สัมภาษณ์ เป็ดบลูส์แมน: ชีวิตที่อยู่ใน 12 ห้อง รักแรกพบในดนตรีบลูส์ เพนทาโทนิก สเกลและบี.บี. คิง

สัมภาษณ์ เป็ดบลูส์แมน: ชีวิตที่อยู่ใน 12 ห้อง รักแรกพบในดนตรีบลูส์ เพนทาโทนิก สเกลและบี.บี. คิง

       เป็ดบลูส์แมน ถือเป็นนักกีตาร์บลูส์อันดับต้น ๆ ของไทยที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการดนตรีมานาน เขาผ่านงานโปรดิวซ์เพลงให้กับศิลปินบลูส์ และโลดแล่นอยู่ในบาร์ดนตรีชื่อดังของไทยอย่าง Saxophone Pub มานับทศวรรษ

ดนตรีบลูส์อาจไม่ใช่ดนตรีที่คนไทยนิยมชมชอบมากนักแต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าดนตรีแขนงนี้มีอิทธิพลสำคัญกับดนตรีป็อปกระแสหลักในปัจจุบัน

The People ได้มีโอกาสนั่งคุยกับชายที่หลงรักในดนตรีบลูส์คนนี้ เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว รวมไปถึงเรื่องราวของบลูส์ประวัติความเป็นมา และฮีโร่ของเขาที่ชื่อ บี.บี. คิง

.. คำว่าบาร์ในที่นี้หมายถึงคำเรียกห้องในเชิงทฤษฎีดนตรี โดยเพลงทั่วไปจะมีห้องที่ว่านี้ทุกเพลงเพื่อเป็นการแบ่งให้เพลงเป็นสัดส่วนที่ถูกต้อง

The People: ดนตรีบลูส์เข้ามาในชีวิตได้อย่างไร

ปัฐพงษ์: ผมเป็นคนหัวหิน เกิดและโตที่นี่ สำหรับผมกับดนตรีก็เริ่มตอนผมช่วงประมาณอายุ 11-12 ช่วงประถมฯ ปลาย ๆ  ก็เข้าไปเล่นในวงโยธวาทิต จริง ๆ เครื่องดนตรีชิ้นแรกของผมคือกลอง และพอวัยรุ่นก็เริ่มสนใจเล่นกีตาร์ แล้วก็หัดเล่นมาเรื่อย จนมาเริ่มเรียนจริงจังเลยตอนเรียนมหาวิทยาลัย ตอนนั้นผมเรียนเอกกีตาร์คลาสสิก พอสักช่วงปีสามปีสี่ ผมก็เริ่มสนใจดนตรีบลูส์ และจากนั้นก็เริ่มศึกษามาตลอด โดยสาเหตุที่สนใจดนตรีบลูส์ เพราะว่าตอนแรก ทำวงแจ๊สเล่นกับเพื่อนก่อน ทีนี้มีอาจารย์บอกว่าถ้าสนใจแจ๊สก็ควรจะต้องไปศึกษาเรื่องดนตรีบลูส์ให้เข้าใจก่อน ซึ่งผมก็ยังไม่ค่อยมีความรู้เรื่องดนตรีบลูส์เท่าไร ก็ลองไปหาซื้อเทปคาสเซ็ต ปรากฏว่าลองไปหาซื้อเทป บี.บี. คิง มาได้หนึ่งม้วน จำได้ว่าเป็น บี.บี. คิง อัลบั้ม Live at The Apollo หลังจากฟังอัลบั้มนั้นจบปุ๊บผมจำได้เลยผมได้เทปม้วนนั้นมาผมฟังรวดเดียวจบหน้าเอหน้าบีเลยแล้วผมก็บอกตัวเองว่าผมอยากเล่นอะไรแบบนี้

ตั้งแต่นั้นมาผมก็ติดอยู่กับบลูส์ตลอด แล้วก็เริ่มศึกษาจาก บี.บี. คิง ฟัง บัดดี้ กาย ฟัง สตีวี เรย์ วอห์น แล้วก็หัดเล่นบลูส์ ตั้งแต่นั้นมา และถ้าเป็นไอดอลของผมหนึ่งเดียวเลยคือ บี.บี. คิง จริง ๆ ก็ชอบหลายคนแหละ แต่ที่ชอบที่สุดและทำให้ผมมาสนใจดนตรีบลูส์เนี่ยคือ บี.บี. คิง

