read
social
08 ส.ค. 2563 | 08:00 น.
กำนันณิชารัชณ์ กันต่าย ทุกย่างก้าวคือทำงานเพื่อประชาชน
Play
Loading...
สองเท้าเล็ก ๆ ของผู้หญิงคนหนึ่ง แต่ละก้าวที่เดินออกจากบ้านไป คือการทำงานที่ไม่มีวันหยุด เพื่อออกไปพบปะลูกบ้าน ในปฏิบัติหน้าที่ดูแลทุกข์สุขชาวบ้าน ทั้งในยามกลางวันและยามกลางคืน จนเป็นกิจวัตรที่ทำทุกวันมานานกว่า 20 ปีแล้ว
ณิชารัชณ์ กันต่าย หรือที่ชาวบางใหญ่รู้จักในชื่อ กำนันเล็ก ผู้หญิงที่เกิดและเติบโต ที่ชุมชนวัดท่าบันเทิงธรรม ต.บางใหญ่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี อาชีพเดิมคือการมีรถกระบะรับจ้างวิ่งขนส่งโต๊ะจีน สู่การลงรับสมัครเลือกตั้งในตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านปี 2541 เมื่อได้รับตำแหน่งก็ทำหน้าที่ต่อเนื่องถึง 3 สมัย ก่อนที่จะพิสูจน์ฝีมือจนได้เป็นกำนันในปี 2558 ที่เธอกล้าพูดอย่างเต็มปากว่า ทุกคะแนนเสียงมาจากการค่อย ๆ สะสมความดี จนชาวบ้านมองเห็นและให้ความไว้วางใจ
“คนจะรู้จักกำนันเล็กในด้านที่กำนันคนนี้เป็นผู้หญิงแต่มันแกร่ง มันทำงาน มันชัดเจน ก็เป็นสิ่งที่เราภาคภูมิใจในตัวเองว่าเราเป็นผู้หญิง แต่สามารถทำมากกว่าผู้ชายในหลายเรื่อง หลายด้าน บางครั้งผู้หญิงนี่แหละทำได้ทุกเรื่อง ทำได้ดีมาก จริง ๆ ผู้ชายทำอะไร เราทำได้หมด บางครั้งเราทำได้มากกว่าในเรื่องของความอดทน”
กำนันหญิงแกร่งหัวเราะอย่างอารมณ์ดีขณะเล่าเรื่องราวของเธอ
การเป็นคนในพื้นที่ กำนันเล็กมองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในชุมชนบางใหญ่ทุกขณะ จากชุมชนที่รายล้อมไปด้วยเรือกสวนไร่นา คูคลอง ต่อมาเมื่อเมืองเริ่มรุกคืบเข้ามา ท้องนาถูกแทนที่ด้วยหมู่บ้านจัดสรรขนาดใหญ่และอาคารพาณิชย์ ที่ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด จนปัจจุบันมีจำนวนบ้านเรือนในความรับผิดชอบของเธอกว่า 2,000 หลังคาเรือน ความเจริญที่ถาโถมเข้ามา ทำให้การบริหารจัดการดูแลคนในพื้นที่ย่อมไม่ใช่เรื่องง่าย
กำนันเล็กจึงทำหน้าที่ดูแลทุกข์ลูกบ้านทั้งชาวบ้านดั้งเดิม และผู้คนที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาปักหลักเป็นคนบางใหญ่ ด้วยหลักคิดการทำงานที่ใกล้ชิดประชาชนในทุก ๆ ด้าน เมื่อรับนโยบายมาจากภาครัฐ ก็นำมาขยายผลแก่ลูกบ้าน เป็นนักประสานสิบทิศ และกำนันที่ติดดิน เข้าถึงได้ง่าย หากลูกบ้านมีเรื่องที่ไม่สบายใจเมื่อไหร่ก็สามารถเข้ามาพูดคุยปรึกษาหารือได้เสมอ
และหนึ่งในปัญหาทุกข์สุขของชาวบ้าน คือ ปัญหาปากท้อง และ คุณภาพชีวิต โดยเฉพาะสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อรายได้ไม่สัมพันธ์กับรายจ่ายทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนถ้วนหน้า โดยกำนันเล็กได้ส่งเสริมวิถีเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่ลูกบ้าน ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ พึ่งพาตนเองได้ ผ่านโครงการ “โคกหนองนาโมเดล” ที่กรมพัฒนาชุมชนได้มีโครงการให้ความรู้ จึงชักชวนลูกบ้านที่สนใจไปอบรมรับความรู้ แล้วนำมาขยายผลต่อ
