นิยายไซไฟไม่ว่าจะร่วมสมัยหรือย้อนไปสมัยยุคหิน แทบทุกเรื่องต้องมีตัวละครตัวใดตัวหนึ่งที่มีภาพลักษณ์เป็นนักวิทยาศาสตร์ “สติเฟื่อง” ทำหลอดทดลองแตกแล้วมีระเบิดบู้มบ้ามหรือมีสัตว์ประหลาดยุ่บยั่บออกมาอันเป็นเหตุให้ฮีโร่หรือพระเอกของเราได้ออกโรง แน่นอนเลย ต้นแบบของนักวิทยาศาสตร์สติเฟื่องก็คือ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) ชายผมฟู เสื้อผ้าเก่า ไม่ใส่ถุงเท้า และเดินเลียไอศกรีมหน้าตาเฉยตามทางเดินของเมืองพรินซ์ตัน และจบลงที่การไม่รู้ว่าตอนนี้ตัวเองอยู่ที่ไหน
การเล่าประวัติไอน์สไตน์และหน้าที่การงานของเขาคราวนี้ ไม่ใช่การเล่าชีวประวัติของนักวิทยาศาสตร์ธรรมดา แต่เป็นการขยายความ “พยศ” และ “เฟื่อง” ของเขา ที่ทำเอาโลกวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 20 เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ
[caption id="attachment_26169" align="aligncenter" width="1200"]
โธมัส ฮาร์วีย์ พยาธิแพทย์ ผู้เก็บชิ้นส่วนสมองของไอน์สไตน์ (ที่อยู่ในขวดโหลนี้) ไว้หลายสิบปี[/caption]
“พยศ”
ไอน์สไตน์เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 14 มีนาคม ค.ศ. 1879 เวลา 11.30 น. ณ เมืองอูล์ม เยอรมนี เขามีอาการพูดช้าจนพ่อแม่ต้องพาไปหาหมอ และโดนพี่เลี้ยงเรียกว่า “ไอ้ทึ่ม” แน่นอนว่าความพยศและไม่ฟังใครตั้งแต่เด็ก ทำเอาใครต่อใครรวมถึงอาจารย์พากันบอกว่า ไอ้เด็กคนนี้มันไปไหนไม่ได้หรอก ไอน์สไตน์มีความคิดฝังหัวแบบที่ถ้าให้พูดก็คือ “ทำไมฉันต้องเชื่อในสิ่งที่คนรุ่นเก่าบอกว่ามันถูก” ความพยศและคิดต่างออกไปนี้ฉายแววตั้งแต่เด็กไปจนถึงยุคทองของเขา
อย่างที่บอกไปว่า ไอน์สไตน์เป็นคนพูดช้า เพราะฉะนั้นทุกอย่างจะอยู่ใน “หัว” ของเขา (ใช่เลย จินตนาการสำคัญกว่าความรู้!!) เมื่อได้รับเข็มทิศจากพ่อเป็นครั้งแรก เขาเริ่ม “จินตนาการ” และทึ่งในความว้าวของเข็มที่ชี้ไปทางทิศเหนือตลอดเวลา สิ่งที่ตามมาเป็นพรวนหลังจากนั้นคือ อะไรคือสนามแม่เหล็กกัน แรงดึงดูดของโลกคืออะไร และจินตนาการที่สำคัญจนเปลี่ยนโลกได้ เกิดจากความคิดเพียงแค่ว่า “เฮ้ย ถ้าฉันเดินทางไปข้าง ๆลำแสงล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น” ซึ่งเป็นคำถามที่จุดประกายทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษขึ้นมา
ดูเหมือนการคิดอะไรเป็นภาพเก่งและไม่ชอบสมการยืดยาวของคนรุ่นโบราณที่ถ่ายทอดกันมา จะปรากฏออกมาเป็นอาการกระด้างกระเดื่องกับอาจารย์ และไม่มีใครชอบใจเลยสักนิด เขาชอบคิดเป็นภาพ อย่างเช่น เขามักจะคิดว่า สมการสนามแม่เหล็กไฟฟ้าซึ่งถูกค้นพบโดย เจมส์ คลาร์ก แมกซ์เวลล์ จะปรากฏภาพอย่างไรให้แก่เด็กคนหนึ่งที่กำลังวิ่งไปข้าง ๆ ลำแสง
