13 ส.ค. 2563 | 17:10 น.
การแสดงท่าทีแข็งกร้าวและการชนะเลือกตั้งน่าสงสัย ทำให้เขาถูกสหภาพยุโรปแบนไปหลายปี ช่วงระยะเวลาหนึ่งประธานาธิบดีและเจ้าหน้าที่รัฐของเบลารุสไม่สามารถเข้าประเทศสมาชิกอียูได้ เขาจึงต้องพยายามฟื้นฟูภาพลักษณ์ หมั่นสร้างความสัมพันธ์กับประเทศอื่น ๆ ในทวีปยุโรป จนสุดท้ายเขาสามารถเดินทางไปเยือนประเทศอื่น ๆ ได้ แต่การอนุมัตินี้เป็นเพียงข้อตกลงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อไวรัสโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก ประธานาธิบดีลูคาเชนโกมองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ เขาไม่บังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์แบบที่หลายประเทศใช้กัน ไม่ยกเลิกการแข่งขันกีฬาแมตช์ใหญ่ ส่วนตัวเองก็พยายามสร้างความมั่นใจให้ชาวเบลารุสด้วยการออกไปทำกิจกรรมหลากหลาย อาทิ ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ เข้าประชุมครม. หลายครั้ง และไปเล่นไอซ์ฮ็อกกี้ ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ประธานาธิบดีลูคาเชนโกแถลงต่อชาวเบลารุสว่า ไวรัสโควิด-19 เป็นแค่การตื่นตระหนกเกินเหตุ พร้อมกับแนะนำให้ประชาชนหันมาดื่มว้อดก้าวันละ 50 มิลลิลิตร ควบคู่กับการไปอบซาวน่าบ่อย ๆ จะป้องกันการติดเชื้อไวรัสได้ ท่ามกลางเสียงด่าของประชาชน หลายคนคอมเมนต์ใต้ข่าวว่า “นี่เป็นคำแนะนำโง่เง่าที่สุดเท่าที่เคยได้ยินมา!” เพราะผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศมีมากกว่า 70,000 ราย มีคนเสียชีวิตแล้วกว่า 580 คน และการออกมาแสดงตัวว่าไม่ยี่หระกับไวรัสชี้ชัดว่าผู้นำประเทศขาดความรู้ความเข้าใจที่ทันสมัย [gallery columns="2" size="large" link="none" ids="25787,25788"] หลังแนะนำให้ประชาชนไปซาวน่าและดื่มว้อดก้า ประธานาธิบดีอ้างว่าตนติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ระหว่างไปเยี่ยมเยียนค่ายทหาร แต่ไม่แสดงอาการป่วยใด ๆ โดยแพทย์วินิจฉัยว่าเขาติดเชื้อและหายดีแล้ว (ไม่มีหลักฐานใด ๆ ยืนยันว่าเขาติดเชื้อไวรัสจริง ๆ) แถมยังบอกว่าชาวเบลารุสคนอื่น ๆ ก็ติดเชื้อด้วยกันทั้งนั้น เพื่อให้ตรงกับการกล่าวก่อนหน้านี้ว่าโควิด-19 คือสิ่งที่คนวิตกกังวลเกินเหตุไปเอง เรียกการระบาดของเชื้อไวรัสชนิดนี้ว่าเป็น “โรคจิตหมู่” (psychosis mass) พร้อมตำหนิต่างชาติที่พยายามเข้ามาแทรกแซงกิจภายในของเบลารุส ในแง่ของการเลือกตั้ง ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าการเลือกตั้งขาดความโปร่งใส ไร้ความยุติธรรม เต็มไปด้วยความไม่ชอบมาพากลตั้งนานแล้ว นับตั้งแต่ลูคาเชนโกชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 1995 เขานั่งอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีนานถึง 25 ปี แถมได้ดำรงตำแหน่งปีที่ 26 อีก ทั้งที่การทำงานของเขาก็ไม่ได้เลิศเลอหรือเป็นที่นิยมเท่าไหร่นัก ซ้ำยังสร้างชื่อเสียให้ตัวเองจากการออกมาแสดงความคิดเห็นเรื่องโควิด-19 เมื่อการเลือกตั้งประจำปี 2020 มาถึง ผู้คนตื่นตัวทางการเมืองมากกว่าปกติ หลายคนตั้งใจไปคูหากาตัวแทนที่ชื่นชอบ แต่ก่อนจะได้เลือกตั้งก็เกิดความตึงเครียดตั้งแต่ไม่เปิดคูหา เมื่อรัฐบาลออกหมายจับประชาชน นักขับเคลื่อนสังคม และนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามหลายคน เปิดศาลไต่สวนคนเห็นต่าง ที่กระพือกระแสเลือกตั้งให้ร้อนแรงยิ่งขึ้น มีนักการเมืองและคนมีชื่อเสียงหลายคนพยายามลงสมัครท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่พากันโดนจับก่อนได้เขียนใบสมัคร รวมถึง เซอร์เก ติกรานอฟสกายา (Sergei Tikhanovskaya) ยูทูเบอร์ชื่อดังที่โดนห้ามลงเลือกตั้งและถูกจับกุม จนทำให้ภรรยาวัย 37 ปี ต้องลงสนามการเมืองแทนสามีที่ถูกจองจำ อย่างไรก็ตาม นางติกรานอฟสกายาได้รับกำลังใจล้นหลามจากประชาชนที่แสดงเจตจำนงว่ายืนอยู่ฝั่งเดียวกัน ผู้คนหลายหมื่นรวมตัวกันเดินขบวนสนับสนุน รวมถึงภรรยาของผู้ลงสมัครประธานาธิบดีคนอื่น ๆ ที่โดนรัฐบาลจับกุม ก็ออกมาสนับสนุนนางติกรานอฟสกายา ส่งผลให้กลุ่มอำนาจเก่ารู้สึกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้อาจไม่เหมือนหลายครั้งที่ผ่านมา ส่วนทางฝั่งนางติกรานอฟสกายามองว่า สถานการณ์ครั้งนี้สุ่มเสี่ยงกว่าครั้งไหน ๆ เธอจึงตัดสินใจส่งลูกทั้งสองคนออกนอกประเทศก่อนวันเลือกตั้งจะมาถึง หลังผลเลือกตั้งเผยว่าประธานาธิบดีลูคาเชนโกเป็นผู้ชนะ สื่อในประเทศพากันไปสัมภาษณ์นางติกรานอฟสกายา ยิงคำถามแบบขวานผ่าซากว่า “คิดว่าลูคาเชนโกโกงเลือกตั้งหรือเปล่า?” หรือคำถามที่เบาขึ้นมาหน่อยอย่าง “คิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ยุติธรรมหรือไม่?” ซึ่งเธอได้กล่าวกับสื่อว่า “ฉันเชื่อสายตาของตัวเอง ฉันเห็นมาตลอดว่าประชาชนส่วนใหญ่อยู่ฝ่ายไหน” ทางด้านผู้ชนะเลือกตั้งก็ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า “ผมจะไม่ยอมทนต่อการข่มขู่หรือการยั่วยุใด ๆ” และทิ้งท้ายเพื่อให้บรรยากาศดีขึ้นว่าตนพร้อมเจรจากับฝ่ายค้าน รวมถึงประชาชนที่รวมกลุ่มต่อต้านรัฐบาล เพื่อยุติความขัดแย้งภายในประเทศ ประชาชนที่ไม่พอใจผลเลือกตั้งพากันออกมาชุมนุมใหญ่ เรียกร้องให้ตรวจสอบผลคะแนนอีกรอบ พวกเขาไม่เชื่อว่าประธานาธิบดีลูคาเชนโกชนะการเลือกตั้งอย่างสุจริต ส่วนนางติกรานอฟสกายาเดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อยื่นหนังสือร้องเรียน แต่ระหว่างกำลังยื่นคำร้อง เธอถูกเจ้าหน้าที่รัฐรวบตัวไว้หลายชั่วโมง