พิงค์ ศิลปินที่ทำเพลงช่วยชีวิตคนที่คิดฆ่าตัวตาย ให้กลับมาฮึดสู้และเห็นความหมายในตัวเองอีกครั้ง
เป็นเรื่องปกติที่ศิลปินจะนำประสบการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตมาถ่ายทอดเป็นเพลง ซึ่ง P!nk (อ่านว่าพิงค์) ก็เช่นกัน ทุกเพลงของเธอนั้นเขียนขึ้นมาจากชีวิตจริง เพราะต้องการสื่อประสบการณ์ร่วมกับผู้ฟังให้ได้มากที่สุด
ด้วยเสียงร้องทรงพลังแสนจริงใจ เนื้อเพลงตรงไปตรงมา (ค่อนไปทางหยาบคาย) ไม่ต้องอ้อมค้อมให้เสียเวลา ประกอบกับความซื่อสัตย์อย่างอันตรายต่อตัวเองของเธอ ทำให้พิงค์เป็นนักร้องหญิงที่สื่อ “ข้อความ” ที่อยากสื่อออกมาสู่หัวใจแฟนคลับได้อย่างที่แทบไม่เคยมีใครทำได้ ถ้าจะให้นิยามการกระทำนี้ เราขอนิยามว่า การเชื่อมโยงทางอารมณ์ (emotional connection) คงจะเป็นคำที่ดีที่สุด
นอกจากเนื้อเพลงที่ฮุกเข้าสู่หัวใจคนฟัง การแสดงโชว์ของพิงค์ก็เป็นที่จดจำไปไม่น้อยกว่ากัน เคยมีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่งทวีตโดยแนบรูปนักร้องยืนร้องเพลงบนเวที ผู้ใช้ทวิตเตอร์ใส่แคปชั่นว่า “นักร้องทั่วไป” แต่พอเป็นรูปของนักร้องที่โหนสลิง หมุนตัวลอยฟ้าขณะที่เสียงยังนิ่งและทรงพลังแปดหลอดอยู่ ผู้ใช้ทวิตเตอร์นิยามรูปนี้ว่า “พิงค์” ซึ่งทวีตนี้ได้รับการรีทวีตเป็นจำนวนมากแสดงถึงความเห็นด้วย เพราะหากลองไปดูการแสดงของพิงค์ มั่นใจเลยว่าต้องเจอการห้อยโหนร้องเพลงจนนักยิมนาสติกยังกลัว
พิงค์ผู้โหนสลิงร้องเพลงมีชื่อเต็มว่า อลิเซีย เบธ มัวร์ (Alecia Beth Moore) เกิดที่เมืองดอล์ส เพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา ในภาวะครอบครัวที่ไม่ดีนัก เสียงด่าทอกันของผู้ใหญ่ผ่านหูเธอในวัยเด็กและฝังลงไปในสมอง จนตอนที่พิงค์อายุ 9 ขวบ พ่อก็จากแม่และเธอไป ประสบการณ์วัยเด็กทำให้พิงค์เลือกจะหมกมุ่นอยู่กับศิลปะ การฝึกร้องเพลง การเขียนแพลง โดยเฉพาะเรื่องราวที่โผล่ขึ้นมาในเนื้อเพลงส่วนใหญ่จะเป็นไปในทางมืดมนและดูแล้วค่อนข้างไม่สบายใจ พิงค์มาเปิดเผยทีหลังว่า พ่อแม่ของเพื่อนไม่อนุญาตให้เธอเข้าบ้าน เพราะเธอเป็นพลังงานแห่งความชั่วร้ายที่อาจแผ่พลังงานลบให้ลูก ๆ ของพวกเขา
พอถึงช่วงอายุ 13-14 ปี พิงค์ผู้มีความสนใจดนตรีร็อกที่ร้องได้เต้นได้อยู่แล้ว ก็ได้ไปทำงานร้องเพลงใน ฟิลลี ไนต์คลับ (Philly nightclub) ทุกคืนวันศุกร์ เธอลุ่มหลงมัวเมาในแสงเสียงยามค่ำคืน และจบลงที่การใช้ยาเกินขนาดตอนอายุ 15 บวกกับการก่ออาชญากรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ
เมื่ออายุ 16 พิงค์ได้เป็นสมาชิกวง Choice ซึ่งเป็นของค่ายอาร์แอนด์บีที่ชื่อ LaFace แต่ก็ยุบวงไปเสียก่อน หลังจากนั้นเธออยู่ในวงการและปล่อยเพลง Can’t Take Me Home ซึ่งก็โด่งดังพอสมควร แต่พิงค์รู้สึกว่าเพลงนี้ยังไม่ใช่ตัวเธอ และเธอก็รู้สึกไม่จริงใจต่อตนเอง คราวนี้ล่ะที่ไอดอลของเธอคือ ลินดา เพอร์รี (Linda Perry) นักร้องนำของวง 4 Non Blondes (เพลงในตำนานของวงนี้คือ What’s Up) มาช่วยเธอทำเพลง Get the Party Started และนั่นคือจุดที่ดังระเบิดระเบ้อของพิงค์
พิงค์เขียนเพลงทั้งหมดจากชีวิตจริง เธอตั้งปณิธานไว้ว่า จะเป็นตัวแทนของผู้คนที่ตกเป็นเบี้ยล่างหรือโชคไม่เข้าข้าง (underdog) พิงค์ทำให้แฟนคลับรับสารจากเพลงของเธอได้ใกล้เคียงกับคำว่า “emotional hearing” อย่างมาก ซึ่งหมายถึงเธอเข้าใจตนเอง เข้าใจคนอื่น และเอาใจเขามาใส่ใจเราอย่างแท้จริง พิงค์ใช้เพลงเป็นกระบอกเสียง และตั้งใจให้มันเขย่าวงการของการกดขี่และทำร้ายจิตใจกันให้มันเปลี่ยนไป เธอเขียนลงเว็บไซต์ของตัวเองว่า “ถ้าจะขยับภูเขาน่ะ แค่พ่นลมใส่มันไม่ได้หรอก”
นักร้องสาวเขียนเพลง Family Portrait ให้กับช่วงชีวิตที่พ่อของเธอจากไป และเพื่อเป็นกำลังใจให้คนที่พบเจอประสบการณ์เดียวกัน พร้อมกับแสดงให้เห็นว่าแม้จะหนักหนาเพียงใด แต่สุดท้ายก็จะผ่านมันมาได้ “คุณแม่ อย่าร้องไห้เลย ฉันทนเสียงคร่ำครวญนั่นไม่ได้ ความเจ็บปวดของแม่มันทำให้หัวใจของฉันฉีกเป็นชิ้น ๆ” พิงค์ยังกล่าวภายหลังด้วยว่า “พระเจ้า คิดดูสิ ฉันมีชีวิตเก้าปีแบบระแวงตลอดว่าพ่อแม่จะตีกัน หลังจากนั้นก็เงียบหายไป ทุกวันนี้ฉันยังขนลุกทุกทีที่ได้ยินคนด่าทอกัน”
นอกจากนั้น เธอยังเขียนเพลง Dear President ที่เป็นกระบอกเสียงของคนไร้บ้าน สิทธิการสมรสของ LGBTQ+ และสงครามในอิรัก “ประธานาธิบดีที่รัก เราลองมาเดินด้วยกันมั้ย ลองแกล้งทำเป็นคุณไม่ใช่คนวิเศษวิโสกว่าฉัน ฉันอยากจะถามคุณสักอย่าง คุณรู้สึกยังไงเวลามีคนไร้บ้านอยู่เต็มถนน ก่อนนอนคุณภาวนาให้ใคร ตอนที่ส่องกระจก คุณภูมิใจในตัวเองหรือเปล่า” ซึ่งเนื้อเพลงท่อนสุดท้ายกินใจชาวอเมริกันเป็นอย่างมาก เพราะเธอร้องว่า “Dear President, you never walk with me” อันหมายถึงว่าผู้นำไม่ได้เข้าใจเราอย่างแท้จริง และไม่รับรู้ความลำบากของของประชาชนเลยสักนิด