เมื่อเขาเริ่มเข้าสถาบันโพลีเทคนิคแห่งซูริก ความปราดเปรื่องก็ไปเตะตาอาจารย์ไฮน์ริช เวเบอร์ ซึ่งอนุญาตให้ไอน์สไตน์ฟังบรรยายโดยไม่ต้องสอบก่อน ปรากฏว่าหลังจากนั้นไม่นาน ความท้าทายและไม่เชื่อในสิ่งที่ “มีคนมาบอกว่ามันถูก” ที่เป็นนิสัยดั้งเดิมของไอน์สไตน์ ก็เริ่มทำให้บรรดาอาจารย์ขุ่นข้องหมองใจ เขาบอกว่า อาจารย์ทุกคนเอาแต่พูดถึงเรื่องทฤษฎีย้ำ ๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งเสียเวลาเปล่า และมีการเขียนจดหมายตำหนิติเตียนกันเกิดขึ้น
เขาบอกไว้ว่า “การให้ความเคารพหรือเชื่อแบบไม่ขบคิดให้ดีก่อน คือศัตรูอันร้ายกาจของความจริง” นิสัยนี้ติดตัวไปจนโต และอาการพยศท้าทายนี่ล่ะเป็นปัญหาตัวดี เพราะไม่มีอาจารย์คนไหนเซ็นยอมรับปริญญาเอกให้เลย
เราจะมาเข้าหลักการทฤษฎีกันนิดหน่อย ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 เจมส์ เคลิร์ก แม็กซ์เวลล์ ได้นำปรากฏการณ์สองปรากฏการณ์มารวมกัน เมื่อเกิดการเปลี่ยนเปลงของสนามแม่แหล็กจะเกิดกระแสไฟฟ้าขึ้น และเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของสนามไฟฟ้า ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็ก ความเร็วที่คำนวณได้นี้ก็คือความเร็วของแสง ยิ่งไปกว่านั้น เขายังได้ประกาศว่า “เออ นั่นล่ะก็คือคลื่นแสงนั่นเอง” ซึ่งอาจนับได้ว่า เป็นประโยคที่นำมาซึ่งการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดในศตวรรษที่ 19 แมกซ์เวลล์ได้แถลงต่อเพื่อนร่วมงานของเขาดังต่อไปนี้ “เราแทบไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลยที่จะสรุปว่า แสงนั้นประกอบด้วยการสั่นในแนวขวางของตัวกลางชนิดเดียวกันกับที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ไฟฟ้าและแม่เหล็ก”
ความดื้อดึงและใคร่รู้สงสัยแบบไม่ธรรมดาของไอน์สไตน์มีผลในเรื่องนี้ ทุกคนพากันหาว่าในเมื่อแสงเป็นคลื่นแล้ว แล้วอะไรล่ะเป็นตัวกลางที่สั่น นักวิทยาศาสตร์พากันหาและเรียกสิ่งที่ไม่มีตัวตนนี้ว่า “อีเทอร์” แต่ก็ไม่มีใครทำการทดลองหาอีเทอร์แบบจับต้องได้สักคน แถมยุคนั้นมีการค้นพบกัมมันตภาพรังสี การแผ่รังสีที่ไม่จำกัดเฉพาะคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และการค้นพบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าชนิดใหม่ ก็ยิ่งเป็นตัวปัญหาเพราะสมัยนั้นทฤษฎีของแมกซ์เวลล์ได้รับการยอมรับและครอบคลุมทุกปรากฏการณ์บนโลกแล้ว จนคนในวงการวิทยาศาสตร์พูดว่า “เราไม่สามารถค้นพบอะไรใหม่ ๆ ทางวิทยาศาสตร์ได้อีกแล้ว เพียงแต่วัดให้แม่นขึ้นแค่นั้นเอง” แต่ดูเหมือนจะไม่ใช่แบบนั้นเสียแล้ว เพราะคนที่มาปิดรูรั่วก็คือคนจินตนาการไร้กรอบแบบไอน์สไตน์นี่ล่ะ