โดยไม่มีใครรู้ว่าพวกเขาพูดอะไรกับเธอหรือทำอะไรบ้างระหว่างคุมตัว ในเวลาต่อมา รัฐบาลลงคลิปนางติกรานอฟสกายาออกมาแถลงการณ์ห้ามให้คนลงถนน เธอกล่าวว่า “ฉันไม่ต้องการที่จะเห็นเลือดและความรุนแรง ฉันไม่อยากให้พวกคุณออกไปชุมนุมหรือเผชิญหน้ากับตำรวจ ทั้งหมดก็เพื่อความปลอดภัยของทุกคนรวมถึงคนที่พวกคุณรัก” การแถลงดังกล่าวสร้างความงุนงงให้กับประชาชน ก่อนหน้านี้เธอก็มีท่าทีไม่เห็นด้วยกับผลเลือกตั้ง แถมยังไปร้องเรียนด้วยตัวเอง ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจนอกเหนือจากท่าทีที่เปลี่ยนไปคือ มีคนสังเกตเห็นว่านางติกรานอฟสกายาต้องก้มอ่านสคริปต์อยู่บ่อย ๆ ระหว่างเอ่ยห้ามไม่ให้คนออกมาชุมนุม จึงทำให้หลายคนเชื่อว่าเธอถูกขู่ให้พูดมากกว่าพูดด้วยความเต็มใจ หลังจากคลิปแถลงที่ก่อให้เกิดประเด็นสังคม นางติกรานอฟสกายาหายหน้าไปจากสื่อโซเชียลสองวันเต็ม ผู้คนต่างพากันเป็นห่วง ทวงถามว่าเธอหายตัวไปไหน จนวันที่ 11 สิงหาคม 2020 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศแห่งเบลารุสเผยว่า นางติกรานอฟสกายาเดินทางออกจากประเทศไปแล้ว โดยเธอได้รับวีซ่า 1 ปี เพื่อไปหาลูก ๆ ที่ลิทัวเนีย ส่วนประชาชนก็พากันออกมาชุมนุมกันมากขึ้นเรื่อย ๆ การชุมนุมไม่มีทีท่าเลิกราง่าย ๆ แถมยังดูรุนแรงกว่าหลายครั้งที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลตัดสินใจปิดกั้นการสื่อสารด้วยการระงับสัญญาณอินเทอร์เน็ตในหลายพื้นที่ คนในม็อบไม่สามารถส่งข้อความหากันได้จนเกิดสภาพสุญญากาศ ควบคู่กับการปิดปากสื่อไม่ให้เล่าข่าวชุมนุม ไม่มีใครแน่ใจว่าเกิดการข่มขู่กันหรือเปล่า แต่ผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง 2 คน อยู่ ๆ ประกาศลาออกจากตำแหน่งสายฟ้าแลบโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ต รัฐบาลเบลารุสส่งกำลังเข้าปราบปรามผู้ประท้วง รายงานว่าสามารถจับกุมผู้ประท้วงได้มากกว่าหนึ่งพันคน โดยไม่ได้เจาะจงถึงผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต จนกระทั่งกลุ่มสิทธิมนุษยชนในประเทศได้ออกมาแถลงแทนที่สิ่งรัฐบาลไม่ได้พูด ประกาศว่า ณ เวลานี้ มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย เนื่องจากถูกรถของเจ้าหน้าที่ทับศีรษะ และมีประชาชนอีกมากบาดเจ็บจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ สำนักข่าวต่างประเทศพากันลงรูปเหตุการณ์สลายการชุมนุม เผยภาพความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่เล็งปืนกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุม ภาพเจ้าหน้าที่ปาระเบิดแสงกับแก๊สน้ำตา ใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงยิงใส่ฝูงชน ภาพประชาชนถูกทุบตี เด็กผู้หญิงโดนเจ้าหน้าที่ลากถูลู่ถูกังไปกับพื้น