พจมาน นางเอกตลอดกาลแห่งบ้านทรายทอง: ใครว่าเธอไม่สู้คน?
“ดิฉันไม่ชอบให้ใครมาเหยียดหยามมารดาของดิฉัน บ้านทรายทองถือดีว่าเป็นพวกผู้ดีมีสกุลกันทุก ๆ คน แต่ดิฉันไม่เข้าใจว่า เหตุใดพวกที่เรียกตัวเองว่าผู้ดี จึงดูหมิ่นคนได้ง่าย ๆ คุณแม่ของดิฉันไม่เคยทำความเดือดร้อนให้ใคร”
“ถูกละ ดิฉันเป็นลูกของคุณพนา พินิตนันทน์ เป็นนามสกุลของดิฉัน ดิฉันเป็นหลานของคุณปู่สุรพล แม้ว่าเลือดของดิฉันไม่เข้มเหมือนเลือดสีน้ำเงินของพวกสว่างวงศ์ แต่พินิตนันทน์ของดิฉันก็ไม่ได้ต่ำกว่าใคร เคยแต่ทำคุณงามความดี ไม่เคยมีชื่อว่าเบียดเบียนและทารุณใคร ๆ”
คำพูดทั้งสองประโยคนี้เป็นสิ่งที่คุ้นหูมาก ๆ สำหรับแฟน ๆ “บ้านทรายทอง” ไม่ว่าจะเป็นทั้งในเวอร์ชั่นละครหรือภาพยนตร์ในหลายยุคหลายสมัย เพราะมันหล่นออกมาจากปากของตัวละครอย่าง “พจมาน พินิตนันทน์” และมันยังเป็นฉากที่หลาย ๆ คนต้องตบเข่าฉาดด้วยความสะใจ เพราะมันคือการตอบโต้พวก “สว่างวงศ์” ตัวร้ายตามแบบฉบับของละครและวรรณกรรมไทยยุคหนึ่ง
แวบแรกที่เราจะนึกถึงตัวละคร พจมาน พินิตนันทน์ ก็คือการเป็นหญิงบ้านนอก ผูกเปียสองข้าง ถือชะลอมยืนอยู่หน้าคฤหาสน์หลังโตที่ในวันหนึ่งเธอจะได้เป็นเจ้าของ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ภาพดังว่าได้ลดทอนความหยิ่งทระนงในศักดิ์ศรีของพจมานลงไปไม่น้อย พจมานกลายเป็นเด็กสาวบ้านนอกที่ใสซื่อ ตอบโต้เท่าที่จำเป็น และอดทนอดกลั้นต่อการถูกข่มเหงจากพวกสว่างวงศ์ (จะบอกว่าไม่มีเลยก็ไม่ได้ มีอยู่ แต่ไม่มากเท่าในตัวนวนิยาย)
อีกประการ สิ่งที่ทำให้พจมานถูกจำว่าเป็นเด็กบ้านนอกที่ใสซื่อ ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรเลยนั้น เกิดจากการที่โครงเรื่องและตัวละครของบ้านทรายทองถูกผลิตซ้ำอยู่บ่อยครั้งในสื่อหลายชนิด เป็นทั้งการผลิตซ้ำตัวเรื่อง โครงเรื่อง หรือเป็นการล้อเลียนเอาโครงเรื่อง ตัวเรื่อง ตัวละครและลักษณะของตัวละครบางตัวไปตีความใหม่
แต่ไม่ว่าบ้านทรายทองและพจมาน พินิตนันท์ จะถูกตีความใหม่อย่างไรก็ตาม มันได้เป็นประจักษ์พยานให้เห็นถึงความสำเร็จของนวนิยายเรื่องนี้ที่ยังคงอยู่ในกระแสของวัฒนธรรมในทุกยุคทุกสมัย เราอาจเรียกได้ว่า บ้านทรายทองประสบความสำเร็จในฐานะที่เป็น “วัฒนธรรมมวลชน” ที่ทุกคนเข้าถึงได้ และในแง่หนึ่งควรบันทึกไว้ด้วยว่า บ้านทรายทองเกิดขึ้นมาได้ด้วยข้อวิจารณ์ของบรรณาธิการนิตยสาร “ปิยมิตร” รายสัปดาห์ที่ต้องการให้ ก.สุรางคนางค์ เขียนเรื่องที่อ่านได้ทุกชนชั้น ตั้งแต่แม่ค้าจนถึงในรั้วในวัง
ในภาพจำของคนทั่วไปที่มีต่อพจมานก็คือ ความเรียบร้อยประหนึ่งผ้าพับไว้ เป็นผู้หญิงที่ได้รับการเลี้ยงดูมาเป็นอย่างดี สุภาพ นอบน้อม แต่ในตัวนวนิยาย พจมาน พินิตนันทน์ มีสีสันมากกว่าในละครทีวีหลายเท่านัก เราจะเห็นได้จากการต่อปากต่อคำกับ “หญิงใหญ่” ในตอนต้น ๆ ของเรื่อง ทุก ๆ ครั้งที่พจมานต้องปะทะคารมกับหญิงใหญ่ พจมานไม่มีทีท่าว่าจะกลัวเกรงกลัวหรือลืมไปเลยว่าตัวเองเป็นเด็กน้อยที่เพิ่งเข้ามาที่บ้านทรายทอง แต่สิ่งที่ทำให้พจมานรู้สึกตัวใหญ่กว่าเดิมทุกครั้งเมื่อต้องปะทะกับหญิงใหญ่หรือคนอื่น ๆ ภายในบ้านก็คือ ความรักในครอบครัวและความหยิ่งทระนงในศักดิ์ศรีของชาติตระกูล
“ดิฉันไม่ชอบให้ใครขุดเอาปู่ของดิฉันขึ้นมากล่าวเป็นขี้ปากเหมือนกัน และถ้าดิฉันไม่ได้อยู่ที่นี่ ดิฉันก็ไม่อดตาย ดิฉันจะออกไปจากบ้านทรายทองทันที เพียงแต่ได้รู้ว่า ดิฉันไม่สิทธิจะอยู่”
นอกจากความหยิ่งทระนงในศักดิ์ศรีแล้ว สิ่งที่หลายคนไม่ใคร่สังเกตก็คือ พจมานน่าจะเป็นหนอนหนังสือตัวยงเลยทีเดียว เพราะในบ้านที่บ้านนอก พ่อของเธอมีห้องสมุดอยู่ภายในบ้าน และเธอเป็นคนที่คอยช่วยพ่อ “หยิบหนังสือให้ คอยปิดหน้าต่างเมื่อลมแรง ‘เช็กสเปียร์’ ทั้งชุดอยู่ตู้ไหน... ‘แมคเบธ’ เล่มนั้น เฉพาะหน้าที่แปดสิบขาดไปหนึ่งหน้า...” ห้องสมุดของบ้านหลังนี้ย่อมไม่ธรรมดาเป็นแน่แท้... และการที่พจมานรู้ว่าหนังสือแต่ละเล่มอยู่ตรงไหน เล่มไหนหน้าขาดไป ไม่ใช่เพราะพ่อบอกหรือเป็นเพียงแค่คนช่างสังเกตเท่านั้น แต่พจมานคงจะเคยได้อ่านหนังสือเหล่านั้นอีกด้วย
ในแง่หนึ่ง พจมานแตกต่างไปจาก “นางเอก” ในวรรณกรรมไทยสมัยใหม่หลาย ๆ เรื่อง เพราะเราอาจจะเคยเห็นนางเอกในวรรณกรรมน้ำเน่า ละครน้ำเน่า ต้องคอยอ่านวรรณคดีโบราณให้คุณย่า คุณยายฟัง เล่นดนตรีไทยได้ แต่สิ่งที่พจมานได้อ่านคือวรรณกรรมระดับโลก สิ่งที่น่าสนใจก็คือ โลกทัศน์ของพจมานอาจจะกว้างไกลกว่านางเอกในยุคเดียวกันก็ได้
