เงือกฟิจิ เงือกปลอมที่สร้างชื่อให้ The Greatest Showman
นางเงือกเป็นสิ่งมีชีวิตในตำนานที่นักเดินเรือยุคหนึ่งเชื่อว่ามีอยู่จริง มีตำนานกล่าวถึงนางเงือกอยู่มากมาย บ้างก็ว่าพวกเธอนำมาซึ่งโชคร้าย นักเดินเรือคนไหนได้พบพวกเธอเข้ามักจะเจออุบัติเหตุเรืออับปาง
ขณะเดียวกัน นางเงือกมักจะมีเสน่ห์ดึงดูดมนุษย์ พวกเธอมักถูกกล่าวถึงว่ามีรูปลักษณ์หน้าตาที่สวยงาม น้ำเสียงไพเราะ รักเสียงดนตรี และมีเรื่องเล่าการใช้ชีวิตของมนุษย์กับเงือกเจ้าเสน่ห์อยู่หลายสำนวน (ที่มักมีเงื่อนไขทำให้ความรักของมนุษย์และเงือกไม่อาจจบลงได้อย่างมีความสุข - อ่านต่อได้ใน Little Mermaid ตัวละครสะท้อนความรักต้องห้ามแบบชายรักชาย)
มีความพยายามตามล่าหานางเงือกตัวจริงอยู่เป็นระยะ และในทศวรรษ 1840s “นางเงือกฟิจิ” (Feejee mermaid) ก็ได้มาปรากฏตัวในสหรัฐฯ ภายใต้การจัดแสดงของ พี.ที. บาร์นัม (P.T. Barnum) นักจัดแสดงโชว์ชื่อเสีย ที่เพิ่งซื้ออเมริกันมิวเซียมมาไว้ในครอบครอง
(ก่อนหน้านั้นไม่นานบาร์นัมเคยจัดโชว์หญิงผิวดำ โดยอ้างว่าเป็นแม่นมของ จอร์จ วอชิงตัน ผู้มีอายุยืนยาวกว่า 160 ปี ซึ่งถูกเปิดโปงว่าเป็นเรื่องเท็จ, บาร์นัมคนนี้ภายหลังประสบความสำเร็จมากกับการโปรโมตเรื่องลวงโลก และการจับมนุษย์ที่ถูกเรียกว่าเป็น “ตัวประหลาด” มาจัดแสดง เช่น เครา ฟารินี หญิงชาวลาวที่มีภาวะขนดกที่ถูกอ้างว่าเป็น จุดเชื่อมต่อวิวัฒนาการระหว่างลิงกับคน และยังเป็นผู้ที่พาแฝดสยามอิน-จันที่รีไทร์การโชว์ไปแล้วกลับมาแสดงที่มิวเซียมของเขา ชีวิตของเขายังถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เพลงในชื่อ The Greatest Showman)
แต่ภาพลักษณ์ของนางเงือกตัวนี้ ต่างจากจินตนาการที่คนคุ้นเคยอย่างสิ้นเชิง
บาร์นัมกล่าวถึงรูปลักษณ์ของนางเงือกตัวนี้ในอัตชีวประวัติของเขาเอง (เผยแพร่ปี 1855) ว่า "สัตว์ตัวนี้มันอัปลักษณ์นัก เนื้อแห้ง นังเหี่ยวผิวดำ รูปร่างแคระแกร็นสูงประมาณ 3 ฟุต ปากอ้ากว้าง หางงอ แขนบิดลักษณะเหมือนมันกำลังตายอย่างทรมาน"
ที่มาที่ไปของนางเงือกตัวนี้ บาร์นัมกล่าวว่า "ช่วงต้นหน้าร้อนปี 1842 ทนายความโมเสส คิมบอล (Moses Kimball) เจ้าของพิพิธภัณฑ์บอสตันซึ่งเป็นที่นิยมของประชาชนนั้นได้เดินทางมายังนิวยอร์ก แล้วนำสิ่งที่ว่ากันว่าเป็นนางเงือกมาแสดงให้ผมดู เขาบอกว่า เขาซื้อมันมาจากกลาสีเรือรายหนึ่งซึ่งมีพ่อเป็นกัปตันเรือลำหนึ่งจากบอสตัน (ที่มีกัปตันจอห์น เอลเลอรี [John Ellery] เป็นเจ้าของหลัก)
