read
business
27 ส.ค. 2563 | 17:14 น.
วาเลนติโน การาวานิ: ห้องเสื้อเกือบล้มละลายที่เกิดใหม่อีกครั้งอย่างภาคภูมิ
Play
Loading...
กว่า
‘วาเลนติโน’
จะกลายมาเป็นแบรนด์ไฮเอนด์ที่คอแฟชั่นทั่วโลกรู้จักชื่อ ห้องเสื้อชื่อดังจากอิตาลีก็เคยล้มครั้งใหญ่ตั้งแต่แรกเริ่มจนเกือบล้มละลาย จากนั้นจึงดิ้นรนหาทางรอด ทำทุกอย่างเพื่อถีบตัวเองขึ้นจากหลุมแห่งหายนะ กลับมามีชีวิตอย่างเฉิดฉายอีกครั้งด้วยการใช้ ‘สีแดง’ ‘งานละเอียด’ และ ‘ความพิถีพิถัน’ เป็นภาพจำ ที่เห็นเมื่อไรก็ต้องรู้ว่าของชิ้นนี้มาจากห้องเสื้อวาเลนติโน
จุดเริ่มต้นของห้องเสื้อสัญชาติอิตาลี ‘วาเลนติโน’ เกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ของ
วาเลนติโน การาวานิ
(Valentino Garavani) ดีไซเนอร์หนุ่มไฟแรงผู้หลงใหลได้ปลื้มกับเรื่องแฟชั่นมาตั้งแต่เด็ก ชีวิตของเขาเหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบตั้งแต่แรก เมื่อโตขึ้นเขาเข้าเรียนด้านการออกแบบแฟชั่นที่ฝรั่งเศส ส่งผลงานการออกแบบของตัวเองเข้าประกวดจนคว้ารางวัลชนะเลิศจากเวที International Wool Secretariat (ในปีต่อ ๆ มา ผู้ชนะรางวัลนี้ล้วนแต่เป็นดีไซเนอร์อนาคตไกล อาทิ Yves Saint Laurent และ Karl Lagerfeld) ซึ่งรางวัลดังกล่าวถือเป็นใบเบิกทางนำเขาเข้าทำงานยังห้องเสื้อชั้นสูงของฝรั่งเศส Jean Desses
Jean Desses ถือเป็นห้องเสื้อฝรั่งเศสระดับโอต์ กูตูร์ (Haute Couture) ที่ต้องอาศัยช่างฝีมือดีในการตัดเย็บเสื้อผ้า แต่ละชุดต้องใช้ความพิถีพิถันสูงตั้งแต่การออกแบบจนถึงการตัดเย็บ นอกจากนี้ วาเลนติโนยังได้ร่วมงานกับแบรนด์ชื่อดังอย่าง Guy Laroche นาน 2 ปี ใคร ๆ ต่างคิดว่าเด็กหนุ่มคนนี้ต้องไปได้ดีและสามารถเปิดแบรนด์เป็นของตัวเองอย่างแน่นอน หลังเก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่ในเมืองน้ำหอมพักใหญ่ วาเลนติโนตัดสินใจกลับมาเปิดห้องเสื้อที่กรุงโรมในปี 1959 โดยใช้ชื่อแบรนด์ตามชื่อของเขาว่า ‘วาเลนติโน’
ในยุคสมัยที่แฟชั่นกำลังเดินหน้าเต็มกำลัง มีห้องเสื้อหลายแห่งเกิดขึ้นพร้อมกับวาเลนติโน เขาจึงต้องหาจุดเด่นให้กับแบรนด์ตัวเองเพื่อไม่ให้ถูกกลบ จึงเปิดตัวแบรนด์ครั้งแรกด้วยชุด
‘The Valentino Red Dress’
เดรสสีแดงทำจากผ้ากำมะหยี่เด่นสะดุดตามาแต่ไกล จนถูกคนในวงการแฟชั่นเรียกว่า วาเลนติโน เร้ด (Valentino Red) ประกอบกับช่วงเวลานั้นนักแสดงชื่อดัง
เอลิซาเบธ เทย์เลอร์