พ่อคนเก่งของเราปิดรูรั่วด้วยการศึกษาโฟโตอิเล็กทริกส์ ซึ่งเป็นการทดลองยิงแสงไปที่แผ่นโลหะแล้วจะมีอิเล็กตรอนกระเด็นโดดดึ๋งออกมา พบว่าแสงสีม่วงเท่านั้นที่ให้อิเล็กตรอนออกมา ส่วนสีอื่นไม่ใช่ ซึ่งเป็นการทำลายล้างความคิดความเชื่อทางฟิสิกส์ในเวลานั้นไปเลย นักฟิสิกส์เชื่อว่าแสงเป็นคลื่น และตามทฤษฎีคลื่นแบบคลาสสิก พลังงานของแสงไม่ขึ้นกับความถี่ของมัน ตัวอย่างเช่น แม้ว่าแสงสีแดงและแสงสีเขียวจะมีความถี่ที่แตกต่างกัน แต่แสงทั้งสองสีนี้ก็ควรจะมีพลังงานเท่ากัน เมื่อตกกระทบโลหะ พลังงานของอนุภาคอิเล็กตรอนที่ถูกส่งออกมาก็ควรจะเท่ากัน ไอน์สไตน์หันไปหาทฤษฎีควอนตัมที่บอกว่าแสงคือกลุ่มก้อนเหมือนกระสุนที่พุ่ง ๆ ๆ เรียกว่า “ควอนตา (quanta)”
แต่!!! ถึงแม้จะโค่นล้มนิวตันหรือแม็กซ์เวลล์ด้วยการอุดรูรั่วของปัญหาเกี่ยวกับแสงได้ด้วยควอนตัม ไอน์สไตน์ก็ยังไม่ได้ปริญญาเอกเพื่อขอเลื่อนตำแหน่งในสำนักงานจดสิทธิบัตรที่เขาทำงานอยู่ดี
อย่างไรก็ตาม เท่าที่ผ่านมาเราก็น่าจะเห็นกันได้แล้วว่า ความพยศของเขานำไปสู่ความอยากรู้อยากเห็นและเปลี่ยนแปลงแวดวงวิทยาศาสตร์ได้อย่างแท้จริง อย่างที่บอกไว้นั่นแหละ เขาเกลียดกลุ่มคนหรือคนที่เชื่อหรือถูกฝังหัวในสิ่งที่คนอื่นบอกว่าถูก
อ้อ...ในปี 1935 มีข่าวกระจายไปใหญ่โตว่า ไอน์สไตน์ตกเลขสมัยเรียนอยู่มิวนิก เอกสารของ “Ripley’s Believe It Or Not!” พาดหัวตัวโตว่า “แม้จะเป็นนักคณิตศาสตร์ที่เก่งที่สุด แต่ก็เคยตกวิชาเลข!!” และแน่นอน พ่อคนเก่งของเราตอบกลับไปว่า “ผมไม่เคยตกเลขเลยสักครั้ง ตอนผมอายุ 15 ผมเป็นเซียนเรื่องอนุพันธ์และแคลคูลัสเลยนะ” ซึ่งตรงกับความจริงที่ระบุในหนังสือของชีวประวัติของไอน์สไตน์จากไอแซค วอลเตอร์สัน ที่กล่าวไว้ว่า “เขาเชื่อมโยงกระบวนการแก้สมการเข้ากับการล่าสัตว์ ซึ่งมีตัวแปร x เป็นเหมือนเหยื่อที่เราจะต้องแกะรอยตามไปอย่างไม่ปราณีจนกว่าเราจะจับมันได้ และเขาก็ได้คะแนนท็อปสุดในห้องต่างหากล่ะ” เพราะฉะนั้น ข่าวลือที่ว่านักวิทยาศาสตร์เบอร์ใหญ่อย่างไอน์สไตน์ตกเลขนั้นไม่เป็นจริง (ถึงแม้เขาจะสับสนจำนวนอตรรกยะกับจำนวนจินตภาพก็เถอะ)
[caption id="attachment_26170" align="aligncenter" width="1200"]
ไอน์สไตน์และเอลซา ผู้เป็นภรรยา[/caption]
“เฟื่อง”
สมัยที่ไอน์สไตน์หนุ่มอยู่ที่โพลีเทคนิก เขาเริ่มแต่งตัวหลุดลุ่ย ใจลอย และลืมกุญแจบ้านบ่อยมาก อันเป็นรูปแบบศาสตราจารย์สติเฟื่อง การที่เขาเป็นแบบนี้เพราะเขามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง และแน่นอน เขาต้องหาที่หลบภัยจากสิ่งที่เป็นปัญหารอบตัวเขา ไม่ว่าจะเป็นแฟน พ่อ แม่ การตีกันกับอาจารย์ นั่นก็คือการสนใจอยู่แค่กับงานเท่านั้น
พอโตมามีลูกมีเมีย แทนที่จะใส่สูทเป็นโปรเฟสเซอร์ เขากลับไม่ตัดผม ไม่หวี และที่ว้าวคือมันกลายเป็นเทรนด์ให้ลูกเมียอย่างเอลซา ภรรยาของเขา และมาร์กอท ลูกติดของเอลซา รวมทั้ง มายา น้องสาวของไอน์สไตน์ก็ไว้ผมสีเทาฟูกระเซิงในธีม “เฟื่องไปด้วยกัน”