The People: ความชอบในตอนนั้นเปรียบเสมือนรักแรกพบได้เลยไหม

ปัฐพงษ์: มันจะเรียกว่าอะไรดี เหมือนเราพบสาวสักคนแล้วเห็นหน้าครั้งแรกเราก็ปิ๊งเลย ซึ่งตอนนั้นผมฟังแล้วก็ชอบเลย ชอบเหมือนโน้ตที่เขาเล่นมันกระแทกเข้าไปในหัวใจเลย มันทำให้เรารู้สึกอยากเล่นโน้ตให้มันสำเนียงได้แบบนี้ ทำให้เราสงสัยว่าการขยี้สายแบบนี้เขาเล่นยังไง ตอนแรกก็หาครูสอน ครูพักลักจำบ้าง ไปฟังรุ่นพี่ ๆ เล่น ลักจำวิธีการเล่น การดันสาย โน้ตที่เขาเลือกใช้ จนศึกษามาเรื่อย ๆ

สัมภาษณ์ เป็ดบลูส์แมน: ชีวิตที่อยู่ใน 12 ห้อง รักแรกพบในดนตรีบลูส์ เพนทาโทนิก สเกลและบี.บี. คิง

The People: ย้อนกลับไปรากของบลูส์มาจากอะไร

ปัฐพงษ์: อย่างที่เราจะเข้าใจกันก็คือ ดนตรีบลูส์ต้นฉบับก็มาจากคนผิวสี มาจากแอฟริกันที่ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในอเมริกา มาทำงานเป็นแรงงาน เริ่มต้นเลยก็จะเป็นเพลงที่เขาร้องตอนทำงานหรือหลังเลิกจากงานแล้ว เนื้อหาของเพลงมันก็จะเกี่ยวกับการดำรงชีวิตของเขาซะส่วนใหญ่ เกี่ยวกับชีวิตประจำวัน แล้วก็ในภาคของดนตรีก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนมาก ก็จะเป็นคอร์ดหนึ่ง บางทีก็คอร์ดหนึ่งคอร์ดเดียวเลยก็มีทั้งเพลง บางทีก็คอร์ดหนึ่ง คอร์ดสี่ คอร์ดห้า คอร์ดไม่ได้มีอะไรซับซ้อนมาก แต่ว่าตัวจังหวะ ผมคิดว่าคนแอฟริกันนี่ค่อนข้างเด่นชัดในเรื่องจังหวะ เรื่องการปรบมือประกอบจังหวะ จังหวะที่เขาเล่นตอนแรก ๆ มันก็ยังไม่เป็น shuffle อย่างที่เราคุ้น ๆ กัน ช่วงแรกมันก็มาจากพวกรถไฟ เพราะสถานที่ทำงานในตอนนั้นเป็นไร่ฝ้าย มีพวกรถไฟตัดผ่าน เขาก็เอาจังหวะจากพวกสิ่งที่เขาได้ยิน ฉึกฉัก กะฉัก หรือถ้าเร็วหน่อยก็ฉึกกะฉัก ฉึกกะฉัก เป็นแบบมีจังหวะขึ้นมาหน่อย เขาก็ดึงจากสิ่งรอบ ๆ ตัวมาให้เป็นดนตรี

The People: เมื่อก่อนนักดนตรีจะเล่นบลูส์เพื่อปลดปล่อยความหม่นหมองในใจ แล้วบลูส์สมัยใหม่สำหรับคุณตอนนี้มันเป็นการถ่ายทอดในลักษณะไหน

ปัฐพงษ์: มันไม่ใช่อย่างนั้นอีกแล้ว ถ้าบลูส์ในยุคเริ่มต้นมันก็ค่อนข้างจะหม่น ๆ หน่อย เพราะชีวิตเขาส่วนใหญ่ก็จะเป็นแบบนั้น แต่พอถึงจุดจุดหนึ่งที่ดนตรีบลูส์เข้ามาอยู่ในเมือง ไม่ได้อยู่แค่อยู่ในไร่อีกแล้ว เข้ามาในชิคาโก เล่นในร้านเหล้า เล่นในมือง มันเป็นดนตรีที่เอาไว้รองรับเพื่อความบันเทิงแล้วคราวนี้ มันจะเศร้าอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ดนตรีบลูส์ก็เริ่มคึกคักขึ้น เวลาผมเล่นดนตรีหรือว่าเล่นเพลงบลูส์แต่ละเพลงก็ต้องวิเคราะห์ก่อน ผมก็ต้องมาตีความบทเพลงที่ผมจะเล่นก่อน อันดับแรกเลยคือหนึ่ง, ผมก็ต้องมาทำความเข้าในเนื้อร้องก่อนว่ามันพูดถึงอะไร เนื้อหามันควรจะเป็นไปในทางไหน เพลงนี้เพลงเศร้าเราก็โซโลให้มันบีบคั้น เศร้าหน่อย หรือเพลงที่มีเนื้อหาที่สนุกสนาน เสียดสีสังคม เราก็เล่นเอาให้มันสนุกกว่านั้นได้ ก็ต้องตีความก่อนที่จะมาเล่น

