เครา ฟารินี หญิงลาวที่ถูกอ้างเป็นจุดเชื่อมระหว่างลิงกับคน

เครา ฟารินี หญิงลาวที่ถูกอ้างเป็นจุดเชื่อมระหว่างลิงกับคน

เครา ฟารินี หญิงลาวที่ถูกอ้างเป็นจุดเชื่อมระหว่างลิงกับคน

"เครา จุดเชื่อมโยงที่หายไป สิ่งมีชีวิตที่เป็นเครื่องพิสูจน์ทฤษฎีบรรพบุรุษของมนุษย์ ที่สุดแห่งความน่าพิศวง "ทฤษฎีของดาร์วินที่ว่า คนและลิงต่างมีจุดกำเนิดร่วมกัน มักจะมีข้อโต้แย้งก็คือจนถึงปัจจุบันยังไม่เคยพบสัตว์ชนิดใดที่มีลักษณะของการเปลี่ยนผ่านจากลิงมาสู่คน "เคราคือตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบของก้าวดังกล่าวระหว่างคนกับลิง คาร์ล บ็อค (Carl Bock) นักเดินทางชื่อดังไปพบเข้าที่ประเทศลาว เธอจะถูกนำมาแสดงในห้องบรรยายใหม่ระหว่างช่วงบ่ายถึงเย็น" ข้อความในใบปลิวโฆษณาการจัดแสดง “เครา ฟารินี” (Krao Farini) หญิงชาวลาวที่มีภาวะขนดก (hypertrichosis) ที่ Royal Aquarium ในเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ วันที่ 31 มีนาคม ปี 1887 เมื่อปี 1859 ชาลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษได้เผยแพร่ทฤษฎีวิวัฒนาการจากการคัดเลือกโดยธรรมชาติออกสู่สาธารณะ (หลังเริ่มตั้งทฤษฎีมากว่า 20 ปี) ทำให้สังคมวิกตอเรียที่ศาสนายังคงมีอิทธิพลสูงสั่นสะเทือน เพราะเป็นการปฏิเสธคำอธิบายสำคัญตามพระคัมภีร์ไบเบิลว่าด้วยการสร้างโลกและมนุษย์ที่ได้บันทึกไว้ว่า  "พระเจ้าตรัสว่า 'จงให้พวกเราสร้างมนุษย์ตามแบบฉายาของพวกเรา ตามอย่างพวกเรา และให้พวกเขาครอบครองฝูงปลาในทะเล ฝูงนกในอากาศ และสัตว์ใช้งาน ให้ครอบครองทั่วทั้งแผ่นดินโลก และบรรดาสัตว์เลื้อยคลานที่คลานไปมาบนแผ่นดินโลก'" ทฤษฎีของเขาได้รับการยอมรับในแวดวงวิทยาศาสตร์มากขึ้นเป็นลำดับ จนแพร่หลายไปยังภาคอื่น ๆ และส่งอิทธิพลอย่างมากกับรากฐานความคิดของชาวตะวันตกยุคใหม่ ที่ถอยห่างจาการยึดถือคำอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติโดยอาศัยถ้อยคำตามคัมภีร์ศาสนา แต่ข้อเสนอของดาร์วินเป็นที่ขบขันของนักศาสนายุคนั้น ด้วย “ตรรกะ” ที่ว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่สูงส่ง จะกำเนิดมาจากสิ่งมีชีวิตที่มีสถานะต่ำกว่าอย่าง “ลิง” ไม่ได้ หากต้องถือกำเนิดมาจากสิ่งที่สูงส่งยิ่งกว่าเช่น “พระเจ้า” (ซึ่งแม้แต่ปัจจุบันในกลุ่มผู้เคร่งศาสนา ก็ยังเชื่อในตรรกะเช่นว่านั้น)  นอกจากนี้ ยังโจมตีว่า ทฤษฎีของดาร์วินไร้หลักฐานยืนยันเพราะขาด “The Missing Link” หรือจุดเชื่อมต่อระหว่างลิงกับมนุษย์ ที่หลายคนจินตนาการว่า คำว่าวิวัฒนาการมันก็ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะขั้นบันไดก้าวขึ้นไปเรื่อย ๆ สิ! (ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นความเข้าใจผิด) และสิ่งมีชีวิตนั้นจะต้องมีลักษณะที่ปนกันระหว่างลิงกับคนแบบครึ่งต่อครึ่ง  (ตอนนั้นเรายังไม่เจอมนุษย์วานรโบราณอย่าง ออสทราโลพิเทคัส ซึ่งมีลักษณะพึงประสงค์ตามจินตนาการ กว่าจะเจอก็ปี 1924) หลายคนจึงออกแสวงหาสิ่งมีชีวิตเช่นว่านี้ จนกระทั่งวันหนึ่งมีนักเดินทางชาวตะวันตกเข้าไปในป่าของลาว ซึ่งสมัยนั้นยังอยู่ใต้อิทธิพลของสยาม และได้พบกับ “เครา” เข้า และเธอก็ถูกจับไปแห่โปรโมตว่าเป็น “The Missing Link” ในคณะละครสัตว์  ประวัติของเคราในหนังสือพิมพ์ The Owosso Times (หนังสือพิมพ์ในมิชิแกนที่ปิดตัวไปแล้ว) ฉบับวันที่ 7 พฤศจิกายน 1884 ตามปากคำของ จอร์จ เชลลี (George Shelley) ผู้ที่อ้างว่าเป็นเพื่อนร่วมทางของคาร์ล