(Elizabeth Taylor) กำลังถ่ายหนังอยู่ในกรุงโรม เธอได้เห็นแบรนด์เสื้อผ้าน้องใหม่เพิ่งเปิดและสั่งเสื้อเตรียมไว้ใส่ในงานเปิดตัวภาพยนตร์รอบปฐมทัศน์เรื่อง ‘สปาตาคัส’ (Spartacus) เพราะถูกอกถูกใจกับดีไซน์ของห้อเสื้อเล็ก ๆ นี้ไม่น้อย
แบรนด์แฟชั่นน้องใหม่ใช้เงินลงทุนจำนวนมาก วาเลนติโนทุ่มสุดกำลังหาซื้อผ้าราคาแพงมาใช้ทำชุด ให้นางแบบเสื้อผ้าบินตรงจากฝรั่งเศสเพื่อเดินแฟชั่นโชว์ (ทั้งที่สามารถประหยัดด้วยการให้นางแบบนั่งรถไฟมาก็ได้) เรียกได้ว่าลงทุนเกินตัวไปมาก เมื่อวาเลนติโนต้องทำบัญชี เขากุมขมับทุกครั้งกับค่าใช้จ่ายตัวแดงเถือกที่แก้ไม่ได้ และเริ่มรู้ตัวว่าหากยังทำงานแบบไร้ทิศทางต่อไปเรื่อย ๆ ห้องเสื้อของเขาจะต้องล้ม ส่วนตัวของเขากับครอบครัวที่ให้ทุนมาเปิดร้านต้องกลายเป็นบุคคลล้มละลายแน่ ๆ วาเลนติโนจึงพยายามหาลู่ทางทำให้ห้องเสื้ออยู่รอดต่อไปได้ แต่ในตอนนี้แบรนด์ของเขาจะต้องพักเบรกไปก่อนอย่างเลี่ยงไม่ได้
หลังจากต้องพักกิจการแฟชั่น วาเลนติโนได้พบกับ
เจียนคาร์โล เจียมเมตติ
(Giancarlo Giammetti) หนุ่มจากคณะสถาปัตยกรรมที่มีหัวด้านธุรกิจ ทั้งคู่ตกลงร่วมหุ้นเพื่อกู้วิกฤตค่าใช้จ่ายตัวแดงของวาเลนติโน พวกเขาใช้เวลาวางแผนร่วมสองปี (วาเลนติโนเปิดแบรนด์ปี 1959 จากนั้นเจอกับเจียนคาโลเมื่อปี 1960 และกลับมาเปิดห้องเสื้ออีกครั้งในปี 1962) เขาลงแรงทำงานหนักออกแบบชุดเดรสโอต์ กูตูร์ งานทำมือละเอียดยิบตั้งแต่หัวจรดเท้า วาเลนติโนต้องสร้างสรรค์ผลงานใหม่แบบหามรุ่งหามค่ำ เพื่อให้การเปิดตัวครั้งที่สองประสบความสำเร็จ ส่วนเจียนคาร์โลคอยดูแลเรื่องบัญชีให้กับดีไซเนอร์หนุ่ม
วาเลนติโนยังคงสไตล์ชัดเจนกับสีแดงไว้ตามเดิม แต่ครั้งนี้เขาเพิ่มความสมบูรณ์แบบในทุกองค์ประกอบเข้าไปในผลงาน หากออกแบบชุดสักหนึ่งชุด ชุดที่ว่าจะต้องไร้ที่ติ งดงาม เป็นเอกลักษณ์ ผลงานทุกชิ้นไม่ได้ทำส่ง ๆ เพื่อให้เสร็จไป คราวนี้เขาลงแรงกับการออกแบบชุดมากกว่าครั้งเปิดห้องเสื้อ พยายามมองหาจุดเด่นที่จะสร้างเสียงฮือฮาให้เจอ ควบคู่กับการใส่ใจงานปักเย็บ เก็บรายละเอียดปลีกย่อยบนชุดให้ครบทุกอย่าง การเปิดตัวคอลเลกชันครั้งนี้อาจเป็นเดิมพันครั้งสุดท้ายของเขา เพราะหากยังไม่มีกำไร ห้องเสื้อวาเลนติโนจะต้องปิดตัวถาวรแน่นอน
ในงานแฟชั่นโชว์วาเลนติโนปี 1962 เปิดตัวด้วยคอนเซ็ปต์โอต์ กูตูร์ ณ พระราชวังปิตติในเมืองฟลอเรนซ์ ผลงานแสนประณีตของเขาสร้างความตื่นตะลึง เป็นที่ถูกอกถูกใจเหล่าสุภาพสตรีชนชั้นสูงจนพวกเธอพากันมาตัดชุดที่ห้องเสื้อวาเลนติโนกันยกใหญ่ การบอกเล่าแบบปากต่อปากถึงความสวยงามของชุด การเห็นผลงานด้วยตาตัวเองของสาว ๆ ในงานสังคม ทุกอย่างต่างเชื้อเชิญลูกค้าหน้าใหม่จำนวนมากเข้ามาใช้บริการ