The People: บลูส์แตกแขนงเป็นดนตรีอื่น มากมาย บลูส์รับใช้คนทั้งโลกได้อย่างไร ทำไมคนถึงบลูส์ได้มากทั้ง ที่เราไม่ได้เป็นคนแอฟริกัน

ปัฐพงษ์: จริง ๆ เพลงที่อยู่บนโลกใบนี้โดยเฉพาะเพลงที่มาจากฝั่งอเมริกันจะเป็นร็อก เป็นแจ๊ส, โซล, ฟังกี้ หรือแม้กระทั่งเพลง แร็ป ฮิปฮอป ในปัจจุบันนี้ ไม่ว่าคุณจะชอบดนตรีบลูส์หรือเปล่าก็ตามแต่ เพลงที่คุณชอบมันมีรากฐานมาจากดนตรีบลูส์แน่นอน เพียงแต่ว่ามันเป็นสิ่งที่มันค่อย ๆ มีวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ จนมันมาไกลจากสิ่งที่มันเคยเป็นแล้ว ถามว่ามันสำคัญแบบมีอิทธิพลมากแค่ไหน มันมีอิทธิพลมากแน่นอน ไม่ว่าคุณจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว มันมีบลูส์อยู่ในนั้นตลอด เพลงที่คุณฟังอยู่ทุกวันนี้มันมีแน่นอน ถึงจะเป็นเพลงป็อปที่ติดหูคนยังไงก็ตาม มันมีรากฐานมาจากเพลงบลูส์แน่นอน

The People: หัวใจของดนตรีบลูส์อยู่ที่ไหน

ปัฐพงษ์: ผมว่าเป็นเรื่องของจังหวะก่อน กรูฟกับจังหวะคือสิ่งที่สำคัญที่สุดของดนตรีบลูส์ เพราะว่าดนตรีบลูส์เริ่มต้นคือการตีคอร์ดร้องเพลง มันไม่ใช่เป็นเรื่องการอิมโพรไวซ์ หรือโซโลอะไรเยอะแยะมากมาย ดนตรีบลูส์แรก ๆ ที่เป็น เดลต้า บลูส์ คือการเล่นกีตาร์หรือเล่นเปียโน เล่นอะไรก็ได้ที่เป็นดนตรีแล้วก็ร้องเพลงเข้าไป หัวใจของดนตรีบลูส์แรก ๆ เป็นเรื่องของจังหวะแล้วก็สิ่งที่เขาต้องการจะบรรยายออกมากับเนื้อเพลงมากกว่า

The People: ดนตรีบลูส์มักวนอยู่ตามรูปแบบ 12 ห้อง คุณมีวิธีคิดหรือทำให้หลุดกรอบหรือแตกต่างอย่างไร

ปัฐพงษ์: จริง ๆ บลูส์มันก็ไม่ใช่แค่ 12 ห้อง (ห้องทางดนตรี) ด้วยซ้ำไป เพราะว่า เอาจริง ๆ ดนตรีบลูส์อย่างที่ผมบอกตอนต้นมันเป็นการเล่นโดยที่ไม่มีแบบแผน ไม่มีรูปแบบมาก่อน มันมีทั้งเพลงคอร์ดเดียว สองคอร์ด สามคอร์ด แม้กระทั่งบลูส์ 12 ห้อง ตอนแรกมันไม่มีด้วยซ้ำไป ถ้าเราไปฟังพวกเดลต้า บลูส์เก่า ๆ นะ ถ้าเราพยายามจะนับห้องในหนึ่งรอบเขาเล่นกี่ห้อง แต่ละรอบเล่นไม่เท่ากันเลย เพราะมันไม่มีรูปแบบ แบบแผน แต่ด้วยวิวัฒนาการมันมาเรื่อย ๆ มันก็ค่อย ๆ เคาะมาเรื่อย ๆ จนมันกลายเป็นรูปแบบ เป็นบลูส์ 12 ห้องโดยไม่รู้ตัว พอมันเริ่มมีฟอร์มแล้วก็ใช้ฟอร์มนี้ยึด เล่นไปเรื่อย ๆ ทีนี้ด้วยความที่ว่ามันมี 12 ห้อง อาจจะคิดว่า มันมีแค่ 12 ห้องแล้วเล่นมันก็เหมือนกันสิ มันก็ซ้ำกัน แต่ด้วยตัวโน้ตที่เราใช้มันมีการสลับ เรียงจังหวะที่ต่างกัน การเรียงโน้ตที่ต่างกัน ความรู้สึก อารมณ์ ดังเบา ที่ต่างกัน มันก็เป็นการสร้างอารมณ์ที่ต่างกันด้วย

