ย้อนไปเมื่อ 200 กว่าปีก่อน การรักเพศเดียวกันในอังกฤษเป็นเรื่องผิดกฎหมาย และนั่นทำให้ วิลเลียม จอห์น แบงคส์ ที่แม้จะสร้างคุณูปการในแวดวงอียิปต์ศึกษาขนาดไหน ก็ต้องพาตัวเองออกจากบ้านเกิดเพื่อความปลอดภัย เหตุเพราะเขาเป็น “เกย์”
หนึ่งในความรุ่งเรืองของอารยธรรมอียิปต์โบราณคือ อักษรภาพเฮียโรกลิฟฟิก (Hieroglyphic) ซึ่งการศึกษาเกี่ยวกับอารยธรรมอียิปต์โบราณนั้นมีมานานแล้ว อย่างน้อยตั้งแต่ศตวรรษที่สิบแปด โดยอาศัย “คู่มือ” ถอดอักขระเหล่านี้ในรูปของศิลาโรเซตตา (Rosetta Stone) ซึ่งจารึกประโยคหนึ่งประโยคด้วยอักขระสามแบบไว้เป็นตัวอย่างตั้งแต่สมัยโรมันโบราณ
หลาย ๆ คนจะรู้จัก ฌ็องฟร็องซัวส์ ช็องโปลิยง (Jean-François Champollion) และโทมัส ยัง (Thomas Young) ในฐานะนักวิชาการสองคนที่ใช้ศิลานี้เบิกทางสาขาอียิปต์วิทยา แต่ไม่นานมานี้ พิพิธภัณฑ์บริเตน (British Museum) เพิ่งเสนอว่า น่าจะมีนักวิชาการและนักสำรวจอีกคนที่ร่วมไขรหัสด้วย เขาคือ วิลเลียม จอห์น แบงคส์ (William John Bankes) ซึ่งน่าจะเป็นคนตั้งข้อสังเกตว่า สามประโยคที่เห็นบนศิลาโรเซตตานั้นน่าจะมีใจความเดียวกัน แต่แม้แบงคส์จะมีความสำคัญในการศึกษาโลกอียิปต์โบราณแค่ไหน เขาก็ไม่อาจอยู่ในประเทศบ้านเกิดของตนเองได้ เพียงเพราะเขามีเพศวิถีที่ไม่เป็นที่ยอมรับ
[caption id="attachment_26082" align="aligncenter" width="640"]
ศิลาโรเซตตาที่พิพิธภัณฑ์บริเตน (ภาพจาก www.standard.co.uk)[/caption]
แบงคส์เกิดใน ค.ศ. 1786 ที่เมืองดอร์เซ็ท ในคฤหาสน์ใหญ่ชื่อ คิงสตัน เลซี ความร่ำรวยของครอบครัวทำให้เขาได้มีโอกาสตอบสนองความชื่นชอบงานศิลปะเก่าแก่ แบงคส์เป็นที่รู้จักในหมู่เพื่อนฝูงว่าชื่นชอบความสวยงามหรูหราอลังการ เขาเคยเดินทางไปยังฟอนท์ฮิลล์ แอบบี คฤหาสน์ในฝันของลูกเศรษฐีค้าน้ำตาล (และทาส) อย่าง วิลเลียม เบคฟอร์ด (William Beckford) แม้คฤหาสน์ฟอนท์ฮิลล์ แอบบี จะสร้างไม่เสร็จ แต่ก็ดูจะเป็นแรงบันดาลใจให้แบงคส์สะสมงานศิลปะและดัดแปลงคฤหาสน์ของตนเอง เมื่อเกิดสงครามคาบสมุทรระหว่างจักรวรรดิฝรั่งเศสกับประเทศบนคาบสมุทรไอบีเรีย (Iberia) อันได้แก่สเปนและโปรตุเกส โดยมีกองทัพอังกฤษสนับสนุนนั้น แบงคส์ได้ใช้โอกาสนี้ซื้อภาพเขียนล้ำค่าจากศิลปินดังในสเปนจำนวนมาก จนนำไปแต่งห้องใหม่ที่คฤหาสน์ประจำตระกูลได้ ห้องนั้นมีชื่อเรียกว่าห้องสเปน (Spanish Room)
[caption id="attachment_26085" align="aligncenter" width="1240"]