เวลาผ่านเลยมาถึงวัยชรา เขาเป็นศาสตราจารย์ใจดี (ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวทั้งปรมาณูและการตั้งระบบรัฐเหนือรัฐเพื่อควบคุมอาวุธที่ใช้ในสงคราม) ที่ไม่ใส่ถุงเท้า เขาชอบบอกกับคนรอบข้างว่า “ดีนะที่แก่จนไม่มีใครกล้าบอกให้ใส่ถุงเท้าแล้ว”
ไอน์สไตน์ชอบเดินไปเรื่อย ๆ ไม่รู้ทิศรู้ทาง เหม่อ หลงอยู่ในทฤษฎีที่ยังค้างอยู่ในหัวจนไม่รู้ว่าตัวเองเดินไปที่ไหน ชาวบ้านแถวนั้นพากันบอกว่าไอน์สไตน์ใม่น่าจะขับรถได้นะ มันดูซับซ้อนเกินไป และเขาต้องเดินจากบ้านไปที่ทำงานทุกวัน มีอยู่วันหนึ่งที่เขาเดินไปเดินมาจนไปโผล่ที่ไหนสักแห่ง เขาโทรไปหาเลขานุการที่สถาบันและพูดว่า “ผมขอที่อยู่ของไอน์สไตน์หน่อย” แต่เลขาฯ (ที่น่าจะจำเสียงไอน์สไตน์ไม่ได้) บอกว่า “ฉันให้คุณไม่ได้ มันเป็นความลับ” ไอน์สไตน์เลยได้แต่งึมงำอย่างเหนียมอายว่า “ผมคือไอน์สไตน์เอง ผมลืมว่าบ้านผมอยู่ที่ไหน คุณอย่าบอกใครนะว่าผมขี้ลืมขนาดนี้”
สรุปสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะ “พยศ” หรือ “เฟื่อง” ของปู่คนหนึ่ง ทั้งสองอย่างล้วนเป็นแรงขับเคลื่อนในการเปลี่ยนแปลงและพลิกโฉมวงการวิทยาศาสตร์ เขาพิสูจน์ว่าทฤษฎีอันยิ่งใหญ่จากคริสตียาน เฮยเคินส์, โรเบิร์ต บอยล์, ก็อทฟรีท วิลเฮ็ล์ม ไลบ์นิทซ์ นั้นไม่ได้ถูกต้อง เขาลุ่มหลงหมกมุ่นในการศึกษาค้นคว้าอย่างไม่สุดสิ้น แม้กระทั่งในห้วงเวลาก่อนเสียชีวิต เขาก็ยังคงมีกระดาษเขียนสมการเละเทะเต็มไปหมดวางไว้ข้างตัว
ไอน์สไตน์ทุ่มสุดตัวเพื่ออะไร? นอกจากจะเป็นการช่วยให้เขาหลบหลีกจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว เขายังสอนให้คนรุ่นใหม่ได้รู้เสมอว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความรู้” เขาปลูกฝังทุกคนว่า การเชื่อในสิ่งที่คนปลูกฝังมาว่าถูกแบบไม่ขบคิดนั้นอันตรายต่อความเป็นจริงเป็นอย่างมาก และข้อความนี้ก็สื่อได้ว่า วงการวิทยาศาสตร์ก็ต้องก้าวต่อไปสู่ยุคใหม่ต่อไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุดเหมือนที่ไอน์สไตน์เคยทำมา
ที่มา:
หนังสือ The Curious History of Relativity: How Einstein's Theory of Gravity was Lost and found again By Jean Eisenstaedt
หนังสือ Einstein: His Life and Universe by Walter Isaacson สำนักพิมพ์เนชั่น
ประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศุภวิทย์ ถาวรบุตร
https://www.worldsciencefestival.com/2015/11/10-fun-albert-einstein-facts/
https://www.businessinsider.com/25-best-quotes-from-albert-einstein-2014-8#einstein-on-authority-1
https://www.quora.com/Did-Albert-Einstein-once-forget-his-address-when-going-home-from-work-by-train
เรื่อง: สวิณี แสงสิทธิชัย