The People: เพนทาโทนิก สเกล สเกลยอดนิยมที่มาพร้อมกับโน้ตห้าเสียงสำคัญกับคนทั้งโลกยังไง สำคัญกับคนทั้งโลกยังไง

ปัฐพงษ์: เพนทาโทนิกสเกลมันเป็นสเกลพื้นฐานเลยมันเป็นอะไรที่ไม่ซับซ้อนแล้วก็เข้าใจง่ายผมเคยเข้าคอร์สเรียนพวกดนตรีเด็กเขาก็สอนให้เล่นเพนทาโทนิกฯก่อนเพราะมันคือโน้ตอะไรที่จำง่ายมีแค่ห้าโน้ตเท่านั้นแค่นี้เองแล้วก็ถ้าพูดถึงดนตรีบลูส์มันก็เป็นรูปแบบการเล่นที่ใช้โน้ตน้อยๆแต่ว่าสลับกันให้มันมีความน่าสนใจมากขึ้นทั้งเมเจอร์เพนทาโทนิกหรือไมเนอร์เพนทาโทนิก

The People: ย้อนกลับไปตั้งแต่ เดลต้า บลูส์ จนถึงปัจจุบัน พัฒนาการของดนตรีบลูส์เป็นอย่างไร

ปัฐพงษ์: มันมีพัฒนาการขึ้นมาเรื่อย ๆ อยู่แล้ว อย่างเดลต้า บลูส์ พอมาเป็น ชิคาโก บลูส์ ก็เป็นเรื่องของเครื่องดนตรีไฟฟ้าแล้ว มีกีตาร์ไฟฟ้า แล้วก็เริ่มจังหวะที่เร่าร้อนขึ้น  จนกลายมาเป็นดนตรีร็อกแอนด์โรลล์อาร์แอนด์บีฟังกี้จนถึงฮิปฮอปทุกอย่างมันก็พัฒนาการมาเรื่อยๆแม้กระทั่งคนที่ยังเล่นบลูส์แบบบลูส์จริงๆอยู่ในทุกวันนี้ก็ผสมซาวนด์ที่มันร่วมสมัยมากขึ้นหลายคนเช่นจอห์นเมเยอร์หรือเดเร็กทรักส์ที่ผสมดนตรีสมัยใหม่รูปแบบเพลงสมัยใหม่แต่ว่ากลิ่นเวลาที่เขาโซโลหรือว่าการเรียบเรียงดนตรีก็ยังมีความเป็นบลูส์อยู่

The People: ทำไมโลกถึงขาด เพนทาโทนิกไม่ได้ ถ้าโลกนี้ไม่มีสเกลนี้ขึ้นมา เราอาจจะไม่ได้ยินเพลงเหมือนทุกวันนี้

ปัฐพงษ์: ใช่ ถ้าถามว่าทำไมเราขาดมันไม่ได้ เพราะมันเหมือนเป็นรากฐานเลยก็ว่าได้นะ เหมือนอาหารไทยเรา กินข้าวแกงกินข้าวผัด กินอะไรเราก็ยังต้องกินกับพริกน้ำปลา เพนทาโทนิก มันก็เปรียบเทียบเสมือนพริกน้ำปลานี่แหละ มันเหมือนเป็นอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เหมือนจะไม่สำคัญนะ แต่มันเป็นรากฐานจริง ๆ แล้วก็อาจจะด้วยเมโลดีเพลงหลาย ๆ เพลงในยุคนั้นก็เป็น เพนทาโทนิก ก่อนจะต่อยอดมาเป็นโมด หรืออะไรก็แล้วแต่

สัมภาษณ์ เป็ดบลูส์แมน: ชีวิตที่อยู่ใน 12 ห้อง รักแรกพบในดนตรีบลูส์ เพนทาโทนิก สเกลและบี.บี. คิง

