เซโนฟอน: นักปรัชญาชาวกรีกผู้ริเริ่มแนวคิด ‘เศรษฐกิจครัวเรือน’
เซโนฟอน (Xenophon) ถือเป็นนักปราชญ์ชาวกรีกคนสำคัญของโลกเศรษฐศาสตร์และการเมือง นานกว่าสองพันปีที่เขาได้ทิ้งแนวคิดอันยิ่งใหญ่ไว้ให้คนรุ่นหลัง ด้วยการเขียนหนังสือที่อธิบายถึงความสำคัญของการจัดการค่าใช้จ่ายของแต่ละครัวเรือน จนกลายเป็นต้นตำรับระดับคลาสสิกของแนวคิด ‘เศรษฐกิจครัวเรือน’ หรือ ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ในโลกตะวันตก
ปัญหาเรื่องการเมืองการปกครองถูกพูดถึงตั้งแต่ยังไม่มีการกำเนิดของพระเยซู เหล่าชนชั้นปกครองต้องหาวิธีบริหารบ้านเมืองให้อยู่ในครรลองคลองธรรม โดยเงื่อนไขสำคัญที่เห็นได้ง่าย ๆ ว่าจะนำพาความสงบสุขมาสู่สังคมคือ ชุมชนต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีชีวิตเรียบง่าย ส่งผลให้สังคมเต็มไปด้วยศีลธรรม ควบคู่กับการคานอำนาจทางธุรกิจ เพื่อไม่ให้ใครมีผลประโยชน์มากหรือน้อยเกินไป เพราะหากไม่มีสมดุล ก็อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งตามมาภายหลัง
มีการสันนิษฐานว่า เซโนฟอนเกิดในช่วงปี 430-450 ก่อนคริสตกาล เขาเป็นทหารรับจ้างและนักปรัชญาในกรุงเอเธนส์ คอยมองการใช้ชีวิตของแต่ละครอบครัว สังเกตความเป็นไปของชาวกรีกคนอื่น ๆ จนก่อให้เขาเกิดความสงสัยประเด็นการเมืองการปกครอง โดยเฉพาะกับเรื่องเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญต่อการสร้างความสงบสุขและการปกครองที่มีเสถียรภาพ
เซโนฟอนเขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า ‘Oeconomicus’ เล่ามุมมองทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความสัมพันธ์ ผ่านตัวละครคู่สามีภรรยาที่คุยกันเรื่องการจัดการทรัพย์สิน เขาเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่า ‘สิ่งไหนถึงจะเรียกว่าเป็นทรัพย์สิน ?’ จากนั้นพยายามค้นหาคำตอบเพื่อจัดการสิ่งที่ตัวเองมี เซโนฟอนคิดว่าทรัพย์สินที่ไม่จำเป็นต่อชีวิต สิ่งของในครอบครองที่เราไม่รู้วิธีใช้ ไม่มีความชำนาญ หรือไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ย่อมไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีค่า ให้จัดการขายมันทิ้งเสีย เปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นให้กลายเป็นเงินเพื่อนำมาลงทุนต่อภายหลัง เพราะต้นทุนคือส่วนสำคัญของการนำไปสู่ความมั่นคง
ปัญหาต่อมาที่ต้องมานั่งขบคิดคือเรื่อง ‘การขาย’ คงน่าเศร้าพอดูหากเรามีทรัพย์สินที่ไม่รู้วิธีใช้ให้เกิดประโยชน์แถมยังไม่รู้วิธีขายอีก การประเมินค่าจึงเป็นสิ่งจำเป็น ผู้คนควรมีความรู้เรื่องการขาย และรู้จักเลือกทรัพย์สินที่จะขาย เมื่อได้เงินมาแล้วต้องรู้จักวิธีใช้เงิน และควรเก็บเงินให้ห่างจากคนที่ใช้เงินไม่เป็น
นอกจากนี้ งานเขียนของเซโนฟอนยังเสนอมุมน่าสนใจว่า แม้มีข้าวของเครื่องใช้ราคาแพง มีเงินทองจำนวนมากแสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่ง หากสิ่งเหล่านั้นไม่ให้คุณค่าแก่ผู้ถือครอง มันก็ไม่ใช่สิ่งที่บ่งบอกฐานะหรือสถานภาพทางเศรษฐกิจของผู้เป็นเจ้าของเสมอไป เพราะถึงมีอยู่ก็ไม่ได้ทำให้ผู้ครอบครองมั่นคงได้จริง ๆ