“พ่อของเขาซื้อมันมาจากกัลกัตตาเมื่อปี 1817 เชื่อกันว่ามันคือร่างของนางเงือกที่แท้จริงซึ่งถูกนำมาถนอมรักษาสภาพไว้ เชื่อว่าน่าจะได้มาจากนักเดินเรือชาวญี่ปุ่น และด้วยความมั่นใจว่ามันจะต้องทำให้ทุกคนที่ได้เห็นตื่นตะลึงอย่างที่ตัวได้เห็น และหวังจะทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำจากความอยากรู้อยากเห็นของผู้คน พ่อของเขาจึงใช้เงินสำหรับจัดการเดินเรือจำนวน 6,000 ดอลลาร์ไปซื้อมันมา แล้วทิ้งเรือให้เพื่อนดูแล จากนั้นจึงเดินทางไปแสวงโชคยังกรุงลอนดอน
"แต่มันก็ไม่ได้เป็นไปตามคาดหวัง จึงเดินทางกลับบอสตัน แต่ยังคงเชื่อมั่นว่ามันเป็นนางเงือกของจริงแน่ และต้องมีมูลค่ามหาศาล จึงเก็บรักษามันไว้อย่างดี แม้จะต้องอดอยากเพื่อหาเงินมาดูแลรักษา ขณะเดียวกันก็ต้องกลับไปทำงานกับเจ้านายเก่าเพื่อใช้หนี้จากการยักยอกเงินเรือไปซื้อเงือก และต้องตายอย่างไร้ทรัพย์สินอื่นใดนอกจากเงือกตัวนี้ ลูกชายของกัปตันรายนี้ไม่ได้เห็นค่าของเงือกตัวนี้เช่นพ่อ จึงขายมันให้กับคุณคิมบอลผู้ที่นำมันมาให้ผมตรวจดู"
ในฐานะนักจัดแสดง อย่างน้อยบาร์นัมก็ต้องเชื่อมั่นในสิ่งที่ตัวเองจะนำเสนอ และยิ่งเคยมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือมาก่อน เขาก็น่าจะต้องระมัดระวังมากขึ้น (ว่ามันต้องเป็นจริง หรือไม่ก็อย่าให้คนจับได้โดยง่าย) บาร์นัมจึงให้นักธรรมชาติวิทยาลองมาพิสูจน์นางเงือกตัวนี้ดู เขาอ้างว่า ผู้เชี่ยวชาญรายนี้มาเห็นก็ไม่อาจอธิบายได้ว่า นางเงือกตัวนี้ถูกปลอมขึ้นมาอย่างไร เพราะตัวผู้เชี่ยวชาญเองก็ไม่เคยเห็นลิงที่มีฟัน แขนหรือมือเช่นนี้มาก่อน เมื่อมองส่วนหาง ก็ไม่เคยเจอปลาที่มีครีบลักษณะเดียวกัน (แน่นอนเพราะมันเป็นสัตว์หลากชนิดจากต่างทวีปที่ถูกนำมาติดเย็บรวมกัน)
เมื่อบาร์นัมถามว่า "แล้วทำไมคุณถึงคิดว่ามันปลอม?" นักธรรมชาติตอบว่า "เพราะผมไม่เชื่อเรื่องนางเงือก" บาร์นัมได้ยินเช่นนั้นก็ตอบกลับไปว่า "ไร้เหตุผลสิ้นดี อีกอย่างผมเชื่อเรื่องนางเงือก ผมขอเช่ามันไว้แล้วกัน"
เพื่อเพิ่มความน่าสนใจในตัวสินค้า บาร์นัมจัดให้มีการส่งจดหมายจากหลาย ๆ ถิ่นเข้าไปยังหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ว่า พวกเขาได้เห็นนางเงือกที่ "ดร. กริฟฟิน" นักธรรมชาติวิทยาจากลอนดอนนำมาแสดงแล้วน่าสนใจมาก ทำให้สังคมเกิดความสนใจในตัวนางเงือก รวมถึงบาร์นัมที่ต้องการนางเงือกมาจัดแสดงที่อเมริกันมิวเซียมของเขาจึงยื่นข้อเสนอไป แต่ ดร.กริฟฟินปฏิเสธ