The People: การแกะเพลงคือหัวใจสำคัญของดนตรีชนิดนี้

ปัฐพงษ์: สำคัญครับ คืออย่างตอนที่ผมเรียนในมหาวิทยาลัย ผมเรียนเป็นกีตาร์คลาสสิก แต่ว่าพอมาเริ่มที่จะสนใจบลูส์นี่ก็ต้องแกะเพลง สมัยผมเรียนตอนนั้น ยูทูบยังไม่มี ก็ต้องแกะจากเทปคาสเซ็ต กดเทปแล้วก็เล่น lick ตาม เช่นบางทีเราฟัง บี.บี. คิง กดปุ๊บแล้วก็ แกะ lick ตาม ซึ่งเราไม่ได้แกะเพื่อเวลาเอาไปเล่นจริง ๆ จะต้องเล่นให้เหมือน เราแกะเพื่อไอเดีย ว่าเราเจอคอร์ดแบบนี้เราสามารถใช้โน้ตกลุ่มแบบนี้ได้ เพราะงั้นเรื่องดนตรีบลูส์นี่เป็นเรื่องของ lick สำคัญคือต้องแกะ lick

The People: หมายความว่านักดนตรีที่อยากเล่นดนตรีบลูส์ ต้องเริ่มจากการทำตามกรอบก่อน

ปัฐพงษ์: ถูกต้อง การเล่นอะไรที่มันอยู่ในกรอบก่อน มันทำให้คุณสามารถออกไปนอกกรอบได้ทีหลัง อยู่ในกรอบก่อน ฟัง แกะ lick ของแต่ละคน คุณชื่นชอบใคร คุณก็ฟังคนนั้น แกะเลย ศึกษาเขา เรียนรู้ให้บ้าคลั่งไปเลย แล้วมันจะค่อย ๆ หล่อหลอมเป็นตัวคุณเอง

The People: หลายคนที่สนใจบลูส์พอฟังแล้วอาจรู้สึกว่ามันเหมือนกันหมด แต่จริง ทุกเพลงมีความแตกต่างอยู่ในนั้น

ปัฐพงษ์: ผมเคยอ่านบทสัมภาษณ์ของ บัดดี้ กาย เรื่องการแบ่งแยกสไตล์ของดนตรีบลูส์ บัดดี้ กาย บอกว่า ไม่ว่าคุณจะเรียกมันว่าอะไร จะชิคาโก เท็กซัส หรือเดลต้า ทุกอย่างมันก็คือดนตรีบลูส์ แต่ว่าเราสามารถแบ่งมันออกได้โดยนึกถึงเรื่องของวิวัฒนาการ อันดับแรกเลย เดลต้า บลูส์ จุดเริ่มต้นมันเป็นการเล่นโดยใช้เครื่องดนตรีอะคูสติกเป็นส่วนใหญ่ พอมันมีวิวัฒนาการ ก็มีการใช้เครื่องไฟฟ้า มีแอมป์ มีกีตาร์ไฟฟ้าขึ้นมา จนกลายมาเป็น อิเล็กทริก บลูส์ หรือที่เราเรียกว่า ชิคาโก บลูส์ ฉะนั้นพออะคูสติกมาเป็นอิเล็กทริกฯ มันก็มีการเล่นบางอย่างที่มันต่างขึ้น ซาวนด์ที่มันกระแทกกระทั้นมากขึ้น จากกีตาร์ ฮาร์โมนิกา แค่สองชิ้น เริ่มเป็นแบนด์แล้ว มีกีตาร์ไฟฟ้า เบส กลอง แล้วก็ในแต่ละที่มันก็จะมีเหมือนเป็นแฟชัน บลูส์ที่อยู่ในชิคาโกเขาก็นิยมแบบหนึ่ง บลูส์ที่อยู่ในเท็กซัสมันก็เป็นอีกแบบหนึ่ง จริง ๆ ในรูปแบบของพื้นฐานมันก็จะเหมือนกัน แต่สำเนียงการเล่นที่ออกมา การนำเสนอมันก็จะมีอารมณ์ที่ต่างกันเล็กน้อย อย่าง ชิคาโก บลูส์ ศิลปินเด่น ๆ ก็จะมี มัดดี้ วอเตอร์ส บัดดี้ กาย บี.บี. คิงแต่ถ้าฝั่งเท็กซัสก็จะจิ๊กโก๋หน่อยก็จะมีเฟรดดี้คิงถ้าดังๆแบบเรานิยมรู้จักกันก็จะเป็นสตีวีเรย์วอห์นทั้งหมดมันก็จะอยู่ในเรื่องของแฟชั่นแต่ละรัฐแต่ละเมืองด้วย

The People: ก่อนหน้านี้ศิลปินป็อปมักนิยมเอาบลูส์มาเป็นพื้นฐานหรือแกนหลักในการสร้างผลงาน ส่วนตัวตอนนี้คุณชื่นชอบใคร