อีกสิ่งที่น่าสนใจคือ เซโนฟอนได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับผู้มีที่ดินเอาไว้ด้วยว่า หากมีที่ดินเปล่าจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ สักวันหนึ่งที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินของตัวเองอาจสร้างปัญหาภายหลัง ดังนั้น จึงต้องหาประโยชน์จากการใช้สิ่งที่มี เปลี่ยนพื้นที่รกร้างหรือโล่งเตียนมาสร้างอาชีพด้วยผลผลิตทางเกษตรและการทำปศุสัตว์ ยิ่งทำมากก็ได้ผลตอบแทนมาก ทำน้อยก็ได้ผลตามที่ลงแรง ซึ่งเป็นสัจธรรมที่ยุติธรรม
การใช้ประโยชน์จากที่ดินสามารถสร้างรายได้และเสรีภาพไปพร้อมกัน การได้เป็นนายของตัวเองภายใต้พื้นที่ของตัวเอง ส่งเสริมให้เกิดการใช้ความคิดมากขึ้น ครอบครัวต้องตระหนักถึงค่าใช้จ่าย แถมยังรู้สึกถึงอิสระในขอบเขตที่พอดี เพราะไม่ต้องถูกใครชี้นิ้วสั่ง เซโนฟอนมักชื่นชมอาชีพชาวสวนผ่านงานเขียนอยู่บ่อยครั้งว่า อาชีพที่ดีที่สุดสำหรับผู้ชายคือการเป็นเกษตรกรและทำปศุสัตว์
เมื่อผู้มีที่ดินสามารถสร้างประโยชน์บนแผ่นดินตัวเองเพียงพอต่อความต้องการของครอบครัว เขายังสามารถนำผลผลิตที่เหลือออกขายให้ผู้อื่น เปลี่ยนของเหล่านั้นให้เป็นเงิน เพื่อนำเงินมาลงทุนต่อยอดต่อไม่รู้จบ ส่วนชุมชนจะมีสินค้าเพิ่มขึ้น เกิดการหมุนเวียน เศรษฐกิจของทุก ๆ ครัวเรือนพึ่งพากันและกัน แต่ต้องพึงระวังเรื่องการผลิตซ้ำของสินค้าชนิดเดียวกัน ที่ทำให้ราคาซื้อ-ขาย ในตลาดลดลง ที่ดินของหนึ่งครอบครัวจึงควรทำหลายอย่าง แถมเซโนฟอนยังย้ำเตือนถึงความหมายของความมั่งคั่งว่าไม่ใช่การครอบครอง แต่เป็นการหาประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ต่างหาก จึงจะนำความมั่งคั่งแท้จริงมาให้
สาเหตุที่เซโนฟอนให้ความสำคัญกับการจัดการเงิน สิ่งของ การทำงาน เพราะครอบครัวคือพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ทุกคนมีส่วนช่วยสร้างหรือทำลาย ยิ่งไปกว่านั้น เขามองว่านักเศรษฐศาสตร์ที่ดีต้องเริ่มจากความสำเร็จในการจัดการเรื่องบ้าน ทรัพย์สิน ที่ดินเป็นของตัวเองก่อนจึงจะสอนคนอื่นได้ และดียิ่งขึ้นไปอีกหากนักเศรษฐศาสตร์เหล่านั้นมีภรรยาดีที่คอยเป็นคู่คิดให้พวกเขา
แม้นักประวัติศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์หลายคนลงความเห็นว่า ผลงานของเซโนฟอนเป็นเพียงแค่เศรษฐศาสตร์จุลภาค ศึกษาพฤติกรรมทางเศรษฐกิจแบบหน่วยเล็ก เจาะลึกถึงค่าใช้จ่ายและการจัดการทรัพย์สินครัวเรือน แต่ต้องอย่าลืมว่าหนึ่งครอบครัวก็นับเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นหนึ่งรากฐานที่รวมกันจำนวนมากแล้วก่อให้เกิดการค้าภายในรัฐหรือประเทศ การใส่ใจถึงความมั่นคงเข้มแข็งแต่ละครัวเรือน จึงสำคัญต่อเศรษฐกิจระดับมหภาคด้วยเช่นกัน
เซโนฟอนเป็นนักคิดที่ทำความรู้จักตัวเอง จากนั้นเชื่อมโยงตัวตนไปสู่การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ขยายระดับจากชุมชนสู่รัฐ พร้อมกับเขียนทฤษฎีของตัวเองเอาไว้ แม้แนวคิดของเซโนฟอนอาจไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือไม่สามารถเปลี่ยนสังคมให้กลายเป็นชุมชนในอุดมคติได้ทันที แต่การตกผลึกทางความคิดของเขาสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังระดับโลกหลายต่อหลายคนภายหลัง
ที่มา
http://aristocratsofthesoul.com/xenophon-on-home-economics/
https://www.britannica.com/biography/Xenophon/Legacy
https://www.marketplace.org/2018/05/25/why-economic-exploitation-athens-matters-todays-study-economics/
https://www.hetwebsite.net/het/profiles/xenophon.htm
เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์