read
social
08 ส.ค. 2563 | 09:00 น.
กำนันเพ็ญศรี ทองบุญชู บริหารจัดการน้ำด้วยการพึ่งพากันในชุมชน
Play
Loading...
“พื้นที่อำเภอชะอวดเป็นพื้นที่อ่างกระทะ น้ำจะมาเยอะแบบตั้งรับไม่ทัน เราเคยโดนวิกฤตหนักจนพื้นที่ตรงนี้สัญจรไม่ได้ ถนนทุกสายโดนน้ำไหลหลาก ต้นไม้ล้มขวางเส้นทาง เราจะเห็นพี่น้องลุกขึ้นมาจัดการตนเองโดยไม่ได้รอรัฐบาล วันนี้เรามีกลุ่มในเรื่องการจัดการภัยพิบัติ มีคนที่มีความรู้เฉพาะทาง มีเครื่องมืออุปกรณ์ครบ แล้วเราทำเป็นโมเดลเกาะขันธ์ที่สามารถจัดการกันได้ เป็นตำบลต้นแบบ หนึ่งตำบลหนึ่งศูนย์ ขยายผลไปทั้งจังหวัดนครศรีธรรมราช ตอนนี้เรามีลูกข่ายอยู่ประมาณ 30 ตำบล ซึ่งเป็นตำบลที่ขับเคลื่อนด้วยกำนัน”
ไม่มีตัวอย่างไหนจะแสดงให้เห็นว่าสามัคคีคือพลัง ได้ดีเท่ากับการร่วมมือร่วมใจของประชาชนในตำบลเกาะขันธ์ อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช จากสาเหตุภัยพิบัติที่มาเยือนเป็นประจำแทบทุกปี ทำให้ชาวตำบลเกาะขันธ์ ต้องหันมาช่วยเหลือตัวเองให้ได้ ในระหว่างที่รอความช่วยเหลือจากส่วนกลาง โชคดีที่มีผู้นำชุมชนอย่าง
กำนันเพ็ญศรี ทองบุญชู กำนัน ต.เกาะขันธ์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช
กำนันหญิงแกร่งผู้ที่รวมกลุ่มชาวบ้านอย่างแข็งขัน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็น ตำบลต้นแบบในการจัดการกับภัยพิบัติ
ซึ่งในหนึ่งศูนย์จะมีทั้ง ศูนย์วิทยุ โรงครัวชุมชน กำลังพลอาสาที่ขับเคลื่อนเฉพาะด้าน แล้วมีการทำข้อมูลตำบล สำรวจทุนศักยภาพที่มีอยู่อย่างเช่น จำนวนเลื่อยยนต์ และรถบรรทุก 6 ล้อ เผื่อเรียกใช้ในกรณีที่เกิดภัยพิบัติขึ้น โดยพื้นที่ตำบลเกาะขันธ์เป็นศูนย์บัญชาการส่วนหน้า รับผิดชอบ 3 อำเภอ อำเภอจุฬาภรณ์ อำเภอชะอวด อำเภอเชียรใหญ่ ในเรื่องของการจัดการภัยพิบัติ
ตามรอยพ่อ ขออาสา พัฒนาแผ่นดินเกิด
เส้นทางของนักปกครองของ กำนันเพ็ญศรี ทองบุญชู มาจากเจตนารมณ์แรกเริ่มที่เป็นลูกสาวกำนัน ก่อนจะได้รับการร้องขอจากพี่น้องในหมู่บ้านให้มาทำหน้าที่นักปกครองต่อ เพื่อสืบสานสายเลือดความเป็นนักปกครอง จนได้รับการเลือกตั้งจากพี่น้องในชุมชนให้เป็นผู้ใหญ่บ้าน เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2551 ต่อมา 8 เดือน เธอก็ได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนนักปกครองให้เข้ามาทำหน้าที่กํานันวันที่ 10 พฤศจิกายน 2552
กำนันเพ็ญศรี มีคติประจำใจคือ “ตามรอยพ่อ ขออาสา พัฒนาแผ่นดินเกิด” การตามรอยพ่อของเธอมีสองความหมาย หนึ่งคือ การตามรอยพ่อขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในเรื่องของการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ และการตามรอยกำนันฉาย กำนันคนแรกของตำบลเกาะขันธ์ ผู้เป็นพ่อของเธอที่ทำหน้าที่ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ให้ประชาชนชาวตำบลเกาะขันธ์นานกว่า 22 ปี โดยไม่มีมลทินติดตัวเลยแม้แต่ครั้งเดียว