ปัฐพงษ์: ถ้ารุ่นใหม่ ๆ ที่ผมชอบตอนนี้นะ มี แกรี คลาร์ก จูเนียร์. เอริก เกลส์ ที่ผมชอบ อารมณ์เขาค่อนข้างจะเป็นร็อก ๆ หน่อย คล้าย ๆ จิมี เฮนดริกซ์ หน่อย แต่ว่าพอเล่นบลูส์ที่เป็นบลูส์ดั้งเดิมเลย เขาก็เล่นได้ดีมาก ๆ เป็นบลูส์ที่ดีมาก ๆ หลายคนที่น่าสนใจก็อย่าง จอห์น เมเยอร์ แล้วก็อีกหลาย ๆ คนที่มีผลงานออกมาอาจจะไม่ได้มีผลงานที่บลูส์แบบล้วน ๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์เลย แต่ว่าเขาก็พยายามจะแทรกเพลงบลูส์ในโชว์ของเขาทุกอย่าง อย่างเด่นชัดเลยก็ จอห์น เมเยอร์ เพราะเพลงที่เขาทำออกมามันก็ไม่ใช่เพลงบลูส์หรอก มันก็ป็อปบ้าง ร็อกบ้าง โซลเล็กน้อย แต่ทุกครั้งที่เป็นโชว์ เขาก็จะแทรกความเป็นบลูส์เข้ามาในโชว์เสมอ

สัมภาษณ์ เป็ดบลูส์แมน: ชีวิตที่อยู่ใน 12 ห้อง รักแรกพบในดนตรีบลูส์ เพนทาโทนิก สเกลและบี.บี. คิง

The People: ชีวิตในฐานะนักดนตรีบลูส์ของคุณโลดแล่นอยู่ในกรุงเทพฯ มาตลอด อะไรคือสาเหตุที่กลับไปเล่นดนตรีที่หัวหิน

ปัฐพงษ์: ผมค่อนข้างอิ่มตัวจากชีวิตที่กรุงเทพฯก็เลยคุยกับแฟนว่าเราลองกลับมาอยู่หัวหินกันดูไหมลองมาทำติวเตอร์เล็กๆทำโรงเรียนสอนด้วยกันจริงๆเริ่มต้นเลยที่ผมกลับมาอยู่หัวหินงานที่เกี่ยวกับเล่นดนตรีนี่แทบไม่ได้นึกถึงเลยเพราะเราไม่คิดว่าจะมีร้านที่จะสนใจดนตรีอย่างที่เราเล่นหรือเปล่าพออยู่ไปสักพักก็เริ่มมีคนรู้จักก็มีคนชวนไปเล่นจากหนึ่งร้านสองร้านสามร้านจนตอนนี้กลายเป็นมีเล่นทุกวันเลยที่หัวหินเจ็ดวันก็เซอร์ไพรส์เหมือนกันว่าเมืองเล็กๆก็มีคนสนใจจะฟังดนตรีอย่างที่เราต้องการจะนำเสนอเหมือนกัน

The People: บรรยากาศการเล่นเป็นยังไงบ้าง ต่างจากที่กรุงเทพฯ ขนาดไหน

ปัฐพงษ์: ก็ต่างบ้างเล็กน้อย ส่วนใหญ่ตอนที่ผมอยู่กรุงเทพฯ ก็จะเล่นอยู่ในร้านที่คนรู้จักอยู่แล้วว่าร้านนี้มีดนตรีแบบไหน เขาจะมาเสพอะไร จะเป็นคนที่เขาตั้งใจมาฟังอยู่แล้ว แต่หัวหินมันเหมือนบางร้านเป็นอะไรที่เราต้องมานำเสนอ ให้เขาฟังว่าสิ่งที่ผมเล่นมันเป็นแบบนี้นะ เหมือนเราต้องมานำเสนอตัวเองใหม่ว่าผมมีดนตรีแบบนี้ให้คุณฟัง บางคนก็ชอบ เขาก็ตามกลับมาฟังอีก

The People: โปรดิวซ์อัลบั้มให้ศิลปินบางคนมาแล้ว มีแผนจะทำของตัวเองไหม

ปัฐพงษ์: อาจจะ จริง ๆ ก็มีอยู่แต่อีกระยะหนึ่ง กำลังจะทำอยู่อาจจะไม่น่าจะนานเกินรอ อีกสักประมาณช่วงปีสองปีนี้ น่าจะต้องได้ฟังกันบ้าง

