้ว แต่ยังอาจมีคนคิดว่า เราทำได้แค่นี้เองเหรอ เราเลยต้องตั้งเป้าไว้ว่าเราจะต้องพัฒนา ไม่ว่าตัวเราเองหรือชุมชน ก่อนอื่นเราต้องพัฒนาตัวเองให้ได้ก่อน ก็จากอดีตที่เคยผ่านมาว่าเมื่อก่อนเราเคยเป็นเด็กเกเร หลังจากที่เป็นเด็กเกเรแล้วเรามาเป็นผู้นำแล้ว เราต้องปรับเปลี่ยน ไม่ว่าปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ของตัวเอง เปลี่ยนมุมมองทุกมุมมอง”
กำนันแห่งตำบลด่านช้าง คิดก่อนจะพูดอย่างมั่นใจต่อไปว่า
“ตอนเป็นกำนันครั้งแรกตอน อายุ 28 ปี ย่าง 29 ปี บอกว่าผมกลัว กลัวชาวบ้านไม่ยอมรับ กลัวผู้นำกลุ่มองค์กรต่าง ๆ ไม่ยอมรับ แต่วันนี้ผมใช้ความรู้ความสามารถเพื่อที่จะชนะใจของพี่น้องประชาชน ใช้เวลาที่ตัวเองมีสละให้กับพี่น้อง ให้เห็นว่าเราอยากอาสาจะมาดูแลพี่น้องอย่างจริงจัง ถามว่าเคยเหนื่อยเคยท้อไหม ก็มีบ้าง ในช่วงแรก ๆ ที่เขายังไม่เชื่อใจว่าเราจะทำหน้าที่ได้ดีแค่ไหน เราเหนื่อยท้อได้ แต่เราไม่ถอย เพราะว่าเรามีอุดมการณ์ เหลือเวลาอีก 20 ปี เราก็อยากจะสานอุดมการณ์ของพ่อดูแลชาวบ้านให้ถึงที่สุด”
วิธีการวัดผลงานการทำงานของกำนันเต้ยอาจดูแปลกกว่าคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้ใช้ตัวเลข GDP หรืออัตราการว่างงานของคนในชุมชนมาเป็นเกณฑ์ในการให้คะแนน เพราะกำนันคนนี้ใช้ “รอยยิ้ม” เป็นตัวชี้วัดความสุขของคนในชุมชน
“เรามีวิธีการวัดผลว่าประชาชนอยู่ดีกินดีมีความสุข จากการที่เขารวมกลุ่มแล้วขายของได้ เขาก็จะมีความสุข เขามีรอยยิ้มทุกคน การทำให้ชาวบ้านมีความสุขและมีรายได้เพิ่มมากขึ้น นี่คือแนวคิดของเรา ตอนเราไปพื้นที่ ชาวบ้านเห็นเรา แล้วชาวบ้านยิ้มให้เรา เราก็มีความสุข แสดงว่าเขาไม่ได้มีความทุกข์เลย ความทุกข์นี่แบกไว้อยู่ที่บ่าเราแล้ว แต่ความสุขอยู่กับชาวบ้าน เราอาสาพร้อมที่จะเข้ามา บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้กับพี่น้องประชาชน เหมือนกระดานบ่าที่ผมใส่อยู่ สีดำจะบ่งบอกถึงความทุกข์ของพี่น้องชาวบ้าน เราก็ต้องเอามาแบกไว้ สีเหลืองทองบ่งบอกถึงความเจริญรุ่งเรือง ชาวบ้านมีความสุข นี่คือโจทย์ของผมบอกไว้แล้วว่า โจทย์ของเราทำอย่างไรให้ชาวบ้านมีความสุข เจอหน้าเราเมื่อไหร่ก็ยิ้มได้ ยิ้มแล้วเราไม่เครียด พี่น้องเรามีความสุข เราก็มีความสุขไปด้วย”
ติดตามข่าวสารและเรื่องราวการทำงานของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้ที่
http://www.กำนันผู้ใหญ่บ้าน.com
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
รายชื่อคณะกรรมการตัดสิน The People Awards 2025: RISE TO LEAD
17 ม.ค. 2568
1
นายกฯ ประกาศช่วยเหลือเด็กนอกระบบทั้ง 77 จังหวัด ผ่าน Thailand Zero Dropout
17 ม.ค. 2568
2
“ไลอ้อน” มอบรอยยิ้มความสุขให้กับเด็กและเยาวชนไทย สนับสนุนงานวันเด็กแห่งชาติ
17 ม.ค. 2568
1
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ThePeople
Social
กรมการปกครอง
บำบัดทุกข์บำรุงสุข
ทุกข์น้อยลงสุขมากขึ้น
วันกำนันผู้ใหญ่บ้าน
Thepeoplexกรมการปกครอง
เราจะไม่ห่างประชาชน