“พ่อเป็นที่รักของพี่น้องประชาชนมาตลอด ความดีตรงนั้นตกทอดมาถึงกำนันคนปัจจุบัน ให้ได้รับการยอมรับจากพี่น้องประชาชน ซึ่งถือว่าจะต้องรักษาความดีนี้ให้คงอยู่ต่อไป เราทำหน้าที่กำนันด้วยเจตนารมณ์ที่ตั้งใจมาตลอดว่าจะทำหน้าที่ให้เต็มที่ ไม่ให้พี่น้องผิดหวัง จะทำทุกเรื่องที่เกี่ยวกับพี่น้องประชาชน และเกี่ยวกับนโยบายรัฐ เพราะเป็นพันธกิจของนักปกครองที่จะ บำบัดทุกข์ บำรุงสุข โดยกระบวนการการมีส่วนร่วมเป็นหัวใจในการขับเคลื่อน”
บริหารจัดการน้ำด้วยการพึ่งพากันในชุมชน
การมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนชาวเกาะขันธ์ นอกจากจะเป็นเรื่องการจัดการกับน้ำที่ไหลหลากมาอย่างมากมายแล้ว กำนันหญิงคนเก่งแห่ง ตำบลเกาะขันธ์ ยังมองไกลไปถึงยามที่น้ำขาดแคลน ด้วยการรวมพลังจิตอาสาในชุมชนทำฝายขะลอน่้ำ เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่ได้มีระบบชลประทานที่เพียงพอสำหรับทำการเกษตรตลอดทั้งปี
สืบเนื่องมาจากตำบลเกาะขันธ์เป็นพื้นที่เกษตรกรรม แล้วมีโครงการในพระราชดำริจากรัชกาลที่ 9 คือโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยน้ำใส และโครงการอ่างเก็บน้ำไม้เสียบ ซึ่งเปลี่ยนพื้นที่เกาะขันธ์จากการเป็นเพียงต้นทางให้น้ำไหลผ่านไปลงสู่อำเภออื่น ๆ กลายเป็นการบริหารจัดการน้ำด้วยตัวเอง ผลที่ได้คือการจัดการชลประทานที่เพียงพอ จนสามารถปลูกผลไม้ได้ถึงปีละ 2 ครั้ง
โอกาสที่มาจากการจัดการน้ำที่เป็นระบบนี้ ส่งผลถึงด้านเศรษฐกิจที่ดีของคนในชุมชน ทำให้ตอนนี้ทุกหมู่บ้านในพื้นที่ตำบลเกาะขันธ์ มีฝายขนาดเล็กอยู่ 43 แห่ง ที่แต่ละแห่งสร้างด้วยพลังจิตอาสาของชุมชนโดยรอบ ร่วมกับการมีส่วนร่วมของภาคีหน่วยงานจังหวัด
“พอผลไม้เริ่มเยอะ ก็จะมีพ่อค้าจากกรุงเทพฯ จากต่างจังหวัดมารับซื้อ แล้วเขาก็เป็นผู้กำหนดราคาขึ้นมาเอง ตอนหลังเราเริ่มทดลองสร้างกลุ่มการจัดการไม้ผล เอาไม้ผลมารวบรวมกันที่กลุ่ม แล้วเปิดให้มีการประมูล ตอนนี้ขยายผลไปจนมีประมาณ 10 กลุ่ม การประมูลจะได้กำไรสร้างงานสร้างอาชีพให้กับกลุ่มคนในชุมชน เฉลี่ยสมาชิกจะมีรายได้คนละไม่ต่ำกว่า 500 ต่อวัน”
ในชุมชนเกาะขันธ์ยังมีการจัดตั้ง โรงสีข้าวชุมชน จากความตั้งใจที่เห็นชาวนาในพื้นที่ต้องขายข้าวเปลือกเพื่อมาซื้อข้าวสารบริโภคอีกที ปีหนึ่งเป็นจำนวนหลายล้านบาท การบริหารจัดการข้าวเปลือกของชุมชนเกาะขันธ์ โดยแปรรูปเป็นข้าวสาร ทำให้ประหยัดต้นทุน ลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน แล้วยังสามารถจำหน่ายข้าวสารปลอดสารพิษราคาถูกให้กับพี่น้องในชุมชน
งบประมาณในการจัดซื้อข้าวเปลือกเพื่อมาแปรรูปมาเป็นข้าวสาร ใช้งบของกองทุนหมู่บ้าน ส่วนผลกำไรก็แบ่งปันให้กับสมาชิกในชุมชน แบ่งปันให้กับผู้ด้อยโอกาส เช่นการดูแลสวัสดิการของผู้ป่วยติดเตียง มาช่วยในเรื่องงานประเพณีวัฒนธรรม ช่วยสร้างงานสร้างอาชีพ รวมไปถึงใช้เป็นงบในการบริหารจัดการน้ำ มีการต่อยอดด้วยการผลิตน้ำสะอาดเพื่อดื่มกันในชุมชน ช่วยประหยัดต้นทุนในการเข้าถึงน้ำสะอาดได้ถึงครึ่งหนึ่ง
นอกจากนี้ตำบลเกาะขันธ์ได้มีโมเดลในเรื่องของการลดโรคสร้างสุข ทำบ้านตัวเองให้สะอาด มีการทำระบบจัดการขยะ แล้วมีการปลูกผักโดยนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในเรื่องของการปลูกผักอย่างน้อย 5 อย่าง ที่เรียกว่าผักคู่ชีวิต โดยกำนันเพ็ญศรีเป็นผู้นำที่เริ่มปลูกเป็นตัวอย่าง ก่อนจะขยายผลสู่ตำบล ที่ทุกบ้านช่วยกันปลูกผักแบ่งปันกันไป กลายเป็นสังคมแบ่งปัน มีแปลงเพาะพันธุ์พืชและแจกจ่ายให้กับเพื่อนสมาชิกนำไปเพาะปลูกต่อไป