ชื่อเสียงผลงานของดีไซเนอร์หน้าใหญ่จากอิตาลีโด่งดังมากในหมู่สมาชิกราชวงศ์หลายประเทศ
เจ้าฟ้าหญิงมาร์กาเร็ต เคาน์เตสแห่งสโนว์ดอน
จากเกาะอังกฤษ ผู้เป็นแฟนคลับเหนียวแน่นของแบรนด์ดิออร์ ยังแวะเวียนมาใช้บริการกับวาเลนติโน รวมถึงราชินีเปาโล แห่งเบลเยียม และ อนุภรรยาของสุลต่านมูฮัมหมัด ซาห์ อากา ข่าน ที่ 3 ต่างตัดชุดกับวาเลนติโนทั้งนั้น
แม้สีแดงคือเครื่องหมายการค้าของวาเลนติโน ทว่าคอลเลกชันเครื่องแต่งกายสีขาวสะอาดตาของเขากลับโด่งดังและถูกพูดถึงอย่างมาก โดยเฉพาะกับชุดแต่งงานสีขาวบริสุทธิ์ที่ได้รับความนิยมจากเหล่าเซเลบริตี้ทั่วโลก ความนิยมเพิ่มขึ้นจากหน้ามือเป็นหลังมือทำให้สามารถเปิดสาขาที่นิวยอร์กได้ และเติบโตขึ้นอย่างหยุดไม่อยู่ จนบัญชีของเขาไม่ติดลบอีกต่อไป
นอกจากเหล่าชนชั้นสูง ความดังแบบชุดไม่อยู่ของห้องเสื้อวาเลนติโนทำให้สุภาพสตรีฝั่งอเมริกาข้ามน้ำข้ามทะเลมาตัดชุดกับวาเลนติโน ซูเปอร์สตาร์ฮอลลีวูดแห่งยุคอย่าง
ออดรีย์ เฮปเบิร์น
(Audrey Hepburn) ที่ทำให้ผู้คนจดจำเธอได้จากภาพยนตร์เรื่อง โรมรำลึก (Roman Holiday) และ นงเยาว์นิวยอร์ก (Breakfast at Tiffany’s) ก็แวะเวียนมาตัดชุดที่ห้องเสื้อและใส่ออกงานด้วยเช่นกัน
ลูกค้าสำคัญอีกคนที่ลืมไม่ได้คือ เอลิซาเบธ เทย์เลอร์ หลังจากเธอเคยทาบทามว่าจะสวมชุดของวาเลนติโนในงานพรมแดง แถมยังสั่งซื้อเดรสขาวจากคอลเลกชัน Fall/Winter 1961 ไปหลายตัวด้วยกัน เมื่อวันงานมาถึงเธอปรากฏตัวด้วยเดรสสีขาวของวาเลนติโนจริง ๆ ภาพถ่ายของเอลิซาเบธขณะเต้นรำทำให้เสื้อผ้าสัญชาติอิตาลีถูกโปรโมตไปทั่วอเมริกาโดยไม่ต้องเสียค่าโฆษณาเลยด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม ลูกค้าระดับซูเปอร์สตาร์ฮอลลีวูดหรือเชื้อพระวงศ์ยุโรปคงทำให้เกิดกระแสได้ไม่เท่ากับ แจ็กเกอลีน เคนเนดี (Jacqueline Kennedy) สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งผู้โด่งดัง ภรรยาของประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี แห่งสหรัฐฯ เธอเริ่มให้ความสนใจกับเสื้อผ้าของวาเลนติโนเพราะในปี 1964 เมื่อแจ็กกี้เห็น กลอเรีย ชิฟฟ์ (Gloria Schiff) น้องสาวฝาแฝดของบรรณาธิการนิตยสารโว้ก (ไม่ใช่แอนนา วินทัวร์) สวมชุดผ้าไหมสีดำในงานสังคมที่สร้างความประทับใจให้แจ็กกี้ตั้งแต่แรกเห็น เธอจึงเข้าไปถามกลอเรียว่าชุดที่ใส่คือแบรนด์อะไร