อย่างไรก็ดี ความจริงแล้ว ดร.กริฟฟินที่ว่าเป็นเพียง "หน้าม้า" ของบาร์นัมเท่านั้น ตัวจริงของเขาก็คือ ลีไว เลย์แมน (Levi Layman) ลูกมือของเขาที่เคยร่วมสร้างเรื่องลวงโลกกรณีหญิงผิวดำแม่นมของจอร์จ วอชิงตัน และการสร้างเรื่องว่าตัวเองสนใจอยากได้มาแสดงที่พิพิธภัณฑ์ แต่ถูกปฏิเสธ ก็เป็นเรื่องเล่าที่จะเพิ่มความน่าสนใจและความน่าเชื่อถือให้กับ ดร.กริฟฟินมากยิ่งขึ้น
ไม่เพียงเท่านั้น สื่อหลายฉบับยังถูกเชิญให้เข้ามาพิสูจน์ความจริงของนางเงือกแบบตัวต่อตัว สื่อแต่ละเจ้าถูกหลอกว่า พวกเขาได้ข่าว “ซีฟ” นี้ไปเพียงเจ้าเดียวเท่านั้น เจ้าอื่นไม่ได้ แต่ปรากฏว่า ทุกเจ้าได้ข่าวไปเหมือนกัน ลงข่าวพร้อมกันทั่วนิวยอร์กจนทำให้เกิดกระแสคลั่งไคล้นางเงือกขึ้นมา
บาร์นัมยอมรับเองในอัตชีวประวัติว่า จดหมายจากหลายท้องที่นั้น เขาเป็นคนเขียนเองแล้วส่งไปให้เพื่อนตามพื้นที่ต่าง ๆ ให้ช่วยส่งต่อไปยังหนังสือพิมพ์มีชื่อ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และเขาก็เป็นคนที่จัดการอยู่เบื้องหลังเพื่อให้สื่อต่าง ๆ ลงข่าวพร้อม ๆ กัน โดยเขาได้สร้างแม่พิมพ์ภาพนางเงือกขึ้นแล้วส่งไปยังสื่อต่าง ๆ โดยล่อลวงว่า เขาทำแบบพิมพ์และคำบรรยายขึ้นมาเพื่อเตรียมโฆษณาอยู่แล้ว แต่พอถูกปฏิเสธเลยไม่ได้ใช้งาน จึงส่งแบบพิมพ์เหล่านี้มาให้สื่อนั้น ๆ ฟรี ๆ สื่อทั้งหลายไม่ได้รู้ตัวเลยว่าถูกหลอกใช้ก็รีบตีพิมพ์ข่าวพร้อม ๆ กัน
"ผมขอสารภาพว่า จดหมายสื่อสาร 3 ทางจากภาคใต้นั้น ผมเป็นคนเขียนเองแล้วส่งไปถึงเพื่อนโดยเขียนกำกับขั้นตอนการส่งจดหมายตามวันเวลาที่กำหนด ข้อเท็จจริงดังกล่าว (การส่งจดหมายจากหลายที่) ประกอบกับการลงตราประทับในจดหมาย มีส่วนสำคัญทำให้คนไม่สงสัยว่าเป็นเรื่องหลอกลวง แล้วเหล่าบรรณาธิการในนิวยอร์กก็พากันลงข่าวนางเงือกสู่สาธารณะตามเวลาที่ผมจัดวางไว้ โดยที่พวกเขาเองก็ไม่รู้ตัว" บาร์นัมกล่าว
ก่อนหน้านั้น บาร์นัมได้เตรียมใบปลิวโฆษณานางเงือกปลอม (ซึ่งภาพที่เขาพิมพ์นั้นเป็นนางเงือกที่หน้าตาสวยงามต่างจากนางเงือกปลอมที่เขามี) ไว้แล้วนับหมื่นใบ เมื่อชาวบ้านพากันฮือฮาเรื่องนางเงือก เขาก็เอาใบปลิวออกขายใบละ 1 เพนนี เมื่อมันถูกกระจายไปทั่วแล้ว เขาก็เช่า New York Concert Hall เพื่อให้ “ดร.กริฟฟิน” นักธรรมชาติวิทยา (ตัวปลอม) จัดแสดงนางเงือก (ปลอม) ที่ (อ้างว่า) ถูกจับได้บริเวณหมู่เกาะฟิจิ โดยมีชาวบ้านเข้ามาดูอย่างล้นหลาม แม้ว่ามันจะต่างจากใบปลิวมากก็ตาม