การบริหารจัดการน้ำที่โดดเด่น รวมทั้งผลงานอีกเป็นจำนวนมากของกำนันเพ็ญศรี ทำให้ในวันกำนันผู้ใหญ่บ้าน 10 สิงหาคม 2563 ในปีนี้ กำนันเพ็ญศรี ทองบุญชู ได้เลือกให้เป็นหนึ่งในกำนันจากทั่วประเทศ ที่ได้รางวัลกำนันดีเด่น ประจำปี 2563
ความสามัคคีคือพื้นฐานแห่งความสุข
“เราเข้ามาอาสาก็ต้องการแก้ปัญหา สิ่งแรกที่เป็นความภาคภูมิใจตลอดมาที่ทำ ก็สามารถสร้างความกลมเกลียว เกิดความรักความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวของพี่น้องประชาชน ข้อที่สองคือภารกิจจะต้องเน้นในเรื่องของความอยู่ดีมีสุข พี่น้องจะต้องอยู่ด้วยความปลอดภัย ด้วยความเชื่อมั่นว่าปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นเราสามารถแก้ได้ และก็สิ่งสำคัญจะต้องดูแลครบวงจรหมดในเรื่องของอนาคต เราจะต้องสร้างเยาวชนให้เป็นคนดีของสังคมต่อไป จะต้องมีการปลูกฝังว่า ต้องรักแผ่นดินเกิด”
“เราจะทำให้ประชาชนทุกข์น้อยลง ด้วยความอยู่ดีกินดี มีความมั่นคงทางอาหาร เศรษฐกิจดี มีการส่งเสริมอาชีพ สร้างสังคมให้น่าอยู่ และทำให้มีสุขมากขึ้นจากสิ่งแวดล้อมที่ดี ลดมลพิษ มีการจัดการขยะ ทุกชุมชนต้องปลอดอบายมุข และต้องสร้างชุมชนให้เข้มแข็งภายใต้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”
โดยสถานการณ์โควิด-19 ของตำบลเกาะขันธ์ พิเศษกว่าตำบล ตรงที่มีการตั้งด่าน 10 จุด จากคำสั่งให้ตั้งด่าน 1 จุดต่อ 1 ตำบล ซึ่งเป็นด่านที่ทำงานร่วมกับ รพสต. (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล) และ ชรบ. มีการเฝ้าระวังโดยการคัดกรองกันทุกคืน กำนันเพ็ญศรีมีหน้าที่ไปอยู่หน้าด่าน คอยเยี่ยมเยียนครบหมดทุกจุด จนถึงการติดตามผลของผู้ที่เดินทางเข้ามาอีกด้วย
“เราเป็นต้องผู้ที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด ทำให้เราจะไม่ห่างประชาชน เพราะว่าเราสามารถแก้ปัญหาของประชาชนได้ โดยใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน มาร่วมกันมาขับเคลื่อนชุมชนให้สังคมน่าอยู่ เราอยากเห็นประชาชนอยู่ดีมีสุข นั่นคือความสุข ประชาชนรู้รักสามัคคี ไม่มีความแตกแยก ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จของผู้นำ ตอนนี้ตอบได้แบบภาคภูมิใจว่า ตำบลเกาะขันธ์เราอยู่กันแบบสังคมเกื้อกูล สังคมแบ่งปัน จากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน”
ติดตามข่าวสารและเรื่องราวการทำงานของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้ที่
http://www.กำนันผู้ใหญ่บ้าน.com
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3491
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6940
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
819
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ThePeople
Social
กรมการปกครอง
บำบัดทุกข์บำรุงสุข
ทุกข์น้อยลงสุขมากขึ้น
วันกำนันผู้ใหญ่บ้าน
Thepeoplexกรมการปกครอง
เราจะไม่ห่างประชาชน