The People: วงการเพลงบลูส์ในไทยเติบโตขึ้นหรือเป็นไปในทิศทางไหน เทียบกับเมื่อก่อน

ปัฐพงษ์: มันโตกว่าเดิมแน่นอนแหละ แต่มันก็ยังไม่ถึงขั้นบูมแบบออกเป็นกระแสหลักซะทีเดียว แต่มันก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่เขาก็พยายามติดตามคนที่เล่นแนวแบบนี้ หรืออยากจะเสพดนตรีบลูส์ที่เป็นเนื้อหาไทย ๆ ฟังง่าย เข้าใจง่าย ไม่มีอะไรซับซ้อนมาก มันมีให้เสพอยู่ ผมว่าถ้าพูดถึงสมัยก่อนมันแทบไม่มีเลย เดี๋ยวนี้มันมีเยอะขึ้น มีทั้ง Banglumpoo Blues Company มีทั้งพี่ Yamin ล่าสุดตอนนี้มี Bangkok Mojo ก็เป็นบลูส์เหมือนกัน

The People: บลูส์แบบไทย หรือบลูส์แบบเป็ดบลูส์ต้องมีกลิ่นอายยังไง

ปัฐพงษ์: ตัวผมเองมันน่าจะคัดกรองมาจากสิ่งที่ผมเป็น สิ่งที่ผมศึกษามา อย่างผมศึกษามาจากทาง บี.บี.คิง บัดดี้ กาย สตีวี เรย์ วอห์น ซึ่งถ้าผมทำเพลงออกมามันก็ต้องมีกลิ่นซาวนด์ประมาณนี้ออกมา มันก็จะเป็นบลูส์ที่ผสมอาร์แอนด์บี หรือร็อกนิด ๆ

The People: สำหรับคนที่มองว่าบลูส์น่าเบื่อ ดนตรีนี้มีความหลากหลายยังไง

ปัฐพงษ์: ส่วนใหญ่คนฟังว่าบลูส์ มันก็จะพูดถึงความเศร้ามาก่อน ความหม่นหมองมาก่อนเลย แต่ดนตรีบลูส์ในปัจจุบันนี้ไม่ได้หมายถึงความเศร้าอีกต่อไปแล้ว ดนตรีบลูส์ก็เต้นรำได้ ซึ่งมันก็เป็นอย่างนี้มานานแล้วด้วย ดนตรีบลูส์มีทั้งแบบดั้งเดิมแบบ shuffle มีผสมจังหวะแบบคันทรี มีผสมจังหวะแบบฟังกี้ เรามีหมดเลย ทีนี้แต่ละวงก็จะมีเรื่องการนำเสนอแต่ละแบบ บางทีบลูส์อาจจะเป็นอะไรที่มันไม่ใช่แค่จังหวะ shuffle อย่างเดียว มันอาจจะเป็นอะไรที่สามารถทำให้เราขยับได้ เต้นรำได้ สนุกได้ครับ

The People: โรเบิร์ต จอห์นสัน นักดนตรีบลูส์ขายวิญญาณให้ซาตานจริงไหม

ปัฐพงษ์: ความเห็นผมเลยนะ ผมว่ามันไม่มีเรื่องซาตานหรอก ผมว่ามันเป็นเรื่องการฝึกฝนของเขาโดยแท้เลย แต่ว่าคนจะไปโยงเรื่องเขากับซาตานเยอะ เพราะว่าเนื้อหาเขาพูดถึงคำว่าปีศาจหรือซาตานเยอะ แต่ผมมองว่าคำว่าปีศาจของเขา เขาไม่ได้ขายวิญญาณให้ปีศาจจริง ๆ เขาขายวิญญาณให้การดำเนินชีวิตที่เขาเป็น เขาต้องอยู่กับอะไรทุกวัน เขาอยู่กับบาร์เหล้า อยู่กับผู้หญิง อยู่กับยาเสพติด อะไรก็แล้วแต่ นั่นแหละคือปีศาจที่เขาต้องเจอทุกวัน มันไม่ใช่ตัวปีศาจจริง ๆแล้วก็เขาเป็นคนที่มีอิทธิพลแน่นอน เพราะว่าเพลงบลูส์ฮิต ๆ หลายเพลงก็ cover มาจากเพลงของ โรเบิร์ต จอห์นสัน แทบทั้งนั้นเลย ‘Sweet Home Chicago’, ‘Crossroad’ ที่ เอริก แคลปตัน เอามาทำ หรือที่เอามา cover ทั้งอัลบั้มเลย มันมีอิทธิพลแน่นอน ทั้งลูกเล่น การเล่น turn around (วน) หลายอย่างก็มาจากโรเบิร์ต จอห์นสัน ทั้งนั้น