รวมถึงภาพคนนอนเลือดอาบอยู่ข้างถนน นอกจากภาพความรุนแรง มีคนถ่ายคลิปวิดีโอรถตำรวจพุ่งชนผู้ชุมนุมแบบแทบไม่เหยียบเบรก นักข่าวจากสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าเห็นชายคนหนึ่งถูกโยนออกจากรถตำรวจที่แล่นอยู่ เมื่อวิ่งเข้าไปดูก็พบว่าเขาได้เสียชีวิตแล้ว นอกจากนี้ยังมีข่าวลือว่าเจ้าหน้าที่บางส่วนใช้กระสุนจริงกับผู้ชุมนุม แถมยังมีกรณีทีมข่าวหญิงคนหนึ่งของบีบีซีถูกเจ้าหน้าที่กระชากคอเสื้อ แย่งกล้องเพื่อทำลายคลิปบันทึกเหตุการณ์ พอทีมข่าวบีบีซีขัดขืนพวกเขาถูกตีด้วยกระบอง เรื่องเล่าหลายฝ่ายที่ไปในทิศทางเดียวกันสร้างความสะเทือนใจไปทั่วโลก จนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลเบลารุสไร้มนุษยธรรม เหตุการณ์รุนแรงทำให้ฝรั่งเศสออกมาแสดงความกังวล ส่วนทางด้านเยอรมนีเริ่มเรียกร้องให้สหภาพยุโรปคว่ำบาตรรัฐบาลเบลารุส โดยทางคณะรัฐมนตรีต่างประเทศอียูกล่าวกับสื่อว่าจะเร่งประชุมกันภายหลัง ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ไมเคิล ปอมเปโอ (Michael Pompeo) ที่กำลังเดินทางพบปะผู้นำหลายประเทศในทวีปยุโรป ออกมาประณามการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง เรียกร้องให้ประธานาธิบดีลูคาเชนโกรับผิดชอบต่อเหตุรุนแรงดังกล่าว เนื่องจากการชุมนุมครั้งนี้ดำเนินไปอย่างสันติแต่พวกเขากลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐทำเกินกว่าเหตุ หลังจากนี้การเมืองของเบลารุสอาจถูกจับตามองมากขึ้น คงต้องติดตามกันต่ออย่างใกล้ชิดว่ารัฐบาลจะสามารถแก้สถานการณ์และภาพลักษณ์ต่อประชาคมโลกอย่างไร เผด็จการคนสุดท้ายของยุโรปจะยังสามารถยืนหยัดอยู่ในอำนาจต่อได้เปล่า และประเด็นการโกงเลือกตั้งจะถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่ถูกต้องได้หรือไม่ ในเมื่อผู้ที่ได้รับผลประโยชน์คือกลุ่มที่ยังกุมอำนาจรัฐอยู่จนถึงปัจจุบัน ที่มา https://www.atlanticcouncil.org/blogs/ukrainealert/europes-last-dictator-the-rise-and-possible-fall-of-alexander-lukashenko/ https://www.theguardian.com/world/2020/aug/11/belarus-president-cuts-off-internet-amid-widespread-protests https://www.theguardian.com/world/2020/aug/10/belarus-opposition-candidate-rejects-election-result-protests-svetlana-tikhanovskaya-lukashenko https://www.theguardian.com/commentisfree/2020/aug/10/belarus-alexander-lukashenko-presidential-elections https://www.britannica.com/biography/Alexander-Lukashenko https://www.bbc.com/news/world-europe-53637365 เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์“เราจะหักคอพวกเขาให้เหมือนกับการหักคอเป็ด”