“เราได้เข้าโครงการโคกหนองนาโมเดล ซึ่งจะต้องกลับมาทำที่บ้านต่อยอด ก็ปรับตามสถานที่เรา อย่างเช่น สวนเรามี 4 ไร่ เราแบ่งเป็นน้ำซะ 1 ไร่ เพื่อทำการเกษตร แล้วตรงนี้ก็คือเราต้องเชื่อมโยงไปถึงลูกบ้าน คือจาก 30 บ้าน ไป 50 บ้าน ก็พยายามเชื่อมโยงให้ครอบคลุมในการที่จะดูแลหรือส่งเสริม สนับสนุนให้เขาปลูกผักสวนครัว ลดละรายจ่าย ไม่ต้องไปซื้อข้างนอกแล้ว เดินตามแนวในหลวงรัชกาลที่ 9”
การสอนที่ดีไม่ใช่แค่เพียงคำสอน แต่ต้องทำให้ดูเป็นตัวอย่าง กำนันเล็กจึงแบ่งที่ดินของตัวเองมาเป็นพื้นที่ต้นแบบโคกหนองนาโมเดล ที่ไม่น่าเชื่อว่าที่นี่จะอยู่ห่างจากสรรพสินค้าขนาดยักษ์เพียงแค่ไม่กี่กิโลเมตร ภายในที่มีทั้งบ่อน้ำที่เป็นพื้นที่เก็บกักน้ำไว้ในเพื่อการเกษตร ต้นไม้ใหญ่ และบรรดาพืชผักสวนครัวหลากหลายชนิด ที่เมื่อนึกอยากทำเมนูอะไร เพียงเดินเข้าสวนเก็บพืชผักมาสด ๆ ไปทำอาหารได้เลย
มากไปกว่านั้นคือเปิดพื้นที่ในสวนของตนเอง ให้คนในชุมชนเข้ามาเรียนรู้วิถีเกษตรแบบพึ่งพาตนเอง และสร้างเครือข่ายความร่วมมือการลงแรงกันระหว่างลูกบ้าน เหมือนเช่นการลงแขกเกี่ยวข้าวในอดีต ช่วยกันขุดบ่อน้ำ ถางหญ้า ผลัดเปลี่ยนไปทีละบ้าน อันเป็นวิถีชีวิตของผู้คนรุ่นปู่ย่าตายาย จนได้รับการตอบรับจากลูกบ้านเป็นอย่างดี ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือชาวบ้านมีพืชผักสวนครัวที่ปลอดสารพิษไว้รับประทานเอง ช่วยลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ จากจุดเริ่มต้นที่มีผู้เข้าโครงการ 5 คน ขยายความรู้ไปสู่ลูกบ้าน 30 หลังคาเรือน เพิ่มเป็น 50 หลังคาเรือน และยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นอกจากด้านเศรษฐกิจแล้ว สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อผู้คนมากมาย ที่การปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นอีกกลไกสำคัญ ขับเคลื่อนนโยบายจากภาครัฐไปถึงประชาชนโดยตรง ที่ทำให้กำนันผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศมีภาระงานเพิ่มมากขึ้นหลายเท่า ทั้งการทำงานเชิงรุกและเชิงป้องกัน ที่เป็นโจทย์อันท้าทายใหม่ ซึ่งไม่เคยมีใครเคยรับมือมาก่อน
ด้วยการที่ตำบลบางใหญ่เป็นชุมชนขนาดใหญ่ใกล้กรุงเทพฯ จึงต้องมีมาตรการป้องกันเคร่งครัดทั้งการตั้งจุดตรวจ การออกตรวจเวรยามในช่วงกลางคืนในภาวะการประกาศเคอร์ฟิว การให้ความรู้แก่บรรดาร้านค้าที่จะต้องมีการเช็คอินแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” การตั้งตู้ปันสุขเพื่อบรรเทาความทุกข์ยากของประชาชนในพื้นที่ การปูพรมลงพื้นที่สำรวจกลุ่มเปราะบางผู้ที่สมควรได้รับความเยียวยาอย่างเร่งด่วน บทบาทของกำนันจึงต้องเป็นนักประสานสิบทิศสำหรับทุกความเคลื่อนไหวในชุมชน
“โควิด-19 เข้ามานี่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านนอนตาไม่หลับกันเลย เพราะการทำงานเข้มขึ้น เราตรวจ 3 ครั้งต่อ 1 อาทิตย์ อันนี้เป็นเวรหลักของพวกเราอยู่แล้ว แต่พอโควิด-19 เข้ามา หนักขึ้นกว่าเดิม การออกครั้งนี้มันเป็นการออกที่จะต้องดูแลร้านค้า เรื่องเคอร์ฟิว คือทุกตำบลของอำเภอบางใหญ่จะต้องมีจุดตรวจคัดกรอง เรื่องโควิด-19 แล้วก็เรื่องชัยชนะที่จะต้องไปแนะนำร้านค้าที่ว่าจะต้องแนะนำ ให้มีการตรวจวัดไข้ เสร็จแล้วก็มีเจลล้างมือ ใส่หน้ากาก แนะนำให้ทั้งร้านค้าให้ได้ความรู้ และให้เขาดูแลที่ประชาชนที่จะเข้าไปใช้บริการตรงนั้นด้วย”