เมื่อวาเลนติโนมาโปรโมตแบรนด์ที่อเมริกา แจ็กกี้แสดงความสนใจอยากดูผลงานห้องเสื้อเป็นอย่างมาก แต่เนื่องจากเธอติดงานจึงไม่สามารถไปเยี่ยมชมคอลเลกชันได้ วาเลนติโนจึงจัดการส่งนางแบบกับคอลเลกชันเสื้อผ้าไปหาสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งถึงที่ ซึ่งการบริการดีเยี่ยมตั้งแต่ยังไม่ตกลงปลงใจเป็นลูกค้า สร้างความประทับใจต่อแจ็กกี้มากขึ้นไปอีก
แจ็กกี้ เคนเนเดี ถือเป็นสตรีที่ชื่อเสียงโด่งดัง ผู้คนทั่วโลกหลากหลายวงการมักรู้จักเธอ และยิ่งรู้จักมากขึ้นไปอีกเมื่อสามีของเธอถูกลอบสังหาร ในช่วงไว้ทุกข์ อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งสวมชุดสีดำกับชุดสีขาวจากห้องเสื้อวาเลนติโน เมื่อเวลาผ่านไปเธอได้แต่งงานใหม่อีกครั้งกับ อริสโตเติล โอนาซิส แบรนด์ที่เธอเลือกตัดชุดแต่งงานยังคงเป็นวาเลนติโนไม่เปลี่ยนแปลง
จูเลีย โรเบิร์ตส
(Julia Roberts) สวมเครื่องแต่งกายโอต์ กูตูร์ สไตล์วินเทจของห้องเสื้อวาเลนติโน ตบเท้าเข้างานประกาศรางวัลออสการ์ครั้งที่ 73 พร้อมกับคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมไปครอง เธอก้าวขึ้นเวทีเพื่อไปรับรางวัล สวยสง่าด้วยชุดเดรสสีดำทำจากผ้ากำมะหยี่ลู่ไปตามส่วนเว้าโค้ง ส่วนบนเผยให้เห็นช่วงแขนกับไหปลาร้า พร้อมกับการตกแต่งด้วยผ้าซาตินสีดำตรงด้านหลัง ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในโลกโซเชียล ภายหลังเดรสวินเทจของจูเลียได้รับการขนานนามว่าเป็นแฟชั่นงานออสการ์หนึ่งในชุดที่โดดเด่นที่สุดในประวัติศาสตร์
ในปี 2006 ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ฌัก ชีรัก (Jacques Chirac) มอบรางวัลเกียรติยศแก่วาเลนติโน แม้เขาไม่ใช่ชาวฝรั่งเศส แต่การเดินทางมาร่ำเรียนแฟชั่นถึงปารีสและมีธุรกิจแฟชั่นชื่อดังระดับโลก ก็สร้างชื่อเสียงให้กับฝรั่งเศสด้วยเช่นกัน ส่วนทางด้านประเทศบ้านเกิด นายกเทศมนตรีกรุงโรม วอลเตอร์ เวลโตรนี (Walter Veltroni) ได้ร่วมงานเปิดตัวพิพิธภัณฑ์วาเลนติโน ณ ตึกซานเตโอโดโร เพื่อยกย่องยอดฝีมือที่ร่วมสร้างประวัติศาสตร์แฟชั่นสมัยใหม่ของอิตาลี
เขาโลดแล่นอยู่ในวงการอย่างภาคภูมิ จนกระทั่งปี 2007
วาเลนติโน การาวานิ ได้สร้างข่าวใหญ่ให้กับวงการแฟชั่นด้วยการประกาศเตรียมตัววางมือ บอกกับทุกคนว่าจะทำงานอีกแค่หนึ่งปีเท่านั้น หลังจากประกาศให้โลกรู้เขาได้ลาออกจากตำแหน่งครีเอเทฟไดเรกเตอร์แบรนด์ตัวเอง ใคร ๆ ต่างถามหาเหตุผลที่ยอดฝีมือของวงการจะหยุดทำงาน วาเลนติโนได้ให้เหตุผลว่ารู้สึกอิ่มตัวกับวงการแฟชั่น และอยากใช้ชีวิตวัยเกษียณตามหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ บ้าง
