“ทำไมต้องดูหนังสั้นนักศึกษา” สัมภาษณ์ พีนัท - ณัฐณิชา เดชารัตน์ โปรดิวเซอร์เทศกาลมุ่งมั่นฉายหนังครั้งที่ 1

“ทำไมต้องดูหนังสั้นนักศึกษา” สัมภาษณ์ พีนัท - ณัฐณิชา เดชารัตน์ โปรดิวเซอร์เทศกาลมุ่งมั่นฉายหนังครั้งที่ 1

โปรดิวเซอร์เทศกาลมุ่งมั่นฉายหนังครั้งที่ 1

“เด็กฟิล์ม” เป็นคำเรียกเล่นๆ ของนักศึกษาที่กำลังเรียนหรือจบคณะ/สาขาเกี่ยวกับภาพยนตร์ในทุกมหาวิทยาลัย หนึ่งในนั้นคือ พีนัท - ณัฐณิชา เดชารัตน์ เด็กสาวจากคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร แกนนำกลุ่ม “มุ่งมั่น นำร่อง สังคม” ที่เกิดจากการรวมตัวของนักศึกษาภาพยนตร์จากหลากหลายสถาบัน หลังจัดงานปาร์ตี้มาแล้วถึง 4 ครั้ง ถึงเวลาแล้วที่พวกเขาจะก้าวกระโดดมาจัดงานสเกลใหญ่มากขึ้นกับ “เทศกาลมุ่งมั่นฉายหนังครั้งที่ 1” เทศกาลหนังสั้นจากเหล่านักทำหนังรุ่นใหม่กว่า 13 มหาวิทยาลัยที่มีความฝันเดียวกัน คืออยากฉายผลงานตัวเองในโรงภาพยนตร์ โดยงานนี้กำลังจะจัดขึ้น ณ โรงหนัง House RCA วันที่ 19-20 มกราคม เวลา 12.00-20.00 น. นี้ “เราอยากให้คนทั่วไปมาลองชมหนังสั้นนักศึกษาดูว่ามีอะไรบ้าง หนังสั้นเป็นอย่างไร และมีเรื่องราวอะไรที่น่าสนใจ” แล้วทำไมคนทั่วไปต้องดูหนังนักศึกษา? เราไปฟังความคิดเห็นจากนักศึกษาในฐานะโปรดิวเซอร์งานนี้กัน   “ทำไมต้องดูหนังสั้นนักศึกษา” สัมภาษณ์ พีนัท - ณัฐณิชา เดชารัตน์ โปรดิวเซอร์เทศกาลมุ่งมั่นฉายหนังครั้งที่ 1   The People: นักศึกษามาจัดงานเทศกาลขนาดใหญ่แบบนี้ได้อย่างไร เล่าให้ฟังหน่อย ณัฐณิชา: เรามาจากกลุ่ม มุ่งมั่น นำร่อง สังคม กลุ่มเด็กฟิล์มที่รวมตัวกันทำกิจกรรมเพื่อเด็กฟิล์ม โดยจัดมาแล้ว 3 ครั้ง เป็นงานปาร์ตี้สังสรรค์เพื่อพบปะพูดคุย แลกคอนเน็คชัน หรือเผยแพร่ผลงาน โดยรุ่นแรกเป็นงานปากต่อปากที่มีคนร่วมงาน 60-70 คน พอพี่ๆ รุ่นแรกเรียนจบไปทำงาน เราเสียดายว่างานนี้จะจบลง ก็เลยเข้ามาทำต่อค่ะ มาถึงรุ่นเรา เราอยากทำให้งานจริงจังมากขึ้น เริ่มมีการประชาสัมพันธ์จึงไปได้ไกลกว่าปากต่อปาก งานปาร์ตี้ครั้งที่ 4 จึงมีคนมางานกว่า 300 คน กลายเป็นคอมมูนิตีของเด็กฟิล์ม พอเห็นว่ามีคนร่วมงานจำนวนมาก เราก็อยากจัดเป็นเทศกาลฉายหนัง ก็เลยหาสปอนเซอร์สนันสนุนจนสามารถเช่าโรงภาพยนตร์ House RCA ได้ 2 วัน   The People: เป้าหมายของเทศกาลนี้คืออะไร ณัฐณิชา: อยากให้เป็นพื้นที่การเผยแพร่ผลงานของเด็กฟิล์มค่ะ ปกติเทศกาลหนังสั้นจะเป็นของมหาวิทยาลัยใดวิทยาลัยหนึ่ง แต่งานมุ่งมั่นฯ ตั้งใจเป็นเทศกาลที่นักศึกษาจัดเพื่อนักศึกษาจริงๆ ไม่ใช่มหาวิทยาลัยใดจัด มันจึงเป็นการรวมเด็กฟิล์มหลายๆ มหาวิทยาลัยมาร่วมกันจัดงาน ก่อนหน้านี้มีงานคล้ายๆ กันอยู่ แต่งานนั้นคัดเลือกรวมหนังสั้นที่ดีที่สุดจากมหาวิทยาลัยมาฉาย เราไม่อยากให้งานมุ่งมั่นฯ เป็นอารมณ์นั้น เราอยากให้งานมุ่งมั่นฯ เป็นพื้นที่ที่ใครก็มีสิทธิ์ฉาย เรานึกถึงประโยคของอาจารย์ อรรณพ ชินตะวัน (คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร) ที่พูดไว้ว่า “ไม่ว่าหนังจะดีหรือแย่แค่ไหน หนังทุกเรื่องควรได้ฉายหรือเผยแพร่เพื่อรับฟีดแบค” เราชอบประโยคนี้   The People: มีคนส่งหนังสั้นเข้าร่วมเทศกาลเยอะมาก แต่ด้วยระยะเวลาฉายมีจำกัด เราใช้เกณฑ์อะไรเลือกหนังฉายในเทศกาลนี้ ณัฐณิชา: ตอนแรกที่เปิดรับ ใครส่งอะไรมาเราก็อยากฉายทั้งหมด แต่ไม่มีเงินเช่าโรงหลายวัน (หัวเราะ) สรุปได้มา 114 เรื่อง แต่มี 40 เรื่องที่ได้ฉายใน 8 โปรแกรม เรื่องไหนตรงกับโปรแกรมไหนก็จะจัดมาไว้ในโปรแกรมนั้นๆ โดยเราจัดทีมคัดเลือกหนังจากเด็กฟิล์มหลายๆ มหาวิทยาลัยรวมตัวดูด้วยกัน ถกเถียงกันว่าเรื่องไหนน่าสนใจ เรื่องไหนเด็กฟิล์มควรดู เราพยายามเลือกให้หลากหลายมหาวิทยาลัยมากที่สุด ทั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ แม้กระทั่งมหาวิทยาลัยที่คนทั่วไปไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน ตอนนี้รวมได้มากสุด 13 มหาวิทยาลัยค่ะ   The People: หนังสั้นส่วนใหญ่เกิดจากการรวมตัวกัน ทำไมหนังสั้นดีๆ ไม่สามารถได้รับความสนใจด้วยตัวมันเอง ณัฐณิชา: มันไม่มีหนังสั้นเรื่องไหนได้ฉายในโรงภาพยนตร์ค่ะ มันก็เลยเข้าไม่ถึงคนทั่วไป หนังสั้นก็เลยต้องรวมตัวกันฉายตามสถานที่ต่างๆ ถ้าคนที่ไม่ได้สนใจภาพยนตร์หรือไม่ได้เรียนภาพยนตร์ก็ไม่สนใจ คนทั่วไปอยู่ดีๆ คงไม่เดินมาดูหนังสั้นหรอกค่ะ เขาไม่รู้ว่าหนังสั้นนักศึกษามีอะไรบ้าง มันก็เลยดูเหมือนลูกเมียน้อยในวงการ ทั้งๆ ที่หนังสั้นนักศึกษาบางเรื่องมีคอนเทนต์ที่มีคุณภาพดีมากๆ มันควรได้รับการเผยแพร่ออกไปให้คนดู เพื่อให้เกิดการถกเถียงหรือเกิดความรู้ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งจุดประสงค์ในการจัดงานนี้ เราต้องการผลักดันให้หนังสั้นได้ฉายในโรงภาพยนตร์ และเป็นเทศกาลที่ดึงดูดบุคคลทั่วไปให้มาดู   The People: ทำไมคนทั่วไปต้องดูหนังสั้นนักศึกษาด้วย ณัฐณิชา: คนทั่วไปอาจบอกว่าหนังไทยมีอยู่ไม่กี่แนว แต่จริงๆ แล้วในบ้านเรามีนักทำหนังที่ทำงานเล่าประเด็นหลากหลาย ซึ่งความคึกคักนี้ปรากฏอยู่ในวงการภาพยนตร์สั้น