ภาพที่ชาวบ้านบางใหญ่เห็นจึงเป็นกำนันผู้หญิงที่ออกเดินทางทำงานทั้งกลางวัน กลางคืน ออกตรวจพื้นที่ พูดคุยกับชาวบ้าน ประสานงานกับหน่วยงานราชการและภาคเอกชนต่าง ๆ เพื่อให้การควบคุมการระบาดโรคเข้มแข็งที่สุด
นอกจากการลงพื้นที่ในช่วงโควิด-19 ก็ยังต้องออกตรวจ “ตู้ขาว” ซึ่งเป็นตู้สำหรับให้ชาวบ้านส่งเรื่องร้องเรียน ตามแนวคิดของนายอำเภอบางใหญ่ ที่ต้องการให้กำนันผู้ใหญ่บ้านสามารถรับรู้ปัญหาของลูกบ้านได้อย่างใกล้ชิดและเป็นส่วนตัว จึงติดตั้งตู้ขาวอยู่ในชุมชนหลายจุด เรื่องราวที่ถูกเขียนในจดหมายหลายฉบับ มักเป็นปัญหาใหญ่ ๆ เกินกว่าจะออกปากพูดต่อหน้าได้ โดยเฉพาะปัญหาการร้องเรียนเรื่องยาเสพติดที่วิธีนี้ได้ผลเป็นอย่างดี
“ในตู้ขาว มันก็จะมีเรื่องยาเสพติดเข้ามาบ้าง จากเราที่ไม่รู้เขาก็มาหย่อนไว้ มาชี้เป้าให้บ้าง เราก็นำเรื่องตรงนี้นำเรียนท่านนายอำเภอ และฝ่ายป้องกัน ท่านก็จะทำแผนลงแต่ละที่แต่ละจุด คือเราทำงานเป็นทีมเวิร์ก หรือประชาชนให้ประสานงานเรื่องอะไร เขาก็เขียนแล้วหยอดไว้ เราก็ได้รับรู้ รับทราบว่าเขามีปัญหาอะไร พอมีปัญหาเราก็รีบแก้ไขทันที ถ้าเราแก้ได้เราแก้”
ด้วยผลงานการทำงานที่ชัดเจนแบบติดดิน เพื่อคอย บำบัดทุกข์ บำรุงสุข ใกล้ชิดประชาชน ทำให้กำนันเล็กได้รางวัลผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยม ชั้น 2 ถึง 2 ครั้ง และล่าสุดกับรางวัลกำนันยอดเยี่ยม ประจำปี 2563 ซึ่งเธอยืนยันว่าทุกอย่างไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะยื่นเรื่องเสนอผลงานไปแล้วจะรางวัลทันที แต่ต้องเกิดจากการสะสมความดี จนคณะกรรมการมองเห็นผลงานการทำงานอย่างแข็งขันมาโดยตลอด
แต่สิ่งที่มากกว่ารางวัลอันเป็นเครื่องการันตรีการทำงาน คือการได้ช่วยเหลือผู้อื่น ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้เธอยังคงเดินหน้าทำงานเพื่อพี่น้องประชาชนมายาวนานกว่า 20 และเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจเป็นผู้หญิงที่ก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมืองท้องถิ่น ซึ่งถึงวันนี้ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ผลงานที่ทำเป็นตัวปกป้องคุ้มครองให้กำนันเล็กยืนอยู่ได้อย่างสง่างามถึงปัจจุบัน
“แม่สอนเราให้มีใจอาสา เห็นใครตกทุกข์ได้ยากต้องช่วย พอมาทำงานตรงนี้ ความสุขก็คือได้ทำงานให้กับพี่น้องประชาชน ก้าวแต่ละก้าวของเราแต่ละวัน ก้าวที่ออกไปพบปะพี่น้องประชาชน สิ่งใดที่เราช่วยเหลือได้ ซึ่งพี่น้องเป็นทุกข์ ให้เราช่วยแก้ปัญหาใด ๆ ก็แล้วแต่ที่ท่านมี เราก็จะยืนอยู่เคียงข้างกับพวกท่าน ซึ่งเป็นประชาชนที่รักของพวกเรา”
ติดตามข่าวสารและเรื่องราวการทำงานของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้ที่
http://www.กำนันผู้ใหญ่บ้าน.com
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3556
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6975
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
871
แท็กที่เกี่ยวข้อง
ThePeople
Social
กรมการปกครอง
บำบัดทุกข์บำรุงสุข
ทุกข์น้อยลงสุขมากขึ้น
วันกำนันผู้ใหญ่บ้าน
Thepeoplexกรมการปกครอง
เราจะไม่ห่างประชาชน