แฟชั่นโชว์ครั้งสุดท้ายของ วาเลนติโน การาวานิ ผู้ก่อตั้งแบรนด์วาเลนติโน จัดขึ้น ณ พิพิธภัณฑ์รอแด็ง ใจกลางกรุงปารีส เมื่อปี 2008 หลังจบงานนางแบบทั้งหมดเดินออกมาสู่รันเวย์ด้วยชุดสีแดงเหมือนกับวันแรกที่วาเลนติโนได้นำเสนอชุด The Valentino Red Dress เมื่อปี 1959 ปิดฉากตำนานดีไซเนอร์ผู้อยู่ในโลกแฟชั่นอย่างโชกโชนไปอย่างงดงาม
[gallery columns="2" link="none" size="large" ids="26333,26334"]
กว่าวาเลนติโนจะกลายเป็นแบรนด์หรูที่สาว ๆ หลายคนฝันอยากลองสวมชุดแต่งงานหรือเดรสสีแดงของแบรนด์นี้สักครั้ง เขาต้องทำงานเป็นลูกมือดีไซเนอร์ ศึกษาหาความรู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์นานหลายปี ถึงได้ออกมาตั้งแบรนด์เป็นของตัวเอง แถมการตั้งแบรนด์ช่วงแรกเริ่มเขามีแต่แรงบันดาลใจ ความฝัน ทว่าไร้ฝีมือเรื่องการบริหารจนห้องเสื้อต้องปิดตัวลงพักหนึ่ง เข้าใกล้กับคำว่าล้มละลาย และเหตุการณ์ครั้งนั้นสอนวาเลนติโนรวมถึงคนอื่น ๆ ที่มีฝันว่า
‘แค่ความชอบอย่างเดียวอาจไม่พอสำหรับโลกธุรกิจ’
วาเลนติโนต้องเรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้สนใจ ศึกษาเรื่องการเงิน ธุรกิจ การบริการ เพื่อทำให้ความหลงใหลในแฟชั่นของตัวเองได้ไปต่อ ในตอนนี้เขาประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานจากความคิดสร้างสรรค์ การริเริ่มสิ่งใหม่ และความตั้งใจจริงที่อยากทำให้ฝันกลายเป็นรูปธรรมแม้จะเคยล้มเหลวมาก่อนก็ตาม
ที่มา
https://www.valentino.com/en-ba/maison/maison
https://www.farfetch.com/style-guide/icons-influencers/a-history-of-the-life-of-fashion-icon-valentino-garavani/
https://www.britannica.com/biography/Valentino
https://www.coggles.com/life/fashion/valentino-brand-history/
เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
‘บิ๊กโจ๊ก’ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ตำแหน่งใหญ่ขณะอายุน้อย บารมีมาก เส้นทางสีกากีติดไฮสปีด
15 ก.ย. 2566
3559
ถอดรหัส ‘Naatu Naatu’ เพลงประกอบหนังอินเดียฉากร้อง-เต้นใน RRR ได้ออสการ์-Golden Globes
13 มี.ค. 2566
6975
‘เอมิลิโอ เฟอร์นันเดส’ ชายผู้เป็นต้นแบบของตุ๊กตารางวัล ‘ออสการ์’
12 มี.ค. 2566
871
แท็กที่เกี่ยวข้อง
Business
The People
Fashion
แฟชั่น
Valentino
Valentino Garavani
วาเลนติโน
วาเลนติโน การาวานิ