อย่างที่กล่าวว่าพิงค์ทำเพลงเพื่อให้กำลังใจ underdog หรือผู้คนที่คิดว่าตัวเองไม่มีความหมาย ไม่มีค่า และไม่มีสิทธิ์อะไรในโลกนี้ให้เห็นถึงคุณค่าของตัวเอง หนึ่งในเพลงที่สะท้อนปณิธานของเธอได้ชัดสุดคือเพลง F*ucking Perfect ที่ปล่อยออกมาหลังจากเพลง Raise Your Glass ทั้งสองเพลงเน้นถึงการยอมรับและรู้คุณค่าในตัวเอง ความสุขของตัวเองที่ไม่ต้องผูกกับใคร แต่เพลง F*ucking Perfect จะลงลึกโดยพูดถึงอาการซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายจากการดิ้นรนพยายามจะประสบความสำเร็จ ผ่านมิวสิควิดีโอที่เล่าเรื่องศิลปินวาดภาพที่พยายามประสบความสำเร็จจนเกิดอาการซึมเศร้าและอยากฆ่าตัวตาย เพราะรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าและไม่ประสบความสำเร็จสักที
พิงค์โพสต์ในเว็บไซต์ของเธอว่า “เอ็มวีของฉันจะต้องสั่นสะเทือน หรือสร้างการตระหนักรู้ถึงการรู้คุณค่าของตัวเอง ส่วนคนอื่น ๆ และตัวเราเองก็ควรจะเอาใจเขามาใส่ใจเราเสียบ้าง และนั่นแหละ อย่างที่บอก เราขยับภูเขาไม่ได้หรอก ถ้าเราแค่พ่นลมใส่มัน” และยังบอกด้วยว่า “กรีดข้อมือ ฆ่าตัวตาย สองการกระทำแต่ปัญหาเดียวกันเลย นี่ คุณรู้มั้ย ฉันไม่เคยเจอคนที่ไม่มีรอยกรีดที่ข้อมือเลย ส่วนใหญ่แม่งก็เดินวนเวียนกันแถวพรมแดงนี่ล่ะ”
ขณะเดียวกัน นักร้องสาวสุดเปรี้ยวก็ให้กำลังใจทุกคนว่า “ฉันไม่อยากให้มีการฆ่าตัวตายเกิดขึ้น แม้พวกเขาจะไม่มีอำนาจ ไม่มีใครมองเห็น เป็นเสียงที่ไม่ได้ยิน และลดทอนคุณค่าในตัวเอง ฉันอยากให้พวกเขารู้ว่า ฉันอยู่ตรงนี้ และฉันเห็นความพยายามลุกขึ้นสู้ของคุณ การถ่ายทำเอ็มวีเพลง F*ucking Perfect ทำให้ฉันนึกได้ ฉันนึกถึงอีกหนึ่งชีวิตในท้องของฉัน (ตอนนั้นเธอท้อง 1 เดือน) ฉันต้องต้อนรับเขาหรือเธออย่างอบอุ่น เตรียมผ้าเช็ดน้ำตาให้เวลาเจอเรื่องราวที่โหดร้าย ฉันจะบอกเธอว่า โลกนี้ก็มีสิ่งที่ดีเหมือนกัน และที่สำคัญ ฉันจะรักเธอในทุกอย่างที่เธอเป็น”
แม้พิงค์จะเป็นไอดอลของแฟนคลับ แต่สำหรับพิงค์แล้ว เธอไม่อยากให้ใครเป็นเหมือนเธอ เพราะทุกคนดีที่สุดในแบบของตัวเอง อย่างที่เธอบอกเสมอว่า “ฉันไม่ต้องการให้แฟนคลับเห็นหน้าฉันแล้วพูดว่า โอ้ย ฉันอยากเป็นเหมือนพิงค์จังเลย แต่ฉันอยากให้พวกเขาพูดว่า โห...เป็นตัวเองนี่แม่งโคตรดี”
ผลกระทบของเนื้อเพลงอันแสนจริงใจและตรงไปตรงมานี้ยิ่งใหญ่กว่าที่ทุกคนคิด วันหนึ่งพิงค์อัดรายการอยู่ มีเด็กผู้หญิงอายุ 13 ปีเข้ามาหาเธอและมอบจดหมายให้ฉบับหนึ่ง และมันน่าตกใจมากที่เนื้อหาของจดหมายเขียนไว้ว่า