ห้องสเปนภายในคิงสตัน เลซี[/caption]
ด้วยนิสัยชอบผจญภัยและคิดแผนการแผลง ๆ ทำให้ ลอร์ด ไบรอน (Lord Byron) กวีชื่อดังและเพื่อนร่วมสำนักทรินิตี มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ของแบงคส์ ตั้งชื่อให้เขาว่า “เจ้าพ่อจอมป่วน” (Father of all Mischief)
เนื่องจากชีวิตของชนชั้น “ผู้ดี” ในอังกฤษต้นศตวรรษที่สิบเก้า เน้นการเดินทางไปยังยุโรปหลังสำเร็จการศึกษา ตามที่เรียกกันในสมัยนั้นว่า แกรนด์ ทัวร์ แบงคส์ก็ออกเดินทางเที่ยวยุโรปเช่นกัน การเดินทางไปยังสเปนและโปรตุเกส ณ ช่วงเวลาสงครามคาบสมุทร ทำให้เขาได้พบกับนักเดินทางชื่อดังชาวสวิสนาม เจ. แอล. บัคฮาร์ดท์ (J. L. Buckhardt) โดยบังเอิญ บัคฮาดท์ได้ทำให้แบงคส์สนใจการสำรวจทางโบราณคดีอย่างจริงจัง เขาจึงได้เดินทางไปสำรวจอียิปต์และบริเวณใกล้เคียงร่วมกับนักโบราณคดีผู้มีชื่อเสียงในช่วง ค.ศ. 1815-1819 และกลายเป็นผู้ช่วยอ่านศิลาโรเซตตา
แบงคส์ได้เดินทางบุกเบิกเส้นทางใหม่สองครั้ง เขาเดินทางไปถึงแก่งน้ำตกที่สองของแม่น้ำไนล์ (ปัจจุบันอยู่ในประเทศซูดาน) แบงคส์นำเอาโอเบลิสค์จากวิหารแห่งฟีไล และโบราณวัตถุจำนวนมากจากเดียร์ เอล เมดินา หมู่บ้านช่างศิลป์อียิปต์โบราณ กลับมายังคฤหาสน์ของเขา โบราณวัตถุอันมากมายเหล่านั้นยังคงจัดแสดงอยู่ที่คิงสตัน เลซี อาทิ ประติมากรรมสำริดรูปแมว ประติมากรรมรูปแมลงสการับ โลงศพหินของอาเมเนโมป (Amenemope) หัวหน้านักบวชแห่งเทพอามุน และแผ่นจารึกบนหลุมศพ 25 แผ่น ปัจจุบันนี้ คิงสตัน เลซี ถือเป็นสถานที่ของเอกชนที่มีโบราณวัตถุจากอียิปต์มากที่สุดในอังกฤษ บันทึกการเดินทางของเขาส่งผลต่อการศึกษาโบราณคดีด้านอียิปต์วิทยาในเวลาต่อมา
โอเบลิสค์จากวิหารแห่งฟีไล (ภาพจาก www.dorsetlife.co.uk)
หลังกลับจากอียิปต์พักใหญ่ เขาได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประจำแคว้นดอร์เซ็ท ใน ค.ศ. 1832 ต่อจากพ่อของเขา แต่หลังจากดำรงตำแหน่งได้ไม่นาน เขาถูกจับข้อหากระทำอนาจารกับทหารคนหนึ่งที่โถปัสสาวะสาธารณะ บริเวณด้านนอกรัฐสภา เขาพ้นผิดเพราะได้รับความช่วยเหลือจากดยุคแห่งเวลลิงตัน (Duke of Wellington) นายกรัฐมนตรี และมิตรสหายที่มีอิทธิพลหลายคน
เหตุฉาวดังกล่าวทำให้แบงคส์ต้องหลบลี้หนีหน้าจากผู้คนกลับไปอยู่ที่คฤหาสน์ของเขา โอกาสนี้ เขาได้จัดการตบแต่งคฤหาสน์ให้ใหญ่โตอลังการเพิ่มเติม และได้ขอให้สถาปนิกชื่อ ชาร์ลส์ แบร์รี (Charles Barry) ช่วยเปลี่ยนสภาพคฤหาสน์จากอาคารก่ออิฐแดง เป็นตำหนัก (palazzo) สไตล์เรเนสซองส์แบบเวนิซ คลุมด้วยหินปูนชื่อดังที่เรียกว่าหินชิลมาร์ค เขายังคงสรรหาศิลปวัตถุจากหลายประเทศมาประดับตกแต่งไว้ในคฤหาสน์ของเขา