รวมไปถึงการเป็นสนามให้คนทำหนังได้ลองทำเรื่องที่ตนเองสนใจด้วยต้นทุนไม่สูงนัก หนังสั้นนักศึกษาจึงเป็นเหมือนพื้นที่ทดลองให้คนเรียนหนังได้ลองทำ ทั้งเรื่องที่อยากเล่า หรือเทคนิคที่ได้เรียนมา ไม่ได้บอกว่าหนังทุกเรื่องที่ทำออกมามันจะเป็นหนังดีหรือสนุก แต่มันเป็นหนังที่จริงใจและซื่อตรงต่อความเชื่อหรือประสบการณ์ของผู้กำกับที่ต้องการจะเล่าเรื่องที่ตัวเองเชื่อ ณ เวลานั้น เป็นผลลัพธ์ของการลงมือทำหรือทดลอง เพื่อรับฟีดแบคจากผู้ชมสำหรับพัฒนาแนวทางการเล่าเรื่องใหม่ๆ ในวงการภาพยนตร์ หนังสั้นหลายเรื่องมีความอิสระ กล้าที่จะเล่ามากกว่าหนังยาวในโรงภาพยนตร์ เพราะไม่ถูกจับตามองจากอะไรหลายๆ อย่างมาก ดังนั้นในวงการหนังสั้นนักศึกษาจึงมีหนังที่มีความกล้าในการเล่าเรื่องที่ตัวเองเชื่อ มีหนังประเด็นสุ่มเสี่ยง หรือมีประเด็นหนักๆ จากหลากหลายผู้กำกับรุ่นใหม่ที่ผลัดเปลี่ยนกันปล่อยของอยู่ตลอดเวลา ใครอยากรับชมหนังที่มีเนื้อหาหลากหลาย ก็อยากชวนให้มารับชมภาพยนตร์ฝีมือนักศึกษา ซึ่งปัจจุบันกระบวนการถ่ายทำหรือเทคนิคภาพไม่ได้ด้อยกว่าหนังยาวในอุตสาหกรรมใหญ่เลย   The People: แต่เรามักได้ยินว่า “คนไทยไม่ดูหนังไทย” นะ ณัฐณิชา: เพราะหนังไทยไม่ได้ฉายในโรงที่คนทั่วไปเข้าถึงได้ ซึ่งเป็นเรื่องระบบอุตสาหกรรมบ้านเราที่ไม่ค่อยสนับสนุนมากกว่า จริงๆ แล้วหนังไทยมีความหลากหลายมากนะคะ แต่มันถูกจำกัดในโรงพื้นที่เสียส่วนใหญ่ หรือเป็นโปรแกรมเล็กๆ ที่ยืนโรงไม่นาน มันเป็นปัญหาในเรื่องระบบ เท่าที่สังเกตรอบตัวเราเองก็ยังดูหนังไทยกันเยอะอยู่   The People: หนังสั้นฉายที่ไหนก็ได้ แต่ทำไมเราถึงอยากฉายในโรงภาพยนตร์ ณัฐณิชา: ความเป็นเด็กฟิล์ม เราก็อยากเห็นผลงานตัวเองหรือหนังสั้นนักศึกษาฉายบนจอใหญ่ ถ้าดูในคอมฯ หรือฉายโปรเจกเตอร์จอเล็กๆ มันฉายที่ไหนก็ได้ แต่ไหนๆ เราจัดทำเป็นเทศกาลแล้ว เราก็อยากทำให้สุดบนจอภาพยนตร์ไปเลย เราไม่อยากพูดว่าโรงหนังเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์อะไรขนาดนั้น แต่การดูหนังในโรงมันให้ความรู้สึกมากกว่าการดูหนังในจอเล็กๆ อีกอย่างมันเป็นการเติมเต็มการทำงานของเด็กฟิล์มหรือคนทำหนังเรื่องนั้นๆ ด้วยค่ะ   “ทำไมต้องดูหนังสั้นนักศึกษา” สัมภาษณ์ พีนัท - ณัฐณิชา เดชารัตน์ โปรดิวเซอร์เทศกาลมุ่งมั่นฉายหนังครั้งที่ 1   The People: ปัจจุบันวงการหนังไทยซบเซามาก ในฐานะนักศึกษาทำไมถึงยังอยากเรียนฟิล์มกันอยู่ ณัฐณิชา: ถ้านับแค่วงการหนังยาวมันไม่มีพื้นที่มากมายขนาดนั้นจริง แต่เดี๋ยวนี้เด็กจบฟิล์มทำงานได้หลากหลาย “ภาพยนตร์” ไม่ใช่แค่หนังในโรงอย่างเดียว เป็นหนังสั้นก็ได้ หนังโฆษณาก็ได้ ทำวิดีโอคอนเทนต์ก็ได้ ทุกอย่างเป็นมีเดียไปหมดแล้ว การเรียนฟิล์มคือเรียนการเล่าเรื่องด้วยภาพองค์ใหญ่ แล้วนำไปปรับให้เข้าแพลตฟอร์มต่างๆ เราคิดว่ายังมีคนสนใจเรียนฟิล์มอยู่เพราะการเล่าเรื่องด้วยภาพเป็นองค์ประกอบใหญ่ในการทำสื่อและคอนเทนต์ค่ะ   The People: ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนามากขึ้น จริงไหมที่เดี๋ยวนี้ “ใครๆ ก็ทำหนังได้” ณัฐณิชา: ใครๆ ก็ทำหนังได้ แต่ว่าไม่ใช่ใครๆ ก็ทำหนังประสบความสำเร็จเป็น เราเห็นด้วยนะ ด้วยเทคโนโลยีสมัยนี้ ใครมีมือถือหรือกล้องก็สามารถทำหนังได้แล้ว ไม่เหมือนสมัยก่อนที่ต้องใช้ฟิล์มซึ่งมีค่าใช้จ่ายมากค่ะ พอใครๆ ก็ทำหนังได้ มันเปิดโอกาสให้คนได้เล่าเรื่องตัวเอง เราจึงมีหนังหลากหลายรูปแบบมากขึ้น เช่น คนที่ไม่เคยเรียนฟิล์มหรือน้องๆ มัธยมฯ มาทำหนัง ก็จะได้รูปแบบหนังที่เราไม่คาดคิดมาก่อน การที่ “ใครๆ ก็ทำหนังได้” ทำให้เกิดหนังรูปแบบใหม่ออกมา เป็นพื้นที่อิสระให้เราได้เล่าเรื่อง เพราะทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเล่าเรื่องของตัวเอง ส่วนใครอยากทำจริงจังก็สามารถเรียนต่อในมหาวิทยาลัยหรือตามสถาบันสอนภาพยนตร์ คุณก็จะได้ความรู้มาช่วยซัพพอร์ตในการทำงานมากขึ้นค่ะ   The People: ถ้าเปรียบการจัดงานนี้เป็นหนังสักเรื่องหนึ่ง คุณว่าการทำงานครั้งนี้หมือนหนังเรื่องอะไร ณัฐณิชา: เหมือนหนัง Gangster + Coming of Age เพราะทีมงานเป็นแก๊งเป็นกลุ่มที่สนิทกันและทำงานด้วยกัน มีตบตี มีเล่นหยอกกัน วุ่นวายมาก แต่พอถึงเวลาทำงานทุกคนก็ตั้งใจและจริงจัง นับตั้งแต่วันที่เป็นไอเดียคิดกันเล่นๆ จนถึงตอนนี้ที่กำลังเป็นเทศกาลฉายหนังจริงๆ มันมาไกลจนเราแอบตกใจเหมือนกัน ถ้าการทำงานเป็นหนังสักเรื่อง ก็คงเป็นหนังที่ดูแล้วเหนื่อยมากแต่ก็สนุกมาก และแน่นอนว่าต้องมีภาคต่อค่ะ (หัวเราะ)   “ทำไมต้องดูหนังสั้นนักศึกษา” สัมภาษณ์ พีนัท - ณัฐณิชา เดชารัตน์ โปรดิวเซอร์เทศกาลมุ่งมั่นฉายหนังครั้งที่ 1

“หนังสั้นหลายเรื่องมีความอิสระ กล้าที่จะเล่ามากกว่าหนังยาวในโรงภาพยนตร์ เพราะไม่ถูกจับตามองจากอะไรหลายๆ อย่างมาก ดังนั้นในวงการหนังสั้นนักศึกษาจึงมีหนังที่มีความกล้าในการเล่าเรื่องที่ตัวเองเชื่อ มีหนังประเด็นสุ่มเสี่ยง หรือมีประเด็นหนักๆ จากหลากหลายผู้กำกับรุ่นใหม่ที่ผลัดเปลี่ยนกันปล่อยของอยู่ตลอดเวลา” พีนัท - ณัฐณิชา เดชารัตน์ โปรดิวเซอร์เทศกาลมุ่งมั่นฉายหนังครั้งที่ 1