บ็อค ในการเดินทางไปสยาม เล่าว่า เคราถูกจับตัวได้พร้อมกับพ่อแม่เมื่อเดือนมกราคม 1881 จากป่าแห่งหนึ่งในลาว เธอเป็นหนึ่งในสมาชิกชาวเผ่าที่มีขนปกคลุมทั่วร่างกายรวมทั้งใบหน้า ใช้ชีวิตอยู่บนต้นไม้ ไม่มีภาษาพูด ยังชีพด้วยการหาของป่า รู้จักการใช้เครื่องมือเพียงเล็กน้อย ไม่รู้วิธีการจุดไฟ และคำว่า "เครา" ก็แปลว่า "ลิง" ในภาษาสยาม (มันใช่เหรอเชลลี?) ส่วนข้อมูลใน The New York Times วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 1883 เล่าว่า หลังเคราถูกจับได้ไม่นาน พ่อของเธอก็ตายด้วยอหิวาต์ ส่วนแม่ถูกกรมการเมืองสยามควบคุมตัวไว้ เธอจึงถูกนำตัวมาอังกฤษเพียงคนเดียว และอยู่ใต้ความดูแลของ คุณฟารินี (Signor Farini - นามแฝงของ วิลเลียม ฮันต์ นักแสดงผาดโผน และโปรโมเตอร์จัดการแสดงชาวแคนาดา) ซึ่งเป็นที่มาของนามสกุลของเธอ เครากลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า จุดเชื่อมต่อระหว่างลิงกับคนมีอยู่จริง ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดอย่างรุนแรง เนื่องจากเธอเป็นมนุษย์หรือ “โฮโม เซเปียนส์” ไม่ใช่เผ่าพันธุ์พิเศษที่เชื่อมโยงคนกับลิง หากเป็นกลุ่มอาการผิดปกติที่สามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ และเธอก็มิได้มีสติปัญญาใกล้เคียงกับลิง อย่างที่นักจัดแสดงอ้างว่า เผ่าพันธุ์ของเธอด้อยพัฒนาไม่รู้จักใช้เครื่องมือ หรือไฟ และไม่มีภาษาพูด กลับกันเธอสามารถพูดได้ถึง 5 ภาษา ซึ่งเป็นทักษะที่เธอมีมาตั้งแต่เล็ก ๆ (ตอนที่เธอถูกนำมาอังกฤษ เธออายุได้ราว 8 ขวบ นักข่าวสังเกตได้ว่า เธอสามารถพูดภาษาอังกฤษได้หลายคำ ทั้งที่เพิ่งมาถึงอังกฤษไม่กี่สัปดาห์) แต่ภาพจำของเธอในฐานะ “The Missing Link” และ “ตัวประหลาด” (freak) ก็คงอยู่ตั้งแต่วันที่เธอถูกจับได้จนถึงวันตาย (1926) เนื่องจากเธอต้องใช้ชีวิตในคณะละครสัตว์ที่ทำการแสดงหากำไรจากการโปรโมตเธอด้วยสถานะดังกล่าว ทั้งในอังกฤษและสหรัฐฯ และภาพของเธอยังกลายเป็นข้ออ้างในการเหยียดเผ่าพันธุ์อื่นของคนผิวขาวที่เชื่อว่าตัวเองมีวิวัฒนาการเหนือกว่า เพราะรูปลักษณ์ที่ห่างไกลจากความเป็นลิงมากกว่า  "เคราไม่ใช่คนเดียว ยังมีคนขนดกและชนพื้นเมืองอีกมากที่ถูกนำมาจัดแสดง” ปีเตอร์ เคียร์การ์ด (Peter Kjærgaard) ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์วิวัฒนาการจากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกนกล่าว (The Missing Link and Human Origins: Understanding an Evolutionary Icon) ก่อนเสริมว่า “ชาวแอฟริกันอเมริกันในรัฐทางใต้ของสหรัฐฯ ก็ถูกจับขึ้นแสดงในลักษณะเดียวกันตามงานวัดร่วมกับลิงไร้หางโดยเฉพาะชิมแปนซี โดยนำไปป่าวประกาศว่า คนเหล่านี้คือเครื่องพิสูจน์ทฤษฎีวิวัฒนาการ หรือเพียงเพี่อเรียกร้องความสนใจด้วยการเล่นกับความรู้สึก บวกกับทฤษฎีวิวัฒนาการ พ่วงด้วยความเชื่อเรื่องความสูงต่ำทางเชื้อชาติ จุดเชื่อมต่อที่สูญหายที่มีชีวิตเหล่านี้ถูกนำไปแสวงประโยชน์ด้วยการหาเงินจากความอยากรู้อยากเห็น อคติ และความเชื่อเรื่องเชื้อชาติที่สูงส่งของชาวยุโรป  "มันเป็นการรวมเอาองค์ประกอบของการเหยียดเชื้อชาติและการข่มเหงทั้งหลายของยุคอาณานิคมเข้าไว้ด้วยกัน มันเป็นสิ่งที่ทั้งน่ากลัว ขณะเดียวกันก็ช่วยทำให้คนดูรู้สึกสบายใจ เนื่องจากมันทำให้พวกเขาระลึกถึงธรรมชาติของสัตว์และสิ่งที่น่าจะเป็นจุดกำเนิดของมนุษย์ ขณะเดียวกันมันก็ทำให้พวกเขามั่นใจได้ว่าตนเองได้วิวัฒนาการมาไกลแล้ว"