หลังจากที่มันถูกจัดแสดงที่ Concert Hall ได้ 1 สัปดาห์ มันก็ถูกย้ายมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์อเมริกันของบาร์นัมแบบเนียน ๆ โดยมีการโฆษณาว่า ผู้เข้าชมไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมพิเศษเพื่อเข้าชมแต่อย่างใด ทำให้บาร์นัมสร้างชื่อในฐานะนักจัดแสดงระดับประเทศขึ้นมา และหาเงินเข้ากระเป๋าได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ ก่อนคืนนางเงือกตัวนี้ให้กับเจ้าของ (คิมบอล) ไป
นางเงือกแห่งฟิจิชัดเจนว่าเป็นของปลอม นางเงือกลักษณะเดียวกันนี้ถูกนำมาหลอกขายมากมายโดยเชื่อกันว่า แหล่งใหญ่มาจากชาวประมงในญี่ปุ่นที่ขายมันให้กับนักเดินเรือชาวยุโรปช่วงต้นศตวรรษที่ 19 โดยน่าจะเป็นนักเดินเรือชาวดัตช์ เพราะเป็นพ่อค้ากลุ่มเดียวที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำการค้าได้ในช่วงที่ญี่ปุ่นยังแบนการค้ากับตะวันตก และนางเงือกของบาร์นัมก็น่าจะมาจากแหล่งเดียวกัน
หลังการจัดแสดงของบาร์นัม เงือกฟิจิก็หายสาบสูญไปจากสายตาของสาธารณะ จนกระทั่งในปี 1969 ก็มีเจ้าหน้าที่ของพิพิธภัณฑ์พีบอดีแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเข้าไปพบนางเงือกปลอมตัวหนึ่งเข้าในพื้นที่จัดเก็บ และเชื่อว่ามันน่าจะเป็นนางเงือกตัวเดียวกัน
เนื่องจากหลังพิพิธภัณฑ์บอสตันของคิมบอลถูกไฟไหม้ในปี 1899 ก็มีการย้ายข้าวของที่เคยจัดแสดงมาให้กับพิพิธภัณฑ์พีบอดี โดยในรายการของที่ถูกโอนย้ายมา มี “นางเงือกฟิจิ” รวมอยู่ด้วย แม้ว่ารูปร่างของมันจะต่างจากภาพที่ถูกเผยแพร่ในสื่อสมัยที่มีการจัดแสดงเมื่อปี 1842 อย่างมากก็ตาม เพราะนางเงือกของพิพิธภัณฑ์พีบอดีมีลักษณะลำตัวและหางยืดตรง แขนไม่ได้หงิกงอ และมองไม่เห็นใบหน้าที่ดูทุกข์ทรมาน
แต่มันก็มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นตัวเดียวกัน เพราะต้องไม่ลืมว่าบาร์นัมนั้นเป็นนักสร้างเรื่อง ภาพของนางเงือกที่แสนอัปลักษณ์ตามคำบรรยายของบาร์นัมซึ่งถูกใช้ทั้งในสื่อหนังสือพิมพ์ และอัตชีวประวัติของเขา (คนละภาพกับภาพนางเงือกสวยงามที่ใช้โฆษณาตอนแรก) ก็อาจจะมาจากแม่พิมพ์เดียวกันที่เขาทำขึ้นเอง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ถ้าพิจารณาร่วมกับพฤติกรรมก่อน ๆ ก็มีความเป็นไปได้ว่า เขาจะไม่ได้ถอดแบบมาจากต้นแบบเป๊ะ ๆ