สัมภาษณ์ เป็ดบลูส์แมน: ชีวิตที่อยู่ใน 12 ห้อง รักแรกพบในดนตรีบลูส์ เพนทาโทนิก สเกลและบี.บี. คิง

The People: ชีวิตคุณเองมีบลูส์บ้างไหม

ปัฐพงษ์: มันต้องมีความบลูส์บ้างบางทีกว่าที่จะเป็นที่ยอมรับในจุดจุดหนึ่งช่วงที่เริ่มต้นแรกๆก็ต้องต่อสู้เยอะเหมือนกันต่อสู้กับเวลาเราไปนำเสนอตามร้านต่างๆโอเคเจ้าของร้านเก็ตบ้างไม่เก็ตบ้างก็ต้องต่อสู้ไปครับแรกๆก็เหนื่อยเหมือนกันแต่พอเราสู้มาระดับหนึ่งจนเริ่มมีคนรู้จักบ้างมันก็ค่อยๆไปได้ของมันเองตอนนี้ไม่ค่อยบลูส์มากแล้วในการดำเนินชีวิตแต่ในการเล่นดนตรียังบลูส์อยู่

The People: จะยากไปไหม ถ้าจะถามว่าดนตรีบลูส์สำคัญกับคุณอย่างไร

ปัฐพงษ์: ไม่ยาก บลูส์เป็นความรักของผมมากกว่า ความรักทางด้านดนตรีของผมคือดนตรีบลูส์ ผมพูดตั้งแต่ต้นว่า แรก ๆ ที่ผมหัดเล่นกีตาร์ ผมก็เหมือนคนทั่วไป เล่นเพลงป็อป ตีคอร์ดร้องเพลง จนกระทั่งมาเรียนในมหาวิทยาลัยแล้วก็เรียนกีตาร์คลาสสิก จนกระทั่งมาเล่นแจ๊ส แต่มันไม่มีห้วงอารมณ์ไหนที่ผมรู้สึกเหมือนตอนที่ได้ฟังบลูส์ครั้งแรกเลย ตั้งแต่ผมฟัง บี.บี. คิง อัลบั้มนั้นอัลบั้มแรกมันเหมือนตกหลุมรักกับดนตรีแนวนี้ไปเลย มันทำให้ผมรู้สึกอยากจะทำ อยากจะเล่นแบบนี้ อยากจะมีฝีมือการเล่นแบบนี้ มันเป็นความรักตั้งแต่ฟังครั้งแรกเลย

The People: อยากจะบอกอะไรกับคนฟัง

ปัฐพงษ์: นักฟังที่เป็นคนไทย ผมให้ 70-80 เปอร์เซ็นต์เลยชอบฟังเนื้อหาชอบฟังคำร้องคนส่วนใหญ่จะอินจากคำร้องเพลงมันหมายถึงอะไรแต่คราวนี้พอเป็นเรื่องของดนตรีบลูส์ที่เป็นภาษาอังกฤษโอเคภาษาอังกฤษบางทีฟังยังไม่เข้าใจว่าเพลงนี้สื่อสารถึงอะไรก็เลยไม่อินแต่ผมอยากให้ลองเปิดใจคุณอาจจะยังไม่ต้องเข้าใจเนื้อหาของเพลงเพลงนั้นก็ได้คุณลองหลับตาเวลาไปร้านร้านหนึ่งแล้วมีนักดนตรีแจ๊สหรือนักดนตรีบลูส์เล่นอยู่คุณแค่นั่งฟังหลับตาฟังแล้วก็แค่อินไปกับดนตรีแล้วรู้สึกถึงสิ่งที่เขาพยายามจะสื่อสารออกมาผมว่าคุณก็มีความสุขได้ในบางอย่างเราอาจไม่ต้องอินในเรื่องของเนื้อร้องจนเราต้องเข้าใจแล้วเราถึงจะอินได้แค่สิ่งที่คุณได้ยินผ่านทางหูคุณก็รู้สึกทางจิตใจได้เหมือนกันถ้าคุณเปิดใจนั่งฟังมันดูผมว่าคุณก็สนุกได้ไม่ว่าจะเป็นดนตรีอะไรก็ตามบนโลกใบนี้ถ้าคุณเปิดใจคุณสนุกได้ทั้งนั้นแหละครับ

The People: คอร์ดอะไรที่บ่งบอกตัวคุณได้มากที่สุด

ปัฐพงษ์:  ผมว่าน่าจะเป็น คอร์ด9 ถ้าฟังผมเล่นจะได้ยินคอร์ด9 เยอะมาก บางทีก็ #9 จะเยอะมากเลย