อย่างไรก็ตาม อาจพิจารณาว่า ก.สุรางคนางค์ เป็นนักเขียนหญิงที่มีลักษณะ “ก้าวหน้า” กว่านักเขียนหญิงในรุ่นเดียวกัน เช่นในผลงาน “หญิงคนชั่ว” ที่สั่นสะเทือนวงการวรรณกรรมไทย ด้วยการนำเอาชีวิตของโสเภณีขึ้นมาเป็นตัวเอกในการดำเนินเรื่อง นอกจากนี้ การแต่งงานกับ ป่วน บูรณศิลปิน (ป.บูรณศิลปิน) ซึ่งเป็นนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าคนหนึ่งในยุคก่อน 2500 และมีบทบาทในความเคลื่อนไหวทางปัญญาของกลุ่ม “ฝ่ายซ้าย” ในสังคมไทยด้วย แม้จะมิอาจพิสูจน์ทราบได้อย่างชัดเจนว่า ป่วนมีอิทธิพลต่อ ก.สุรางคนางค์ มากน้อยเพียงใด แต่ในความเป็นคู่ชีวิตกันนั้น อิทธิพลทางความคิดที่มีต่อกันก็อาจจะมีอยู่บ้าง
ด้วยเหตุนี้ เราจึงมิอาจปฏิเสธได้ว่า แนวคิดความก้าวหน้าในตัวของ ก.สุรางคนางค์ ได้ถูกถ่ายทอดไปยังตัวละครของเธออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
นอกจากเราจะเห็นว่าพจมานน่าจะได้อ่านหนังสือแบบไหนบ้างแล้ว ก.สุรางคนางค์ ยังได้ให้ผู้เล่าเรื่องในบ้านทรายทองแสดงทัศนะทางปรัชญาที่ได้รับอิทธิพลมาจากปรัชญาตะวันตก อย่างปรัชญาของ ฟรีดริช นีตซ์เช (Friedrich Nietzsche) อีกด้วย “ปรัชญาของชีวิตของท่านนักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลาย ใช่ว่าจะมีแนวทัศนะและอุดมคติเหมือนกันหมดไปเมื่อไร บางท่านสอนให้เป็นคนเห็นแก่ตัวมาก ๆ อย่างนิทเช่...”
สำหรับผู้ที่สนใจปรัชญาตะวันตก งานของนีตซ์เชจัดได้ว่ามีความสลับซับซ้อนและอ่านยากอยู่พอสมควร และไม่ว่า ก.สุรางคนางค์ จะเข้าใจงานของนีตซ์เชได้มากน้อยเพียงใดก็ตาม การเอาชื่อนีตซ์เชใส่ลงไปในเรื่อง ไม่ใช่เพียงแค่การหล่นชื่อ (name drop) เพื่อแสดงรสนิยมในการอ่านของ ก.สุรางคนางค์ แน่ ๆ เพราะมันถูกนำมาใช้อย่างมีวัตถุประสงค์ที่พอเหมาะกับเรื่อง ไม่หล่นชื่อนักปราชญ์ นักเขียน จนวุ่นวายเหมือนนักเขียนร่วมสมัยหลาย ๆ ท่าน
ท้ายที่สุด ไม่ว่าพจมานจะถูกนำเสนอในมิติที่แตกต่างกันไปในแต่ละยุคสมัย สิ่งที่พจมานไม่ควรถูกลดทอนก็คือความหยิ่งทระนงในศักดิ์ศรีของเธอ และที่สำคัญ ความรอบรู้และความ “ก้าวหน้า” ของเธอที่ไปไกลกว่านางเอกวรรณกรรมไทยหลาย ๆ เรื่องในขณะนั้น
เรื่อง: ปลายสิงห์ ปลอดขาว (พบเรื่องราวหลากหลายสีสันเกี่ยวกับวรรณคดีไทย ที่สรรหาเรื่องมาเล่าทุกสัปดาห์ด้วยสำนวนภาษาสนุกสนานจัดจ้านได้ที่ เพจคดีไม่มีวรรณะ)
ภาพ: จารุณี สุขสวัสดิ์ ผู้สวมบท “พจมาน” จาก http://www.fivestarproduction.co.th/บ้านทรายทอง/