“เอาจริง ๆ นะคะ แม่ของหนูเพิ่งตาย ตาของหนูข่มขืนแม่หนู ตอนนี้เขาข่มขืนหนูต่อ หนูอยากฆ่าตัวตายเสียเดี๋ยวนั้น แต่ไม่ หนูไม่ทำเพราะเพลงของคุณ” พิงค์ให้สัมภาษณ์กับ Entertainment Weekly ถึงเหตุการณ์นี้ว่า “ฉันนั่งตาลอยอยู่สักพัก แล้วก็ตั้งสติได้ ฉันพยายามติดต่อมูลนิธิ และพยายามหาว่าเด็กผู้หญิงคนนี้อยู่ที่ไหน และฉันจะพาตัวเธอมา” แต่หลังจากนั้นพิงค์ก็ไม่ได้รับการติดต่อจากเธออีกเลย
กำลังใจและพลังบวกที่พิงค์ส่งถึงทุกคน ทำให้พิงค์ติดหนึ่งในร้อยอันดับผู้หญิงที่สร้างแรงบันดาลใจในรอบ 100 ปี จัดโดยนิตยสาร Marie Claire หลายคนบอกเหตุผลว่า พิงค์ไม่เคยมีข่าวเสียหาย เธอร้องเล่นเต้นรำอย่างมีศิลปะในการแสดง เธอเข้าร่วมองค์กรพิทักษ์สัตว์ (PETA) เธอเป็นกระบอกเสียงของการแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกัน และโครงการเพื่อสิทธิเด็กอีกมากมาย แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดและสำคัญที่เห็นได้ผ่านเนื้อเพลงของพิงค์คือความสามารถที่ว่าเธอ “รับฟังอารมณ์ของผู้อื่น” ได้จากประสบการณ์ของตนเองต่างหาก ที่ทำให้เธอเป็นบุคคลที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อื่น และเธอก็ใช้สิ่งนั้นแต่งเพลงเพื่อให้กำลังใจผู้คนที่กำลังท้อถอย
เพลงของพิงค์จึงไม่ใช่แค่เพลงที่ฟังเอาเพราะอย่างเดียว แต่ยังเต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจ และข้ามขั้นกลายเป็น “เพลงผู้ช่วยชีวิต” ไปแล้ว
โน้ต: หากใครเคยฟังเพลง What’s Up ของ 4 Non Blondes จะสังเกตได้ว่าเนื้อเพลง F*ucking Perfect กับ What’s up มีความหมายคล้ายคลึงกันคือการให้กำลังใจผู้ที่ดิ้นรนเพื่อประสบความสำเร็จ สมกับที่ 4 Non Blondes เป็นศิลปินคนโปรดของพิงค์ เนื้อเพลงนี้กล่าวถึงคนอายุ 25 ปีที่ไม่ว่าจะพยายามเท่าไหร่ก็ไม่มีอะไรเป็นของตัวเอง พยายามก็แล้ว ภาวนาเท่าไหร่ก็ไม่ได้ผล แต่สุดท้ายก็ยังคงพยายามไปหาจุดมุ่งหมายให้จงได้
ที่มา
https://www.nolala.com/en/artist-in-spotlight/what-are-the-songs-of-pink-about-the-meaning-behind-the-lyrics-explained/
https://www.biography.com/musician/pink
https://pink.fandom.com/wiki/F**kin%27_Perfect
https://www.marieclaire.co.uk/news/most-inspirational-women-575925
https://bit.ly/31MWZZJ
เรื่อง: สวิณี แสงสิทธิชัย