คฤหาสน์คิงสตัน เลซี (ภาพจาก www.visit-dorset.com)
ใน ค.ศ. 1841 เขาถูกจับอีกครั้งด้วยข้อหาคล้ายกัน นั่นคือกระทำอนาจารกับหทารยามในกรีน พาร์ค ซึ่งเป็นสวนสาธารณะใหญ่ ถัดจากพระราชวังบัคกิงเงิม แม้ครั้งนี้เขาจะไม่ต้องรับความผิดเหมือนคราวที่แล้ว เพราะเขาตัดสินใจเนรเทศตัวเองไปอยู่อิตาลี แต่ก็ยังติดต่อกับ จอร์จ น้องชายของเขาอยู่เสมอ ๆ เพื่อนำศิลปวัตถุกลับไปตกแต่งที่คฤหาสน์เพิ่มเติม แม้จะไม่ได้มีโอกาสกลับไปชื่นชมก็ตาม อย่างไรเสีย ดูเหมือนว่าเขาจะหาทางกลับมายังคฤหาสน์เป็นครั้งสุดท้ายอย่างลับ ๆ ใน ค.ศ. 1854 ก่อนจะเสียชีวิต ใน ค.ศ. 1855
ใน ค.ศ. 2017 สหราชอาณาจักรเฉลิมฉลองครบรอบห้าสิบปีพระราชบัญญัติคดีอาญาทางเพศ (Sexual Offences Act) ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ทางเพศแบบรักเพศเดียวกันนั้นถูกกฎหมาย กลุ่มแนชนอล ทรัสต์ (National Trust) ซึ่งดูแลโบราณสถานในสหราชอาณาจักร ได้จัดนิทรรศการเกี่ยวกับบุคคลในประวัติศาสตร์ ซึ่งแสดงตนว่ามีเพศสถานะและเพศวิถีแตกต่างจากขนบทั่วสหราชอาณาจักร ที่คฤหาสน์คิงสตัน เลซี
เรื่องราวของ วิลเลียม จอห์น แบงคส์ ได้รับการบอกเล่าอีกครั้งในนิทรรศการ เริ่มด้วยเชือก 51 เส้น ซึ่งแขวนอยู่ ณ ห้องโถงทางเข้าคฤหาสน์ เชือกทั้ง 51 เส้นนี้แทนจำนวนคนที่ถูกแขวนคอในสหราชอาณาจักร เพราะต้องโทษคดีกระทำชำเราแบบวิตถาร ณ ช่วงเวลาที่แบงคส์ยังมีชีวิตอยู่ ในส่วนอื่น ๆ ของนิทรรศการ มีพระราชบัญญัติการกระทำชำเราแบบวิตถาร (Buggery) ฉบับ ค.ศ. 1533 จัดแสดงอยู่คู่กับพระราชบัญญัติคดีอาญาทางเพศ และพระราชบัญญัติคู่ชีวิต (Civil Partnership) ค.ศ. 2004 ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของหน้าประวัติศาสตร์ของกลุ่มบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ
เชือก 51 เส้น จัดแสดงที่คฤหาสน์คิงสตันเลซี (ภาพจาก www.theguardian.com)
ณ ห้องสเปนที่คฤหาสน์คิงสตัน เลซี นิทรรศการนี้ได้ฉายภาพยนตร์เกี่ยวกับผู้คนที่ต้องเดินทางหนีออกจากบ้านเกิด เพียงเพราะเพศสถานะและเพศวิถีของตนไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมนั้น ๆ ไม่รู้เหมือนกันว่า “เจ้าพ่อจอมป่วน” จะดีใจแค่ไหนที่ได้เห็นนิทรรศการนี้ที่คฤหาสน์ตนเอง
เรื่อง: มิ่ง ปัญหา